TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupKATALYST STARTUP LAUNCHPAD สปริงบอร์ดสำหรับ “สตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น”

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD สปริงบอร์ดสำหรับ “สตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น”

แม้ว่าไม่ใช่ทุกสตาร์ทอัพจะเป็นยูนิคอร์น แต่ยูนิคอร์นทุกตัวจะต้องเคยเป็นสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นมาก่อน สตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นจึงมีความสำคัญเพราะเป็นรากฐานสำคัญในการมีสตาร์ทอัพในระยะเติบโตและสตาร์ทอัพยูนิคอร์น

ธนาคารกสิกรไทย โดยบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) ได้ให้ความสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้แข็งแรงที่ต้องเริ่มตั้งแต่สตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น ด้วยโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD

ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) กล่าวว่า Beacon VC สนใจลงทุนในสตาร์ทอัพในระดับเติบโต (Growth Stage) ที่มีธุรกิจเติบโตมั่นคงแล้ว แต่มองว่าจะมีการลงทุนที่ดีจำเป็นต้องมีสตาร์ทอัพในระดับเริ่มต้นจำนวนมาก ประกอบกับคนที่มาร่วมสร้างและบ่มเพาะสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เริ่มลดน้อยลง จึงมีความคิดสร้างโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ขึ้นมาเพื่อดูแลฟูมฟักสตาร์ทอัพในระดับเริ่มต้น ซึ่งสร้างมา 2 ปีแล้วภายใต้แนวความคิด “เพื่อนสนิทของชาวสตาร์ทอัพ”

2 ปีที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพไทยเรียนจบหลักสูตรทั้งสิ้น 52 ทีม และมีหลายทีมที่นำองค์ความรู้ที่ได้ในโครงการไปต่อยอดกับธุรกิจจนประสบความสำเร็จ 

ธนพงษ์ กล่าวว่า Beacon VC อยากทำให้โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD เป็นต้นแบบความคิดที่พิสูจน์แล้วว่าสำเร็จ เป็นเหมือน Sandbox เล็ก ๆ ให้เห็นว่าคนที่ผ่านระบบแบบนี้สามารถเติบโตและแข็งแรงได้ เพื่อให้คนอื่นมาทำสิ่งที่คล้าย ๆ กัน เพราะหากมีจำนวนสตาร์ทอัพเริ่มต้นที่แข็งแรงในจำนวนที่มากพอจะช่วยหนุนเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพในระยะถัดไป เพราะสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นเป็นเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสตาร์ทอัพในระยะเติบโตต่อไป 

บทบาทของ Beacon VC จะเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพในระดับ Series A ขึ้นไป เพราะต้องการนำนวัตกรรมมาเสริมศักยภาพกับธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย ทั้งนี้ VC ที่ดีจะไม่เน้นแต่เรื่องการลงทุนอย่างเดียว การลงทุนเป็นส่วนหนึ่ง แต่การจะประสบความสำเร็จได้จะต้องสร้างชุมชนสตาร์ทอัพที่แข็งแรงในกลุ่มสตาร์ทอัพเป้าหมาย การสร้างชุมชนและระบบนิเวศที่แข็งแรงเป็นภารหน้าที่หนึ่งของ VC ดังนั้น อีกบทบาทหนึ่งของ Beacon VC คือการให้ความรู้และการแนะนำกับสตาร์ทอัพกลุ่มระยะเริ่มต้นในโครงการนี้

โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ดำเนินการมา 2 ปี สิ่งที่ทำมาทำหลากหลายแต่ไม่ได้จัดเป็นกิจกรรมใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะการระบาดของโควิด เน้นการสร้างชุมชนสตาร์ทอัพในระดับเริ่มต้น (Early Stage) ให้แข็งแกร่ง กิจกรรมที่ทำคือ มีการจัดสัมมนา เวิร์คช้อปการสร้างเครือข่าย จัดงานวิชากาารให้ความรู้  และจัดอมรมในหลักสูตรแบบ E-Learning ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยภายใต้ Stanford Thailand Research Consortium นำโดยรองศาสตราจารย์ Charles (Chuck) Eesley จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 

“เชื่อว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้ จะสามารถเติบโตเป็นสตาร์ทอัพที่สามารถสร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมได้ในอนาคต และอาจจะมีสตาร์ทอัพบางรายที่มีผลิตภัณฑ์แล้ว สามารถมีธุรกิจกับธนาคารได้ หรือได้รับบริการจากธนาคาร เราอยากจะสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทยให้แข็งแรง” ธนพงษ์ กล่าว

สิ่งที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสำหรับปีนี้ คือ การจัด E-Learning ร่วมกับการจัดกิจกรรมในรูปแบบออฟไลน์มากขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้พบปะกัน สามารถช่วยเหลือกันได้ทั้งเรื่องการเรียน และเป็นเครือข่ายของสตาร์ทอัพช่วยกันเสริมสร้าง Idea และการทำธุรกิจร่วมกันได้ นอกจากนี้ทางโครงการยังคงมี Mentor จากทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้คำปรึกษากับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย  

หลักสูตรนี้ จะให้ความรู้ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพครบวงจรตั้งแต่พื้นฐานเริ่มที่ไอเดียธุรกิจ การวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน การสร้างแบรนด์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของความเป็นผู้ประกอบการ การตลาด การบริหารเงิน วางแผนธุรกิจ และทักษะการนำเสนอ  

สัปดาห์สุดท้ายของการอบรม ทีมสตาร์ทอัพที่มีผลงานโดดเด่นจะได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ ทีมที่ชนะจะได้รับรางวัลจากโครงการทั้งเงินรางวัลและผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดธุรกิจ จำนวน 3 รางวัล มูลค่ารวม 800,000 บาท พร้อมโอกาสการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในด้านธุรกิจรวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล 

ผู้ที่เข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์ของหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรจาก KATALYST by KBank และประกาศนียบัตรการเข้าร่วมและสำเร็จหลักสูตรการเรียนรู้แบบ Online จาก Stanford online ซึ่งเป็นใบเบิกทางและโอกาสสำคัญในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจกับบริษัทชั้นนำมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

สำหรับปีนี้ จะมุ่งเน้นส่งเสริมเทคสตาร์ทอัพที่ให้บริการเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ (B2B) ในอุตสาหกรรมการเงิน (FinTech) สุขภาพ (HealthTech) การท่องเที่ยว (TravelTech) การศึกษา (EdTech) และสิ่งแวดล้อม (GreenTech) เพื่อเตรียมความพร้อมตอบสนองการเติบโตของภาคธุรกิจเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ยุคพิสูจน์ความสามารถสตาร์ทอัพ 

สตาร์ทอัพในไทยกับต่างประเทศมีบางส่วนคล้ายกันมาก โดยเฉพาะปี 2021 เป็นปีทองของสตาร์ทอัพและ VC เพราะมูลค่าการลงทุนทั่วโลกสูงสุด ในประเทศไทยเองมีการลงทุนในระดับยูนิคอร์นเพิ่ม แม้อาจจะยังไม่ปิดดีลแต่มีการตีมูลค่าที่ถึงยูนิคอร์น ปี 2021 การลงทุนในสตาร์ทอัพเริ่มเฟื่องฟู แม้จะเจอการระบาดของโควิด แต่โควิดสร้างให้เกิดความต้องการการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเงินลงทุนในตลาดมีมาก ทำให้การลงทุนคึกคักมาก ในประเทศไทยมีดีลใหญ่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นเกิดกับสตาร์ทอัพที่เติบโตมากแล้ว ไม่ค่อยเห็นการลงทุนในสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นมากนัก 

ปี 2022 เริ่มประสบวิกฤติหลายอย่างที่กระทบจากเศรษฐกิจของโลกจากปัจจัยโควิด สงคราม และเงินเฟ้อ ทำให้เงินทุนเริ่มหดหายไปจากตลาด ทำให้มีการระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทไม่ค่อยดี บริษัทที่อยู่ในตลาดฯ เริ่มมีปัญหา บริษัทสตาร์ทอัพที่ IPO เข้าไปในตลาดฯ มีมูลค่าบริษัทเริ่มต่ำลง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพปีนี้น่าจะมีปัญหาพอสมควร มูลค่าบริษัทสตาร์ทอัพจะลดลง มูลค่าการลงทุนน่าจะลดลง 

การลงทุนในสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะยังมีอยู่ เพราะมีเงินลงทุนที่ยังค้างอยู่จากการระดมทุนมาแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น CVC ที่ไม่ได้เน้นการลงทุนที่หวังกำไร (Capital Gain) มีเม็ดเงินในการลงทุนอยู่ แต่ต้องพิจารณามูลค่าของสตาร์ทอัพให้เหมาะสม ซึ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีทองทำให้มูลค่าของสตาร์ทอัพมีการประเมินไว้สูง ปีนี้สำหรับสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มที่ดี มูลค่าที่เหมาะสมจะยังสามารถระดมทุนได้อยู่ ที่น่าเป็นห่วงคือ สตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น 

ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพที่เติบโตแข็งแรงส่วนมากเป็นสตาร์ทอัพ B2B ที่จะสามารถหารายได้สม่ำเสมอกว่าสตาร์ทอัพแบบ B2C สตาร์ทอัพแบบ B2C มีการเติบโตบ้างแต่น้อยกว่าสตาร์ทอัพแบบ B2B ซึ่งสตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศเป็นหลัก มีสตาร์ทอัพไทยไปตลาดต่างประเทศค่อยข้างน้อย สำหรับบริการของสตาร์ทอัพแบบ B2C ของไทยและต่างประเทศไม่มีความแตกต่างกันมากนัก

โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD มีหลายกิจกรรม เน้นการให้ความรู้ด้วยวิทยากรจากทั้งของ Beacon VC และการสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นเนื้อหาหนักแน่น สร้างชุดความคิดที่ดี สร้างวินัยการทำงานที่ดี ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากวิทยากรจากต่างประเทศ

“เราอยากเปลี่ยนมุมมองของสตาร์ทอัพ อยากสร้างสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพ อยากเปลี่ยนชุดความคิดว่าการทำสตาร์ทอัพว่าเป็นงานที่หนัก ไม่ใช่เท่ จะต้องมีพันธะสัญญาที่จริงจัง ต้องทุ่มเทสรรพกำลังมากมาย สิ่งที่จะได้ไป คือ การเรียนรู้ เครือข่าย และประสบการณ์ใหม่ ๆ ถ้าเขานำสิ่งต่าง ๆ นี้ไปประยุกต์ใช้งาน เชื่อว่าเขาจะเติบโตไปเป็นสตาร์ทอัพที่แข็งแรงได้อย่างแน่นอน” ธนพงษ์ กล่าว

สตาร์ทอัพที่จะสามารถอยู่รอดได้ในยุคถัดไปที่ผ่านยุคทองมาแล้ว จะต้องมีความมั่นคงในการทำธุรกิจระดับหนึ่ง เพราะนักลงทุนไม่ได้เพียงมองเฉพาะ Potential And Traction เท่านั้น แต่สตาร์ทอัพจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองและมีเงินทุนที่จะสามารถอยู่รอดได้อย่างน้อย 3 ปี เพราะต่อไปจะไม่ได้รับเงินทุนได้ง่าย ๆ 

“คนที่จะอยู่รอดได้ 3 ปีจะต้องบริหารจัดการตัวเองได้ดี ต้องมีรายได้พอสมควร ค่าใช้จ่ายไม่เยอะมาก การใช้เงินเพื่อสร้างฐานตลาด (Burn Rate) จะไม่ได้สูงมากเหมือนในอดีต ที่ใช้เงินทุ่มตลาดสร้างฐานลูกค้า จะต้องสร้างรายได้ได้โดยไม่ใช้เงินมาสร้างโปรโมชั่นตัดราคาดึงลูกค้า ต้องอยู่ได้ด้วยความแข็งแรงของสินค้าและบริการที่ดี” ธนพงษ์ กล่าวเสริม

สตาร์ทอัพที่จะเข้าโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD จะต้องมีความมุ่งมั่น เพราะงานที่มอบหมายให้ทำจะมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด หากใครทำการบ้านได้คะแนนไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้จะถูกตัดออกจากโครงการ สตาร์ทอัพที่อยากเติบโตแบบยั่งยืนควรมาเข้าร่วมโครงการนี้ โอกาสที่สตาร์ทอัพจะได้รับหลังจบโครงการนี้ไปแล้ว คือ มีโอกาสได้ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทย หากผลิตภัณฑ์ของเขาตรงกับสิ่งที่ธนาคารมองหาอยู่ และหากได้รับเงินลงทุนจาก Beacon VC ได้ และมีโอกาสได้พบนักลงทุนจากที่อื่น ๆ ด้วย​​โดยเฉพาะนักลงทุนในระดับ Seed Stage ที่ทาง Beacon VC เชิญเข้ามาร่วมในเครือข่าย ซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัพอาจจะได้รับเงินลงทุนได้ง่ายขึ้น

“สตาร์ทอัพ” คมขึ้น เก่งขึ้นเมื่อผ่าน KATALYST STARTUP LAUNCHPAD

กษมา เจตน์จรุงวงศ์ Founder and CEO บริษัท The Omelet

กษมา เจตน์จรุงวงศ์ Founder and CEO บริษัท The Omelet กล่าวว่า ก่อนเข้าโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD บริษัท The Omelet ทำบริการด้าน Social Commerce ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Shell, Toyota และ Amway เป็นต้น จากการให้บริการปรับมาทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้วเข้าโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD

“โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD เหมือนได้เข้าหลักสูตรเข้มข้น สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ คือ เราได้ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์กับผู้ใช้เยอะมากว่าจะได้ปล่อยออกสู่ตลาด บังคับให้เรามีการทดสอบผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 2 รอบ และการเข้าโครงการช่วยให้ทีมสามารถปรับการทำงานให้เข้าใจกันมากขึ้น และได้รับการชี้แนะจาก Mentor ชั้นนำระดับโลกจำนวนมากซึ่งหากไม่เข้าร่วมโครงการนี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้” กษมา กล่าว

กษมา กล่าวเสริมว่า เพื่อนในวงการสตาร์ทอัพแนะนำโครงการนี้มาให้รู้จัก อยากรู้ว่าต่างประเทศเขาสอนสตาร์ทอัพกันอย่างไร ทำไมถึงสร้างสตาร์ทอัพเข้าสู่ซิลิกอน วัลเลย์ได้มาก 

“ตอนเข้ามาช่วงแรกยังไม่ได้คาดหวังอะไรมาก คิดว่าน่าจะเป็นคลาสเรียนสตาร์ทอัพที่สอนการทำ MVP, Product-market Fit ที่จะสามารถสร้างรายได้ แต่สิ่งที่ประทับใจ คือ ทีมงานเขาให้ความสำคัญกับทุก ๆ Presentations ที่แต่ละทีมส่งในทุกสัปดาห์จริงๆ ทำให้เราได้รับ Feedback จากสิ่งที่เราคิด ภาพของรูปแบบธุรกิจตอนก่อนเข้ากับตอนจบมีความต่างกันด้วย Feedback จาก Mentor” กษมา กล่าว

การเข้าคลาสทำให้ต้องตรวจสอบความคิดของตัวเองเสมอ ซึ่งช่วยทำให้ความคิดมีความคมมากขึ้น ชัดเจนและละเอียดมากขึ้น วิธีการขายผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น มีการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ตรงเป้ามากขึ้น 

“การผ่านโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ช่วยให้เราเวลาเข้าไปสมัครโครงการระดับโลกอย่าง Microsoft และ Alibaba ได้รับโอกาสมากขึ้น เพราะเราผ่านสนามมาแล้ว และจากการได้ไปแข่งในระดับโลก ทำให้มี VC เริ่มเข้ามาคุยด้วย แต่เขาอยากลง Series A แต่เรายังไปไม่ถึง ถือเป็นโอกาสที่เราได้รู้จักคนในระบบนิเวศสตาร์ทอัพโลก” กษมา กล่าว

กษมา เสริมว่า หลายครั้งที่พูดคุยกับ VC เขาไม่ได้ให้แค่เงินทุน แต่เขาให้มุมมอง อย่างล่าสุดได้คุยกับ VC สิงคโปร์ เขาได้นำธุรกิจคล้าย ๆ กันที่เวียดนาม มาให้ศึกษา นั่นคือโอกาสทางธุรกิจและการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่ดี 

เป้าของ The Omelet คือ ต้องการมีลูกค้า 1 ล้านรายสำหรับธุรกิจ Messaging ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2025 ซึ่งแนวโน้มธุรกิจ Messaging เติบโตอย่างมาก โดยมีโควิดเป็นตัวเร่งการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาและต่อไป 

กฤษฏา อึ้งมณีประเสริฐ  Co-founder บริษัท SafeTrip

กฤษฏา อึ้งมณีประเสริฐ  Co-founder บริษัท SafeTrip กล่าวว่า SafeTrip เป็นระบบนำทางที่แจ้งเตือนจุดเสี่ยงภัยและอุบัติเหตุ ก่อนที่จะเข้าโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD มีเพียงความมุ่งมั่นที่อยากจะดิสรัปการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย มีเพียงแนวความคิดอยากจะทำ แต่ยังไม่มีวิธีการทำให้ไอเดียกลายเป็นจริง พอเข้าร่วมโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ได้เปลี่ยนชุดความคิด และมีการบ้านที่หนักมาก มีเวิร์คช้อปทุกสัปดาห์ จากเพียงความชอบเริ่มกลายเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จนจบหลักสูตรได้นำความคิดและโครงการเข้าประกวด รายการแรกคือ ASEAN ICT Award 2020 ได้รับคัดเลือก 

“เป็นความว้าวสำหรับทีมมาก เพราะจากเพียงไอเดีย จนพัฒนาหล่อหลอมจนสามารถส่งโครงการเข้าประกวดระดับประเทศแล้วได้รับคัดเลือก จากนั้นก็ทำโครงการเข้าส่งเข้าประกวดอีก และได้รับรางวัล จากไม่มีความรู้เรื่องการทำสตาร์ทอัพเลย จนคลาสมาทำให้เราต่อยอดไปได้มาก”​ กฤษฏา กล่าว 

กฤษฏา กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการเข้าโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความคิดเกี่ยวกับสตาร์ทอัพเปลี่ยนไปจากเดิมที่คิดว่าสตาร์ทอัพคือเทคโนโลยีแต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าสตาร์ทอัพคือ “ธุรกิจ” และมีความคมในการคิดรูปแบบธุรกิจมากขึ้น ระหว่างทางมีการพัฒนาปรับปรุงตลอด และที่สำคัญได้เครือข่ายจากพันธมมิตรในวงการสตาร์ทอัพ 

“การที่เป็นโครงการออนไลน์ช่วยให้ผมซึ่งอยู่อุดรธานีสามารถเข้าร่วมได้ เป็นการบ่มเพาะเราตั้งแต่ศูนย์จะพัฒนาขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างได้” กฤษฏา กล่าว

เขารู้จักโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD จาก Facebook คิดว่าน่าจะเป็นโครงการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ 

ก่อนเข้าร่วมโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ไม่รู้ว่าการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจะกลายมาเป็นธุรกิจได้อย่างไร ก่อนหน้านี้ ความคิดมีแค่ต้องการแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าจะทำเงินได้อย่างไร และจะยั่งยืนได้อย่างไร พอเข้ามาเรียน แต่ละสัปดาห์เวิร์คช้อปหนักมากจนบางช่วงอยากจะหยุดกลางคัน แต่พอผ่านจุดนั้นมาได้ความคิดเปลี่ยน เขาจะมองหาโครงการที่เขาอยากแก้ปัญหาจะทำเงินได้อย่างไร ลูกค้าคือใคร 

โอกาสที่ได้รับจากโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ช่วยทำให้เขาสามารถผ่านเข้ารอบรอบลึก ๆ ในหลายโครงการมากขึ้น ส่งผลให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น เป็นช่องทางที่ช่วยทำให้เติบโตได้เร็วขึ้น เข้าสู่วงการและระบบนิเวศของสตาร์ทอัพได้เร็วมากขึ้น

เขากล่าวว่า โซลูชันการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนมากจะเป็นการออกแบบถนน ยังไม่เคยถูกนำมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีที่แจ้งเตือน มองว่าเป็นโอกาสที่สามารถเติบโตได้ นอกจากการแจ้งเตือนจุดเสี่ยง แผนในอนาคตจะพัฒนาให้เป็น AI ที่ช่วยเรื่องประหยัดพลังงานและคำนวณเรื่องคาร์บอนเครดิต 

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022

ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่จัด KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 ภายใต้แนวคิด “Jumpstart Your Idea Through Entrepreneurial Mindset” หลักสูตรการเรียนรู้อย่างเข้มข้น 9 สัปดาห์ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม เริ่มเรียนวันที่ 23 สิงหาคม ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2565 

ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับองค์ความรู้จากหลักสูตรแบบ Online ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยภายใต้ Stanford Thailand Research Consortium นำโดยรองศาสตราจารย์ Charles (Chuck) Eesley จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดหลักสูตรคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการและสมัครได้ทางเว็บไซต์ของ KATALYST ที่  https://katalyst.kasikornbank.com/th/Pages/startup_launchpad2022.html หรือติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการทางเฟซบุ๊กที่ https://www.facebook.com/KATALYSTbyKBank  

#KATALYSTbyKBank #เพื่อนสนิทของชาวสตาร์ทอัพ #KATALYSTSTARTUPLAUNCHPAD2022

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ