TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyกสทช. เปิดช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา 17 ช่อง

กสทช. เปิดช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา 17 ช่อง

กสทช. มีมติเปิดช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา 17 ช่อง พร้อมกำหนดเลขช่องเรียงกัน เริ่มตั้งแต่หมายเลขช่อง 37 ถึงช่อง 53 และอนุมัติให้ไทยพีบีเอสใช้ความถี่เป็นการชั่วคราวทำช่องทีวีเรียนสนุก หมายเลขช่อง 4 เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชนและครอบครัวในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019

-กสทช. อนุมัติเงิน 100.59 ล้านบาท สนับสนุน รพ.รัฐ สู้โควิด-19
-ครม.ขยายเวลาบังคับใช้ PDPA บางหมวดออกไปอีก 1 ปี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 ที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจตอลเพื่อการศึกษา จำนวน 17 ช่อง ตามแนวทางการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชนและครอบครัว อันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล

โดยให้ออกอากาศแบบความคมชัดปกติ (SD) นั้น วันนี้ ที่ประชุม กสทช. มีมติอนุมัติกำหนดให้เรียงลำดับหมายเลขช่องรายการเพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่องรายการเพื่อการศึกษาผ่านทางไกล และช่องรายการเพื่อการอาชีวศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ 17 ช่องรายการ เรียงลำดับต่อเนื่องกันไป ตั้งแต่ช่องรายการหมายเลข 37 ไปจนถึงช่อง 53

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังได้อนุญาตให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ในการจัดทำช่องทีวีดิจิตอลสอนหนังสือ (Active Learning TV) “ทีวีเรียนสนุก” โดยใช้หมายเลขช่องรายการลำดับที่ 4 เป็นเลขช่อง ซึ่งช่องดังกล่าวไม่ใช่ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว แต่เป็นไปตามโครงการ Active Learning TV (ALTV) ทีวีเรียนสนุก ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชนและครอบครัว

ทั้งนี้ ให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองทดสอบเป็นการชั่วคราวผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลระดับชาติของไทยพีบีเอส ตามประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2563) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563 โดยการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้

สำหรับรายละเอียดการออกอากาศ ให้ไทยพีบีเอสออกอากาศช่องสอนหนังสือ (Active Learning TV) ทีวีเรียนสนุก แบบความคมชัดปกติ (SD) จำนวน 1 ช่องรายการ และให้ไทยพีบีเอสดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว ตามข้อ 17 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว

ส่วนการวางเงินประกันความเสียหายที่อาจเกิดกับบุคคลอื่นจากการทดลอง เนื่องจากเป็นการทดลองทดสอบผ่านโครงข่ายของตนเอง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิคเดิมและไม่มีต้นทุนที่จะนำมาคำนวณมูลค่าโครงการในการวางเงินประกันความเสียหายที่อาจเกิดกับบุคคลอื่นจากการทดลอง และเห็นควรแจ้งให้ไทยพีบีเอส ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว ประกาศ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาคัดเลือกพนักงานผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. อีกหนึ่งตำแหน่ง และตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิจารณาพิเศษ เทียบเท่า ระดับ ช1 อีก 4 ตำแหน่ง โดยที่ประชุมฯ มีมติแต่งตั้ง นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ สายงานกิจการภูมิภาคให้รอ กสทช. นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ร่วมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป และได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญพิจารณาพิเศษ (ระดับ ช1) จำนวน 4 คน ดังนี้

1.นายฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด เป็นนักวิชาการนโยบายและแผนเชี่ยวชาญพิเศษ
2.นายเสน่ห์ สายวงศ์ เป็นวิศวกรเชี่ยวชาญพิเศษ
3.นางสุพิญญา จำปี เป็นนิติกรเชี่ยวชาญพิเศษ
4.นายสมบัติ ลีลาพตะ เป็นนิติกรเชี่ยวชาญพิเศษ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ