TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistBook Reviewอาการจิตเวช เช็คสภาพได้ด้วยตัวเรา

อาการจิตเวช เช็คสภาพได้ด้วยตัวเรา

เมื่อวันขึ้นปีใหม่ใกล้เข้ามา เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงนึกถึง New Year Resolutions สิ่งที่เราต้องทำให้สำเร็จในปีหน้า ถ้าการขจัดอารมณ์เบื่อเซ็งเป็นหนึ่งในนั้น หนังสือเล่มนี้อาจช่วยนำทางได้

Why Has Nobody Told Me This Before? – ทำไมไม่เห็นใครเคยบอกเรื่องนี้กับฉันมาก่อน เขียนโดย Dr. Julie Smith นักจิตวิทยาคลินิก (ผู้ทำการบำบัดทางจิตที่ต่างจากจิตแพทย์ตรงที่สั่งยาทางจิตเวชให้คนไข้ไม่ได้) ที่เอาประสบการณ์การรักษาของตัวเองมาแชร์ พร้อมทั้งเครื่องมือ แบบทดสอบหลายอย่างให้คนอ่านสามารถเช็คสภาพจิตและรักษาตัวเองโดยไม่ต้องเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์โดยตรง

หนังสือแบ่งออกเป็น 8 ส่วน ให้ครอบคลุมกับสถานการณ์ที่คนเราต้องเจอในทุก ๆ วัน ตั้งแต่อารมณ์เซ็ง แรงจูงใจ ความเจ็บปวดทางใจ ความเสียใจ ความสงสัยในตัวเอง ความกลัว ความเครียด จนถึงอะไรคือชีวิตที่มีความหมาย 

ในแต่ละส่วน แบ่งเป็นบทสั้น ๆ เช่น ส่วนที่ 1 จะมี 5 บท

บทที่ 1 ทำความเข้าใจช่วงเวลาเบื่อเซ็ง ในบทนี้ผู้เขียนเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดและความรู้สึก คิดดีทำให้รู้สึกดี แต่ถ้ารู้สึกแย่ก็ทำให้คิดแย่ตามได้ เช่นถ้ากำลังเซ็ง คนก็จะชอบคิดว่า “ไม่มีอะไรเข้าทางเราเลย” พอคิดแบบนั้นเราก็จะมีอารมณ์เศร้า พอมีอารมณ์แบบนั้น ร่างกายก็จะหมดแรง และเราก็จะมีพฤติกรรมหลบหน้าหลบตาจากผู้คน 

ผู้เขียนแนะให้คนที่อยากหายจากอาการนี้เริ่มต้นด้วยการสังเกตุตัวเอง ว่าวันที่เราเซ็งเราไปเจอหรือไปทำอะไรมาบ้าง ลองตอบคำถามเหล่านี้ – อะไรที่มากระตุ้นความรู้สึกเรา ได้ตอบโต้ตามแรงกระตุ้นไหม ถ้าตอบโต้ พอทำไปแล้วอารมณ์เป็นอย่างไร ตอนที่รู้สึกแบบนั้น ในสมองฉันคิดอะไร สภาวะภายในร่างกายฉันเป็นยังไง ตรงไหนในร่างกายที่รู้สึกแบบนั้น ก่อนที่จะรู้สึกแบบนั้นฉันทำอะไรบ้างในชั่วโมงหรือวันก่อนหน้านั้น ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกจริงๆหรือเป็นแค่ความปั่นป่วนในตัวเราเวลาที่ไม่ได้อะไรตามที่เราต้องการ 

บางครั้งคำตอบอาจจะไม่ชัดมากแต่ให้ลองตอบ เขียนคำตอบออกมา มันจะค่อยๆทำให้เรารู้ตัวตนของเรา รู้ว่าอะไรที่จะทำให้สิ่งต่างๆดีขึ้นหรือแย่ลง 
บทนี้จบตรงการสรุปว่า “การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครหรอกที่จะสุขได้ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราต้องปล่อยผ่านเพราะมีบางอย่างที่เราทำเพื่อให้เรารู้สึกดีได้ … เราเลือกอารมณ์เองไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกใช้สิ่งที่เราควบคุมได้มาเปลี่ยนความรู้สึกเราได้” 

บทที่ 3 ว่าถึงการทำงานของสมอง ในการหาเหตุผลมาอธิบายหลังจากร่างกายส่งสัญญาณว่าไม่โอเค 

เวลาเบื่อเซ็ง ในสมองก็จะมีแต่ความคิดทางลบ โทษตัวเอง ถ้าเราปล่อยให้ความคิดนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งทำให้เซ็งหนักขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราจะจัดการกับความคิดแบบนี้ได้คือถอยห่างจากมัน แล้วพิจารณาว่าผลของความคิดนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็คือการใช้สติพิจารณาความคิดที่ผุดขึ้นในหัวของเรา 

“ความคิดไม่ใช่ข้อเท็จจริง มันคือส่วนผสมของความเห็น การตัดสิน เรื่องราวต่าง ๆ ความทรงจำ การตีความ และการคาดเดาเกี่ยวกับอนาคต ความคิดคือสิ่งที่สมองสร้างขึ้นเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกแต่สมองเรามีข้อมูลจำกัดถึงคิดได้แค่นั้น หน้าที่ของสมองคือทำให้เราใช้เวลาและพลังงานให้น้อยที่สุด ทำให้มันเสนอแต่ทางลัด และคาดเดาตลอดเวลา สติคือเครื่องมือสำคัญในการฝึกพิจารณาความคิดและทำให้จิตเข้มแข็ง ทำให้เราสังเกตุเห็นความคิดและเลือกได้ว่าไม่ควรจะจมจ่อมอยู่กับมัน ควรปล่อยให้มันผ่านไป และไปจดจ่อกับเรื่องอื่นแทน”

ในส่วนที่ 2 ว่าด้วยแรงจูงใจ

ทำอย่างไรให้เรามีแรงจูงใจที่จะทำเรื่องดี ๆ ให้กับตัวเอง ผู้เขียนบอกว่าแค่เราเริ่มขยับตัวจะทำอะไรบ้างก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว เช่นการเปิดเพลงฟัง มันอาจจะไม่ทำให้ปัญหาผ่านไป แต่มันก็ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้ เมื่ออารมณ์ดีขึ้น เราก็จะมีความอยากทำอะไรเพิ่มขึ้นมาอีก

ความยากอยู่ที่ทำอย่างไรให้แรงจูงใจที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้นคงอยู่ ‘ในการบำบัด เรามักจะตั้งเป้าหมายให้คนไข้ และช่วยเขาหาวิธีที่จะไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ งานบำบัดจะเริ่มต้นขึ้นตอนที่เขาเริ่มจะออกนอกแผนที่วางไว้ จุดนี้แหละที่หลาย ๆ คนเสี่ยงที่จะเลิกอยากลงมือทำอะไร นักบำบัดต้องศึกษาปัญหา ถ้าเราเข้าใจว่าอะไรทำให้แผนล้มและการเริ่มต้นใหม่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการ เราถึงจะมองเห็นว่าอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และพยายามพาเขาผ่านความท้าทายนั้นไปให้ได้”

ในส่วนสุดท้ายว่าด้วยเรื่อง ชีวิตที่มีความหมาย ซึ่งผู้เขียนสรุปว่าความหมายจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวย หรือการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่มันคือความรู้สึกดี ๆ ที่เต็มอิ่มในใจ

‘สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่านำมากกว่าความสุขมาให้เรา มันคือส่วนผสมของความสุข ความสนุก ความรัก ความกลัว ความละอาย และความเจ็บปวด’

ผู้เขียนเล่าว่ามีหลายคนมาบำบัดเพราะรู้สึกชีวิตไร้ทิศทาง แต่ไม่รู้ว่าอะไรคือปัญหา แค่รู้สึกไม่สุข และไม่มีแรงหรือความอยากกับอะไรสักอย่าง พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป้าหมายของชีวิตคืออะไร 

โดยมากแล้วสาเหตุจะมาจากการที่คนเราใช้ชีวิตแบบไม่มีความเชื่อในคุณค่าของชีวิต หรือค่อย ๆ ห่างไปจากคุณค่าของชีวิตที่ตั้งไว้ คนเราควรตั้งเป้าคุณค่าของชีวิต แล้วค่อยตั้งเป้าหมาย เลือกทางเดินที่จะไปให้ถึงจุดนั้น ถ้าเราเชื่อในสิ่งที่เราคิดไว้มากพอ เราก็จะฟันฝ่าไปให้ได้ 

ในคนที่ยังไม่ชัดเจนในคุณค่าของชีวิต เป้าหมายของพวกเขาก็จะตั้งตามสิ่งที่พวกเขาคิดแบบหลวม ๆ หรือตามความคาดหวังของคนอื่น หรือการเดาเอาว่าถ้าเราไปถึงจุดหมายนั้นแล้วเราจะพอ เราจะมีความสุขกับสิ่งที่เราเป็น ปัญหาคือการคิดแบบนี้ทำให้เราใช้ชีวิตภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดตนเอง และคาดหวังว่าจะได้รับความพอใจและความสุขในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

‘ฉันไม่ได้กำลังจะบอกว่าคุณไม่ควรมีเป้าหมาย แต่จะบอกว่าถ้าคุณกำลังทำอะไรอยู่ มันจะช่วยได้มากถ้าเหตุผลคุณชัดเจนว่าทำสิ่งนั้นไปทำไม และคุณรู้ว่าสิ่งดี ๆ ในชีวิตทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่จุดจบ แต่อยู่ในระหว่างทางที่เราเดินไป แทนที่จะคาดหวังว่าอนาคตจะต้องดีขึ้น จะดีกว่าไหมถ้าชีวิตจะมีทั้งความหมายและเป้าหมายในวันนี้ ด้วยการให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุณเห็นค่ามากที่สุด คุณยังต้องสู้กับการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะไปให้ถึงจุดหมายแต่คุณไม่ต้องรอจนถึงวันนั้นเพื่อทำให้ชีวิตมีความหมาย’

‘การพุ่งเป้าไปที่จุดหมายอาจทำให้เราเลิกทำอะไรได้ง่ายๆเพราะมันยากที่จะได้ผลลัพธ์จากการกระทำนั้น ตอนที่เราดีใจว่ามีเป้าหมายแล้ว เราจะตื่นเต้นและมีแรงจูงใจ แต่แรงจูงใจเหมือนเปลวไฟบนไม้ขีดไฟที่มาวูบเดียวแล้วก็ดับ มันเป็นพลังงานที่ไม่ยั่งยืน แต่ถ้าคุณตั้งใจทำทีละเล็กละน้อย แบบไม่สุดโต่งหรือยุ่งยากมากเกินไป ทำให้เป็นกิจวัตร มันก็จะช่วยทำให้คุณทำสิ่งนั้นต่อไปได้เรื่อย ๆ และไปถึงจุดหมายได้ในที่สุด’ 

แล้วจะหาคุณค่าของชีวิตเราได้อย่างไร 

เริ่มที่ คุณให้ค่ากับอะไรมากที่สุด เช่น ถ้าอยากให้ตัวเองมีความรักและความเมตตาให้กับผู้อื่น เป้าหมายก็คือเราจะต้องจำให้ได้ถึงวันเกิดคนที่เรารัก หรือญาติที่เราต้องไปเจอบ้าง เพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น เราต้องแสดงออกถึงความรักและความเมตตาในทุก ๆ วัน เช่นจดบันทึกวันเกิดคนที่เรารัก ใช้เวลากับคนที่เรารัก หรือช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่สูงอายุ

หนังสืออ่านยากพอสมควร เพราะต้องคิดตามแทบจะทุกประโยค ลองคิดถึงเวลาดูหนังฉากที่มีการบำบัด แล้วจิตแพทย์ถามคำถามแบบจี้ให้คนไข้คิด วิเคราะห์ตัวเอง ให้ยอมรับสิ่งที่คิดในใจ อยากทำอะไร และความคิดนั้นถูกไหม แต่ก็มีข้อคิดดี ๆ ที่ถ้าเรามีสติคิดตามดู ก็ทำให้เราฉุกคิดอะไรได้หลายอย่าง

แอบเอาข้อความในหนังสือไปเปรียบกับวิถีพุทธที่ให้สำรวจใจตัวเอง แต่ในการบำบัดที่เพิ่มขึ้นมาคือการใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยอธิบาย

เช่น ผู้เขียนไม่เชื่อที่คนพูดกันว่าเคมีในสมองทำให้คนบางคนเกิดมาเพื่อคิดแต่เรื่องสุข ๆ หรือบางคนเกิดมาเพื่อคิดแต่เรื่องทุกข์ ๆ เธอเชื่อว่ามันไม่ถูกที่จะคิดแบบนั้น เพราะคนทุกคนต้องมีวันที่รู้สึกไม่ดี 

เธอบอกว่า ถ้าเราเชื่อว่าสมองมันสั่งการทั้งหมด เราก็จะไม่คิดว่าเราจะสามารถแก้ไขวันที่ไม่ดีได้ 

ผู้เขียนเปรียบอารมณ์กับอุณหภูมิของร่างกาย ที่ขึ้นลงได้เนื่องจากหลายปัจจัยทั้งที่เกิดจากตัวเราเองหรือสิ่งต่าง ๆ ภายนอก และเราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ 

“แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะกำจัดความหดหู่ ซึมเศร้าให้หมดไปได้ตลอด ชีวิตเรายังคงต้องเผชิญปัญหา ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่การยอมรับว่าเราเปลี่ยนอารมณ์ ความรู้สึกเราได้หมายความว่าเราสามารถสร้างกล่องเครื่องมือมาช่วยได้ ยิ่งเราฝึกใช้เครื่องมือพวกนี้มากเท่าไหร่ เราก็จะชำนาญในการใช้มัน เมื่อไหร่ที่เจอกับปัญหาที่ทำให้อารมณ์เราตกต่ำสุด ๆ เราจะได้มีอะไรให้ยึด”

ขอให้ทุกคนที่กำลังมีอารมณ์ตกต่ำ ผ่านวันไม่ดีไปได้ด้วยดีค่ะ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ