TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ กุญแจสำคัญชิงเจ้าตลาดยานยนต์

ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ กุญแจสำคัญชิงเจ้าตลาดยานยนต์

ในขณะที่ผู้บริโภคในตลาดทั่วโลกกำลังเปิดรับกับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หลายค่ายผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกก็เร่งก้าวไปอีกขั้นด้วยการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะนำมาใช้กับรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ในค่ายของตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความโดดเด่นแตกต่างให้มากพอที่จะแข่งขันอยู่ในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ได้ 

โดยหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่หลายค่ายให้ความสำคัญก็คือ “ระบบขับเคลื่อนยานยนต์อัตโนมัติ” ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ทว่า ปี 2022 นี้ เป็นปีที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์มองว่าจะเป็น “จุดเริ่มต้น” ของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างแท้จริง 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ ระบบไร้คนขับ จะปรากฎให้เห็นอยู่ตามท้องถนนในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก จนกลายเป็นที่คุ้นเคยคุ้นชิน โดยแม้อาจจะยังมีหลายประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงกังขา แต่อย่างน้อย ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์ก็ได้ฤกษ์ทยอยเปิดให้บริการแล้วผ่านรถโดยสารสาธารณะอย่างแท็กซี่ ที่เรียกว่า robo-taxi หรือ driverless taxi

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Cruise แผนกหนึ่งในสังกัดของ General Motors ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติได้เปิดตัวบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับ (driverless taxi) ในพื้นที่นครซานฟรานซิสโก หลังทดสอบการใช้งานระบบกับบรรดาพนักงานภายในองค์กรจนมั่นใจ 

ขณะที่ย้อนกลับไปในปี 2020 ก็มี Waymo หน่วยงานย่อยของ Alphabet ที่เปิดตัวแท็กซี่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (autonomous taxi) คอยให้บริการในเมืองฟีนิกซ์ และเพิ่งจะประกาศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าพร้อมจะให้บริการแท็กซิ่ในโหมดขับเคลื่อนอัตโนมัติ ภายในพื้นที่นครซานฟรานซิสโกในปีนี้ 

ทั้งนี้ นอกจากเร่งเดินหน้าพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติขึ้นมาใช้งานด้วยตนเองแล้ว หลายค่ายผู้ผลิตรถต่างตระหนักถึงความเร่งด่วนของพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้ทัน หรือ ถ้าเป็นไปได้ ก็เร็วกว่าคู่แข่ง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะได้เห็นหลายค่ายประกาศจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกันพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติให้พร้อมใช้งานในท้องตลอดได้ภายในเร็ววัน

กรณีล่าสุดที่เป็นข่าวเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยก็คือ การที่ Cisco และ Verizon จับมือสร้าง Millisecond C-V2X connectivity ระบบขับเครื่องยนต์อัตโนมัติ ซึ่งนำเอาระบบ proof-of-concept ที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่ถูกใช้อยู่บนสมาร์ทโฟนปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ โดยมีเป้าหมายในการออกแบบโซลูชันการคมนาคมและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนยานยนต์อัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของความปลอดภัยในการใช้งาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

รายงานระบุว่า ระบบ proof-of-concept ของ C-V2X ได้นำเอาหน่วยประมวลผลอย่าง LTE และ 5G Edge มาทำงานร่วมกันในการจำลองการดำเนินงานแบบ Roadside Unit (ระบบสื่อสารระหว่างยานพาหนะ) และมีแนวโน้มว่าทางบริษัทจะเปิดให้เหล่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชันการขับเคลื่อนยานยนต์อัตโนมัติได้พัฒนา C-V2X นี้ต่อ เพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้นต่อไป 

ด้าน Volkswagen ก็เดินหน้าพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ด้วยการเข้าไปลงทุนใน Argo AI บริษัทพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยเฉพาะ โดยที่ทาง Ford Motors ก็เข้าร่วมลงทุนในบริษัทแห่งนี้ด้วยเช่นกัน และเพิ่งจะร่วมมือกับ Argo AI และ Lyft เปิดให้บริการแชร์รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (autonomous rideshares) ในไมอามี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา 

Volkswagen ยังเดินหน้าต่อยอดเทคโนโลยีของ Argo AI เดินหน้าทำตามแผนสร้างเครือข่ายบริการรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทั่วโลก โดยตั้งหน่วย “Special Purpose Vehicle” เพื่อขยายบริการรถตู้โดยสารไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ 

ด้วยแนวโน้มของเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่กำลังขยายตัวเติบโตอย่างเต็มที่ IHS Markit บริษัทที่ปรึกษาทางการตลาดประเมินว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัตพร้อมที่จะขยายตัวแข็งแกร่ง และมีมูลค่าตลาดมากกว่า 203,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดยที่ผู้ให้บริการอันดับต้น ๆ ของตลาดจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้สูงถึง 40% 

Baidu บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า บริษัทเตรียมให้บริการแท็กซี่ขับเคลื่อนอัตโนมัติในเมืองอู่เฉิน มณฑลเจ้อเจียง โดยเป็นการขยายพื้นที่ให้บริการโรโบแท็กซีจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 9 แห่ง รวมถึง กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เสิ่นเจิ้น ฉงชิ่ง หยางฉวน และมณฑลซานซี

บริการโรโบแท็กซี่ของ Baidu ในเมืองอูเฉินจะให้บริการผ่าน Apollo Go App ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) และมีสถานีรับส่ง 84 แห่งกระจายอยู่ทั่วเมือง 

ปัจจุบัน รถยนต์ไร้คนขับ L4 ของ Baidu Apollo นั้นขับมาแล้วกว่า 25 ล้านกิโลเมตร โดยมีใบอนุญาตขับขี่อัตโนมัติ 593 ใบในจีน รวมถึง 398 ใบสำหรับบรรทุกผู้โดยสาร ความเป็นอิสระของ L4 หมายความว่ารถสามารถขับได้ด้วยตัวเองภายใต้สถานการณ์ส่วนใหญ่โดยไม่ต้องมีคนขับสำรองที่เป็นมนุษย์

ขณะที่ในเวลาไล่เลี่ยกัน นครดูไบ แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ไม่น้อยหน้า ประกาศเตรียมทดสอบการใช้งาน self-driving taxi ภายในสิ้นปี 2022 นี้ และคาดว่าจะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2023 โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของ Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดียูเออี ที่ต้องการ เปลี่ยนการเดินทางในดูไบเป็นการเดินทางแบบไร้คนขับ 25% ภายในปี 2030 และสอดคล้องกับกลยุทธ์การขับขี่อัตโนมัติของเมือง ซึ่งการทดสอบระบบนี้เป็นไปภายใต้กับความร่วมมือกับทาง Cruise ของ General Motors ของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม Kyle Vogt ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Cruise กล่าวว่า ระบบขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติยังเพิ่งอยู่ในช่วงของ “เกียร์ 1 เท่านั้น” ซึ่งหมายว่ายังคงต้องมีการปรับจูนเทคโนโลยีให้เข้าที่ให้มากพอที่จะทำให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมีความสามารถพอที่จะทัดเทียมกับการขับขี่ของมนุษย์ 

กระนั้นหลายฝ่ายเชื่อว่า ความพร้อมใช้งานอย่างสมบูรณ์ของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจะเกิดขึ้นภายในไม่ช้านี้แน่นอน ซึ่งความมั่นใจนี้มีขึ้นเมื่อ อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อ Tesla ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้น ๆ ของโลก ประกาศผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 7 เมษายน ในการเปิดตัวโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาในเท็กซัส ว่า หลังจากมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ เทสลาจะมุ่งหน้าสร้าง โรโบแท็กซี่ ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองและมีความล้ำสมัย ควบคู่ไปกับการขยายบริการซอฟต์แวร์เบต้า สำหรับ “Full Self-Driving” ให้กับสมาชิก FSD ทุกคนในอเมริกาเหนือทั้งหมดในปีนี้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ