TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"คนไทยไร้ทักษะ"​ วิกฤติใหญ่ของชาติ

“คนไทยไร้ทักษะ”​ วิกฤติใหญ่ของชาติ

เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่ บอกว่า หัวใจสำคัญในการแก้วิกฤติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้นั้น ปัจจัยสำคัญคือ “คน”กล่าวคือ คนต้องมีคุณภาพ เมื่อคนมีคุณภาพในยามเกิดวิกฤติจะแก้ได้เร็วกว่า ฉะนั้น คนจึงมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ตัวอย่างไม่ใกล้ ๆ บ้านอย่างสิงคโปร์เป็นเกาะเล็ก ๆ ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แต่ “ลี กวน ยิว” ผู้ก่อตั้งประเทศวางรากฐานโดยเน้นที่การ “สร้างคนสิงคโปร์” ให้มีความรู้ มีทักษะ จนกลายเป็น “ทรัพยากรอันมีค่า” ด้วย “การศึกษาที่ดีเยี่ยม” ระดับโลก 

ไม่แปลกใจทำไมสิงคโปร์จึงเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าอันดับต้น ๆ ของโลก นักลงทุนทั่วโลกต่างพากันมาลงทุนตั้งสำนักงานใหญ่ ล่าสุด “ลี เซียนลุง” นายกฯ คนปัจจุบัน มีนโยบายให้เงินอุดหนุนคนวัย 40 ขึ้นกลับไปเรียนทักษะใหม่เพื่อปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในยุค AI ไม่ได้แจกฟรีให้ไปใช้จ่ายเหมือนบ้านเรา 

เปิดโรดแมปสิงคโปร์ ลุยรีสกิลทักษะ เตรียมความพร้อมบรรดาผู้อาวุโส

ในกรณี สหรัฐอเมริกา อย่างที่รู้กันว่าเคยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ ๆ หลายครั้ง แต่ก็แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะประเทศเขามีคนเก่งและคนมีคุณภาพมากมาย เป็นแหล่งรวมมันสมองระดับหัวกระทิ อาจเป็นเพราะสหรัฐมีมหาวิทยาลัยดัง ๆ มีชื่อเสียงระดับโลกจึงผลิตคนมีความรู้ มีความสามารถ คนของเขาจึงมีคุณภาพ 

ต่างจากไทยหลังจากเจอวิกฤติต้มยำกุ้งมาเกือบ ๆ จะ 30 ปีแล้ว เศรษฐกิจยิ่งถดถอยลงทุกปี สะท้อนว่าคนของเราขาดความรู้ ความสามารถในการแก้ปัญหา มิหนำซ้ำปีนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) เต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่าไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศราว 66 ล้านคน ยิ่งน่าห่วง ยิ่ง “คนไทยไร้ทักษะ”​ ยิ่งเป็นวิกฤติใหญ่ของชาติ

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมาคือการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ฉุดให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ  เนื่องจากแรงงานเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดการลงทุน และสร้างผลิตภาพของประเทศ แตที่ผ่านมาผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ปัญหาก็ยังไม่ได้แก้ ยังปล่อยทิ้งคาราคาซังจนทุกวันนี้ 

ประเทศไทยกำลังเผชิญเจอโจทย์ท้าทาย 2 เด้ง เด้งแรก คือ แรงงานขาดแคลน ด้วยปริมาณแรงงานที่ลดลงเรื่อย ๆ และ เด้งที่สอง คือ ปัญหาแรงงาน “คุณภาพต่ำ” ซึ่งประชากร “วัยทำงาน” ลดลง เป็นสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังถอยหลัง คือ คนที่ทำงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกำลังลดลงเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำคุณภาพก็ต่ำอีกด้วย

อีกประเด็นสำคัญเมื่อ “คุณภาพและทักษะ” ของแรงงานไทย อยู่ในระดับต่ำควรจะต้องมีการอัพสกิล-รีสกิล เร่งด่วนที่สุด หากประชากรในประเทศไม่มีความรู้และทักษะต่ำ จะไม่มีแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนได้จะเห็นว่า สถิติการลงทุนของไทยตกต่ำมาหลายปีติดต่อกันส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ควรจะเป็น

ในทางกลับกันเมื่อจำนวนประชากรลดลงควรจะต้องมีการยกระดับให้คุณภาพดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องหลักที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศ แต่กลับถูกละเลยมาโดยตลอด มีข้อมูลน่าสนใจซึ่งเป็นงานวิจัยที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาทำร่วมกับธนาคารโลกเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” 

ผู้เสนองานวิจัยคือ “คุณโคจิ มิยาโมโตะ” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ผู้ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทักษะชีวิตของประชากรเข้าขั้นวิกฤติ จากประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือ หรือคำนวณขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถมีส่วนร่วมหรือเปิดกว้างรับความคิดเห็นใหม่ ๆ ได้

ผลวิจัยพบว่า 64.7% ของเยาวชนและผู้ใหญ่ไทย มีทักษะการรู้หนังสือที่ตํ่ากว่าเกณฑ์ คือ ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาง่าย ๆ เช่น ฉลากยาได้ 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลตํ่ากว่าเกณฑ์ ไม่สามารถใช้อุปกรณ์บนคอมพิวเตอร์ทำงานง่าย ๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ 30.3% มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ตํ่ากว่าเกณฑ์

การมีทักษะตํ่าทำให้คนเหล่านี้ไม่มีความคิดริเริ่มเพื่อสังคม หรือมีความกระตือรืนร้นอยากรู้อยากเห็น หรือมีจินตนาการ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้รับมือกับความเสี่ยงที่ไม่แน่นอน หรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน 

ผลการวิจัยยังพบว่า มีเยาวชนและผู้ใหญ่ 18.7% ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ทักษะด้านความรู้และความเข้าใจต่ำ ทักษะด้านดิจิทัลต่ำ และทักษะด้านอารมณ์และสังคม จนไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง มีทางเดียวคือต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา 

ผู้วิจัยระบุว่า ประเด็นนี้มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากไทยกำลังมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมลํ้า และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

คุณโคจิ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีสัดส่วนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะตํ่ากว่าเกณฑ์มากนั้น กลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 20.1% หรือ1ใน 5 ของจีดีพี ในปี 2565 และสูงกว่างบประมาณรายจ่ายปี 2565 ที่ 3.1 ล้านล้านบาท  ราว 0.2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

ขณะที่รัฐบาลกำลังเดินสายดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ แต่ปัญหา “คน” ในประเทศที่ ขาดทั้งปริมาณและคุณภาพก็ต่ำ หากไม่รีบเร่งลงทุนในทุนมนุษย์ ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยเร่งด่วน ในอนาคตจีดีพีไทยอาจโตตํ่ากว่า 2% ไปตลอดเลยก็ได้

นั่นแปลว่าไทยจะติดกับดักรายได้ปานกลางอย่างนี้ไปอีกหลายทศวรรษเลยทีเดียวกว่าก้าวพ้นกับดักนี้ได้ 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ย้อนรอย 6 เดือน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ คนไทยได้อะไร

วิวาทะ “จีดีพี”

เพื่อไทย VS แบงก์ชาติ คู่กัดตลอดกาล

จับตา พรรคเพื่อไทย พลิกเกม นโยบายดิจิทัลวอลเลต

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ