TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessความท้าทายของสื่อ ท่ามกลางโควิด-19

ความท้าทายของสื่อ ท่ามกลางโควิด-19

ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด – 19 “สื่อ” ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ชีวิตของทุกคนบนโลก เริ่มตั้งแต่การเสพข่าวสาร การทำงาน การใช้สื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างกัน การให้ความบันเทิง แม้กระทั่งการสร้างรายได้จากการผลิตคอนเทนต์

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ความก้าวหน้าและการถดถอยของสื่อบางประเภทอันเนื่องมาจากปัจจัยพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนที่เปลี่ยนไป รวมถึงรูปแบบการนำเสนอของสื่อที่บางประเภทที่มีอิทธิพลระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามอง

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์มหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า แนวโน้ม ปรากฏการณ์ด้านนวัตกรรม รวมทั้งแนวทางการปรับตัวของสื่อ จากภาวะวิกฤติและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับวงการ “สื่อและสื่อมวลชน” ที่เห็นได้ชัดเจน มี 4 ด้าน ดังนี้

1. โควิด – 19 ปัจจัยการปรับตัวครั้งสำคัญของสื่อ การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจน คือ สื่อขนาดใหญ่จะเหลือน้อยลง นายทุนอาศัยโอกาสนี้ในการลดขนาดบริษัท ลดจำนวนพนักงาน และหันมาทำสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ทุกคนจะได้เห็นสำนักข่าวออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา

รวมทั้งการนำเสนอข่าวในโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากกว่าการนำเสนอข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่จะกลายเป็นสื่อกระแสหลักโดยปริยาย

มีแนวโน้มที่ผู้ท่องโลกโซเชียลมีเดียจะย้ายการติดตามข่าวสารจากเฟซบุ๊กมายังทวิตเตอร์เนื่องจากมีความรวดเร็วกว่า

ด้วยรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ ผู้ใช้งานสามารถเลือกติดตามเฉพาะสิ่งที่สนใจได้

2. Privacy & Security เรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม หากพูดถึงสื่อในยุคดิจิทัลความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างเกี่ยวกับทางด้านการแพทย์ หรือระบบการติดตามตัวที่ใช้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตินี้

ซึ่งนอกจากรัฐบาลควรมีแนวทางการจัดการความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้สามารถดำเนินไปด้วยกันแล้ว ประชาชนเองก็จำเป็นต้องเรียนรู้การปกป้องข้อมูลของตนเองอีกทางหนึ่งด้วยเพราะปัจจุบันเราจะพบได้ทั้งข่าวลวง (Fake News) ที่เน้นนำเสนอข้อมูลเท็จแต่อาศัยการเผยแพร่อย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และการปั่นกระแสด้วยการนำเสนอ การอ้างอิงข้อมูลเพื่อทำให้คนมองไปในทิศทางเดียวกัน และควบคุมวิธีคิดของคนในโลกออนไลน์ สื่อจำเป็นต้องมีความตระหนักในการนำเสนอข่าวด้วยความมีจริยธรรมให้มากยิ่งขึ้น

3. ความรวดเร็วกับการแข่งขันของสื่อ สื่อในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังแข่งขันกันที่ความเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมด้วย หากสื่อมวลชนต้องการให้ประชาชนเข้าถึงข่าวหรือคอนเทนต์ของตนเอง จะต้องมาพร้อมกับความน่าเชื่อถือควบคู่ไปกับจริยธรรม ความแม่นยำของตัวผู้นำเสนอ รวมทั้งต้องเปิดโอกาสด้านการมีส่วนร่วมระหว่างสื่อและผู้บริโภค เพื่อทำให้เกิดความใกล้ชิด และเข้าถึงกันได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังต้องแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ผลิตสื่อดูดีอยู่เสมอ โดยตัวอย่างของนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วมในการรับชม

การใช้ AI ในกระบวนการทำข่าว การรวบรวม การสรุปผลและเผยแพร่แบบเรียลไทม์

เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดที่มีมากกว่าหนึ่งช่องทาง รวมทั้งการใช้ Big Data Chatbot และอื่น ๆ เพื่อเก็บข้อมูลและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อให้การนำเสนอข่าวเข้าถึงความสนใจได้มากที่สุด

4. ผู้เล่นใหม่ในวงการสื่อ สถานการณ์ในปัจจุบัน และการแข่งขันของสื่อได้ทำให้เกิดผู้เล่นเข้ามาอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะที่รู้จักกันในชื่อของ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) บล็อกเกอร์ (Blogger) ยูทูบเบอร์ (Youtuber) รวมทั้ง ผู้ใช้ TikTok ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ข้อดี คือ ทำให้คนได้เห็นคอนเทนท์ที่มีความหลากหลาย ผู้คนสามารถผันตัวเป็นสื่อและสร้างรายได้ และนำมาซึ่งการแข่งขันทั้งระหว่างผู้เล่นใหม่

รวมทั้งสื่อขนาดใหญ่ที่ต้องมีการสร้างสรรค์เนื้อหาให้ตรงใจกับผู้รับชม เพื่อแข่งขันกันในการดึงเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาสู่รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา มากกว่ารูปแบบโฆษณาที่เคยเห็นบนหน้าจอทีวี สิ่งพิมพ์

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโอกาสให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ที่จะได้รับความเท่าเทียมบนสื่อต่าง ๆ มากขึ้น แต่ข้อที่ควรคำนึงถึงก็คือ จะผลิตคอนเทนท์อย่างไร ผลิตด้วยวิธีไหน และเผยแพร่บนช่องทางใด (Online Streaming) ซึ่งถ้าหากแก้โจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะทำให้วงการสื่อของไทยมีสีสัน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง

“เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างสรรค์สื่อเป็นตัวสร้างมูลค่าที่สำคัญให้กับผู้ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการสร้างมูลค่าที่เป็นรายได้ ผู้ที่ผลิตสื่อต้องผลักดันให้เกิดมูลค่าของคอนเทนท์ มูลค่าทางใจ และการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งต้องมีสิ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลและสังคม เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและอยู่รอดในโลกดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน”  ดร.พันธุ์อาจกล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ