TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview‘เอสทีที จีดีซี ประเทศไทย’ รุกบริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล

‘เอสทีที จีดีซี ประเทศไทย’ รุกบริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล

เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ “เอสทีที จีดีซี ประเทศไทย” จากการร่วมทุนระหว่างบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด (เอสทีที จีดีซี) จากสิงคโปร์ รุกบริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลในประเทศไทย ประกาศแผนการลงทุน 16,000 ล้านบาท มาพร้อมนานามาตรฐานระดับบนรายแรกของประเทศ

ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ในอดีต บิ๊กเพลเยอร์ล้วนอยู่ต่างประเทศ ไม่เข้าไทยเพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ซัพพอร์ตดีพอในประเทศ รวมทั้งไม่มีดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลที่มาพร้อมโคโลเคชั่น ซึ่งบิ๊กบอยต้องใช้พื้นที่วางเซิร์ฟเวอร์ประมาณหลายร้อยตู้ ใช้ไฟฟ้าหลายเมกะวัตต์ต่อโครงการ และเอสทีที จีดีซี ประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลรองรับความต้องการนี้ได้ โดย STT Bangkok 1 ที่หัวหมาก 1 อาคารรองรับไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ ตามแผนสร้าง 2 อาคารใช้ไฟ 40 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนเกือบ 10,000 ล้านบาท

เปลี่ยนแลนด์สเคปประเทศ

“ที่ผ่านมา ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศต่างมีมาตรฐาน แต่ถ้าต้องการให้บิ๊กบอยมาอยู่ด้วย ต้องทำให้เสถียรสุด ๆ ต้องมีมาตรฐานสุด ๆ เราสามารถรับรองได้ว่าเราเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีมาตรฐานและใช้เทคโนโลยีที่นำสมัยมาประกอบ เพื่อให้ได้ไฟฟ้าที่เสถียร นำไปสู่ผลตอบรับที่ดีมาก จากเดิมในอดีตดาต้าเซ็นเตอร์ 1 เมกะวัตต์ทั่วไป ใช้เวลาขายกัน 1 ปี ของเราเฟสแรก 4 เมกะวัตต์เต็มแล้วใน 1 ปี”

แน่นอนว่า ก่อนก่อสร้างได้สำรวจความต้องการของตลาดแล้วว่า ได้ทั้งเวลา และเทรนด์ รวมทั้งวิสัยทัศน์ของบริษัทต้องการเป็น First Mover จึงเป็นไฮเปอร์สเกลรายแรก ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร “ตำแหน่งที่ตั้งของเราเปรียบเสมือนอนุสาวรีย์ชัยฯ ของวงการดาต้าเซ็นเตอร์” เป็นศูนย์กลางของดาต้าเซ็นเตอร์ต่าง ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งการตั้งในเมืองจะให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้า เป็นหัวหมากเพราะจะมีรถไฟฟ้าผ่าน ใกล้ทางด่วน เหมาะแก่การเดินทาง

“ผมกล้าพูดว่า เอสทีที จีดีซี ประเทศไทย เปลี่ยนแลนด์สเคปของประเทศ เทียบกับดาต้าเซ็นเตอร์อื่น ๆ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนตึกอาคารออฟฟิส ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ปัญหาความปลอดภัยควบคุมทั้งตึกไม่ได้ เราไม่รู้ได้ว่าชั้นอื่น ๆ ทำอะไร เราเป็นเจ้าเดียวที่เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งพื้นที่ ที่ดิน แคมปัส เราคอนโทรลได้หมด เพราะเป็นเจ้าของทั้งหมด ระบบความปลอดภัยเป็นที่หนึ่ง ลูกค้ามั่นใจได้ทั้งโลเคชั่น และซิเคียวริตี้ที่มีมาตรฐาน และสเกลไฟได้ ทำให้เกิดอีโคซิสเต็มส์มหาศาลในกรุงเทพฯ”

ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

จากภารกิจของบริษัท ภายในปี 2573 จะต้องลดปริมาณการผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นต์ให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยกำลังศึกษาเรื่องเทคโนโลยีที่จะอยู่ด้วยกันไปตลอดอายุ 30 ปีของดาต้าเซ็นเตอร์ และความพร้อมใช้งานในประเทศ การนำมาใช้ได้จริง มีซัพพลายเชนพร้อมไหม มีทักษะการบริหารจัดการเพียงพอหรือไม่ แง่มุมทางกฎหมาย แม้จะไม่ห้ามก็ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ซึ่งภารกิจของบริษัทจะใช้กรีน เอ็นเนอยี่ 100% เมื่อถึงวันนั้นจะเป็นการพลิกโฉมวงการดาต้าเซ็นเตอร์ และวงการพลังงานเป็นนิว เอส-เคิร์ฟที่จับต้องได้

“บริษัทมองธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์เป็นนิว เอส-เคิร์ฟ ที่จับต้องได้จริง และเป็นอนาคต ยกตัวอย่างอันดับแรก ในมุมของเศรษฐกิจของประเทศ พอเราเปิดตลาดนี้ เราไม่เคยมองว่า การมีคู่แข่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นสิ่งที่ดี ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม หลังจากเราสร้างตึกแรกเสร็จ ก็มีคู่แข่งเริ่มสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลในกรุงเทพฯ แล้ว ทำให้มีเงินเข้าประเทศอีกมาก หนุนด้านเศรษฐกิจประเทศ”

ในยุคเว็บ 3.0 ที่เกิด Blockchain, Tokenomics, Dataverse และ Digital Economy ขึ้น จำเป็นต้องใช้โคโลเคชั่น และไฟฟ้ามหาศาล ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นเมื่อ 5G ฝังอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ หรือเกิดรถยนต์ขับเคลื่อนเอง เมื่อถึงเวลานั้น การไฟฟ้าจะต้องมีเทคโนโลยีและมาตรการรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากนี้

นอกจากนี้ ไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล กลายเป็นลูกค้าพลังงานรายใหญ่ ผู้ให้บริการพลังงานต้องปรับตัวให้รองรับความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้เกิดเงินลงทุนในประเทศมหาศาล ซึ่งในมุมของนิว เอส-เคิร์ฟ ไม่ใช่เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว แต่กำลังสร้างตลาดใหม่เรื่องพลังงานด้วย จากเดิมความต้องการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างนิ่ง

ใช้เทคโนโลยีสร้างผู้เชี่ยวชาญ

ขณะเดียวกัน ด้านการจ้างคนต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ต้องจ้างคนที่มีมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้เน้นการจ้างคนจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ

“คนที่มาอยู่กับเราต้องมีความรู้และประสบการณ์ ในฐานะบริษัทที่ลงทุนมาก และมีเทคโนโลยีทันสมัย การหาคนมาทำงานด้วยไม่ยาก เมื่อรับเข้ามาแล้วเรายังฝึกอบรมเฉพาะด้านให้ด้วย เปรียบได้กับการศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งเรามีแผนปีหน้าจะทำเป็นสถาบันฝึกอบรม (Data Center Academy) เฉพาะทาง เป็นการอบรมในการทำงาน ใช้งานได้จริง ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทวินส์เป็นเจ้าแรกในวงการดาต้าเซ็นเตอร์มาช่วยอบรม ไม่ใช่ใช้แค่ห้องประชุมมาอบรม เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพ และไม่ห่วงว่าจะถูกดึงตัว”

ปกติบริษัทใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทวินส์อยู่แล้ว ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 15 ไร่ ที่จะมี 2 อาคาร ซึ่งอาคารแรกสร้างเสร็จขนาด 30,000 ตารางเมตร สูง 7 ชั้น ทำซิมูเลเตอร์ 3D ควบคุมเครื่องกล วิศวกรรม เสียง และผนวกกล้องวงจรปิด ฝังเอไอ ทำ Access Control ทำ Alert ได้

เติบโตไม่หยุด

วงการดาต้าเซ็นเตอร์ก่อนโควิด-19 มีอัตราเติบโต 14-16% ต่อปี หลังโควิด-19 เติบโตเพิ่มเป็น 24-26% ในส่วนของบริษัทซึ่งเพิ่งเปิดดำเนินการปี 2564 อัตราการเติบโตที่เริ่มจากศูนย์จึงไม่ขอนำมานับ 

ลูกค้าของบริษัทเป็นบริษัทต่างชาติเป็นสัดส่วนหลัก และส่วนหนึ่งเป็นการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์เครือเอสทีที จีดีซี ที่มีอยู่ทั่วโลก 170 แห่งในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นตลาดสำคัญทางธุรกิจนอกเหนือจากไทย เช่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร อินเดีย จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

บริษัทมั่นใจว่า ลูกค้าที่ใช้บริการเมื่อต้องการขยายเป็นมัลติเพิล ไซต์ ก็จะยังเลือกใช้บริการของบริษัท เพราะมาตรฐานต่างๆ ที่มีในระดับสูง และเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่งทั้งเครือทั่วโลก ตอบโจทย์ลูกค้าที่จะขยายเข้าประเทศใดก็ไม่ต้องสร้างความคุ้นเคยใหม่ ๆ

“เราได้รับรางวัลจากฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรที่ปรึกษาและงานวิจัยทางธุรกิจระดับโลก Competitive Strategy Leadership Awards และเป็น Company to Watch ตั้งแต่ปีแรกที่เปิดให้บริการจากจุดแข็ง 3 ด้าน คือ 1. การเชื่อมต่อที่เป็นกลาง เปิดกว้างการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทุกค่าย และทำเลที่ตั้ง 2. การออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์และระบบปฏิบัติการที่เป็นเลิศตามมาตรฐานระดับสากล และ 3. ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นบริการเช่าพื้นที่เพื่อติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ขององค์กร (rack colocation) ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่สำหรับผู้เช่าที่มีโซลูชั่นปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการทางธุรกิจ (single-tenant build-to-suit solutions) ซึ่งเหมาะสำหรับทั้งลูกค้าองค์กร และลูกค้าระดับไฮเปอร์สเกล”

นโยบายเชิงรุกดึงลูกค้า

แม้จะเตรียมพร้อมความสมบูรณ์ทุกด้านไว้รองรับความต้องการของลูกค้า ซึ่งนอกจากเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมา ทางบริษัท ฯ ไม่ละเลยในรายละเอียดเล็ก ๆ อย่างสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงพื้นที่ใช้สอยส่วนรวม เช่น Exclusive Customer Lounge และ Pantry ให้ลูกค้าโดยเฉพาะที่ดาต้าเซ็นเตอร์อื่นๆ ไม่มี 

บริษัทวางกลยุทธ์การดึงดูดลูกค้าทั้งแบบ Support Immediate Demand ดูงบประมาณลูกค้า และบริษัทสร้างความต้องการของลูกค้าขึ้นมาเอง โดยลูกค้าที่ยังไม่สนใจเข้ามาประเทศไทย ต้องออกไปดึงความสนใจเข้ามา พูดคุยถึงข้อดีของประเทศ นโยบายที่รองรับ ภาพรวมอุตสาหกรรม “บริษัทให้เวลากับทั้งคู่พอ ๆ กัน ไม่มีวันนั่งอยู่เฉย ๆ รอลูกค้าเข้ามาหา”

มาตรฐานระดับโลก

ดาต้าเซ็นเตอร์ของเอสทีที จีดีซี ประเทศไทย ได้มาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์จากทั้ง TIA-942 Certification Rated-3 และ Uptime Institute Tier III Certification ด้านการออกแบบและด้านการก่อสร้างจากสถาบัน The Telecommunications Industry Association (TIA) และ Uptime Institute ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก

ทั้งนี้ มาตรฐาน TIA-942 ครอบคลุมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรคมนาคม และองค์ประกอบสำคัญของดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น ทำเลที่ตั้ง การออกแบบสถาปัตยกรรม โครงสร้างอาคาร ระบบไฟฟ้า โครงสร้างระบบ ระบบป้องกันอัคคีภัย และความปลอดภัยทางกายภาพ เป็นต้น ส่วนมาตรฐาน Uptime Tier III รับรองว่า STT Bangkok 1 จะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ระหว่างการบำรุงรักษา หรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ ต่างเป็นมาตรฐานบังคับที่ไม่มีวันจะทำให้เกิดความผิดพลาดด้านไฟฟ้า

การเตรียมพร้อมเรื่องไฟฟ้า มีแหล่งจ่ายไฟอย่างน้อยจาก 2 สถานีย่อยของการไฟฟ้า หากมีปัญหายังมีเครื่องปั่นไฟที่อยู่ได้ 24 ชั่วโมง และยังมียูพีเอสไว้รับมือ ฉะนั้น โอกาสที่ไฟฟ้าจะหายไปทั้งหมดแทบจะเป็นไปไม่ได้ และในประเทศไทยไม่เคยมีใครลงทุนระดับนี้

ทั้งยังเป็นดาต้าเซ็นเตอร์รายเดียวในประเทศที่มีมาตรฐาน TVRA (Threat and Vulnerability Risk Assessment) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของการปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงสุด และยังได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยข้อมูลและการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วยมาตรฐาน ISO27001 และมาตรฐาน PCI-DSS (Payment Card Industry Data Security Standard)

มาตรฐานอาคารสีเขียว LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ระดับ Gold version 4 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลที่ใช้ประเมินอาคารด้านการประหยัดพลังงานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรฐานข้างต้นที่กล่าวมาล้วนตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการเก็บข้อมูล เพื่อปกป้องข้อมูลจากการรั่วไหลทุกรูปแบบ รองรับด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ