TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyสวทช. หนุนสร้างองค์ความรู้บน ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’ ช่วยชุมชนสร้างอาชีพจากการท่องเที่ยว

สวทช. หนุนสร้างองค์ความรู้บน ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’ ช่วยชุมชนสร้างอาชีพจากการท่องเที่ยว

สวทช. นำ ‘นวนุรักษ์ แพลตฟอร์ม’ หนุนนักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ม.ราชภัฏสงขลา และวิทยาลัยชุมชนสตูล ใช้เป็นเครื่องมือจัดเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม เพื่อให้ชาวบ้านทั้ง 4 อำเภอ (อ.เมือง อ.มะนัง อ.ละงูและอ.ทุ่งหว้า) ในพื้นที่ ‘อุทยานธรณีโลกสตูล’ ศึกษา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย ในรูปแบบเรื่องเล่าสื่อความหมาย และสื่อประชาสัมพันธ์ ช่วยชุมชนให้เกิดความเข้าใจในระบบนิเวศเขาหินปูน ระบบนิเวศสัตว์ในถ้ำ และระบบนิเวศสัตว์ชายฝั่งทะเลที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล

ณ สำนักงานอทุยานธรณีโลกสตูล ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จังหวัดสตูล กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. นำคณะสื่อมวลชน พร้อมด้วยอเล็กซ์ เรนเดลล์ ดารานักแสดง ลงพื้นที่ สตูลจีโอพาร์ค การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของ ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และสิ่งมีชีวิตในถ้ำอุทยานธรณีโลกสตูลเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมด้วยคณะนักวิจัยและอาจารย์จาก ม.สงขลานครินทร์ ม.ราชภัฏสงขลา และวิทยาลัยชุมชนสตูล

เอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ในปี 2565 จังหวัดสตูลให้ความสำคัญกับการโปรโมตอุทยานธรณีโลกสตูล (Satun Global Geopark) มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้จังหวัดสตูลได้รับการอนุมัติจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 ให้เป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลก และจะต้องมีการตรวจประเมินซ้ำทุก 4 ปี (ครบวาระ 4 ปี เมื่อปี 2564) ซึ่งหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจากยูเนสโก ได้มีการตรวจประเมินซ้ำเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาแล้ว

จังหวัดสตูลให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์อุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อให้คนสตูล คนไทยและคนทั่วโลกได้รับทราบความสำคัญของเมืองที่พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ในยุคพาเลโอโซอิก (Palaeozoic era) คือช่วง 545 – 245 ล้านปีก่อน เป็นมหายุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งในมหาสมุทรและบนบกถือเป็นจุดเด่นด้านธรณีวิทยา เนื่องจากจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดใต้สุดฝั่งอันดามัน มีความสวยงามทั้งเรื่องธรรมชาติท้องทะเล และป่าภูเขา ที่สำคัญยังมีเรื่องราวของสัตว์ดึกดำบรรพ์ และสัตว์ทะเลโบราณจำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่บ่งชี้ว่าจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่มีวิวัฒนาการมานานและเก่าแก่น่าค้นหาทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดสตูล

นอกจากนี้ การมีองค์ความรู้และงานวิจัยจาก สวทช. นักวิจัยมหาวิทยาลัยและองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มาสนับสนุนในรูปแบบ การเก็บรวบรวมองค์ความรู้ไว้ในระบบดิจิทัล ที่เรียกว่า ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมหลักฐานด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต ของจังหวัดสตูลเก็บไว้ให้คนในชุมชนนำไปศึกษาใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ เกิดอาชีพและสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพในจังหวัดสตูลและความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG

กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ ได้สนับสนุนงานวิจัยจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย  1. การนำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำอุทยานธรณีโลกสตูลเข้าในแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำแพลตฟอร์มดิจิทัล “นวนุรักษ์” ของศูนย์เนคเทค สวทช. มาใช้ต่อยอดการบริหารจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบริหารจัดการ ภาพถ่าย ไฟล์วีดีโอ คลิปเสียง และเรื่องราวนำชม (story telling) ไม่น้อยกว่า 3,000 รายการ รวมถึงการฝึกอบรมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้ด้วยตัวเอง การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ในการประเมินซ้ำในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้านอุทยานธรณี และการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

“นอกจากนั้นแล้วมีการอบรมถ่ายทอดความรู้ การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลนวนุรักษ์ ให้กับหน่วยงานในท้องถิ่นและชุมชนให้มีทักษะและเข้าถึงข้อมูลดิจิทัล รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สำหรับเผยแพร่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล เช่น Hologram 3 มิติ, ป้ายประชาสัมพันธ์พร้อม QR Code, คลิปวีดีโอสั้น, หนังสือความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล”

สำหรับโครงการที่ 2. คือ การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำ ในอุทยานธรณีโลกสตูลเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์และจุลินทรีย์ในถ้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน (ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า) ถ้ำอุไรทอง (ตำบลกำแพง อำเภอละงู) และถ้ำทะลุ (ตำบลเขาขาว อำเภอละงู) ตลอดจนการศึกษาด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวฐานชีวภาพในพื้นที่อุทยานธรณีโลก โดยข้อมูล ภาพถ่าย ไฟล์วีดีโอ และคลิปเสียง ถูกรวบรวมไว้ในแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘นวนุรักษ’ เพื่อใช้ในการประเมินซ้ำในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้านอุทยานธรณี พัฒนาไกด์ท้องถิ่น และการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

กุลประภา กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นแล้วโครงการที่ คือ 3. โครงการการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน มุ่งเน้นการรวบรวมสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล จังหวัดสตูล โดยเน้นศึกษาในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ หาดราไวย์ หาดแหลมสน บุโบย หาดบางศิลา ในทอน ท่าอ้อย สันหลังมังกร เกาะสะบัน เขาทะนาน หอสี่หลัง เกาะตะรุเตา เกาะลิดี และเกาะอาดัง ราวี หลีเป๊ะ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวฐานชีวภาพในพื้นที่อุทยานธรณีโลก โดยรวบรวมไว้ในแพลตฟอร์มดิจิทัล “นวนุรักษ์”

“ในพื้นที่หอสี่หลัง ซึ่งเป็นนิเวศชายฝั่ง ทีมวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ได้บัญชีรายการความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ หาดหิน หาดทราย หาดเลน แนวหญ้าทะเล แนวปะการังน้ำตื้น ป่าชายเลน 566 ชนิด พบพืชมีสถานภาพเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable) 1 ชนิด คือ หญ้าใบพาย ในสัตว์พบ นกน็อทใหญ่ มีสถานภาพใกล้การสูญพันธุ์ (Endangered) และนกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้าตาล มีสถานภาพเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable) นอกจากนี้ยังได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้อีก 517 รายการ โดยแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจตามแนวชายฝั่ง คือ บริเวณหอสี่หลัง สันหลังมังกร หาดแหลมสน บุโบย พบสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจ เช่น หญ้าใบพาย, ปูก้ามดาบก้ามขาว, ปูทหารก้ามโค้ง, นกน็อทใหญ่, นกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล เป็นต้น ส่วนบริเวณเกาะลิดี เกาะตะรุเตา หมู่เกาะอาดัง ราวี พบสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจ คือ หญ้าใบมะกรูด, ปลิงดำแข็ง, ดำวแดงหนำมใหญ่, แนวปะกำรังน้ำตื้น,เหยี่ยวแดง, ลิงแสม” กุลประภา กล่าว

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. กล่าวว่าจุดเด่นของแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘นวนุรักษ์’ คือ ผู้ใช้งานสามารถบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงาน หรือชุมชน ที่ต้องการจัดเก็บข้อมูล และเป็นเจ้าของข้อมูล เข้ามาเพิ่มหรือ update ข้อมูลได้ด้วยตนเอง สามารถใส่ชื่อวัตถุ รหัส ชื่อไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะการเก็บรักษา สถานที่ ข้อมูลกายภาพ ข้อมูลทางชีวภาพ บทบรรยายสำหรับนำชม ขนาด ลักษณะ ประวัติ สถานที่จัดเก็บได้ โดยสามารถเลือกได้ว่าต้องการเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่ และ upload media ต่าง ๆ เช่น ภาพ เสียง วิดีโอ ภาพ 360 องศาได้

นอกจากนี้ระบบสามารถเลือกแสดงผลรายการวัตถุจัดแสดงในรูปแบบของ QR Code สามารถนำไปประยุกต์สำหรับใช้ทำสื่อเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงจัดทำแบบสอบถามผ่านทาง QR Code เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสามารถแสดงความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลเชิงสถิติ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ เก็บข้อมูลได้ระยะยาว ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลได้ ช่วยยกระดับและพัฒนาทักษะของชุมชนให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลดิจิทัลและการสื่อความหมายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน และวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล สามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์ https://www.navanurak.in.th/satungeopark

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ