TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistคาถา "ลดความเหลื่อมล้ำ"

คาถา “ลดความเหลื่อมล้ำ”

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในบ้านเราพูดกันมานาน แต่ยิ่งพูดความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งถ่างออกไปทุกที ปัจจุบันความเหลื่อมในสังคมไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นความเหลื่อมล้ำระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย” ในบ้านเราเป็นความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ที่ดินทำกิน “Credit Suisse” ประเมินว่า คนรวยที่สุดของไทยถือครองทรัพย์สินมากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และสัดส่วนที่ถือครองทรัพย์สินที่ถือครองโดยคน 1% เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2008-2018

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ แม้ตัวเลขของทางราชการจะดูดีขึ้น นั่นหมายความว่าสถิติคนจนในประเทศในมุมมองของหน่วยงานราชการลดลง แต่ในความเป็นจริงนั้นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้นับวันยิ่งถ่างออกไปเรื่อย ๆ ส่วนด้านการศึกษานั้นยิ่งจะเห็นชัดเจนระหว่างลูกคนรวยกับคนจน คนรวยจะส่งลูกเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนชื่อดังของประเทศ แล้วไปเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้นหรือส่งไปเรียนต่างประเทศจบออกมาทำงานดี ๆ มีรายได้สูง ๆ ต่างจากลูกคนจนเรียนโรงเรียนวัด โรงเรียนในชนบท ไม่มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยดี ๆ จบมาก็ทำงานในโรงงาน รายได้ไม่สูง ความเหลื่อมล้ำการศึกษา กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยิ่งทิ้งห่างออกไปมากขึ้น 

เหนือสิ่งใด นอกจากเกิดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจแล้ว ทุกวันนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้นมาอีกมิติ คนจนมักจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมต่างจากคนรวยที่เข้าถึงและได้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมมมากกว่า ปรากฏการณ์นี้คือความรู้สึกของคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่ง อันส่งผลมาถึงเกิดความแตกแยกในสังคมจนยากที่จะประสานและนับวันบาดแผลนี้กลับเปิดกว้างมากขึ้น

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เมื่อเกิดวิกฤติประเทศ คนที่ “เปราะบาง” หรือ “คนจน” มักจะได้รับผลกระทบมากกว่าคน “รวย” วิกฤติที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 คนจนก็ได้รับผลกระทบมากกว่า ต้องตกงาน ต้องอพยพกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ล่าสุดวิกฤติโควิด ในช่วงเกือบ ๆ 3 ปีจะเห็นว่าคนจนกับคนรวยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน คนจนได้รับผลกระทบมากกว่าจากการไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว กล่าวคือ มีช่องทางในการหารายได้น้อยกว่า รวมถึงการเข้าถึงระบบสาธารณะสุขได้ยากกว่าคนรวย จะเห็นว่าคนรวย 10% สังคมไทยไม่เดือดร้อนจากปัญหาโควิด-19 แต่คนจนกลับต้องอยู่ภายใต้วิกฤติและเงื่อนไขแวดล้อมที่ทำให้สภาพชีวิตเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากหน่วยหน่วยงานและหลาย ๆ องค์กรเสนอสูตรสำเร็จแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่เคยสำเร็จ ขณะที่ข้อเสนอ “บัณฑูร ล่ำซำ” ไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศวิหารและวัดญาณสังวราราม ได้ปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยบนความไม่แน่นอน” ในงาน “The STANRARD ECONOMIC FORUM 2022” ถึงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” น่าสนใจไม่ไน้อย โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ เรียงจากง่ายไปยาก คือ 1) การเก็บภาษีอย่างทั่วถึง เก็บให้หมดทุกอย่าง คือ เก็บเท่าไหร่ เก็บอย่างไร ให้ไปตกลงในรัฐสภาฯ 

2) ช่วยให้สู้กันได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ SMEs ที่ไม่มีทุน ไม่มีความรู้จะสู้กับเจ้าสัวได้ยังไง แต่ต้องพยายามให้ได้มีความรู้ ให้ได้ทุน ให้ได้ระบบที่เอื้ออำนวย ไม่ให้เบียดกันเกินไป ก็ลองไปทำดู  

3) อะไรที่มีจำนวนจำกัดต้องมีการจำกัดไม่ให้ใครเอาไปหมด ตัวสำคัญที่สุดคือที่ดิน ที่ดินมีจำกัดถึงจุดหนึ่งต้องมีวิธีจำกัดว่าคนหนึ่งมีเท่านั้นเท่านี้ได้เรื่องนี้ก็ไม่ง่าย ก็ไปถกกันในรัฐสภา และ 4) ถ้าทำได้ก็จะชะงัดมากเลย คนทำผิดเหมือนกันต้องรับโทษเหมือนกัน

ข้อ 4 นี้สำคัญมาก คุณบัณฑูร ได้อธิบายอย่างเป็นรูปธรรมว่า “เมาเหล้าชนคนตาย มันไม่สำคัญว่ารถที่ชนนั้นจะเป็นซุปเปอร์คาร์หรูหรา หรือรถคันเล็ก ๆ กระป๋อง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นน้ำมัน ต้องรับโทษเท่ากัน อันนี้จะแก้ความเหลื่อมล้ำในหัวใจคนได้ทันที แล้วมันพิสูจน์ได้ในเชิงคณิตศาสตร์ เพราะว่าคนมีร้อยบาทกับคนมีร้อยล้านบาทซื้อระบบยุติธรรมไม่ได้ เท่ากับเป็นศูนย์ ความเหลื่อมล้ำในหัวใจ คือที่ที่ความเหลื่อมล้ำน่ากลัวที่สุดที่อยู่ในหัวใจจะหายไปทันที และก็พูดตรง ๆ อันนี้ทำยากที่สุด แต่จะทำได้”

อันที่จริง สิ่งที่คุณบัณฑูรพูดนั้นเป็นเรื่องที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนแก้ไขอย่างจริงจังสังคมไทยจึงกลายเป็นสังคม “ขนมชั้น” ที่เรียงเป็นชั้น ๆ และแบ่งชั้นกันอย่างชัดเจน คนรวยสามารถเข้าถึงทรัพยากรและเทคโนโลยีต่างได้ง่าย แต่คนจนไม่มีโอกาสเข้าถึง ลำพังจะเอาชีวิตรอดไปวัน ๆ ก็ลำบาก

ข้อเสนอของ “บัณฑูร” เป็นข้อเสนอที่ตรงเป้าและเป็นรูปธรรมที่สุด อยู่ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกล้านำไปแก้ไขหรือไม่ เพราะทั้ง 4 ข้อนั้น ล้วนแต่กระทบต่อคนรวยไม่กี่กลุ่มในประเทศแต่มีอิทธิพลมากที่สุด 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ