TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistรำลึกวาระ 60 ปี กำแพงเบอร์ลิน

รำลึกวาระ 60 ปี กำแพงเบอร์ลิน

เช้าวันหนึ่งในเดือนสิงหาคมเมื่อ 60 ปีก่อน ชาวเมืองเบอร์ลินต้องประหลาดใจเมื่อจู่ ๆ มีแนวรั้วขวางกั้นเส้นแบ่งแดนของเมืองระหว่างฝั่งตะวันออกกับตะวันตก ทำหน้าที่แบ่งแยกพี่น้องร่วมชาติออกจากกันยาวนานถึง 28 ปี โดยมีเรื่องราวมากมายที่เป็นโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น จนถือได้ว่าเป็นสิ่งกีดขวางจากน้ำมือมนุษย์ที่อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมนีผู้พ่ายแพ้ถูกกองทัพสัมพันธมิตรเข้าควบคุม ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ประเทศผู้นำ 4 ชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ตกลงแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็น 4 ส่วน เป้าหมายเพื่อสลายความเข้มแข็งของเยอรมนีไม่ให้มีโอกาสกลับมาสร้างกองทัพแบบที่พวกนาซีทำได้อีก 

แต่ด้วยเวลานั้นโลกเกิดการแบ่งขั้วออกเป็นสองฝ่ายตามแนวคิดทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายตะวันตกที่เป็นโลกเสรีมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ และฝ่ายตะวันออกเป็นโลกคอมมิวนิสต์มีสหภาพโซเวียตเป็นหัวเรือใหญ่ เยอรมนีจึงถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายเยอรมนีตะวันตกในความควบคุมของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมกันเป็น “สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต และแสดงความคิดเห็นได้อิสระ ต่างกับฝ่ายเยอรมนีตะวันออกหรือ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี” ที่สหภาพโซเวียตควบคุม ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ประชาชนต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด มีการควบคุมการเดินทาง ปิดกั้นการแสดงออกจากรัฐที่ถูกเรียกว่าหลังม่านเหล็ก (Iron Curtain)

กรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในใจกลางพื้นที่ควบคุมของสหภาพโซเวียต ก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเช่นกัน พื้นที่ส่วนที่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ดูแลเรียกว่าเบอร์ลินตะวันตก พื้นที่ส่วนของโซเวียตเรียกว่าเบอร์ลินตะวันออก เป็นเหมือนไข่แดงที่ถูกแบ่งเป็น 2 โลก ต่างกันทั้งรูปแบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจ

เมื่อเวลาผ่านไปบ้านเมืองของสองฝ่ายมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ฝ่ายเยอรมนีตะวันตกมีการฟื้นฟูประเทศทั้งสภาพบ้านเมืองที่เสียหายจากสงครามและการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีกว่าฝ่ายเยอรมนีตะวันออกซึ่งกิจการต่าง ๆ ตกเป็นของรัฐ จึงเกิดการหนีข้ามแดนจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกจำนวนมาก จนเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศจากการขาดแคลนแรงงาน ในปี พ.ศ.2495 รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกจึงสั่งปิดพรมแดนที่ติดกับเยอรมนีตะวันตกทั้งหมด เหลือไว้เพียงพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันออกกับเบอร์ลินตะวันตกเท่านั้นที่ผู้คนสองฝั่งยังข้ามไปมาได้โดยอิสระ

แม้กระนั้นพรมแดนระหว่างเบอร์ลินสองฝั่งก็ยังเป็นจุดเปราะบางเพราะมีชาวเยอรมนีตะวันออกแอบหนีมาเบอร์ลินตะวันตกเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ.2504 เกิดการหลบหนีครั้งใหญ่ราวหนึ่งหมื่นคน หลังจากมีข่าวลือว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จะปิดพรมแดนระหว่างเบอร์ลินสองฝั่งเพื่อหยุดการไหลออกของประชาชน

เช้าวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2504 ชาวเมืองเบอร์ลินทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกต้องตกตะลึงกับสิ่งกีดขวางที่ปรากฏเพื่อขวางกั้นการเดินทางข้ามแดนของพวกเขา แนวรั้วจากแท่งคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามสูงเกือบ 2 เมตร (6 ฟุต) ถูกสร้างขึ้นมาในชั่วข้ามคืนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกตามคำสั่งของท่านผู้นำแห่งสหภาพโซเวียต “นิกิต้า ครูซชอฟ”

ถนนที่รถเคยสัญจรข้ามไปมาสองฝั่งถูกปิดขวาง ขบวนรถไฟที่เคยวิ่งระหว่างสองฝั่งของเมืองหยุดให้บริการ ญาติพี่น้องที่เคยไปมาหาสู่กันไม่สามารถเดินทางข้ามฝั่งมาพบกันได้ ชาวเบอร์ลินตะวันออกที่เคยไปทำงานฝั่งเบอร์ลินตะวันตกก็ไม่สามารถไปได้อีก

ท่ามกลางความสับสน มีประชาชนฝั่งตะวันตกนับพันคนมารวมตัวกันประท้วง และพยายามทำลายแนวรั้วลวดหนาม แต่ถูกเจ้าหน้าที่ฝั่งตะวันออกใช้อาวุธปืนขู่ให้ถอยออกห่างจากแนวรั้วนั้น

นี่คือการเริ่มต้นของ “กำแพงเบอร์ลิน” ที่น่าสะพรึงกลัวของชาวเยอรมนี

ในช่วงแรกที่เป็นรั้วลวดหนาม การหลบหนีทำได้ไม่ยากนัก อีกทั้งยังมีอาคารอยู่ติดกับแนวรั้วบางคนจึงใช้วิธีกระโดดหนีออกมาทางหน้าต่าง รัฐบาลคอมมิวนิสต์จึงเร่งเปลี่ยนเป็นกำแพงอิฐที่แข็งแรงแน่นหนากว่า และรื้อทิ้งอาคารที่อยู่ชิดกำแพงเพื่อไม่ให้ใครใช้หลบหนีได้อีก แต่ก็ยังมีการลอบทุบกำแพงอิฐหลบหนีอย่างไม่ลดละ 

ความพยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนภายใต้การปกครองหลังม่านเหล็กเล็ดลอดหนีออกมาได้อีก ทำให้ในปี พ.ศ.2518 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ออกแบบแนวกำแพงรุ่นใหม่เป็นแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 3.6 เมตร นำมาเรียงต่อกันเป็นแนวกำแพงรอบกรุงเบอร์ลินตะวันตกจำนวนกว่า 45,000 แผ่น ทั้งหมดถูกเชื่อมต่อด้วยท่อคอนกรีตที่ด้านบนเพื่อความมั่นคงของตัวกำแพง กล่าวกันว่ามันเป็นนวัตกรรมอันภาคภูมิใจของรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 1,650 ล้านมาร์ก ในเวลานั้น

กำแพงรุ่นใหม่นี้มีความยาว 106 กิโลเมตร เมื่อรวมกับส่วนที่เหลือที่ยังเป็นแบบรั้วลวดหนามอีก 66.5 กิโลเมตร ทำให้แนวกำแพงเบอร์ลินมีความยาวทั้งสิ้นราว 172.5 กิโลเมตร ปิดล้อมเมืองเบอร์ลินตะวันตกไว้ทุกด้าน นอกจากนี้ ตลอดแนวกำแพงที่แข็งแกร่งยังมีหอคอยตรวจตรามากกว่า 300 จุด พร้อมเจ้าหน้าที่ติดอาวุธคอยควบคุม 

อันที่จริงกำแพงเบอร์ลินบางช่วงไม่ได้มีชั้นเดียว แต่เป็นแนวกำแพง 2 แนวที่ทอดยาวคู่ขนานกันไป โดยระหว่างกลางเว้นเป็นช่องว่าง มีเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนอย่างเข้มงวด แถมบางจุดมีการวางกับระเบิดไว้ด้วย ทำให้มันเป็นประหนึ่งคุกขนาดมหึมาที่จองจำชาวเยอรมนีตะวันออกไว้จนยากจะมีผู้ใดฝ่าข้ามออกไปได้

ความปรารถนาจะมีชีวิตที่เป็นอิสระทำให้ยังคงมีชาวเยอรมนีตะวันออกเสี่ยงตายพยายามหนีผ่านกำแพงออกไปยังฝั่งเบอร์ลินตะวันตกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การขุดอุโมงค์ลอดกำแพง การขึ้นบอลลูนลอยข้ามกำแพง กระทั่งการสร้างสลิงข้ามแนวกำแพงจนสำเร็จก็มี

แต่หลายครั้งก็เกิดเป็นโศกนาฏกรรมเพราะรัฐบาลออกกฎให้เจ้าหน้าที่ยิงผู้หลบหนีได้ทันทีที่พบเห็น จนมียอดผู้เสียชีวิตจากความพยายามหลบหนีกว่า 100 คน และบาดเจ็บประมาณ 200 คน ซึ่งไม่อาจระบุจำนวนที่ชัดเจนได้เพราะทางรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกไม่ได้ทำรายงานบันทึกไว้ 

ทำให้กำแพงเบอร์ลินถูกจดจำในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของกำแพงกั้นกลางระหว่างโลกคอมมิวนิสต์และโลกเสรีที่ทารุณโหดร้ายและน่าอัปยศที่สุด

เวลาต่อมาบรรดาประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกที่ปกครองด้วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ล้วนประสบปัญหา เศรษฐกิจ ประชาชนมีความเป็นอยู่แบบยากลำบาก แต่ไม่สามารถเรียกร้องใด ๆ ได้ ไม่เว้นแม้แต่พี่ใหญ่อย่างสหภาพโซเวียตก็ประสบปัญหาไม่ต่างกันเพราะในระหว่างสงครามเย็นที่แข่งขันกับสหรัฐฯ สะสมอาวุธนิวเคลียร์ ใช้เงินมากมายมหาศาล รวมทั้งการทำสงครามในอัฟกานิสถานนานเกือบสิบปี ทำให้ช่วงทศวรรษ 1980 สหภาพโซเวียตประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจนผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียต คือ มิคาอิล กอบาชอฟ ต้องลงมือปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2527 มีนโยบายเปิดกว้างทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อลดกระแสการความไม่พอใจของประชาชน

นโยบายใหม่ที่ผ่อนคลายส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปตะวันออกที่สหภาพโซเวียตเข้าครอบงำเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนจนสามารถการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ โดยเฉพาะโปแลนด์ ฮังการี และเชโกสโลวาเกีย ส่วนเยอรมนีตะวันออกแม้จะผ่อนคลายความเข้มงวดลงบ้างแต่ไม่มีทีท่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น

จนปี พ.ศ.2532 ฮังการีเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการเปิดประเทศให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างเสรี ชาวเยอรมนีตะวันออกกว่า 13,000 คน ได้อาศัยฮังการีเป็นช่องทางออกไปสู่เยอรมนีตะวันตกโดยผ่านออสเตรีย นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดของชาวเยอรมนีตะวันออกหลังจากการเกิดกำแพงเบอร์ลินขึ้นในปี พ.ศ.2504

ต่อมาเมื่อเชโกสโลวาเกียเปิดพรมแดน ปรากฎมีชาวเยอรมันตะวันออกอีกจำนวนมากใช้เป็นช่องทางหนีไปเยอรมนีตะวันตกเช่นกัน ทำให้เกิดแรงกดดันไปยังสหภาพโซเวียตจนต้องส่งสัญญาให้เยอรมนีตะวันออกหาหนทางแก้ไขปัญหา

ปลายเดือนกันยายนปีเดียวกันชาวเยอรมนีตะวันออกจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล จนผู้นำคนเก่า เอริค โฮเนกเคอร์ ประกาศลาออกในวันที่ 18 ตุลาคม โดยมี เอกอน เครนซ์ เป็นผู้นำคนใหม่ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อด้วยนโยบายผ่อนปรนกว่า

และแล้วในช่วงค่ำของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อรัฐบาลเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ใหม่ที่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ หวังลดกระแสการหลบหนีของประชาชน 

ในการแถลงข่าวโฆษกรัฐบาลเปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถาม ระหว่างนั้นมีคำถามมากมาย คำถามหนึ่งเกี่ยวการเดินทางออกจากเยอรมนีตะวันออกต้องใช้พาสปอร์ตใช่ไหม โฆษกรัฐบาลตอบด้วยความไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนทุกคน เดินทางผ่านพรมแดนได้

เมื่อมีผู้ตะโกนถามว่าจะเริ่มมีผลเมื่อไร เขาตอบสั้น ๆ ว่า “ไม่ต้องรอช้า มีผลในทันที” 

รายงานข่าวประเด็นนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ของสำนักข่าวทั่วโลกว่า สิ้นสุดกำแพงเบอร์ลินแล้ว ในรายงานข่าวเวลาสองทุ่มของทีวีเยอรมนีก็ปรากฎภาพและเสียงของโฆษกรัฐบาลที่พูดว่า “ไม่ต้องรอช้า มีผลทันที” สู่สายตาผู้ชม

เมื่อเห็นข่าวชาวเยอรมนีตะวันออกนับพันเดินทางออกจากบ้านมุ่งหน้าไปรวมตัวกันที่จุดผ่านแดนบรันเดินบวร์ค เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดพรมให้พวกเขา จนกระทั่งเวลา 4 ทุ่มครึ่ง ด่านพรมแดนก็เปิดให้ประชาชนข้ามแดนไปยังฝั่งเบอร์ลินตะวันตกได้ ขณะที่มีชาวเยอรมนีตะวันตกจำนวนมากมารออยู่อีกฝากหนึ่งของพรมแดน ชาวเยอรมนีทั้งสองฝั่งต่างออกมาร่วมฉลองด้วยความปีติยินดี บางส่วนก็เริ่มทุบทำลายกำแพงแห่งความอัปยศนี้ด้วยความโกรธแค้น 

จนเช้าวันรุ่งขึ้นด่านพรมแดนทุกจุดก็เปิดให้ประชาชนผ่านไปมาได้อย่างอิสระอีกครั้ง ชาวเยอรมนีทั้งสองฝั่งต่างหลั่งไหลกันออกมาแสดงความยินดี ชาวเบอร์ลินตะวันตกยืนปรบมือต้อนรับชาวเบอร์ลินตะวันออกระหว่างที่พวกเขาผ่านด่านพรมแดนมาพบกัน 

มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวดเร็วโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ภายหลังจึงได้รู้ว่าการแถลงข่าวของโฆษกรัฐบาลในคืนวันนั้นเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความสับสนในข้อมูลที่ได้รับ ความจริงรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกต้องการแจ้งว่ามีนโยบายจะออกพาสปอร์ตและวีซ่าแก่ผู้ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบรรดาผู้สื่อข่าวซักถามแบบต่อเนื่อง คำตอบจึงออกมาแบบไม่ได้ตั้งใจจนกลายเป็นสถานการณ์พาไป และนำไปสู่การสิ้นสุดลงของกำแพงเบอร์ลินที่ขวางกั้นกรุงเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตกออกจากกันยาวนานถึง 28 ปี

จากนั้นผู้คนจำนวนมากก็เริ่มทุบทำลายกำแพงด้วยค้อนขนาดใหญ่ ต่อมารัฐบาลลงมือรื้อทำลายกำแพงเบอร์ลินด้วยเครื่องจักรจนเสร็จในปี พ.ศ.2533 โดยเก็บบางส่วนไว้เป็นอนุสรณ์ให้ผู้คนได้ชมจนทุกวันนี้ จนวันที่ 3 ตุลาคม ปี พ.ศ.2534 เยอรมนีตะวันออกและตะวันตกได้กลับมารวมกันอย่างเป็นทางการกลายเป็นประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

กำแพงเบอร์ลิน มิได้เป็นเพียงแค่ปราการแบ่งแยกเมืองหลวงของประเทศเยอรมนี หากยังเป็นสัญลักษณ์แบ่งแยกโลก 2 ขั้วของยุคสงครามเย็นอีกด้วย การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ซึ่งล่มสลายต่อมาในเดือนธันวาคมปี พ.ศ.2534

สมชัย อักษรารักษ์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ