TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจากสงครามลับในลาว สู่ศึกโอลิมปิก 2020

จากสงครามลับในลาว สู่ศึกโอลิมปิก 2020

หากไม่มีสงครามที่พลิกชะตาชีวิตพวกเขาเมื่อ 45 ปีก่อน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กสาว “ชาวม้ง” คนหนึ่งจะได้ก้าวขึ้นแท่นรับเหรียญทองในเกมกีฬาระดับโลก แต่ในโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว สิ่งที่ยากจะเป็นไปได้กลายเป็นความจริงที่ชวนให้เราค้นหาเส้นทางแห่งความสำเร็จของเธอ

ในการแข่งขันยิมนาสติกหญิงประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ ของโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น มีเรื่องน่าสนใจเป็นพิเศษเมื่อผู้คว้าเหรียญทองเป็นนักกีฬาเชื้อสายม้ง ผู้ทำให้ทีมชาติสหรัฐฯ ได้เป็นแชมป์สมัยที่ 5 และสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ 

เธอชื่อ “สุนิสา ลี” นักยิมนาสติกสาวทีมชาติสหรัฐฯ วัย 18 ปี 

ก่อนการแข่งขันเพียง 1 วัน ซิโมน ไบล์ส อดีตแชมป์โอลิมปิกรายการนี้ และเจ้าของ 4 เหรียญทองในปี 2016 ซึ่งเป็นมือวางอันดับหนึ่งประกาศขอถอนตัวเนื่องจากมีปัญหาสภาพจิตใจ ทำให้ความหวังของทีมชาติสหรัฐฯ มาตกที่นักกีฬาหน้าใหม่เชื้อสายม้งที่เป็นมือรอง

ถึงวันแข่งขัน 29 กรกฎาคม 2564 สุนิสาคว้าเหรียญทองได้สำเร็จด้วยคะแนนรวมสูงสุด 57.433 คะแนน โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่วันเธอเพิ่งได้เหรียญเงินจากประเภททีมรวมอุปกรณ์มาแล้ว

เธอกลายเป็นนักยิมนาสติกหญิงดาวเด่นในวันนั้น และเป็นที่กล่าวถึงในสื่ออย่างกว้างขวางในฐานะเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายม้งคนแรกที่ติดทีมชาติและคว้าเหรียญทองให้กับทีมสหรัฐฯ

สุนิสา ลี หรือชื่อเล่นว่า “ซูนี” เป็นลูกสาวของชาวม้งที่อพยพจากประเทศลาวไปอยู่สหรัฐอเมริกาหลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม เธอเกิดและเติบโตที่เมืองเซนต์พอล เมืองหลวงรัฐมินนิโซตา ที่ตั้งของชุมชนชาวม้งขนาดใหญ่ที่มีจำนวนกว่า 3 หมื่นคน จากทั้งหมดกว่า 7 หมื่นคนในรัฐนี้

“หยางเธา” แม่ของเธอทำงานเป็นผู้ช่วยด้านการเเพทย์ ส่วนพ่อบุญธรรมที่เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่เด็ก ชื่อ “ฮัว จอห์น ลี” ทำงานในบริษัท Cummins Power Generation ในวัยเด็กทั้งสองหนีภัยสงครามในลาวมาอาศัยอยู่ในค่ายอพยพที่ประเทศไทยนานหลายปี จนกระทั่งปี 2522 จอห์นลีได้ย้ายไปสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนอายุ 7 ปี ส่วนหยางเธาเดินทางไปในปี พ.ศ.2530 ตอนอายุ 12 ปี 

เขาและเธอต่างเติบโตจนมีครอบครัวของตนเอง แต่ชะตาพาให้ทั้งคู่ที่เป็นหม้ายลูกติดได้มาร่วมชีวิตเป็นครอบครัวเดียวกันในปี พ.ศ. 2548 ตอนที่สุนิสาอายุได้ 2 ขวบ โดยมีพี่สาวลูกติดพ่อ 2 คน ทั้งสามเติบโตมาด้วยกันในครอบครัวที่อบอุ่น จนสุนิสาเปลี่ยนมาใช้นามสกุลตามพ่อบุญธรรม

พ่อและแม่ของเธอชอบเล่นกีฬา จึงปลูกฝังให้ลูกๆ รักในกีฬา แม่ของเธอบอกว่าสุนิสามีพรสวรรค์ในกีฬายิมนาสติกตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 6 ขวบ เธอเริ่มฝึกที่ศูนย์ยิมนาสติกมิดเวสต์ ในเมืองเซนต์พอล

ที่นี่เธอฉายแววของการเป็นนักยิมนาสติกที่ดีเพราะเธอสามารถเล่นอุปกรณ์ต่างๆ ได้แบบไม่รู้สึกกลัว ทั้งการทรงตัวและเคลื่อนไหวร่างกายล้วนทำได้อย่างคล่องแคล่วและมีพลัง

เธอทุ่มเทฝึกฝนและพัฒนาตนเองอย่างจริงจังจนอายุ 14 ปี ได้รับคัดเลือกเข้าเยาวชนทีมชาติในปี พ.ศ.2559 เดินทางไปแข่งขันเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั่วโลก จนปี พ.ศ.2561 เธอคว้าเหรียญทองในการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติสหรัฐฯ ประเภทบาร์ต่างระดับได้เป็นครั้งแรก

ในปี พ.ศ. 2562 เส้นทางสู่โอลิมปิกของสุนิสาสดใสขึ้นเมื่อเธอติดกลุ่ม 4 ใน 10 นักยิมนาสติกฝีมือดีของสหรัฐฯ แต่ก็เป็นปีที่มีความยุ่งยากเมื่อพ่อของเธอประสบอุบัติเหตุพลัดตกบันไดขณะตัดแต่งต้นไม้ ทำให้เป็นอัมพาตเดินไม่ได้ 

เหตุการณ์เกิดก่อนการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติเพียง 2 วัน ทำให้เธอลังเลที่จะเข้าร่วมการแข่งขันปีนั้น แต่พ่อขอให้เธอลงแข่งขันเพื่อตีตั๋วไปโอลิมปิกตามความฝัน จนในที่สุดเธอทำได้สำเร็จคว้าอันดับที่ 2 รองจากซิโมน ไบล์ส ตำนานยิมนาสติกหญิง ได้เป็นหนึ่งในทีมชาติสหรัฐฯ ไปสู้สึกโอลิมปิกที่โตเกียว ด้วยอายุน้อยที่สุดในทีม

ปี 2563 ระหว่างการเตรียมตัวเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก 2020 เกิดโรคโควิดระบาดทั่วสหรัฐ นอกจากจะประสบปัญหาโรงยิมที่ใช้ฝึกซ้อมถูกปิดแล้ว เธอยังสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตเมื่อลุงและป้าที่ช่วยเหลือดูแลเธอมาแต่เล็กเสียชีวิตจากโรคโควิด โดยเธอทำได้แค่กล่าวคำอาลัยท่านทั้งสองผ่านทางโปรแกรมซูมเท่านั้น

ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต เธอสร้างผลงานได้น่าประทับใจด้วยรางวัล 1 เหรียญทองจากประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ 1 เหรียญเงินจากประเภททีมรวมอุปกรณ์ และอีก 1 เหรียญทองแดง จากบาร์ต่างระดับ

ฮัว จอห์น ลี พ่อบุญธรรมผู้เป็นแรงหนุนสำคัญในเส้นทางนักกีฬาของเด็กสาววัย 18 ปี กล่าวกับสื่อท้องถิ่นในสหรัฐฯ ด้วยความยินดีว่าเธอสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และสร้างความภูมิใจให้พี่น้องชาวม้งทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีประชากรเชื้อสายม้งเกือบ 3 แสนคน กลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย มินนิโซตา วิสคอนซิล และนอร์ทแคโรไรนา รวมกันมากกว่า 2 แสนคน นอกนั้นกระจายกันไปตามรัฐอื่นๆ นับสิบแห่ง ทั้งหมดเป็นผู้อพยพจากประเทศลาวช่วง 45 ปีที่ผ่านมา กับลูกหลานที่เกิดในแผ่นดินอเมริกา

กว่าจะได้มีชีวิตใหม่ในดินแดนห่างไกล เส้นทางการย้ายถิ่นฐานของพวกเขาเต็มไปด้วยความลำบากและทรหด

ชนชาติม้งมีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพจากดินแดนจีนลงมาทางใต้กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในภูเขาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยอาศัยอยู่ในจีนตอนใต้ เวียดนาม ลาว และไทย

ช่วงสงครามเวียดนาม (พ.ศ.2498 – 2518) ประเทศลาวมีสงครามกลางเมือง เวียดนามเหนือให้การสนับสนุนฝ่ายขบวนการประเทศลาวต่อสู้กับรัฐบาล และใช้ลาวเป็นทางผ่านลำเลียงยุทธปัจจัยต่างๆ สู่เวียดนามภาคกลางเพื่อช่วยเวียดกงทำสงครามกับรัฐบาลเวียดนามใต้ ด้วยเส้นทางที่ถูกเรียกว่า “เส้นทางโฮจิมินท์” (Ho Chi Minh Trail) ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ที่สนับสนุนรัฐบาลเวียดนามใต้เปิดปฏิบัติการลับเพื่อต่อต้านและสกัดฝ่ายเวียดนามเหนือ

สหรัฐฯ หนุนหลังนายทหารชาวม้งชื่อ “วังเปา” ที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จัดตั้งกองทัพพิเศษทำสงครามกับฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือ โดยมีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองล่องแจ้ง (แขวงไซสมบูนในปัจจุบัน) ตอนใต้ของเมืองเชียงขวางซึ่งเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญ

สงครามนี้เรียกกันว่า “สงครามลับในลาว” เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2503 ถึงปี พ.ศ.2517 แม้จะไม่มีกำลังทหารอเมริกันเข้าไปในลาว แต่มีทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสร้างสนามบินในล่องแจ้ง และตั้งสถานีเรด้าบนภูผาถี่ในตอนกลางของลาวเพื่อจับความเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม แล้วส่งเครื่องบินทั้งจากในลาวและจากฝั่งไทยไปทิ้งระเบิดใส่ศัตรู

รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนปฏิบัติการลับนี้โดยส่งครูฝึกไปช่วยสอนทหารม้ง ต่อมาช่วงปี พ.ศ.2513-2514 หลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดเชียงขวางได้สำเร็จ รัฐบาลไทยได้ส่งกองกำลังทั้งทหารประจำการและนักรบรับจ้างในนาม “ทหารเสือพราน” เข้าไปช่วยรบเพื่อรักษาเมืองล่องแจ้งของทหารม้ง

สมรภูมิรบในลาวเป็นไปอย่างดุเดือด ทหารชาวม้งที่เข้าร่วมรบราว 30,000 นาย เสียชีวิตเกินกว่าครึ่ง ส่วนทหารไทยเสียชีวิตประมาณ 3,000 นาย และทหารเวียดนามเหนือสังเวยชีวิตกว่า 15,000 นาย ทั้งหมดกลายเป็นนักรบนิรนามที่ไม่มีป้ายจารึกชื่อบนหลุมฝังศพ เพราะเป็นสงครามลับที่ไม่อาจเปิดเผยความจริงจนทุกวันนี้

ตลอดช่วงสงคราม สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดมากถึง 2 ล้านตัน มากกว่าจำนวนระเบิดทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการรุกคืบของฝ่ายเวียดนามเหนือได้

ปี พ.ศ.2516 สหรัฐฯ ตัดสินใจยุติการช่วยเหลือทางทหารและถอนทหารอเมริกันออกจากสงครามเวียดนาม ทำให้กองทัพม้งต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว จนไม่สามารถต้านทานกำลังฝ่ายศัตรูต่อไปได้ 

นายพลวังเปาจึงพานักรบและพลเรือนชาวม้งหลายหมื่นคนถอยร่นข้ามโขงมายังฝั่งไทย จนเดือนเมษายนปี 2518 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็สามารถยึดครองเวียดนามใต้ได้สำเร็จ ตามมาด้วยลาวและกัมพูชาในเวลาไล่เลี่ยกัน 

หลังจากประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ชาวม้งจำนวนมากยังคงหลบหนีมายังประเทศไทยไม่ขาดสาย เนื่องจากพวกเขาเคยให้การสนับสนุนฝ่ายสหรัฐฯ จึงถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศชาติ 

พวกเขาเข้ามาอยู่ที่ศูนย์อพยพบริเวณชายแดนไทยที่บ้านน้ำเย้าจังหวัดพะเยา บ้านวินัยจังหวัดเลย บ้านนาโปจังหวัดนครพนม และศูนย์อพยพที่หนองคาย จำนวนหลายหมื่นคน

กล่าวกันว่าชาวม้งที่หนีข้ามโขงมายังฝั่งไทยมีจำนวนเกือบครึ่งของประชากรม้งที่อยู่ในประเทศลาว

เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2518 รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านรัฐบัญญัติการอพยพคนอินโดจีน ทำให้ม้งอพยพส่วนใหญ่ได้ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยในสหรัฐฯ โดยทยอยเดินทางไปหลายระลอกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 จนถึงปี พ.ศ.2541 ตัวเลขชาวม้งในสหรัฐอเมริกามีไม่น้อยกว่า 250,000 คน 

อีกราว 20,000 คน ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี และเฟรนซ์เกียนา 

นี่ถือเป็นการอพยพครั้งใหญ่และเดินทางไกลที่สุดในประวัติศาสตร์ของชนชาติม้ง

ส่วนชาวม้งที่ไม่ได้รับคัดกรองให้ย้ายไปประเทศที่สาม พวกเขาใช้ชีวิตอย่างลำบากในค่ายอพยพจนถึงปี พ.ศ.2552 ก็ถูกส่งกลับประเทศลาวจำนวนราว 4,500 คน

สำหรับชาวม้งในอเมริกา พวกเขาต้องเผชิญความลำบากจากความไม่คุ้นเคยทั้งภูมิอากาศ ภาษาและวัฒนธรรม และการดูถูกทางเชื้อชาติ ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิด้านสวัสดิการและสิทธิทางการศึกษา กว่าจะลืมตาอ้าปากกลายเป็นพลเมืองอเมริกันที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมชาวอเมริกันอื่นๆ ได้ต้องดิ้นรนนานหลายสิบปี

ชาวม้งในรัฐมินนิโซตาไปได้ไกลกว่าในรัฐอื่น ๆ นอกจากพวกเขาจะมีวุฒิสมาชิกเชื้อสายม้งเป็นปากเป็นเสียงแล้ว วันนี้พวกเขายังมีฮีโร่นักกีฬายิมนาสติกเหรียญทองโอลิมปิก ที่สร้างเกียรติภูมิให้กับชาวม้งผู้ไร้แผ่นดินของตนเองด้วย

ในภาพ: สุนิสา ลี (ขวาสุด) โชว์เหรียญรางวัลโอลิมปิกร่วมกับพ่อแม่และพี่น้องของเธอในเมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา

ภาพจาก Instagram @sunisalee See Less

ฟื้นฝอยหาอดีต

สมชัย อักษรารักษ์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ