TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“มิตเทลสแตนด์”กระดูกสันหลังเยอรมัน

“มิตเทลสแตนด์”กระดูกสันหลังเยอรมัน

ช่วงนี้อยู่ระหว่างเดินทางมาทำภารกิจส่วนตัวที่ประเทศเยอรมัน จึงถือโอกาสนำเรื่องราวด้านเศรษฐกิจบางแง่มุมของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของยุโรปและเป็นอันดับ 4 ของโลก ที่บางคนอาจจะคิดไม่ถึงมาเล่าสู่กันฟัง เปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องราวเศรษฐกิจไทยบ้าง

หลายคนอาจจะสงสัยว่า อะไรที่ทำให้ประเทศพ่ายแพ้สงครามโลกถึง 2 ครั้งพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศมาอยู่แถวหน้าของยุโรปและของโลกได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่อาจจะรู้ว่าประเทศเยอรมันเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฉะนั้นความสำเร็จของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งศตวรรษที่ 20 น่าจะเป็นเพราะธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่างเช่น โฟลค สวาเกน เมอร์ซิเดสเบนซ์ หรือซีเมนต์

แต่รู้หรือไม่ว่าธุรกิจที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันแข็งแกร่งคือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือที่บ้านเราเรียกว่าธุรกิจ SME ซึ่งคนเยอรมันรู้จักกันในนามของ “มิตเทลสแตนด์”    (Mittelstand) คือ ส่วนที่เป็นกระดูกสันหลังและมีความสำคัญหรือจุดแข็งของเศรษฐกิจเยอรมันอย่างแท้จริง

ต้องบอกว่า มิตเทลสแตนด์ หรือธุรกิจ SME คือจิตวิญญาณและเป็นหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของเศรษฐกิจเยอรมนี ที่ทำให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เมื่อเผชิญกับวิกฤติต่าง ๆ ก็สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 

หากจะหานิยามของมิตเทลสแตนด์ จากขนาดของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จะมีพนักงานต่ำกว่า 500 คน และยอดขายปีหนึ่ง 50 ล้านยูโร ปัจจุบันมีสัดส่วน 37% หรือ 1 ใน 3 ของยอดขายธุรกิจอุตสาหกรรมของเยอรมันทั้งหมด มีสัดส่วนการจ้างงาน 60% และเป็นสถานที่แหล่งฝึกงาน 83% ของแรงงานใหม่ ๆ บริษัทธุรกิจราว ๆ 95% จัดอยู่ในประเภทธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ SME ที่จ้างงานคนน้อยกว่า 500 คน

นอกจากจะนิยาม “มิตเทลสแตนด์” จากเรื่องขนาดธุรกิจแล้ว ยังจะนิยามในเรื่องของค่านิยมองค์กร กลยุทธ์ธุรกิจ การดำเนินงาน ธรรมมาภิบาล การฝึกฝนทักษะพนักงาน และทิศทางอนาคตขององค์กร เป็นต้น ธุรกิจดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมภายในครอบครัว ทั้งในความหมายการเป็นเจ้าของและการบริหารงาน การขยายตัวก็อาศัยเงินทุนของตัวเอง หรือสถาบันการเงินในท้องถิ่น ทำให้การดำเนินงานมีความเป็นอิสระและมีความยืดหยุ่น

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นจุดแข็งอีกอย่างในการดำเนินธุรกิจของมิตเทลสแตนด์คือวัฒนธรรมครอบครัวนั่นเอง แต่ที่น่าสนใจคือมิตเทลสแตนด์ของเยอรมันนั้น กระจายอยู่ในเมืองเล็ก ๆ หรือเมืองชนบท จึงทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน ด้านมิตเทลสแตนด์ก็ต้องการพนักงานที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ส่วนพนักงานต้องการการจ้างงานจากบริษัทแม้จะตั้งอยู่ในเมืองชนบท บริษัทเหล่านี้จะทำการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ที่คนทั่วไปมักไม่เคยได้ยินมาก่อน

แต่ทว่าชิ้นส่วนที่ผลิตจะมีความพิเศษหรือจะมีลักษณะเฉพาะและเป็นส่วนสำคัญของสินค้า เช่น ตัวสกรูหรือตะปูเกลียวที่ใช้กับเครื่องบินหรือรถยนต์ กรณีมิตเทลสแตนด์ อย่าง Herrenknecht ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องเจาะภูเขาชั้นนำของโลก แต่ไม่ได้มีสำนักงานอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ กลับไปตั้งอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ในรัฐ Baden-Württemberg

จุดเด่นอีกอย่างของมิตเทลสแตนด์ อยู่ตรงที่บริษัทเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น การดำเนินงานจึงทุ่มเทไปที่เป้าหมายระยะยาว เช่น ความมั่นคง การอยู่รอดทางธุรกิจ และการสร้างคุณประโยชน์แก่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง

แม้จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กแต่กลยุทธ์ธุรกิจของมิตเทลสแตนด์จะให้ความสำคัญในเรื่องของขีดความสามารถทางการแข่งขันที่เกี่ยวกับคุณภาพผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิต ไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว รวมถึงการทุ่มเทความสามารถด้านอุตสาหกรรมให้กับผลิตภัณฑ์สำหรับ “ตลาดเฉพาะ” ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดทั่ว ๆ ไป ทำให้วิสาหกิจ “มิตเทลสแตนด์” ของเยอรมนีมีความได้เปรียบหลายอย่าง

เหนือสิ่งใดการใช้กลยุทธ์สร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดจากธรรมเนียมธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพผลิตภัณฑ์ของ “มิตเทลสแตนด์” ที่ธุรกิจคู่แข่งไม่สามารถจะเลียนแบบได้ง่าย ๆ เช่น ดินสอของบริษัท เฟเบอร์-คาสเทล ที่มีกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1761 จะมีประวัติของผลิตภัณฑ์ที่ศิลปินอย่าง วินเซ็นต์ แวน โก๊ะ ก็เคยเป็นลูกค้ามาก่อน

ที่สำคัญ การดูแลพัฒนาฝีมือแรงงาน การศึกษาแบบระบบฝึกงานของเยอรมนี ที่รวมการศึกษาแบบอาชีวะกับการฝึกงานตามบริษัทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อวิสาหกิจ “มิตเทลสแตนด์” ทำให้สามารถเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะฝีมือ พัฒนาต่อยอดให้แรงงานที่มีทักษะพื้นฐานมีทักษะสูงขึ้นไปอีก และชักจูงนักศึกษาฝึกงานที่มีศักยภาพให้มาร่วมงานกับบริษัท การเป็นวิสาหกิจแบบครอบครัว ยิ่งทำให้พนักงานมีความมุ่งมั่นผูกพันเหมือนกับเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวธุรกิจเลยทีเดียว

แต่เคล็ดลับความสำเร็จจะที่อดกล่าวถึงไม่ได้และเป็นจุดเด่นต่างจาก SME บ้านเรา นั่นคือการผลิตเพื่อมุ่งส่งออก มิตเทลสแตนด์ต้องมุ่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ความสำเร็จจากการส่งออกมีลักษณะคล้ายบริษัทข้ามชาติที่จิ๋วแต่แจ๋ว จะทำการตลาดในเชิงรุก พยายามค้นหาลูกค้าที่อยู่นอกเยอรมนีและสหภาพยุโรป

การที่มิตเทลสแตนด์ของเยอรมันจะได้ลูกค้าต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจากผู้บริหารที่ตัดสินใจจะออกไปหาลู่ทางโอกาสในตลาดต่างประเทศ อีกทั้งมีความกล้าหาญพอที่จะบุกไปยังตลาดที่ตัวเองไม่คุ้นเคยหรือรู้จักมาก่อน เป็นการสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเยอรมันได้อย่างดี

จึงไม่แปลกใจสินค้าที่ผลิตโดยมิตเทลสแตนด์ครองตลาดโลกมากถึง 70-90% การได้เปรียบดุลการค้าของเยอรมัน ส่วนมากมาจากการส่งออกของพวกบริษัทเหล่านี้นั่นเอง ไม่ใช่จากธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทใหญ่อย่างที่หลายคนเข้าใจ

เคยมีรายงานการศึกษาระบุว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของเยอรมันมาจากมิตเทลสแตนด์ มีจ้างงาน 60% ของแรงงาน และมีสัดส่วน 99% ของภาคเอกชนวิสาหกิจ มิตเทลสแตนด์จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สร้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอย่างมิอาจปฏิเสธได้

นี่คือความสำเร็จของเยอรมนีที่ทำให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนเมื่อเผชิญกับวิกฤติต่าง ๆ ก็สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

1 ทศวรรษ วงจรอุบาทว์ ทำลายข้าวไทย

“การเมือง” เดดล็อก ..“ตลาดหุ้น-ลงทุน-กำลังซื้อ” วูบ

“วันหยุดยาว” กับ “ราคาที่ต้องจ่าย”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ