TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"วันหยุดยาว" กับ "ราคาที่ต้องจ่าย"

“วันหยุดยาว” กับ “ราคาที่ต้องจ่าย”

วันหยุดยาวกลายเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไปเสียแล้ว คิดอะไรไม่ออกก็หาช่องหยุดยาว โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเสนอกำหนดให้วันจันทร์ที่ 31 ก.ค. 2566 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษอีก 1 วัน ในปี 2566 ทำให้มีวันหยุดราชการยาวต่อเนื่องตั้งแต่ 28 ก.ค. – 2 ส.ค. 2566  ทั้งสิ้น 6 วัน 

มาตรการหยุดยาวกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนไปท่องเที่ยวนั้นเป็นแนวความคิดที่รัฐบาลไทย “ก๊อปปี้” นโยบายรัฐบาลจีนที่ใช้ได้ผลเป็นอย่างดี โดยให้ประชาชนได้หยุดยาวเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีน 10 วันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากยังจำกันได้ในยุครัฐบาล คสช. “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็นำแนวคิดนี้อย่างจริงจังเคยทำมาหลายครั้งเพื่อใช้เป็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นระยะ ๆ 

น่าแปลกใจที่การประกาศหยุดยาวครั้งนี้กลับกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปในทางที่ไม่เห็นด้วยค่อนข้างมากกว่า อาจเพราะเป็นวันหยุดค่อนข้างนานถึง 6 วัน ที่สำคัญเป็นการประกาศแบบกะทันหันไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้หลาย ๆ คน หลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเตรียมตัวตั้งรับไม่ทัน 

งานนี้กลายเป็นเจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย เพราะตั้งใจให้หยุดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว และให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อส่งผลไปยังการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังโงหัวไม่ขึ้นให้มีลมหายใจต่อไป แต่เมื่อประกาศแบบกะทัน หลายคนบอกแทบไม่มีผลอะไร บางคนบ่นว่าการประกาศแบบฉุกละหุกอย่างนี้ หากจะไปเที่ยวตามนโยบายก็จองที่พักล่วงหน้าไม่ทัน แถมยังเป็นการเปิดช่องให้โรงแรมที่พักต่าง ๆ โก่งราคาขึ้นอีกด้วย

เคยตั้งข้อสังเกตมานานว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยประเมินผลกระทบหรือไม่ว่า การหยุดยาวมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากน้อยแค่ไหน มีผลดีผลเสียอย่างไร คุ้มหรือไม่ เพราะธุรกิจท่องเที่ยวอาจจะได้อานิสงส์ แต่เมื่อนำผลได้ผลเสียมาหักกลบลบกันกับธุรกิจอื่น ๆ และคนทำงานที่ไม่ใช่ในธุรกิจท่องเที่ยวกลับได้รับผลกระทบตามมาค่อนข้างมาก

ไม่ปฏิเสธว่าในวันหยุดยาวคนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคนวัยทำงาน คนมีกำลังซื้อจะชอบ เพราะได้ไปเที่ยว แต่ก็ทำให้คนจำนวนมากต้อง “ขาดรายได้” เพราะไม่ได้ทำงาน โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำ หยุดงานเท่ากับหยุดรายได้ 

รวมถึงธุรกิจรายเล็กรายน้อย พวกหาบเร่แผงลอย ร้านอาหารที่มีนับหมื่น ๆ รายในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว จะเงียบเหงาทันทีเพราะคนออกไปเที่ยว คนแห่กลับบ้านต่างจังหวัด พนักงานร้านอาหาร พนักงานบริการ พวกทำงานลูกจ้างรายวันหาเช้ากินค่ำ คาดว่ามีไม่ต่ำกว่าล้านคน จะต้องว่างงานในช่วงนั้น ต้องขาดรายได้

สมมติคนเหล่านี้ที่ทำมาหากินแบบรายวัน รายได้วันหนึ่งเฉลี่ย 300-500 บาท ถ้าหยุดยาว 6 วันรายได้หายไป 1,800 – 3,000 บาท เงินที่หายไปแต่ละครั้งสำหรับคนหาเช้ากินค่ำเหล่านี้ ที่ต้องเลี้ยงคนทั้งครอบครัวถือว่าไม่น้อย 

แม้กระทั่งโรงงานอุตสาหกรรม เวลามีวันหยุดยาว กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงักตามไปด้วย ส่งผลกระทบถึงคำสั่งซื้อที่ส่งให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งรัฐบาลประกาศกะทันหันอาจจะวางแผนการผลิตไม่ทัน หรือถ้าทำงานวันหยุดจะต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาเพิ่ม ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังกระทบกับแผนธุรกิจ การประชุมกับลูกค้า การเจรจาธุรกิจที่วางแผนล่วงหน้ามาเป็นเดือนต้องเลื่อนออกไปหมด ยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจเปราะบางอย่างทุกวันนี้ อาจทำให้บริษัทต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย เพราะงานไม่เดิน แต่เงินเดือนพนักงานก็ยังต้องจ่ายเต็มจำนวน

ขณะเดียวกันวันหยุดยาวเปิดโอกาสนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งจำนวนไม่น้อยที่มีกำลังทรัพย์แทนที่จะเที่ยวในประเทศกลับออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศแทน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว

จากรายงานล่าสุดครึ่งปีแรกของปี 2566 นี้พบว่า นักท่องเที่ยวไทยได้ออกเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นมากเกือบ 500,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางมาเที่ยวไทย ที่มีจำนวนเพียง 300,000 กว่าคนเท่านั้น คาดว่าตลอดปี 2566 นี้จะเป็นปีแรกที่ไทยจะเสียดุลการท่องเที่ยวให้กับญี่ปุ่นถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ทั้งที่ที่ผ่านมาในอดีตสถิติการเดินทางของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มาเที่ยวไทย เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด มีจำนวนมากถึง 1.8 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นในปีเดียวกันประมาณ 1.3 ล้านคน ยังน้อยกว่าถึง 500,000 คน

ปัจจัยที่ทำให้คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมากมาจาก “ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมาก” ทำให้ใช้เงินในการท่องเที่ยวถูกลง ราคาสินค้า การช้อปปิ้ง ก็ถูกลงมากยิ่งมีเรื่องของ “วันหยุดยาว” เข้ามาเป็นปัจจัยหนุน ทุกวันนี้ทัวร์ไทยไปญี่ปุ่นจึงแทบไม่ว่างเว้นแต่ละวัน

เรื่องนี้คงเป็นหน้าที่ของ “ททท.” ที่ต้องเร่งหากลยุทธ์ทำอย่างไรจะส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวเมืองไทยให้มากขึ้น และไม่จำเป็นประกาศหยุดยาวแบบพร่ำเพรื่อให้ชาวบ้านไปเที่ยว แต่อาจจะใช้วิธีรณรงค์หรือมีแคมเปญจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หันมาเที่ยวในประเทศในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์กันมาก ๆ อีกทั้งกระทรวงท่องเที่ยวฯ ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาควรจะมาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ให้จูงใจคนไทยกระเป๋าหนักไปเที่ยวเมืองไทยกันมาก ๆ แทนการไปเที่ยวต่างประเทศจนต้องเสียดุล

นี่คือเหรียญอีกด้านที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการหยุดยาวแบบมักง่าย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ธุรกิจกลุ่มหนึ่งคนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แต่คนอีกกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มจำนวนไม่ต้องต้องแบกรับแทน

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“อาวุธใหม่” ในสงครามการค้า

เศรษฐกิจไทย “หมดบุญเก่า”

หนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจ

เมื่อ “ตลาดส่งออกทุเรียนไปจีน” ของไทย ถูกท้าทาย

เงินเฟ้อชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ