TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnology5 เทรนด์ที่น่าสนใจของบล็อกเชนในปี 2022

5 เทรนด์ที่น่าสนใจของบล็อกเชนในปี 2022

บล็อกเชนถือเป็นแนวโน้มทางเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบันและมีบทบาทต่อหลายวงการในอนาคตอย่างปฏิเสธไม่ได้ 

ลักษณะของบล็อกเชนที่ใช้โมเดลฐานข้อมูลแบบกระจายและเข้ารหัส ทำให้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างมากมายโดยเฉพาะในเรื่องความน่าเชื่อถือและความปลอดภัย 

หลายคนทราบว่าบล็อกเชน คือ ฐานรากที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์และเงินตราเข้ารหัสลับ แต่ขอบเขตและโอกาสของบล็อกเชนครอบคลุมไปไกลกว่านั้น ทั้งในเรื่องการทำสัญญาอัจฉริยะหรือ Smart Contract เรื่องโลจิสติกส์และซัพพลายเชน หรือแม้แต่การปกป้องปัญหาการโจรกรรมตัวตนของผู้ใช้ 

IDC คาดการณ์ว่าธุรกิจจะใช้เงินลงทุนไปกับโซลูชันด้านบล็อกเชนสูงถึง 11.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 หรือราว 5 เท่าของมูลค่าในปีนี้ ซึ่งหลายฝ่ายยังมองว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ค่อนข้างสงวนท่าทีเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูตัวเลขภาพรวมในปีนี้ที่สูงกว่าการคาดการณ์เมื่อปีก่อนหน้ากว่าเท่าตัว 

ปี 2022 มีแนวโน้มใดที่น่าสนใจเกี่ยวกับบล็อกเชนบ้าง ที่ Bernard Marr ได้สรุปไว้ในนิตยสาร Forbes ดังนี้

1. NFT เริ่มเป็นที่ยอมรับนอกวงการศิลป์

NFT (Non-Fungible Token) หรือที่เรียกกันว่า โทเคนที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการบล็อกเชนประจำปี 2021 และน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เหล่าบรรดาศิลปินต้องย้ายฟากข้ามมาสนใจเรื่องของเทคโนโลยีกันอย่างคึกคัก ผลงานศิลป์จำนวนมากทั้งจากศิลปินเซเลบหรือศิลปินหน้าใหม่ที่ทำราคาได้ดีต่างเป็นที่กล่าวขานตามหน้าข่าวหรือบทความของสื่อมวลชน ดังนั้นเราจึงเห็นงานศิลป์จำนวนมากทั้งภาพวาดและดนตรีที่นำออกมาให้ผู้คนได้เป็นเจ้าของกันในรูปแบบ NFT 

ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็น NFT ในตลาดเกมที่ผู้เล่นสามารถมินต์ (mint) หรือสร้างตัวละคร NFT เพื่อส่งไปต่อสู้ในสมรภูมิ หรือกระทั่งแบรนด์ดังอย่าง Dolce & Gabbana และ Nike ต่างก็ออกสินค้าที่มาพร้อม NFT แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือแนวคิดเรื่อง Metaverse ซึ่งจะนำโอกาสมาสู่ NFT ในอนาคตอย่างมากมายไม่สิ้นสุด

2. บิตคอยน์เป็นที่ยอมรับ บางประเทศสร้างคริปโตของตนเอง

ปี 2021 เราเห็นเอลซัลวาดอร์เป็นประเทศในกลุ่มแรกที่ยอมรับบิตคอยน์อย่างเป็นทางการและสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงสามารถนำไปจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานบริษัทได้ด้วย ดังนั้นนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าในปี 2022 เราจะเห็นอีกหลายประเทศที่ประกาศนโยบายดังกล่าวตามมา โดยทาง BitMEX คาดว่าจะมีอย่างน้อย 5 ประเทศกำลังพัฒนาที่เริ่มยอมรับบิตคอยน์อย่างเป็นทางการในปีหน้า กระแสดังกล่าวยังชัดเจนขึ้นเมื่อโลกตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อและต่างพยายามหาทางหลีกเลี่ยงสถาบันการเงินซึ่งเป็นคนกลางที่สร้างความมั่งคั่งจากธุรกรรมทางการเงินมานาน 

ขณะเดียวกันธนาคารกลางของหลายประเทศกำลังมองถึงแนวทางในการสร้างคริปโตของตนเอง เพื่อเป็นทางออกแบบประนีประนอมแทนการใช้เหรียญทั่วไป เรียกว่าเราน่าจะได้เห็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีบทบาทควบคู่ไปกับสกุลเงินหลักประจำประเทศ ผู้ใช้ได้ประโยชน์จากค่าธรรมเนียมที่ลดลงและการไม่ต้องพึ่งพาคนกลาง ส่วนธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็ยังสามารถควบคุมปริมาณโดยรวมเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้เช่นเดิม ซึ่งที่ผ่านมามีหลายประเทศกำลังพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทั้งจีน สิงคโปร์ อังกฤษ ญี่ปุ่น รัสเซีย สวีเดน ตูนิเซีย และเอกวาดอร์

3. บูรณาการระหว่างบล็อกเชนและ IoT

ยุคนี้คงไม่มีเทคโนโลยีใดที่เสมือนหนึ่งเกิดมาคู่กับ IoT ได้เทียบเท่ากับบล็อกเชนอีกแล้ว แนวคิดและหลักการที่ออกแบบมาให้ระบบสามารถทำงานโดยอัตโนมัติ เป็นการพูดคุยระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง และมีการเข้ารหัสความปลอดภัยชั้นยอด ทำให้สามารถลดข้อผิดพลาดของมนุษย์และปัญหาที่คาราคาซังมานานได้อย่างดี 

ต่อไปธุรกรรมระหว่างแมชีนหรืออุปกรณ์จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา อุปกรณ์แต่ละเครื่องอาจติดต่อกันและชำระเงินค่าธุรกรรมระหว่างกันเมื่อต้องการใช้บริการ ซึ่งเชื่อว่าในปี 2022 เราจะได้เห็นโปรเจ็กต์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกมาก และยิ่งเมื่อมีแรงหนุนจากเครือข่าย 5G การที่อุปกรณ์ทั้งหมดจะพูดคุยและทำธุรกรรมกันเองจึงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงแม้แต่น้อย

4. บล็อกเชนรักษ์โลก

ไม่ว่าการที่อีลอน มัสก์ ประกาศแบนบิตคอยน์ชั่วคราวด้วยข้อหาการเป็นศัตรูต่อสิ่งแวดล้อม จะมีเจตนาเป็นจริงตามนั้นหรือเป็นแค่เจตนาแฝงก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานมหาศาลและปล่อยคาร์บอนในระดับสูงกว่าอีกหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นในปีหน้าเราอาจเห็นบล็อกเชนสีเขียวที่มีแนวคิดรักษ์โลกมากขึ้น และยิ่งผู้คนยุคใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับบล็อกเชนมากที่สุดต่างล้วนตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม 

ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีที่กลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดอาจมาจากค่ายที่เลือกแนวทางซึ่งใช้พลังงานน้อยที่สุดก็เป็นได้ ดังเห็นได้จากการที่อีเธอเรียมเตรียมย้ายไปใช้โมเดล POS (Proof of Stake) ในปีหน้า และมุมมองของเคธี วูด จากอาร์ก ก็น่าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น เพราะความต้องการพลังงานที่มากขึ้นจะทำให้เกิดการลงทุนวิจัยเพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และก็จะย้อนกลับมาเพื่อให้บริการบล็อกเชนในที่สุด

5. บล็อกเชนกับวัคซีน

สิ่งที่ชัดเจนมากยิ่งกว่าอนาคตของบล็อกเชนก็คือสถานการณ์โควิด-19 ที่เราคงต้องอยู่กับโรคระบาดดังกล่าวต่อไปตลอดปี 2022 แต่ทราบหรือไม่ว่าบล็อกเชนมีบทบาทสำคัญหลายด้านในเรื่องการติดตามและกระจายวัคซีน โดยเฉพาะในยุคที่เริ่มมีการจำหน่ายวัคซีนปลอมเกิดขึ้น บล็อกเชนกำลังรับบทบาทสำคัญในการยืนยันการจัดส่งวัคซีนว่าเป็นไปอย่างถูกต้องและกระจายไปยังปลายทางที่กำหนดตามที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้น 

นอกจากนี้ยังช่วยในการติดตามกระบวนการตลอดซัพพลายเชน เช่น การจัดเก็บวัคซีนไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งทางไอบีเอ็มได้สร้างระบบที่ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ภายใต้แพลตฟอร์มบล็อกเชนเพื่อรวมศูนย์ข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการควบคุมคุณภาพ ดังที่โปรเจ็กต์ทดลองหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเราสามารถเรียกคืนวัคซีนที่อาจมีปัญหาได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเมื่อเทียบกับระยะเวลา 3 วัน ที่ต้องใช้ภายใต้กระบวนการเดิม และเมื่อมองถึงสถานการณ์ไวรัสที่เปลี่ยนแปลงแทบทุกวัน ก็คงต้องบอกว่าในวันนี้ไม่น่าจะมีเทคโนโลยีรูปแบบใดที่เหมาะสมไปกว่าบล็อกเชนอีกแล้ว

อนาคตคริปโต: ปี 2022 มีอะไรน่าสนใจ

อยากเป็นนักพัฒนาบล็อกเชน ต้องเริ่มต้นอย่างไร?

บล็อกเชน เป็นอะไรมากกว่าแค่ Crypto

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ