TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“หุ้นตก-บาทอ่อน” บทพิสูจน์รัฐบาลป้ายแดง

“หุ้นตก-บาทอ่อน” บทพิสูจน์รัฐบาลป้ายแดง

หากติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจบ้านเรา มีสองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์การแรกต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาล “ลุงตู่” โดยเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว นั่นคือปรากฏการณ์ “หุ้นตก” อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ทุกคนต่างพากันคาดหวังว่าหลังการเลือกตั้งราคาหุ้นน่าจะปรับตัวดีขึ้น ปกติหลังเลือกตั้งทุกครั้งจะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 

แต่ครั้งนี้ตรงกันข้าม หลังเลือกตั้งหุ้นยังดิ่งลงจากต่อเนื่องแม้จะมีรัฐบาลและได้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม หุ้นก็ยังไม่ขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดหุ้นนั้นมีความสำคัญและผูกพันกับระบบเศรษฐกิจไทยไม่น้อย เนื่องจากเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจเอกชนที่ไม่ต้องไปกู้แบงก์ ฉะนั้นสัญญาณที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นย่อมสะท้อนปรากฏการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดหุ้นไม่ขานรับรัฐบาลใหม่ อาจมีหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน ด้านหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้เปราะบางกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สะท้อนจากในไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 1.8% เท่านั้น ต่ำกว่าไตรมาสที่แล้วที่ขยายตัว 2.6% ยิ่งนโยบายที่รัฐบาลใหม่ผลักดันออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เกาไม่ถูกที่คัน เนื่องจากยังให้ความสำคัญกับการบริโภคเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่มีเครื่องมืออื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากว่า เช่นการลงทุน และมีเรื่องสำคัญกว่าการส่งออกที่ตกลงต่อเนื่องหลายเดือน และภัยแล้ง

แต่สิ่งที่ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลอย่างมาก เมื่อรัฐบาลยังยืนยันอย่างแข็งขันจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้งที่มีเสียงคัดค้านจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย แม้ว่าว่านโยบายนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีอย่างแน่นอน เพราะเป็นการฉีดเงินเข้าระบบสูงถึง 560,000 ล้านบาท ทำให้ GDP โตทันที 3% ภายใน 6 เดือนตามที่รัฐบาลอ้าง แต่ก็เป็นในระยะสั้น ๆ แบบไฟไหม้ฟาง ไม่ต่อเนื่องไม่ยั่งยืน

การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแจกแหลกแจกทุกคนคนละหมื่นบาท ยิ่งทำให้นักลงทุนอดเป็นห่วงไม่ได้ เกิดความกังวลในฐานะการคลังของไทย เนื่องจากรัฐบาลอาจจะต้องกู้เงินหรือ ตัดงบประมาณในส่วนอื่น ๆ อาจทำให้โครงการดี ๆ เสียโอกาสได้ ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ดี ผลจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น อาจส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลก และสร้างแรงกดดันให้เฟดต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นปัจจัยที่ทำนักลงทุนวิตกกังวล ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยทิ้งอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันขายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 150,108 ล้านบาท 

นอกจากหุ้นตกยังเจอโรคซ้ำกรรมซัด นั่นคือ “เงินบาทอ่อนค่า”​ มากที่สุดในกลุ่มเอเชียในเดือนกันยายนนี้ จนทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าเร็วถึงระดับ 3% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าจะมีปริมาณพันธบัตรเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก จากแผนการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ และความกังวลจากนโยบายลด แลก แจกแถม ด้วยการประกาศลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ลดราคาน้ำมันดีเซลลงต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร รวมถึงนโยบายพักหนี้เกษตรกร ส่งผลให้ “เงินบาท” อ่อนค่าลงรุนแรงในทันที

ปรากฏการณ์เงินบาทของไทยอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกปัจจัยทำให้เงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทย เนื่องจากกลัวผลการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ยิ่งในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างผันผวน ทำให้กองทุนต่างชาติที่ลงทุนระยาวค่อยๆหายไปจากตลาด ทุกวันนี้กองทุนต่างชาติที่มาลงทุนในหุ้นไทยเน้นลงทุนระยะสั้น ๆ แทน 

อย่างที่ทราบค่าเงินบาทอ่อน ย่อมเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกจากราคาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้มีรายได้ในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้นรวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น 

แต่น่าเสียดายที่เงินบาทอ่อนค่าช่วงนี้ไม่ถูกที่ถูกเวลา เพราะเป็นช่วงที่การส่งออกของไทยเราอ่อนแอติดลบต่อเนื่อง จึงไม่ได้สร้างความได้เปรียบเท่าใดนัก จากหลาย ๆ ปัจจัยทั้งจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ากับไทย ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อีกทั้งทีผ่านมาราคาสินค้าของเราแพงกว่าคู่แข่งเพราะต้นทุนสูงกว่าจากค่าแรง ค่าไฟฟ้า รวมถึงสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยไม่ได้มีการพัฒนา ไม่มีนวัตกรรม ยังเป็นการผลิตสินค้าแบบเดิม ๆ ที่คู่แข่งผลิตได้ในต้นทุนต่ำกว่า

ขณะที่การท่องเที่ยวที่อาจจะได้ประโยชน์ แต่โชคร้ายที่นักท่องเที่ยวจากจีนซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ตอนนี้จีนกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศน้อยลง ค่าเงินบาทอ่อนเที่ยวนี้ จึงไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คาดการณ์ไว้ว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวหรือการส่งออกก็ตาม 

ตรงกันข้าม ผู้นำเข้าต้องนำเข้าสินค้าต่างประเทศที่แพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น ประชาชนต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นตาม วิกฤติทั้งสองวิกฤตจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายฝีมือรัฐบาลใหม่ป้ายแดงอย่างยิ่ง 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

“5 แสนล้านบาท”… ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า

ต้องรีบออกจาก “หลุมดำสูญญากาศ”

เศรษฐกิจไทย “หมดบุญเก่า”

“การเมือง” เดดล็อก ..“ตลาดหุ้น-ลงทุน-กำลังซื้อ” วูบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ