TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistการกลับมาของ “ตาลีบัน” ฝันร้ายชาวอัฟกัน หรือ อเมริกัน?

การกลับมาของ “ตาลีบัน” ฝันร้ายชาวอัฟกัน หรือ อเมริกัน?

เย็นวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ความโกลาหลในสนามบินนานาชาติฮามิด คาร์ไซ เกิดขึ้นทันทีเมื่อชาวอัฟกันรู้ว่ากลุ่มตาลีบันบุกเข้ากรุงคาบูล และยึดทำเนียบประธานาธิบดีได้สำเร็จ คนนับพันหลั่งไหลกันมาเพื่อหนีออกนอกประเทศ หลายร้อยคนแย่งชิงกันขึ้นเครื่องบินขนส่งของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลำหนึ่ง ซึ่งกำลังอพยพพลเรือนของตนอย่างอลหม่าน C-17 ลำนั้นมีชาวอัฟกันอัดแน่นกว่า 640 คน ขณะที่อีกลำมีหลายชีวิตตะเกียกตะกายเกาะอยู่ด้านนอกไม่ยอมปล่อย จนเกิดโศกนาฏกรรมมีผู้พลัดตกลงมาเสียชีวิต 3 คน ขณะเครื่องบินทะยานขึ้นท้องฟ้า

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกจากประเทศอัฟกานิสถานได้เพียงสองสัปดาห์เท่านั้น ทำให้หลายคนหวนคิดถึงเหตุการณ์ชุลมุนหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในวันที่กรุงไซง่อนแตก หลังกองทัพเวียดนามเหนือมีชัยต่อเวียดนามใต้เมื่อ 46 ปีก่อน

อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้นำกลุ่มตาลีบัน ออกมาแถลงว่า พวกเขาปรารถนาให้มีการถ่ายโอนอำนาจโดยสันติ ทั้งรับประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกรุงคาบูล แต่ชาวอัฟกันไม่เชื่อมั่นในคำประกาศนี้ คนนับแสนหนีออกจากกรุงคาบูลและเมืองต่าง ๆ เดินทางไปยังด่านชายแดนด้านที่ติดกับประเทศปากีสถาน หวังอพยพสู่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อความปลอดภัย

ประเทศอัฟกานิสถานกลับมาอยู่ในความสนใจของชาวโลกอีกครั้ง พร้อมกับคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมชาวอัฟกันจำนวนมากเกรงกลัวกลุ่มตาลีบันเหลือเกิน

ย้อนไปปี พ.ศ.2522 กองทัพสหภาพโซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถานโค่นล้มรัฐบาลนิยมตะวันตกและสนับสนุนรัฐบาลนิยมคอมมิวนิสต์ให้ปกครองประเทศ ทำให้เกิดสงครามต่อต้านจากกองกำลังชาวพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ ที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มกบฏมูจาฮีดีน” ต่อสู้แบบกองโจรภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

สงครามยืดเยื้อนานเกือบ 10 ปี สร้างความสูญเสียมหาศาลกับทั้งสองฝ่ายจนสหภาพโซเวียตต้องตัดสินใจถอนตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2532 ปล่อยให้ทหารฝ่ายรัฐบาลต่อสู้โดยลำพังจนถึงปี พ.ศ.2535 ก็พ่ายแพ้แก่ฝ่ายกบฏ แต่ทว่าหลังจากนั้นประเทศกลับตกอยู่ในสภาพสงครามแย่งชิงอำนาจกัน รัฐบาลที่ผู้นำกลุ่มมูจาฮีดีนจัดตั้งขึ้นไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

ท่ามกลางความชุลมุนระหว่างกองกำลังกลุ่มต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2537 กลุ่มตาลีบันซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวปาทาน (Pashtun) ชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน (ราวร้อยละ 42) ได้เข้ายึดเมืองกันดาฮา เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเป็นฐานบัญชาการ จากนั้นรุกคืบยึดเมืองต่าง ๆ จนปีถัดมายึดเมืองใหญ่รองลงมา คือ เฮรัต และสุดท้ายบุกเข้าเมืองหลวงกรุงคาบูล โค่นรัฐบาลของอดีตผู้นำกลุ่มมูจาฮีดีนได้สำเร็จในวันที่ 26 กันยายน ปี พ.ศ.2539

กลุ่มตาลีบันที่โลกแทบไม่รู้จักได้จัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศในชื่อใหม่ว่า อิสลามิก เอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน โดยมี มุลลาห์ มูฮัมหมัด โอมาร์ ผู้นำสูงสุดซึ่งเป็นอดีตครูสอนศาสนา ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ โดยมีเพียง 3 ประเทศให้การรับรอง คือ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

ฝ่ายที่ถูกโค่นอำนาจถอยร่นไปทางภาคเหนือ จัดตั้งเป็นแนวร่วมอิสลามปลดปล่อยอัฟกานิสถาน หรือรู้จักกันในชื่อว่า กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ มีหลายชาติให้การยอมรับ ได้แก่ รัสเซีย อิหร่าน ตุรกี ทาจิกิสถาน อินเดีย ทำให้อัฟกานิสถานเวลานั้นมีสภาพเป็นสองรัฐ 

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2541 กลุ่มตาลีบันสามารถขยายอิทธิพลยึดครองอัฟกานิสถานได้เกือบร้อยละ 90 โดยส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ของพันธมิตรฝ่ายเหนือ

แกนนำกลุ่มตาลีบันส่วนใหญ่เติบโตมาจากผู้อพยพชาวอัฟกันที่อาศัยในปากีสถาน และเคยเป็นนักเรียนของโรงเรียนสอนศาสนาที่ได้รับอิทธิพลความคิดมาจากรากฐานเดียวกัน (Deobandi) ซึ่งยึดหลักคำสอนศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์แบบดั้งเดิม จึงมีนโยบายสถาปนาอัฟกานิสถานเป็นรัฐอิสลามที่ปกครองด้วยกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด

ในระยะแรกรัฐบาลตาลีบันได้รับการยอมรับจากประชาชนเพราะสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นในประเทศ และมีผลงานเข้าตา ทั้งการกำจัดคอรัปชั่น การเข้มงวดสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตและทำธุรกิจได้อย่างปลอดภัย

แต่การปกครองด้วยจารีตอิสลามทำให้ประชาชนถูกควบคุมการดำเนินชีวิตอย่างเข้มงวด มีกฎเกณฑ์ห้ามไม่ให้ประชาชนเสพสิ่งบันเทิงจากการดูทีวี ดูหนัง หรือฟังเพลง มีการบังคับให้ผู้ชายไว้หนวด แต่ที่ถูกวิพากษ์อย่างหนักคือการกดขี่สตรี โดยผู้หญิงทุกคนต้องสวมชุดปกปิดร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ห้ามออกจากบ้านโดยลำพัง และห้ามออกไปทำงานตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งยังต่อต้านการไปโรงเรียนของเด็กผู้หญิงด้วย

นอกจากนี้ มีการใช้หลักกฎหมายชารีอะห์ในการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง เช่น การประหารชีวิตผู้มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น หรือผู้ที่ประพฤตินอกใจคู่ครอง การลงโทษตัดมือผู้กระทำผิดข้อหาลักขโมย เป็นต้น

การตีความคำสอนทางศาสนาแบบสุดโต่ง ทำให้พวกเขาสั่งทำลายสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมในศาสนาอื่น กรณีที่ทำให้ชาวโลกตกตะลึง คือ การสั่งทำลายพระพุทธรูปแกะสลักฝาผนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งเมืองบามิยัน ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของศาสนาพุทธที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก แม้มีเสียงคัดค้านจากประชาคมโลกพวกเขาก็ไม่สนใจ ทำให้นานาชาติออกมารุมประณาม

ภายใต้การปกครองของตาลีบัน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง ในรายงานขององค์กร Human Right Watch คาดว่าระหว่างปี พ.ศ.2541-2544 มีพลเรือนเสียชีวิตจากการกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐไม่น้อยกว่า 2,000 คน หนึ่งในนั้น คือ เหตุการณ์สังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยนิกายชีอะห์ ฮาซารา จำนวนราว 170 คน ในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2544 

เรื่องที่ถูกจับตามองจากชาติตะวันตกมากที่สุด คือ การถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและให้แหล่งพักพิงแก่กลุ่มก่อการร้ายอิสลามสากล “อัลกออิดะฮ์” หรือกลุ่มอัลเคดาภายใต้การนำของ อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ผู้เคยร่วมกับกลุ่มมูจาฮีดีนทำสงครามต่อต้านการรุกรานของกองทัพสหภาพโซเวียต

ในปี พ.ศ.2544 เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ วันที่ 11 กันยายน ที่เรียกว่า 9/11 จนมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,977 คน รัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บูช กล่าวหาว่ากลุ่มอัลกออิดะฮ์อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สะเทือนโลกครั้งนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลตาลีบันส่งตัวแกนนำกลุ่มก่อการร้ายมาให้สหรัฐฯ พิจารณาลงโทษ แต่พวกเขาปฏิเสธอย่างไม่ไยดี

อีก 1 เดือนต่อมา กำลังทหารสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรนาโตก็บุกโจมตีกลุ่มตาลีบัน โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรฝ่ายเหนือ หรืออดีตกลุ่มมูจาฮีดีนเดิม จนยึดอัฟกานิสถานได้ในต้นเดือนธันวาคมปีเดียวกัน 

รัฐบาลตาลีบันหมดอำนาจลงหลังปกครองประเทศได้ 5 ปี แกนนำและกองกำลังส่วนใหญ่หลบหนีเข้าไปในพื้นที่ประเทศปากีสถาน อาศัยตามรอยตะเข็บชายแดนด้านตะวันตกติดกับอัฟกานิสถานซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปาทานเหมือนกัน นอกนั้นกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ชนบทซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหุบเขาสลับซับซ้อน ทำสงครามกองโจรต่อสู้กับกองกำลังร่วมของสหรัฐฯ

นับแต่ฝ่ายสหรัฐฯ เข้ายึดครองอัฟกานิสถาน และจัดให้มีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลปกครองประเทศ ฝ่ายรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือไม่เคยเอาชนะกลุ่มตาลีบันได้อย่างแท้จริง อำนาจการปกครองของรัฐบาลครอบคลุมได้เฉพาะในเขตเมือง แต่พื้นที่ชนบทจำนวนมากยังอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มตาลีบัน

พวกตาลีบันที่มีฐานปฏิบัติการในปากีสถานได้ก่อเหตุรุนแรงขึ้นหลายครั้ง เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้นปี พ.ศ.2555 พวกเขาบุกยิง “ลาลา ยูซาฟไซ” เด็กนักเรียนหญิงวัย 14 ปี ชาวปากีสถานเชื้อสายปาทาน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการเขียนบล็อกเปิดโปงเรื่องราวชีวิตภายใต้การปกครองของตาลีบันในปากีสถาน ทั้งเคยออกสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์รณรงค์เรียกร้องสิทธิด้านการศึกษาของเด็กและผู้หญิง

เด็กหญิงถูกยิงเข้าที่ศีรษะและคออาการสาหัส ขณะโดยสารรถประจำทางจากโรงเรียนกลับบ้าน แต่รอดชีวิตมาได้หลังถูกส่งตัวไปรักษาที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อตอนอายุ 17 ปี

ปี พ.ศ.2557 กลุ่มตาลีบาน 7 คน ก่อเหตุบุกโจมตีโรงเรียนในเมืองเปชวาร์ ในปากีสถาน ส่งผลให้เด็กนักเรียน 132 คน และครู 9 คน เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ 125 คน โดยอ้างเหตุผลว่าแก้แค้นที่ทางการปากีสถานโจมตีฐานปฏิบัติการของกลุ่มตาลีบันในปากีสถานทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก 

ทางการปากีสถานตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางทหารกวาดล้างกองกำลังตาลีบันอย่างหนัก ในขณะที่การโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ ทำให้แกนนำสำคัญ 3 คนของพวกเขาเสียชีวิต หนึ่งในนั้น คือ หัวหน้ากลุ่มตาลีบันในปากีสถาน ส่งผลให้อิทธิพลที่มีในปากีสถานลดลงไปมาก

ส่วนผู้นำสูงสุด มุลลาห์ มูฮัมหมัด โอมาร์ ขณะนั้นไม่มีใครรู้ชะตากรรมว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ จนถึงปี พ.ศ.2558 กลุ่มตาลีบันจึงยอมรับว่าเขาเสียชีวิตมากว่า 2 ปีแล้ว ทำให้โลกเข้าใจว่าพวกเขาน่าจะอ่อนกำลังไปแล้ว

แต่ปี พ.ศ.2560 เกิดเหตุกองกำลังตาลีบันเข้าโจมตีโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่พักหรูหราบนเนินเขากลางกรุงคาบูล ในตอนค่ำของวันที่ 20 มกราคม พวกเขาบุกเข้าไปสังหารแขกที่เข้าพักและเจ้าหน้าที่ในโรงแรมอย่างอุกอาจ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน และอาคารโรงแรมเสียหายอย่างมาก โลกจึงรับรู้ว่าพวกเขายังคงน่าเกรงขาม

นับจากนั้นก็เกิดเหตุรุนแรงจากฝีมือของกองกำลังตาลีบันเรื่อยมา แต่ละครั้งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ความพยายามแสวงหาทางออกเพื่อยุติสงครามมีมากขึ้น

อันที่จริงทั้งฝ่ายรัฐบาลอัฟกานิสถานกับฝ่ายตาลีบันมีการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่สมัย ฮามิด คาร์ไซ เป็นประธานาธิบดีคนแรกหลังรัฐบาลตาลีบันถูกโค่นล้ม เริ่มจากปี พ.ศ.2550 เขาเสนอขอเจรจาด้วย แต่ตาลีบันปฏิเสธ จนดำรงประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2553 มีการส่งตัวแทนสองฝ่ายเจรจากันเกิดขึ้น 

ต่อมารัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา เริ่มมีการเปิดการเจรจาลับกับตาลีบันขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2556 กลุ่มตาลีบันเปิดสำนักงานขึ้นที่กรุงโดฮา ทำให้มีการเจรจาลับที่ประเทศกาตาร์หลายครั้ง 

ปี พ.ศ.2561 สถานการณ์การต่อสู้ในอัฟกานิสถานรุนแรงขึ้นจนต้องกลับมาการเจรจาลับกันหลายรอบ เดือนกันยายนปีนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แต่งตั้งผู้แทนพิเศษเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการที่กรุงโดฮาเป็นครั้งแรก เป้าหมายต้องการผลักดันให้เกิดการเจรจายุติการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มตาลีบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน แต่ตาลีบันต้องการเจรจากับสหรัฐฯ มากกว่า

การเจรจาดำเนินไปหลายปีจนในที่สุดก็บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการ มีการลงนามร่วมกันในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2563 ระหว่าง ซัลเมย์ คาลิลซาด ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ กับ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบันในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา

ข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรทั้งหมด 14,000 นาย ออกจากอัฟกานิสถานภายใน 14 เดือน ขณะที่ฝ่ายตาลีบันรับรองจะไม่ให้มีกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ และกลุ่มติดอาวุธต่างชาติเข้ามาปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน และจะมีการแลกเปลี่ยนตัวเชลยกัน 

ข้อตกลงนี้เป็นการลงนามระหว่างสหรัฐฯ กับตาลีบัน โดยไม่มีฝ่ายรัฐบาลอัฟกานิสถานร่วมด้วย จึงเป็นการยุติการสู้รบเฉพาะกองกำลังร่วมสหรัฐฯ กับตาลิบันเท่านั้น มิได้รวมการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานกับกองกำลังตาลีบัน

เท่ากับว่าสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตัดสินใจปล่อยมือชาติเล็ก ๆ นี้แล้ว โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกับกล่าวว่า สงครามในอัฟกานิสถานเป็นการเดินทางที่ยากลำบากและยาวนาน ”ถึงเวลาที่จะพาคนของเรากลับบ้านแล้ว”

เรื่องที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นเมื่อจู่ ๆ กองกำลังสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเร่งถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานให้เสร็จภายในวันที่ 31 สิหาคม 2564 จากเดิมที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศว่ากองทัพสหรัฐฯ จะถอนตัวทั้งหมดภายในวันที่ 11 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวาระครบ 20 ปีของเหตุการณ์ 9/11

นี่เป็นที่มาให้ฝ่ายตาลีบันรุกเข้ายึดเมืองต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จนสามารถยึดเมืองสำคัญ 18 เมือง และกรุงคาบูลได้สำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยประธานาธิบดี อัชร็อฟ กานี เผ่นหนีออกนอกประเทศแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยเหตุผลว่าเพื่อลดการสูญเสียมากไปกว่านี้เนื่องจากเจรจากับฝ่ายตาลีบันไม่ได้

ภายหลังกรุงคาบูลตกอยู่ในเงื้อมมือกลุ่มตาลีบันจนมีเสียงวิจารณ์ว่าผู้นำสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจผิดพลาดครั้งสำคัญ แต่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แถลงปกป้องการตัดสินใจถอนทหารทั้งหมดว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว ทั้งยืนยันว่า ไม่มีช่วงเวลาใดดีไปกว่าตอนนี้อีกแล้ว

ทั้งยังย้ำว่า “ทหารอเมริกันไม่ควรตายในสงครามที่กองกำลังชาวอัฟกันไม่เต็มใจจะสู้เพื่อตนเอง”

นับตั้งแต่เข้ายึดครองอัฟกานิสถานในปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อปกป้องและฟื้นฟูดินแดนที่ไม่ใช่บ้านของตนเอง คิดเป็นเงิน 946,200 ล้านดอลลาร์ ทั้งสูญเสียชีวิตทหารอเมริกันในสงครามยืดเยื้อนี้จำนวน 2,355 คน 

หลายคนเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้ว่าคล้ายกับกรณีสหรัฐฯ ถอดตัวจากเวียดนามใต้ส่งผลให้ถูกเวียดนามเหนือบุกยึดได้สำเร็จ เหตุการณ์หนีตายอลหม่านที่สถานบินในกรุงคาบูลเย็นวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ไม่ต่างกับภาพชาวเวียดนามแย่งชิงกันเข้าไปในเขตสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อน เพื่อรอขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี พ.ศ.2518 เท่าไรนัก

ถึงกับมีนักการเมืองอเมริกันกล่าวว่า “นี่คือไซ่ง่อนของไบเดน”

ภาพ : ชาวอัฟกันจำนวนกว่า 640 คน นั่งเบียดเสียดกันใน C-17 เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพื่อหนีออกนอกประเทศหลังกรุงคาบูลตกอยู่ในเงื้อมมือกลุ่มตาลีบัน

Photo credit : Defense One

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ