TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyGenerative AI การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าทุกครั้ง

Generative AI การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าทุกครั้ง

“มีวันหนึ่ง ChatGPT ล่ม ทำให้งานช้าไป ทำงานได้ไม่ดี generative AI เริ่มเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตการทำงานของผมไปเสียแล้ว”​ นี่คือ ประโยคเปิดการสนทนาระหว่าง ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี และกรรมการหลายมหาวิทยาลัย กับ The Story Thailand 

ดร.ธนชาติใช้ ChatGPT ในชีวิตประจำวันหลากหลายงานและใช้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการตอบจดหมาย เขียนข้อเสนอโครงการ ทำร่างคอร์ส ใช้คิดไอเดียธุรกิจ ใช้ออกแบบรูปแบบธุรกิจ เป็นต้น

ดร.ธนชาติ บอกว่า คนใช้จะต้องมีความสามารถในการใช้งาน ChatGPT คือ ต้องเขียน prompt engineer ให้เป็น ต้องมองว่าเขาเป็นผู้ช่วย เขาเป็น AI บางอย่างเขาอาจจะจินตนาการไปบ้าง บางอย่างเขาอาจจะตอบผิด ผู้ใช้งานจะต้องมีความรู้ว่าสิ่งที่ ChatGPT ตอบมานั้นถูกหรือผิด 

“ผมใช้งานมันทุกวัน ตื่นมาก็ทำงานกับ ChatGPT เพื่อจะดูว่ามีอะไรที่เขาทำไม่ได้บ้าง เขาช่วยทำให้ชีวิตผมง่ายขึ้น ตัวอย่างคือ การตอบอีเมลญี่ปุ่น หากไม่มี ChatGPT ผมอาจจะไม่ตอบอีเมลเขาทันที ต้องใช้เวลาสักพัก แต่พอใช้ ChatGPT ผมไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษที่ดีมาก ใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจเท่านั้น เขาก็ตอบอีเมลให้ผมได้ ทำไปทำมาปรากฏว่าผมสามารถปิดดีลได้งานนี้ได้รวดเร็วขึ้นมากภภายใน 2 สัปดาห์”

ซึ่งงานที่ทำอยู่คืองานวิจัยการตลาด ซึ่งดร.ธนชาติก็นำ ChatGPT มาช่วยในบางกรณี เช่นการหา business profile ของบางบริษัท แม้ว่าข้อมูลไม่อัปเดต แต่ได้ข้อมูลภาพใหญ่ 

“เขาคือผู้ช่วยผม ทำให้ผมทำงานได้มากขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น” 

ดร.ธนชาติยกตัวอย่างการใช้งานในลักษณะนี้จากประสบการณ์ตรง เมื่อมีบริษัทญี่ปุ่นอยากมีความร่วมมือในการทำวิจัย ดร.ธนชาตินำอีเมลที่ส่งมาเรียนเชิญมาเป็น input พร้อมอธิบายตัว IMC Institute ว่าคือใคร ทำธุรกิจอะไร มีประสบการณ์อย่างไร และให้ ChatGPT เขียนอีเมลตอบกลับให้ จากนั้นเมื่อส่งไปแล้วได้รับอีเมลฉบับถัดมาก็ทำแบบนี้อีกครั้ง ปรากฏว่าเขาทำได้ และช่วยดร.ธนชาติไปจนถึงการเขียน proposal โครงการ 

อีกตัวอย่างการใช้งาน คือการใช้ ChatGPT สรุปข่าว สรุปคอนเทนต์ให้ ที่ทำเป็นประจำคือ ให้ ChatGPT ช่วยสรุปเมนไอเดียของข่าวภาษาอังกฤษที่ยาว ๆ มาให้เป็น 3 ประเด็นหลัก ๆ ว่าคืออะไร เขาจะจับประเด็นและสรุปให้ ซึ่งผลที่สรุปมาตรงมาก นี่คือความเก่งของเขา 

“ความเก่งของเขาคือ การสร้างเนื้อหาใหม่ออกมาให้เราจากสิ่งที่เราป้อนข้อมูลเข้าไปให้เขา”

นอกจากนี้ ดร.ธนชาติ ยังใช้ ChatGPT ในการทำสไลด์และเตรียมการบรรยาย เขาเหมือนเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ให้คำแนะนำ แต่ผู้ใช้งานจะต้องมีโจทย์ มีองค์ความรู้ในการให้ ChatGPT ช่วยเหลือ อาทิ บอกเขา (ChatGPT) ว่าจะไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่องอะไร เวลาเท่าใด ใครเป็นกลุ่มผู้ฟัง จำนวนกี่คน เขาจะเริ่มเขียนเทมเพลทมาให้ จากนั้นก็ถามเขาว่าหัวข้อเหล่านี้ควรใช้สไลด์อะไร ใช้งานเขาเหมือนนั่งคุยกับผู้ช่วยส่วนตัว 

ล่าสุดไปบรรยายเรื่อง Big Data Architecture ให้ฮอนด้า เทรดดิ้ง สิ่งแรกที่ทำคือ ถาม ChatGPT ว่าฮอนด้า เทรดดิ้งคือใคร และให้เขาเขียน business model canvas ของฮอนด้า เทรดดิ้ง ว่าใครคือลูกค้า ผลิตภัณฑ์เขาคืออะไรบ้าง ช่องทางการจำหน่ายมีอะไร เป็นต้น จากนั้น ให้เขาช่วยแนะนำว่าบริษัทนี้น่าจะมีดาต้าอะไรบ้าง (เพราะจะเตรียมการสอนเรื่อง Big Data Architecture) และให้ช่วยยออกแบบสถาปัตยกรรมให้ 

อีกตัวอย่างที่ ChatGPT ทำได้ดีมาก คือ การเขียนโค้ด ซึ่งอาจมีผิดบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะถูก เพราะโค้ดดิ้งเป็นข้อมูลคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ให้ช่วยแก้ bug ให้เพิ่มเอกสาร ในเชิงโปรแกรมมิ่งเขาจะเก่งมาก นอกจากนี้ งานลักษณะการวิเคราะห์ข้อมูลเขามีความเก่ง แต่ต้องเป็นข้อมูลขนาดไม่ใหญ่มาก อาทิ จำคำสั่งใน Excel ไม่ได้ให้เขาช่วย

กรณีของ IMC เดิมการเขียนอธิบายคอร์สจะค่อนข้างใช้เวลา แต่ตอนนี้สามารถสร้างคอร์สให้ลูกค้าได้เร็วขึ้นมาก Chat GPT เข้ามาช่วยในแทบทุกส่วน ทั้งการช่วยเขียนอธิบายคอร์ส สร้างคอร์ส ปรับขยายคอร์ส รวมถึงเขียนวัตถุประสงค์คอร์ส รวมถึงช่วยตั้งหัวข้อให้เลือก เป็นต้น 

ChatGPT ไม่ได้ถูกออกแบบมาเป็น seach engine แต่เป็น content creator เพราะเขาเป็น generative AI จะสามารถสร้างคอนเทนต์ใหม่ สิ่งที่เก่งคือการไปหาข้อความเดิมมาแล้วมาสรุปให้ได้ 

“หลายคนใช้ ChatGPT เหมือนใช้ search engine ซึ่ง ChatGPT ไม่ใช่ search engine  เพราะข้อมูลเขาจะมีถึงแค่ปี 2021 และตัวเขาไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็น search engine หลายคนเข้าใจผิดคิดเอาไปใช้เป็น search engine”

ChatGPT ทำได้ดีคือ ข้อไอเดียใหม่ ๆ แต่ความถูกต้องแม่นยำเป็นอีกเรื่อง อาทิ ถามสูตรทำอาหาร หรือสูตรสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพ และยังสามารถสร้าง content ยาว ๆ ได้ เช่น ให้เขียนบทความ ไม่ว่าจะเป็นการตอบจดหมาย เขียนจดหมาย ซึ่งต้องอธิบายเขาก่อนว่าจะให้เขาเขียนจดหมายอะไรให้ สมมติให้เขียนบทความเกี่ยวกับ generative AI เขาก็เขียนได้ เพราะเขามีฐานข้อความเก่าที่พอเขียนให้รู้เรื่องได้ และ ChatGPT เก่งมากเรื่องแก้โจทย์ยาก ๆ ได้ อาทิ โจทย์เคมี ฟิสิกส์ หรือคณิตศาสตร์​ ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ตายตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล 

ChatGPT 3.5 ความสามารถในเชิงภาษาอังกฤษ ในมิติของความถูกต้องแม่นยำและความสละสลวยอยู่ที่ 72% ChatGPT 4.0 ความสามารถขยับขึ้นมาที่ 85% ส่วนความสามารถในภาษาไทยอยู่ที่ 72% 

ประเด็นอยู่ที่ตอนเทรน ChatGPT ข้อมูลภาษาอังกฤษมีจำนวนมาก ดังนั้นเขาจะเก่งกว่าภาษาไทย เพราะมีคลังข้อมูลขนาดใหญ่กว่าภาษาไทยมาก ๆ แต่ ChatGPT 4.0 ความสามารถภาษาไทย (ทั้งความถูกต้องและความสละสลวย) อยู่ที่ 72% ดร.ธนชาติ เคยใช้ ChatGPT มาเขียนบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจหลายบทความ เขียนมากที่สุดคือ 70-80% ของบทความ ที่เหลือดร.ธนชาติจะต้องปรับแก้และรีไรท์

“เขาทำในสิ่งที่เราอยากให้ทำได้หมด มีอะไรบ้างที่เขาทำไม่ได้ สิ่งที่เขาทำไม่ได้น้อยลงเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาผมใช้ให้เขาเขียน proposal ตอบจดหมาย ทำสไลด์ คิดไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ ปรึกษาเรื่องส่วนตัวก็มี ให้ช่วยวางแผน family trip ให้ผม” 

Bing ใส่ ChatGPT เข้าไป นำส่ิงที่ Bing ค้นหาได้ มาให้ ChatGPT สรุปให้ ซึ่ง GPT4 มีความสามารถในการรับข้อความที่เป็นบริบทของเนื้อหาได้ถึง 25,000 คำ มากกว่า GPT3 ที่รองรับเพียง 3,000 คำ (แต่ทำให้ output ช้าลง แต่การจินตนาการคำตอบจะลดลง) 

เวลาใช้ ChatGPT ไม่ว่าจะใช้แบบ pro หรือไม่ เขาจะจำตัวตนผู้ใช้งานไว้ ซึ่งจะต้องแยก session การคุยกับเขาให้ดีอย่าปนกัน เพื่อวัตถุประสงค์การใช้งาน หากองค์กรอยากใช้ ChatGPT แม้ว่าตอนนี้อาจจะยังไม่มี enterprise license แต่ก็สามารถใช้ผ่านไลเซ่นของคนในองค์กรได้ แต่ต้องตั้งโจทย์ก่อนว่าองค์กรจะนำ ChatGPT ไปใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์อะไร หากต้องการใส่องค์ความรู้บางด้านไป อาทิ กฏหมาย เพื่อทำคลังกฏหมาย เพื่อทำ transfer learning แล้วใส่ องค์ความรู้เฉพาะทางใส่เข้าไปให้ GPT เข้าใจบริบทของไทย เป็นการเทรนเพิ่ม 

ทั้งนี้ ดร.ธนชาติ เตือนว่า ข้อควรระวังในการใช้ ChatGPT ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว เพราะยังไม่รู้ว่าเขาเก็บข้อมูลอะไรบ้าง 

นอกจากนี้ ดร.ธนชาติ ยังคาดการณ์ว่า สิ้นปีนี้ Time Magezine จะให้ ChatGPT เป็น Person of the Year ปี 2023 เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของโลก ทำให้บริบทของการทำงาน การเรียนรู้ เปลี่ยนไปอย่างมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อาชีพบางอาชีพหากไม่ใช้ ChatGPT คนที่ใช้ ChatGPT จะเหนือกว่าคนที่ไม่ใช้ จะดิสรัปคนที่ไม่ใช่ แต่ไม่ได้ดิสรัปอาชีพนั้น โปรแกรเมอร์ที่ใช้ ChatGPT จะทำงานได้เร็วกว่าโปรแกรมเมอร์ที่ไม่ใช้ นักข่าวนักเขียนก็เช่นกัน ซึ่งสภาพการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับทุกอาชีพ

งานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะต้องมาใช้ generative AI ดร.ธนชาติยกตัวอย่างอดีตลูกศิษย์ที่ออกจากงานช่วงโควิด ปัจจุบันเขาใช้ AI มาสร้างภาพขายด้วยการใช้ Midjourney ผสมกับ ChatGPT ขายในตลาดซื้อขายภาพ AI generated Content 

Generative AI กำลังมาเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนอาชีพหลายอาชีพ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องตระหนักเรื่องเหล่านี้ และต้องให้เด็กเรียนรู้ว่าจะไม่สามารถทำงานในแบบเดิมได้ หลักสูตรจะต้องปรับเปลี่ยน 

“ผมมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล จะมีอะไรมากกว่านี้ ชีวิตหลังจากนี้จะอยู่แบบเดิมไม่ได้”

ดร.ธนชาติ ย้ำว่าให้มอง generative AI เป็นผู้ช่วยในการทำงาน ผู้ช่วยในการแนะนำ ทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่าหลงคิดว่าเขาคือ search engine และที่สำคัญที่สุดต้องระลึกเสมอว่าเขาไม่ได้มาแย่งอาชีพเราแต่มาช่วยให้เราทำงานได้ไวขึ้น และอย่าไปคาดหวังเขามากเกินไป เพราะเขาเป็นหุ่นยนต์ ย่อมมีผิดและมีถูก แล้วจะมีทัศนคติอีกแบบหนึ่ง ความคาดหวังจะอีกแบบหนึ่ง

อยากให้มองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลที่สำคัญ generative AI คือ revolution อีกอย่างหนึ่ง เหมือนตอนที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนในการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นต้องยอมรับและต้องเข้าไปลองใช้งานและเรียนรู้มัน หากปรับตัวไม่ทันสุดท้ายอาจจะตามไม่ทัน เหมือนอินเทอร์เน็ต ที่ช่วงแรกจะใช้ไม่เป็น แต่มันจำเป็นและต้องเรียนรู้ให้ใช้ให้เป็น ผมเองก็พยายามนำมาใช้งานให้เต็มที่มากขึ้น ๆ”​

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ