TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeชวนเช็คอิน "ชุมชนแม่เหาะ" อันซีนแห่งใหม่ในแม่ฮ่องสอน พร้อมเปิดมุมมอง "แสงสี ของดี นวัตกรรม" บนดอย

ชวนเช็คอิน “ชุมชนแม่เหาะ” อันซีนแห่งใหม่ในแม่ฮ่องสอน พร้อมเปิดมุมมอง “แสงสี ของดี นวัตกรรม” บนดอย

การท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นหมุดหมายของนักเดินทางและผู้ที่ชอบหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งในช่วง 3 -4 ปีที่ ผ่านมานี้ เรามักจะได้เห็นภาพ Unseen จากที่ท่องเที่ยวที่แทบไม่เคยได้รับการโปรโมทผ่านทางโซเชียลมีเดีย และได้ทำให้หลาย ๆ พื้นที่เริ่มได้รับความนิยม จนกระทั่งกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือนให้จงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีชุมชนอีกเป็นจำนวนมากที่รอต้อนรับการมาเยี่ยมเยือนของผู้คน รวมถึงรอการพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการยกระดับให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่การมาสัมผัส เฉกเช่น ชุมชนแม่เหาะ ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนเล็ก ๆ ท่ามกลางหุบเขา ที่ในอดีตหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า พื้นที่แห่งนี้มีของดีมากมายซ่อนอยู่ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะผลักดันให้เป็นอีกหนึ่งชุมชนน่าเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ

-Airbnb จับมือ ททท. โปรโมทชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวชนบท
-เอ็นไอเอ ชวนคนไทยร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ เดินทางฤดูไหนก็เที่ยวได้ด้วยนวัตกรรม

วันนี้ชุมชนแม่เหาะได้ถูกยกระดับทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และในแง่มุมของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ผ่านการจับคู่นวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของชุมชน ภายใต้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่ได้นำ 4 นวัตกรรมสำคัญมาร่วมอัพเกรดกิจกรรมการท่องเที่ยว และช่วยเพิ่มคุณค่า และมูลค่าให้กับการบริการและผลิตภัณฑ์ของชุมชน อีกทั้งยังได้ช่วยกระตุ้นให้คนในพื้นที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับนวัตกรรมแรกที่ NIA ได้ทำการจับคู่กับชุมชนคือ โครงการ “Green route Good life” เที่ยวแม่เหาะ ลัดเลาะชมวิถีกะเหรี่ยง จากบริษัท Local Alike ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการเส้นทางการท่องเที่ยว ผสมผสานกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้เชื่อมต่อหลายพื้นที่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดย Green route Good life ได้ช่วยทั้งการประชาสัมพันธ์ การพัฒนาแพลตเฟอร์มเพื่อเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชั่น นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจของชุมชนแห่งนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่ที่สุดคือการจัดทำโมเดลการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชน ซึ่งในอนาคตประชากรในหมู่บ้านสามารถนำโมเดลเหล่านี้ไปเป็นแผนธุรกิจ สามารถบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ และออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวได้ด้วยตนเองต่อไป

สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยวที่ Local Alike ได้จัดทำให้กับชุมชนแม่เหาะถือได้ว่าน่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการลิ้มลองรสชาติอาหารฝีมือชาวบ้านที่นำเสนอผ่านเรื่องราวและความคิดสร้างสรรค์ ผสานกับการนำวัตถุดิบโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ข้าวดอย ฟักทอง กาแฟ รวมถึงพืชผักเมืองหนาว รังสรรค์ออกมาเป็นอาหารจานเด็ดที่นักท่องเที่ยวไม่เคยได้ลิ้มรสที่ไหนมาก่อน การพาชมวิวบนยอดดอยสิงห์ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,400 เมตร ที่ทำให้เห็นทั้งวิวทิวทัศน์ ทรัพยากรของชุมชน การเรียนรู้การต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ การทำสบู่จากกาแฟ การคั่วกาแฟจากวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างการปลูกป่า เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ให้กับคนที่จะมาเที่ยวที่แห่งนี้ในอนาคต

ไม่เพียงแต่จะเชื่อมต่อกับคนในชุมชนเพียงอย่างเดียว โครงการ “Green route Good life” ยังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับโครงการ “แม่เหาะ 360 องศา” แพลตฟอร์มท่องเที่ยวชุมชนแม่เหาะเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยี VR ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มท่องเที่ยวเสมือนจริง (Virtual Reality : VR) ที่มีเนื้อหานำเสนอในรูปแบบภาพและวิดีโอ 360 องศา ประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญภายในชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาพวิวทิวทัศน์ รวมถึงคำแนะนำด้านการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับ VR Glasses หรือแว่นรับชมระบบ 3 มิติ เพียงแค่นำโทรศัพท์มือถือมาเชื่อมต่อกับแว่นดังกล่าว ก็จะได้สัมผัสกับเนื้อหาที่เป็นมุมมองที่ต่างออกไป โดยเฉพาะทัศนียภาพ เช่น การชมวิวจากที่สูงในกรณีที่ฟ้าฝนหรือสภาพอากาศไม่เป็นใจ การสัมผัสกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างดอกบัวตอง หรือพรรณไม้ต่าง ๆ ในกรณีที่เป็นการท่องเที่ยวนอกฤดูกาล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กับการท่องเที่ยวทางไกลสำหรับคนที่ไม่สามารถเดินทางมายังสถานที่จริงได้ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจสำหรับคนที่อยากรับชมกิจกรรมจริงแต่มีเวลาน้อยในการเสพข้อมูลผ่านตัวอักษรก่อนเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับการท่องเที่ยวให้มีความทันสมัย และตื่นตาตื่นใจมากขึ้นคือ โครงการ “Sanuk@แม่เหาะ” แอ่วเมืองสามหมอกด้วย Sanuk AR ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี Augmented Reality : AR นำเสนอภาพเสมือนจริง มาช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบเรื่องราวที่สำคัญของชุมชนแม่เหาะ รวมถึงสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวแบบใกล้ชิด ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถสแกน QR CODE บนแผนที่ท่องเที่ยวของชุมชน หรือตามจุดต่าง ๆ จากนั้น ระบบจะทำการประมวลและแนะนำสถานที่ที่ห้ามพลาดไปเยี่ยมชมหรือทำกิจกรรมในรูปแบบวิดีโอ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมเรื่องราวบนวิดีโอเหล่านั้นได้ ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต ครอบคลุมระบบปฏิบัติการทั้ง IOS และ Android นอกจากนี้ โครงการ Sanuk@แม่เหาะยังได้จัดทำ QR COCE เพื่อประกอบบนผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวสแกน QR CODE ก็จะได้รับทราบเรื่องราวหรือที่มาที่ไปของสินค้าชุมชน แต่ละชิ้นได้เช่นเดียวกัน

และเมื่อพูดถึงสินค้าชุมชน ก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ตกตะกอนและผลพลอยได้จากการท่องเที่ยว สำหรับชุมชนแม่เหาะนั้นสินค้าที่ต้องห้ามพลาดซื้อและต้องแวะไปทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านนั่นก็คือ “กาแฟแม่เหาะ” ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ปลูกกันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในอดีตปัญหาสำคัญของการปลูกกาแฟในชุมชนแม่เหาะก็คือผลผลิตที่ปลูกได้ขึ้นอยู่กับนายหน้าว่าต้องการรับซื้อมากน้อยเพียงใด ไม่สามารถควบคุมคุณภาพหรือยืดอายุสินค้าได้เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุก และแสงแดดไม่เพียงพอ ดังนั้น NIA จึงได้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมลดความชื้นและการอบแห้งผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยทั้งในการแปรรูปและการยืดอายุผลิตภัณฑ์ ลดปัญกาการพึ่งพาแสงแดดที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ในปัจจุบันกาแฟแม่เหาะมีดีมากกว่าการขายในรูปแบบกาแฟตากแห้ง หรือผลกาแฟสด รวมถึงช่วยให้มีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทออกมาจำหน่ายให้กับผู้มาเที่ยวในชุมชน เช่น กาแฟคั่ว ชาดอกกาแฟ ที่มีกลิ่นหอมและเอกลักษณ์ด้านรสชาติเฉพาะตัว ต่อเนื่องไปถึงการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และส่งตรงถึงบ้านผ่านไปรษณีย์ รวมถึงพัฒนาเป็นกิจกรรมการเวิร์คช็อปการคั่วกาแฟสด สร้างการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว

คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กว่าวว่า สำหรับ “ชุมชนแม่เหาะ” เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีสิ่งที่มีศักยภาพต่อการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยยกระดับทั้งอัตลักษณ์ชาวปกาเกอะญอที่มีมากถึงร้อยละ 80 ของประชากรในพื้นที่จากจำนวนกว่า 8,000 คน มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สามารถนำมาแปรรูปได้อย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปยกระดับพื้นที่แห่งนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยศักยภาพของผู้คนในชุมชนที่พร้อมเรียนรู้ และมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ซึ่ง NIA มีความเชื่อว่าจากเดิมที่พื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ ในพื้นที่จังหวัดยากจน จะสามารถยกระดับตนเองให้เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างรายได้ด้วยนวัตกรรมและกิจกรรมต่างๆ ที่ NIA และผู้ประกอบการเข้าไปส่งเสริม และมั่นใจว่า “ชุมชนแม่เหาะ” จะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชุมชนที่ทุกคนต้องไปเยือนได้ในปีต่อ ๆ ไป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ