TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“หนี้ครัวเรือน” โรคร้ายเรื้อรัง

“หนี้ครัวเรือน” โรคร้ายเรื้อรัง

ในสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังชุลมุนวุ่นวายสารพัดปัญหาที่ถาโถมรุมเร้ารอบด้านรัฐบาลเองก็ตกอยู่ในสภาพลิงแก้แหจับต้นชนปลายไม่ถูก ปัญหาใหญ่และน่าห่วงอย่าง “หนี้ครัวเรือน” ที่กำลังเป็น “ภัยเงียบ” ค่อย ๆ กัดกร่อนเศรษฐกิจไทยจึงไม่ได้รับการเหลียวแลเมื่อเร็ว ๆ นี้หลาย ๆ สำนักออกมาเปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนเห็นแล้วก็น่าตกใจ เพราะแนวโน้มปลายปี 2563 ใกล้จะแตะ 90% ต่อจีดีพี

-“3 สูง 3 ต่ำ”… สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ
-เศรษฐกิจเจ๊ง …สังเวยโควิดเป็น 0

อย่างที่รู้ ๆ กันว่าหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยหรือ “จีดีพี” หดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากรายได้ส่งออกลดลงต่อเนื่อง และในช่วงที่โควิด-19 ระบาดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดฮวบรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักต้องหายไปทำให้คนต้องตกงานไม่มีรายได้มาจับจ่ายต้องหันมาก่อหนี้เพิ่มยิ่งสถาบันการเงินที่ผ่านมาแข่งกันปล่อยสินเชื่อทำให้การก่อหนี้ง่ายขึ้นกลายเป็นปัจจัยเร่งให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

ทุกวันนี้หนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้และสูงเป็นอันดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลกในปี 2562 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 79.8% ต่อจีดีพี พอมาไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 80.1% ต่อจีดีพี นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดคาดว่าหนี้ครัวเรือนไทยจะทะลุเพดานอยู่ที่ 88-90% ต่อจีดีพีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ยังไม่รวมหนี้กยศ.และหนี้นอกระบบแต่ถ้านับรวมตัวเลขหนี้จะอยู่ที่ 130% ต่อจีดีพีแต่สำคัญไปกว่านั้น พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ สูงถึง 130-140% สะท้อนว่าที่ผ่านมารายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก สวนทางกับตัวเลขหนี้ที่เพิ่มเร็วกว่า

ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้กู้ซื้อบ้านหนี้กู้ซื้อรถโดยเฉพาะนโยบายรถยนต์คันแรกหนี้พุ่งกระฉูดอีกก้อนหนึ่ง คือ หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล โดยข้อมูลจากแบงก์ชาติไตรมาส 2 ปี 2562 พบว่า 42% ของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เพื่อการบริโภค (หนี้บัตรเครดิตรวมกับหนี้ส่วนบุคคล) นั่นหมายความว่า พฤติกรรมของคนก่อหนี้จะเป็นพวก “ช้อปง่ายจ่ายแหลกแดกด่วน” และมีรสนิยมสูงแต่รายได้ต่ำ

ที่สำคัญกว่า คือ หากเจาะลึกในระดับไมโคร ไปดูคุณภาพของลูกหนี้ และลูกหนี้ตามประเภทต่าง ๆ ยิ่งน่าเป็นห่วงจากข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า คนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ก่อหนี้ที่มีอายุระหว่าง 29-30 ปี มีถึง 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) นั่นหมายความว่า คนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต จะกลัวโทรศัพท์มาตามหนี้ และพบว่าอายุ 60 ปีไปแล้วหนี้ก็ยังไม่ลด

จากการศึกษาของ แบงก์ชาติยังเห็นชัดว่า คนรุ่นใหม่ มีไม่น้อยทำงานเดือนแรกก็ไปเที่ยวญี่ปุ่น เพราะมีโปรโมชั่นผ่อน 0% 6 เดือนแต่ตอนนี้ดีหน่อยติดโควิดไปไม่ได้ และมีพฤติกรรมการซื้อของทางอินเตอร์เน็ตกันตลอดเวลาหากไปดูเรื่องพฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่าสัดส่วนการเป็นหนี้ขึ้นกับระยะเวลาการใช้อินเตอร์เน็ตต่อวัน เพราะนี่คือพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ซื้อสินค้าผ่านไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดีย

ที่บอกว่าเรื่องนี้สำคัญและยิ่งน่าห่วงเพราะหนี้ครัวเรือนเป็น “โรคร้ายเรื้อรัง” มานานที่รอการรักษาอย่างจริงจังเพราะการมีหนี้ครัวเรือนสูง ๆ จะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน หากคนเป็นหนี้ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้อาจส่งผลให้ระบบล้มได้ ก่อนหน้านี้เคยมีผลศึกษาของต่างประเทศระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่คาดว่าจะเป็นอันตรายต่อสภาพเศรษฐกิจอยู่ที่ 84% ต่อ GDP แต่ของเราปลายปีหนี้ครัวเรือนก็จะทะลุเพดานไปแตะ 90% ต่อจีดีพี ถือว่าเข้าเขตโซนอันตรายแล้ว เพราะว่าหนี้สินครัวเรือนมากกว่ารายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ย 1.5 เท่า

แปลว่าครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ จะส่งผลต่อความสามารถในการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคนั่นเท่ากับว่าเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญอีกหนึ่งตัวกำลังเดี้ยงดังนั้นโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นภายใน 2 ปีก็คงเป็นแค่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ

ทวี มีเงิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ