TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“พระอาจารย์ฝรั่ง” กับคิงแห่งสยาม

“พระอาจารย์ฝรั่ง” กับคิงแห่งสยาม

แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 150 ปีแล้ว แต่สตรีชาวอังกฤษผู้เป็นพระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษให้กับเจ้านายน้อย ๆ แห่งราชสำนักสยาม ยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะหญิงชาวตะวันตกผู้ได้มาสัมผัสวงในของอดีตกษัตริย์สยาม

ปี พ.ศ. 2405 แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) หญิงหม้ายชาวอังกฤษ ออกเดินทางจากสิงคโปร์พร้อมบุตรชายวัย 7 ขวบ มาถึงประเทศสยามเพื่อมาสอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก ตามหนังสือเชิญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เธอเป็นชาวอังกฤษที่เกิดในอินเดีย เป็นบุตรีของโทมัส เอ็ดเวิดส์ กับ แมรี แอนน์ กลาสคอตต์ บุตรสาวของนายทหารสัญญาบัตรชาวอังกฤษประจำกองพลทหารราบที่ 4 ในค่ายทหารเมืองบอมเบย์ เมื่ออายุได้ 18 ปี แต่งงานกับ โธมัส ลีออน โอเวนส์ เจ้าหน้าที่เสมียนชาวอังกฤษ มีบุตร 4 คน สองคนแรกเสียชีวิตแต่เล็ก คนที่ 3 เป็นหญิงชื่อเอวิส คนสุดท้องเป็นชายชื่อ หลุยส์

ต่อมาเธอย้ายตามสามีไปอยู่ที่เกาะปีนัง อาณานิคมอีกแห่งของอังกฤษ โดยประกอบอาชีพสอนภาษาอังกฤษ หลังจากสามีเสียชีวิต เธอย้ายไปอยู่สิงคโปร์ เปิดโรงเรียนเล็ก ๆ รับสอนหนังสือให้บรรดาลูกหลานนายทหาร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 การติดต่อกับต่างชาติจากยุโรปมีมากขึ้น ทรงตระหนักว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญ ในปี พ.ศ.2394 ทรงมีรับสั่งให้พวกมิชชันนารีจัดหามิชชันนารีหญิงผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้ฝ่ายในสัปดาห์ละ 2 วัน

ดำเนินการไปได้ประมาณ 3 ปี ทรงมีพระราชดำริให้จัดหาครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ เพื่อจัดการศึกษาแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา วิลเลียม อดัมสัน ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวประจำสิงคโปร์ ได้แนะนำให้ทางกรุงเทพฯ ทราบว่ามีแหม่มสอนภาษาอังกฤษชื่อ แอนนา เลียวโนเวนส์ เหมาะมาทำหน้าที่นี้

เมื่อคุณครูคนใหม่มาถึง รัชกาลที่ 4 พระราชทานบ้านพักสร้างด้วยอิฐแบบฝรั่งให้อยู่นอกพระบรมมหาราชวัง และให้เงินเดือน ๆ ละ 100 เหรียญสิงคโปร์ โดยเธอจะต้องสอนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น วรรณคดีอังกฤษ ขนบธรรมเนียมอังกฤษ แต่ไม่ต้องสอนศาสนาคริสต์

แอนนาจัดการสอนแบ่งเป็นสองภาค ภาคเช้าสำหรับบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา พระชนมายุระหว่าง 5-11 พรรษา ในจำนวนนี้มีนักเรียนพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ด้วย ส่วนภาคบ่ายจัดการสอนแก่บรรดาเจ้าจอม หม่อมห้าม

นอกจากทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือของเจ้านายทุกพระองค์ในราชสำนักแล้ว เธอยังช่วยงานเกี่ยวกับหนังสือราชการที่ต้องโต้ตอบระหว่างสยามกับต่างประเทศด้วย

ส่วนบุตรชายวัย 7 ขวบที่ติดตามมาด้วย (บุตรสาวส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ) กลายเพื่อนเล่นของบรรดาลูกท่านหลานเธอในวัง และเป็นที่รักใคร่เอ็นดีของขุนนางผู้ใหญ่ด้วย

แอนนารับราชการในราชสำนักสยามเป็นเวลา 4 ปี 6 เดือน ก็กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ เธอเดินทางออกจากสยามในวันที่ 5 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2410 หนึ่งปีก่อนที่รัชกาลที่ 4 จะเสด็จสวรรคต แล้วไม่ได้กลับมาเยือนสยามอีกเลย

ในวัย 36 ปี เธอออกจากกรุงเทพฯ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์ค 11 ปี เขียนบทความและสารคดีเล่าประสบการณ์ในสยามลงนิตยสาร Atlantic Monthly ต่อมามีการรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเกี่ยวกับชีวิตแอนนาในราชสำนักสยาม 2 เล่ม ได้แก่ The English Governess at the Siamese Court ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2413 และอีกเล่มคือ The Romance of the Harem

หนังสือทั้งสองเล่มทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในประเด็นที่สตรีชาวยุโรปมีอิทธิพลต่อราชสำนักสยาม เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนกล่าวว่าเธอมีส่วนในการชี้แนะนโยบายหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทาสและสิทธิสตรี ซึ่งมีนักวิชาการบางส่วนเห็นว่าเธอไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่าครูสอนภาษาอังกฤษ แต่บางส่วนเห็นว่าเธอเป็นสายลับของต่างชาติ และบางคนกล่าวหาเธอว่าโกหก หลอกลวง และดูหมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์สยาม

ในปี พ.ศ. 2487 มาร์การ์เร็ต ลอนดอน นักประพันธ์ชื่อดังของอังกฤษ นำเรื่องราวชีวิตของแอนนามาดัดแปลงเป็นนิยายชื่อว่า Anna and the King of Siam จนกลายเป็นหนังสือขายดี

ต่อมาปี พ.ศ. 2494 มีการนำนิยาย Anna and the King of Siam มาดัดแปลงเป็นบทละครบรอดเวย์ เปิดแสดงครั้งแรกที่โรงละครเซนต์เจมส์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในชื่อว่า The King and I นำแสดงโดย ยูล บรินเนอร์ รับบทเป็นคิงมงกุฏ ก็ได้รับความนิยมมาก มีการแสดงซ้ำถึง 1,246 รอบ และมีการนำไปแสดงที่โรงละครเวสต์เอนด์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2496

ในปี พ.ศ. 2499 ยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The King and I นำแสดงโดย ยูล บรินเนอร์ และ เดบอราห์ เคอร์ รับบทแอนนา ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากได้รับรางวัลออสการ์มากถึง 5 สาขา

แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีปัญหาการฉายในประเทศไทย แม้จะได้ทดลองฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ และผ่านการพิจารณาจากแผนกพิจารณาภาพยนตร์กรมตำรวจ ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกคำสั่งระงับการฉาย เนื่องจากพิจารณาว่าเป็นเรื่องราวบิดเบือนทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

ปี พ.ศ. 2542 ถูกนำกลับมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งในชื่อ Anna and the King โดยนักแสดงฮ่องกง โจวเหวินฟะ รับบทเป็นคิงมงกุฎ และโจดี ฟอสเตอร์ เป็นแอนนา ครั้งนี้ทีมงานสร้างขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเปลี่ยนไปสร้างฉากถ่ายทำที่ประเทศมาเลเซีย และถูกห้ามฉายในประเทศไทยด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์มีเนื้อหาบางส่วนที่บิดเบือนประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีการนำไปทำเป็นละครซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์ ในปี พ.ศ. 2515 รวมทั้งภาพยนตร์แอนิเมชั่น ในปี พ.ศ. 2542 ด้วย

เรื่องราวชีวิตพระอาจารย์ฝรั่ง ไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร แต่ในชีวิตจริงทั้งอาจารย์และศิษย์ต่างมีความรู้สึกผูกพันต่อกัน แม้จะมีโอกาสได้พบกันน้อยครั้ง แต่ก็แสดงออกถึงมิตรภาพอันยาวนาน

ปี พ.ศ. 2427 แอนนาได้เข้าเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 17 ของรัชกาลที่ 4 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ซึ่งพระองค์ทรงเคยเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ฝรั่งเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ในพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร”

และปี พ.ศ.2440 เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป แอนนาในวัย 66 ปี ได้รับพระราชทานวโรกาสให้เข้าเฝ้า ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจากเดินทางออกจากสยามเป็นเวลานาน 30 ปีพอดี

อีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมื่อ หลุยส์ ทอมัส กันนิส เลียวโนเวนส์ บุตรชายคนเดียวของแอนนา เดินทางกลับมาสยามอีกครั้งในปี พ.ศ. 2424 ขณะอายุได้ 25 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานแต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชากองทหารม้า มีอัตราค่าจ้าง 800 ปอนด์ พร้อมที่พักใกล้พระราชวัง ไม่ห่างจากบ้านที่เขาเคยอยู่เมื่อวัยเด็ก

ระหว่างรับราชการ หลุยส์ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปออสเตรเลียซื้อม้าพันธุ์ใหญ่ที่นิวเซาธ์เวลส์ และเคยเข้าร่วมปราบกบฏอั้งยี่ด้วย

กระทั่งปี พ.ศ.2426 หลุยส์กราบบังคมลาออกจากราชการ แต่ทรงระงับ และมอบหมายให้ขึ้นเหนือไปกับกองทัพปราบฮ่อ เพื่อสำรวจเขตแดนเตรียมทำแผนที่สากล

อย่างไรก็ตาม ในปีต่อมาเขาได้กราบบังคมลาออกจากราชการไปทำงานเป็นเอเยนต์สัมปทานป่าไม้สักภาคเหนือของบริษัทบอร์เนียวที่จังหวัดลำปาง ณ ที่นี้เขาได้จัดตั้งบริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2448

ภายหลังขยายธุรกิจรับเป็นผู้แทนบริษัทผลิตซีเมนต์ นำเข้าแชมเปญ วิสกี้ เครื่องพิมพ์ดีด ผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรม และธุรกิจประกันภัย กลายเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศจนทุกวันนี้

ส่วนแอนนาหลังเดินทางออกจากสยามก็ยึดอาชีพเป็นนักเขียนต่อเนื่องยาวนาน แม้ภายหลังจะย้ายไปอยู่ประเทศแคนาดาตั้งแต่อายุ 47 ปี ก็ยังเดินทางไปทำงานหลายประเทศในฐานะนักเขียนบทความสารคดี

ในวัย 53 ปี เธอมีผลงานเขียนหนังสือเล่มที่ 3 เกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กชื่อว่า Life and Travel in India และอีก 5 ปีต่อมา มีผลงานเล่มที่ 4 เรื่องราวการอพยพของคนจีนไปอยู่ทวีปอเมริกาเหนือ ชื่อหนังสือ Our Asiatic Cousins เป็นผลงานเล่มสุดท้าย

แอนนา เลียวโนเวนส์ เสียชีวิตเมื่ออายุ 84 ปี ในปี พ.ศ.2458 ณ เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ด้านหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ เดินทางออกจากสยามกลับไปพำนักที่อังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2456 และเสียชีวิตที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขณะมีอายุ 63 ปี ระหว่างเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในยุโรป ในปี พ.ศ. 2462

ทั้งสองคนแม้จะเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศสยามช่วงเวลาไม่นาน แต่กลับมีเรื่องราวให้เล่าขานได้ยาวนานกว่าร้อยปี คงเพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในฝรั่งเพียงไม่กี่คนที่ได้เข้าถึงวงในของราชสำนักสยามย่างแท้จริง

สมชัย อักษรารักษ์

ที่มา: ฟื้นฝอยหาอดีต

ที่มาภาพ: ศิลปวัฒนธรรม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ