ทุกความสำเร็จล้วนมีเส้นทางเบื้องหลังที่ทอดยาว เส้นทางที่ถมสร้างจากความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ความตั้งมั่นไม่ยอมแพ้ กัดไม่ปล่อย ล้วนเป็นคุณสมบัติร่วมกันของทุกคนที่เดินผ่านเส้นทางแห่งความล้มเหลวมาจนถึงปลายทางหรือจุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน
หญิง 4 คน 4 รุ่น ใน 4 ประเภทธุรกิจ ที่เธอเหล่านั้นได้ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง อะไร คือ เคล็ดลับในการทำงานและฝ่าฟันความล้มเหลวจนสามารถก้าวข้ามมาสุ่ความสำเร็จของผู้หญิงทั้ง 4 คนนี้ ….
ฟ้าเสรี ประพันธ์ธา
เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่หากินหาอยู่ใน 1 ครั้งต่อปี ทำให้ช่วงเวลาที่เหลือคือช่วงเวลาว่างที่บรรดาหนุ่มสาวจากแดนอีสานผันตัวเป็นแรงงานเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว หนึ่งในนั้น คือ ฟ้าเสรี ประพันธ์ธา ประธาน บริษัท ไร่นาฟ้าเอ็นดู ที่แปรรูปพืชพันธุ์ในไร่นาให้เป็นสินค้าหลักล้าน โดยเจ้าตัวได้เล่าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ว่าชีวิตก็เป็นเช่นลูกจ้างทั่วไป
อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่คิดว่ามีงานรับจ้างมั่นคงดีแล้วจู่ ๆ ร้านที่ทำงานอยู่เลิกกิจการไป ทำให้ ฟ้าเสรี ในเวลานั้นหวนกลับคืนสู่ภูมิลำเนาในจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยเงินติดตัวเพียง 8,000 บาท พร้อมอีกหนึ่งชีวิตในท้อง ด้วยความตั้งใจว่า กลับมาทำนากับผืนดินที่มีอยู่ต่อไปก็ได้ อย่างน้อยก็ไม่อดตาย
ทว่าฟ้าฝนดูจะไม่เป็นใจ เพราะนาข้าวที่ปลูกผจญทั้งน้ำแล้ง น้ำหลาก และน้ำท่วม จากที่เคยคิดว่าอย่างไรก็มีข้าวกิน กลายเป็นคนที่ต้องแบกรับหนี้หลักล้าน จากต้นทุนชีวิตที่มีน้อยกว่าใครหลายคนอยู่แล้ว ก็ลดน้อยถอยลงกลายเป็นติดลบ
ฟ้าเสรี เล่าว่า ความรู้สึกในตอนนั้นคือทั้งท้อและกลัว แต่ก็บอกตนเองว่าถอยไม่ได้ ยอมไม่ได้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องไปต่อ พร้อมบอกตัวตนเองว่า ผู้หญิงไม่ได้มีหัวใจไว้เพื่อยอมแพ้
ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกับมาพิจารณาตนเอง ฟ้าเสรีพบว่า สิ่งที่มีคือที่ดิน และสิ่งที่ขาดคือความรู้ ดังนั้น สิ่งแรกที่ทำก็คือขวนขวายหาความรู้ จนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเรียนรู้ศาสตร์พระราชากับเอสซีจี ที่ทำให้ตนเองมีโอกาสเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญและสร้างเครือข่ายพันธมิตรมากมาย
ความใฝ่รู้ บวกกับการพลิกแพลงลงมือทำ จากที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้ จากที่กลัวก็บอกกับตนเองเสมอว่าไม่เป็นไร ก็แค่กลัวเท่านั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องไปต่อ ต้องไปให้ได้ เพียงแต่ก่อนจะออกเดินก็ต้องหาความรู้ เพื่อเป็นเครื่องมือเป็นแนวทางให้ไปต่อ
“เมื่อมีความรู้ เราเริ่มมองที่ดินของเราในมุมใหม่ มันไม่ใช่แค่ที่ดินที่มีไว้ทำนา แต่มันเพาะปลูกอย่างอื่นได้ ผลผลิตที่ได้ก็แปรรูปไปทำอย่างอื่นเพิ่มมูลค่าต่อได้ วันแรกที่รับออเดอร์สินค้าถึงหลักหมื่น ยังบอกกับตัวเอง เราทำได้แล้ว” ฟ้าเสรี กล่าว
ความสำเร็จที่เกิดจากหยาดเหงื่อและสองมือนี้ ฟ้าเสรี กล่าวว่า มาจากหลักการที่ตนเองยึดมั่นมาโดยตลอด นั่นคือคำสอนของสมณะโพธิรักษ์ ที่กล่าวไว้ว่า ไม่รอ ไม่หวัง แต่ให้ลงมือทำ และทำให้สำเร็จ
ศุภจี สุธรรมพันธุ์
หากกุญแจความสำเร็จของฟ้าเสรี คือ การขวนขวายหาความรู้และลงมือทำ ความสำเร็จของ หญิงแกร่ง มาดนิ่ง เสียงหวานอย่าง ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดุสิต ธานีจ จำกัด (มหาชน) ก็มาจากการรับฟัง เรียนรู้ และตั้งมั่นมีสติอยู่เสมอ
ในฐานะหญิงไทยคนแรกที่ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงองค์กรไอทีระดับโลกอย่างไอบีเอ็ม ใครหลายคนอาจมองว่า ศุภจีจะเป็นคนกล้าหาญมั่นใจ และไม่หวั่นกลัวสิ่งใดเลย แต่เจ้าตัวแย้งว่าในการทำงานระดับบริหารก็มีหลายช่วงเวลาที่ตนเองก็หวั่นกลัวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เพราะความกลัวเกิดจากความไม่รู้ ดังนั้นการค้นหาความรู้ทำเข้าใจจะช่วยขจัดความกลัวนั้นลงได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีความรู้หรือปัญญาแล้ว ก็ให้มีสติกำกับด้วย เพราะปัญญาก็เหมือนรถสปอร์ต หากไม่มีสติกำกับ ก็อาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาด หรือทำให้การทำบทบาทหน้าที่สับสนปนเปกันไปหมด จนในที่สุดก็ทำได้ไม่ดีสักอย่าง
นอกจากนี้การเป็นผู้หญิงที่ต้องทำงานในแวดวงไอทีที่มีสัดส่วนผู้ชายเยอะกว่า สิ่งที่ท้าทายก็คือการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ต้อง “รู้เขา รู้เรา รู้จังหวะ และรู้ตลาด”
“รู้เขา คือ รู้จักทั้งคู่แข่งและเพื่อนร่วมงานแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร รู้เรา คือ รู้ศักยภาพความเก่งของตนเอง รู้จังหวะ คือ รู้ว่าจังหวะไหนควรรุก จังหวะไหนควรถอย และรู้ตลาด คือ รู้ว่าความต้องการตลาดจะเป็นอย่างไรและเป็นไปในทิศทางไหน”
ยิ่งไปกว่านั้น การวางแผนและกำหนดเป้าหมายจะช่วยให้การทำงานและการใช้ชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น โดยส่วนตัวไม่เชื่อใน work life balance แต่มองว่าเป็น work life integrated มากกว่า คือชีวิตและการทำงานต้องไปร่วมกัน ซึ่งการวางแผนและกำหนดเป้าหมายนี้ อย่าทำคนเดียว แต่ให้รับฟังและวางแผนร่วมกับทีมหรือคนที่จะร่วมทางไปด้วยกัน เพื่อให้งานมีโอกาสประสบความสำเร็จ และแสดงให้เห็นว่าหัวหน้าพร้อมรับฟัง
ที่สำคัญที่สุด คือ ขอให้เชื่อมั่นในตนเอง อย่ากลัวปัญหาหรืออุปสรรคที่จะดาหน้าเข้ามา และย้ำว่า “แพ้เป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร” โดยสำหรับคนที่เรียนเคมีจะรู้ดีว่า ทั้งถ่านและเพชร มีส่วนประกอบทางเคมีเดียวกันคือคาร์บอน แต่ถ่านไม่ได้ผ่านความกดดันอย่างมากมายมหาศาลเหมือนเพชร ดังนั้นในท้ายที่สุดจึงเป็นไปแค่เพียงถ่าน พร้อมยกคำสอนของพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งกล่าวไว้ว่า ปัญหาหรือวิกฤติเป็นเวทีที่ได้พัฒนาปัญญา เพราะฉะนั้นเมื่อเจอปัญหา อย่ากลัวที่จะเผชิญ เพราะปัญหาจะเคี่ยวกรำให้ทุกคนได้กลายเป็นเพชรที่สามารถเปล่งประกายด้วยความมั่นใจ
อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย
ทั้งนี้ ความมั่นใจและความเชื่อมั่นในตนเองเป็นสิ่งที่อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ผลักดันดิจิทัลเทคโนโลยี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเห็นว่า ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นใจอยู่มาก คือไม่เชื่อว่าตนเองจะทำได้เก่งเท่าผู้ชาย หรือเก่งมากกว่าผู้ชาย ซึ่งความไม่เชื่อมั่นนั้นขวางผู้หญิงไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า
อัจฉรินทร์ กล่าวว่า เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก การเป็นผู้หญิงในสังคมไทยถือว่าโชคดีมาก เพราะคนไทยค่อนข้างเปิดกว้าง การทำงานในระบบราชการก็มีระเบียบกำหนดที่ชัดเจน และไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ใดที่ขัดขวางผู้หญิงเลย ทุกอย่างวัดกันด้วยเรื่องของผลงาน
และเพราะเชื่อมั่นว่าตนเองมีศักยภาพที่เพียงพอและความสามารถไม่แพ้ใคร การเป็นผู้หญิงในวงการวิศวกรรมที่ประชากรชายเป็นใหญ่ จึงไม่ใช่สิ่งที่อัจฉรินทร์มองว่าเป็นปัญหาท้าทายแต่อย่างใด
“อยากให้ผู้หญิงไทยทุกคนมีความมั่นใจในตนเองก่อน เชื่อในความสามารถของตนเอง หากไม่รู้ว่าตนเองเก่งอะไรก็จนค้นหา หาจนกว่าจะเจอแล้วก็มุ่งมั่นพัฒนาขัดเกลาทักษะของตนเองให้เต็มที่ เผลออาจไม่ได้เก่งเท่าผู้ชาย แต่เก่งมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีทักษะบางอย่างที่ผู้ชายไม่มี อย่างน้อยก็ความอดทน ซึ่งบอกได้เลยว่า ผู้หญิงอดทนต่อแรงกดดันและความเจ็บปวดต่างๆ ได้ดีกว่าผู้ชายเยอะมาก”
นอกจากนี้ การวางเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างชัดเจน จะมีส่วนช่วยได้มาก เพราะเมื่อรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร สนใจอะไร ชอบอะไร อยากเป็นอะไร ตัวเองย่อมต้องหาหนทางที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้น
ขณะเดียวกัน ทุกคนต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิต ซึ่งโดยส่วนตัวก็คือหลักพระพุทธศาสนา เป็นหลักของความถูกต้อง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ในฐานะข้าราชการที่รับราชการมากว่า 30 ปี ย่อมมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ส่วนตัวยึดหลัก หิริโอตัปปะ (ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป) ทำให้ ก้าวเดินมาได้ไกลจนถึงวันนี้ ดังนั้น ให้มีหลักและเป้าหมายที่จะมุ่งไป แต่ก็ต้องไม่ปิดกั้นตนเอง
เจ๊เกียว ดร.สุจินดา เชิดชัย
แม้ว่าชีวิตของลูกสาวที่เกิดมาในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนจะไม่ให้ค่ากับการศึกษาเล่าเรียน แต่ ดร.สุจินดา เชิดชัย หรือที่ใคร ๆ ก็เรียกว่า เจ๊เกียว ก็ก้าวขึ้นมาเอื้อมคว้าความสำเร็จไว้ได้ด้วยการยึดเหนี่ยวหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำรงชีวิต
ตำนานหญิงแกร่งนักสู้ผู้บุกเบิกก่อร่างสร้างธุรกิจขนส่งเครือเชิดชัยมูลค่ากว่าหมื่นล้านในวัย 85 ปีผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนกล่าวว่า ความลำบากเป็นของคนที่มีชีวิต ดังนั้น ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ขอให้ยึดมั่นกับหลักการความถูกต้องและการทำดี เมื่อมีแล้วก็ให้รู้จักเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นบ้าง ซึ่งการให้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเสมอไป
“อย่ารักคนอื่นมากกว่ารักตนเอง ให้มองคนที่มาอยู่ข้างกายเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด เพื่อนร่วมเดินทางที่สักวันหนึ่งก็ต้องจากกันไป ขณะเดียวกันก็ให้ทำเพื่อคนอื่น หรือเพื่อคนที่อยู่รอบตัว เพราะผลลัพธ์ของการกระทำนั้นจะเป็นการพิสูจน์ถึงคุณค่าของตนเองอย่างแท้จริง”
เจ้เกียว เล่าอีกว่าตั้งแต่จำความได้ ตนเองไม่เคยรู้สึกท้อแท้ ไม่เคยต้องร้องไห้เพราะความยากลำบากใด ๆ เพราะหลักยึดเหนี่ยวสอนให้มองทุกเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเจอของชีวิตจนกว่าจะหมดลมหายใจ การลงมือทำ และทำในสิ่งที่ดี อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้กับตนเอง และที่สำคัญไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดีหรือร้ายก็ให้ยิ้มเข้าไว้ เพราะรอยยิ้มไม่มีต้นทุน แต่ส่งผลตอบแทนให้คน ๆ หนึ่งเดินไปสู่ความสำเร็จได้
ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนมีพลังและศักยภาพในตัวที่พร้อมจะพาตัวเองก้าวไปสู่ความสำเร็จ และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ รวมถึงเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนสำคัญ ที่คอยช่วยพัฒนาให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ทางปูนซีเมนต์ไทย (SCG) จึงจัดงานเสวนาเรื่อง “Women Empowerment พลังหญิง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน” ผ่านเรื่องเล่าประสบการณ์ แนวคิด และเคล็ดลับของ 4 หญิงแกร่งแนวหน้าของสังคมไทย เพื่อส่งต่อให้ผู้หญิงทุกคนเห็นพลังของตนเอง พร้อมก้าวข้ามข้อจำกัดขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ก็สอดคล้องกับหลักการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 5 (SDG 5) ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนทุกเพศได้รับการปฎิบัติอย่าเท่าเทียมกัน และสามารถมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพสังคมได้อย่างแท้จริง (inclusiveness)
ดร.รีเบคก้า ฟาติมา สตา มาเรีย (Dr. Rebecca Fatima Sta Maria) ผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่แห่งกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) กล่าวว่า การรับฟังเสียงที่หลากหลายจะเป็นประโยชน์ที่ทำให้มุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคนเปิดกว้างมากขึ้น และหวังจะได้เห็นสังคมที่มองว่าการอยู่ในตำแหน่งผู้นำของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นหรือชื่นชมอีกต่อไป