TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแรงงานไทยในต่างแดน สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

แรงงานไทยในต่างแดน สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

ความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตล์ จนเกิดการสู้รบมีมาช้านาน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ ที่กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง จนถึงทุกวันนี้สถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสงบลงง่าย ๆ สร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก หนึ่งในความสูญเสีย คือแรงงานไทย ตัวเลขล่าสุดแรงงานไทยต้องสังเวยชีวิตไปแล้ว 24 ราย ส่วนตัวประกันยังตัวเลขเท่าเดิม คือ 16 ราย และบาดเจ็บ 16 ราย หากนับเฉพาะชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบคนไทยได้รับความสูญเสียมากที่สุด และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็มีแรงงานไทยเสียชีวิต 2 คนจากการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้

เสี่ยงแล้วทำไมต้องไปไม่ทำงานในบ้านเรามีงานเยอะแยะ ปล่อยให้คนต่างด้าวมาแย่งงานทำ เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนตั้งคำถาม ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องบอกว่าเพราะ “ความจน” ทำงานบ้านเราค่าแรงที่ได้รับไม่พอกิน ไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน จากผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยในปี 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า แรงงานไทยดำรงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน เฉลี่ย 217,952.59 บาทหรือเพิ่มขึ้น 5.09% จากปี 2564 หนี้สินที่เกิดขึ้น มีทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ ค่าส่งบ้าน หนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ค่ายานพาหะนะ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

แรงงานไทยถึง 67.7% ที่ไม่มีเงินออมสำหรับอนาคต ทุกวันนี้ค่าแรงของไทยอยู่ที่ 336 บาทต่อวันเท่านั้น ชาวต่างชาติที่มาทำงานในบ้านเราชีวิตก็อาจจะดีกว่าอยู่บ้านเมืองเขาเล็กน้อยเท่านั้น

ขณะที่ภาคเกษตรของไทยก็ไม่มั่นคงเพราะต้องพึ่งพาฟ้าฝน หากปีใดฟ้าฝนไม่เต็มใจผลผลิตก็เสียหาย แต่หากปีใดฟ้าฝนดีผลผลิตออกมาสู่ตลาดมากราคาก็ตกต่ำ แถมยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง พวกเขาหล่านี้จำเป็นต้องทิ้งไร่ทิ้งนาไปเสี่ยงตายไปแสวงโชคข้างหน้า ยิ่งกว่านั้นในช่วงโควิด-19 ระบาด คนจำนวนไม่น้อยโดนหางเลข ตกงานไม่มีงานทำต้องกลับถิ่นกำเนิดเพื่อตั้งหลักแต่ที่บ้านก็ไม่มีงานทำ บางคนทำธุรกิจทำมาค้าขาย เจ๊งจากมาตรการล็อคดาวน์ เป็นหนี้เป็นสินต้องหาเงินใช้หนี้ จึงบากหน้ามาขายแรงงานในต่างแดน

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ น่าจะตอบคำถามได้ว่าทำไมคนไทยต้องไปขายแรงงานในต่างแดนทั้งที่มีความเสี่ยงไม่เฉพาะอิสราเอล เท่านั้น ยังมีไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ หรือแรงงานไปเก็บผลไม้ในป่าแถบสแกนดินเวีย ล้วนแต่เป็นประเทศที่เจริญแล้วยังต้องเสี่ยงต่อการถูกโกง ถูกเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ นา ๆ

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า อิสราเอลมีความเสี่ยงเพราะเป็นพื้นที่สงคราม บางครั้งไปก็ถูกนายจ้างเอาเปรียบ ชีวิตลำบากไม่ได้สะดวกสบาย แต่ก็เป็นประเทศเป้าหมายแรงงานไทย เป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานไทยในอิสราเอลทั้งหมดประมาณ 26,000 คน ส่วนไต้หวันมากกว่าเท่าตัวคือ 50,000 คน อาชีพที่คนไทยไปทำงานในอิสราเอล มีทั้งภาคเกษตร ที่เป็นแรงงานไทยเกือบ 100% ที่เหลือก็ทำงานก่อสร้าง งานบริการ ทำงานร้านอาหาร มีทั้งเชฟ กุ๊กในร้านอาหารจีน ร้านอาหารญี่ปุ่น รายได้อย่างต่ำโดยเฉลี่ย 50,000 บาทต่อเดือน แต่นายจ้างก็หักเงินค่าจ้างเพื่อเสียภาษีรายได้ ประกันสังคม ค่าที่พักอาศัย ค่าประกันสุขภาพเป็นต้น แต่ในแต่ละเดือนหักได้ ไม่เกิน 25% แต่หากทำงานเกินเวลาก็จะมีค่าล่วงเวลาแรงงาน บางคนสามารถส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวเดือนละ 30,000 บาทเลยทีเดียว

อยากจะย้ำอีกครั้งว่า การที่คนไทยต้องไปทำงานต่างแดน โดยเฉพาะอิสราเอลแม้จะเป็นดินแดนแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจแต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงมากมาย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยในวันนี้เท่ากับตอกย้ำ “ความเหลื่อมล้ำ” ทางชนชั้น และเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย “รวยกระจุกจนกระจาย”​ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนับวันยิ่งถ่างกว้างขึ้นทุกวันจนเกือบจะเรียกว่าเข้าขั้นวิกฤติ มิหนำซ้ำยังเกิดความเหลื่อมล้ำในด้านการพัฒนาระหว่างกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวงกับต่างจังหวัดก็ต่างกันราวฟ้ากับดิน งบประมาณส่วนใหญ่รัฐบาลทุ่มเทเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้กับคนเมืองหลวง แต่ไปถึงต่างจังหวัดน้อยมาก ๆ

ประเทศไทยทุกวันนี้เหมือนคนหัวโต เจริญเฉพาะเมืองหลวงทำให้ไม่มีแหล่งงานดี ๆ รองรับคนต่างจังหวัดคนยากคนจนจึงต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเสี่ยงตายไปทำงานต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งคนยากคนจนภาคอีสาน กับภาคเหนือที่ออกไปขายแรงงานต่างประเทศมากที่สุด ไปตายเอาดาบหน้าเพื่อจะมีโอกาสที่ดีในชีวิต ครอบครัวไม่อดอยาก มีบ้านอยู่อาศัย มีนามีไร่ไว้ทำกิน ลูกได้เรียนหนังสือดี ๆ ไม่ต้องลำบากเหมือนตัวเอง เหมือนที่แรงงานคนหนึ่งในอิสราเอลให้สัมภาษบีบีซีหลังเกิดโศกนาฏกรรมว่า “ที่ผมต้องมาทำแบบนี้เพราะเราไม่ได้เกิดมารวย” ซึ่งโอกาสที่ทำงานในไทยจะพอมีเงินสำหรับสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างอนาคตนั้นลำบาก

นี่แหละความเหลื่อมล้ำที่ได้นำคนไทยเหล่านี้ต้องไปเสี่ยงตายในต่างแดน

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“ดิจิทัล วอลเลต” ไปต่อไหวไหม

“การเมือง” เดดล็อก ..“ตลาดหุ้น-ลงทุน-กำลังซื้อ” วูบ

1 ทศวรรษ วงจรอุบาทว์ ทำลายข้าวไทย

“มิตเทลสแตนด์”กระดูกสันหลังเยอรมัน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ