TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupความสำเร็จ สตาร์ตอัพไทย ฝ่าวิกฤติโควิด-19

ความสำเร็จ สตาร์ตอัพไทย ฝ่าวิกฤติโควิด-19

เรียกได้ว่าปี 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายในวงการสตาร์ตอัพไทย เต็มไปด้วยบททดสอบและอุปสรรคที่ยากลำบาก สืบเนื่องจากแพร่ระบาด Covid-19 ที่นำไปสู่การกักตัว การปิดประเทศ ตามมาด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้ธุรกิจหลายรายต้องปิดตัวลง

แต่ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่เสมอ ดังคำกล่าวที่ Winston Churchill เคยกล่าวไว้ว่า “อย่าให้วิกฤติใดผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์” สตาร์ตอัพไทยหลายรายไม่ยอมแพ้ สู้ไม่ถอย เร่งหาโอกาสใหม่เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤติ บางรายก็สามารถระดมทุนได้ท่ามกลางวิกฤติ Covid-19 นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับวงการสตาร์ตอัพไทย และนี่คือ เรื่องราวของเหล่านักสู้

FINNOMENA บริษัท Fintech ที่ให้บริการแพลตฟอร์มลงทุนและบริหารจัดการสินทรัพย์ มีเป้าหมายในการสร้างอิสระภาพทางการเงินให้กับคนไทย ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้และการลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นคลังความรู้ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ คำแนะนำจาก Financial Advisor รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถเลือกลงทุนได้ตามเป้าหมายทางการเงิน

ปัจจุบัน FINNOMENA มีผู้สมัครใช้งานแพลตฟอร์มแล้วกว่า 120,000 ราย และได้เติบโตต่อเนื่องในช่วง Covid-19 จนมียอดมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) พุ่งสูงถึง 10,000 ล้านบาท ขยายตลาดมายังกลุ่มคนทั่วไปที่มองหาทางเลือกการลงทุนใหม่ ๆ 

FINNOMENA มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์การลงทุนของคนไทย และตั้งเป้ายอดมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) 90,000 ล้านบาท ภายในปี 2023 เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทีม FINNOMENA สามารถพิชิตใจ Openspace และ Gobi Ventures นักลงทุนชื่อดังระดับภูมิภาคได้ ทั้ง 2 รายเป็น Lead investor ในรอบการระดมทุน Series B มูลค่า 13.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเมื่อต้นปี ร่วมกับผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ได้แก่ 500 TukTuks, Krungsri Finnovate และ BCH Ventures ที่ได้ลงทุนเพิ่มด้วยเช่นกัน

Freshket แพลตฟอร์มซื้อขายวัตถุดิบอาหารและของสด ที่ช่วยเชื่อมต่อซัพพลายเออร์และฟาร์มให้กับผู้ซื้อออนไลน์ ระดมทุนได้ 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในรอบ Series A จาก Openspace, ECG PE Firm, Innospace, Pamitra Wineka และ Ivan Sustiawan ผู้ร่วมก่อตั้ง TaniHub ซึ่งเป็น Agri-Tech Startup ในอินโดนีเซีย

ด้วยเงินลงทุนในรอบนี้ Freshket มุ่งพัฒนาสู่การเป็น enabler สำหรับ supply chain อุตสาหกรรมอาหาร ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี

เรื่องราวของ Freshket เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นพยายามและการต่อสู้แบบไม่ย่อท้อ คุณเบล พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ผู้ก่อตั้ง Freshket ได้กล่าวไว้ว่า ประสบการณ์ทำ Freshket เปรียบเสมือนการนั่งรถไฟ roller-coaster ในสวนสนุก มีทั้งขึ้น ทั้งลง มีความท้าทายถาโถมเข้ามาไม่หยุดยั้ง แต่ก็เป็นการเดินทางที่สวยงาม

“ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา Freshket ประสบปัญหาเงินหมด อีกทั้งลูกค้าหลักยังขอเลื่อนการชำระเงินออกไปอีก 2 เดือน เราไม่มีทางเลือกอะไรเลย ทีมผู้ก่อตั้งจำเป็นต้องใช้เงินส่วนตัวและกู้เงินเพื่อให้บริษัทอยู่รอดและไปต่อได้ อย่างน้อยก็พอให้มีเงินอยู่ถึงเดือนมีนาคม ทว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดไว้”

“เมื่อวันที่ 22 มีนาคม รัฐบาลประกาศปิด กทม. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด Covid-19 ทำให้ร้านอาหารต้องปิดตัวชั่วคราว ยอดการสั่งซื้อ Freshket กว่า 80% ถูกยกเลิก เพื่อรับมือกับปัญหาทางการเงิน เราตัดสินใจเปิดแพลตฟอร์มเป็นแบบ B2C ให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาสั่งได้ เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว แย่ไปกว่านั้น นักลงทุนรอบ Series A บางรายตัดสินใจไม่ลงทุนเพราะสถานการณ์ Covid-19 แม้จะเจออุปสรรคมากมาย แต่สุดท้ายแล้วความพยายามของเราก็เห็นผล ลุยต่อจนสามารถระดมทุน Series A จาก Openspace และนักลงทุนรายอื่นได้สำเร็จ”

HungryHub แพลตฟอร์มรวบรวมดีลร้านอาหาร เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการปรับตัว pivot อย่างรวดเร็วในยามวิกฤต ดังเช่นหลาย ๆ ธุรกิจ HungryHub ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก Covid-19 ที่ทำให้ธุรกิจจองร้านอาหารต้องหยุดชะงัก รายได้ลดลงอย่างฉับพลัน

ทีมงาน HungryHub สามารถวางแผนและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ HungryHub เปิดให้บริการ HungryHub@home ซึ่งเป็น food delivery ส่งอาหารถึงบ้าน เกิดเป็นช่องทางรายได้ใหม่ และยังสามารถช่วยร้านอาหารที่ต้องปิดชั่วคราวสามารถสร้างรายได้

จุดต่างของบริการนี้ คือ พันธมิตรทางธุรกิจซึ่งเป็นร้านอาหารชื่อดังมากมาย และเซ็ทเมนูราคาพิเศษที่ออกแบบร่วมกัน การจัดเมนูสั่งอาหารแบบเซ็ท ทำให้ยอดขายต่อออเดอร์ Average Order Value (AOV) มีมูลค่าสูงกว่าตลาด 3-5 เท่า

นอกจากนี้ยังช่วยให้ร้านอาหารสามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าทั่วไป เพราะลูกค้าต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชั่วโมง จุดนี้ช่วยให้ร้านอาหารที่ไม่เคยขายออนไลน์มาก่อนสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง HungryHub ยังคิดค่าบริการเป็นคอมมิชชั่นเพียง 14%-20% ของยอดขายซึ่งต่ำกว่าผู้เล่น food delivery รายอื่นค่อนข้างมาก

ในแง่ของการระดมทุน HungryHub ได้รับเงินลงทุนรอบ Pre-Series A จากกองทุน Private Equity ในไทย ช่วยให้ขยายธุรกิจไปได้มากยิ่งขึ้นและเป็นสัญญาณที่ดีต่อการเติบโตของบริษัท 

ChomCHOB ก่อตั้งในปี 2015 เป็นแอปพลิเคชั่นรวบรวมแต้มจากบัตรเครดิตและบัตรสะสมคะแนนที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสะสม รวบรวม และแลกเปลี่ยนคะแนนมาเป็น ChomCHOB point ได้ เพื่อแลกของรางวัลต่าง ๆ มากมาย ทั้งสินค้าและบริการจาก partner ชั้นนำ หรือ หน่วยลงทุน

ด้วยขนาดตลาดและความเป็นไปได้ในการต่อยอดอีกหลากหลาย ทำให้ ChomCHOB สามารถระดมทุนได้ 50 ล้านบาทในรอบ Series A โดยมี Invent เป็น lead investor และมี 500 TukTuks, SIX networks และนักลงทุนรายอื่นร่วมลงทุนด้วย

นักลงทุนเล็งเห็นถึงศักยภาพของ ChomCHOB และโอกาสเติบโตในอนาคตจากการที่ ChomCHOB เข้ามาแก้ปัญหาใน ecosystem ของการทำโปรโมชั่นสะสมคะแนน เปลี่ยนให้การแลกคะแนนเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกมากขึ้นสำหรับลูกค้าและกลุ่มบริษัทต่าง ๆ

เช่นเดียวกับสตาร์ทอัพหลายราย ChomCHOB เองก็ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ด้วยเช่นกัน “ในช่วง lockdown ที่ผ่านมา ผู้คนหันมาซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้ตลาด points exchange ยิ่งขยายตัวมากขึ้น เกิดเป็นโอกาสใหม่สำหรับ ChomCHOB” กล่าว นท ชุติโสวรรณ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง ChomCHOB บริษัทเติบโตมากขึ้น 3-5x เท่าในช่วง Covid-19

ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 3 ล้านรายและมี 500,000 ร้านค้าที่เป็น partner ในอนาคต ChomCHOB วางแผนเพิ่มจำนวนร้านค้า partner มากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม lifestyle ที่หลากหลายของผู้ใช้ และมีแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ

อีกหนึ่งสตาร์ทอัพไทยที่น่าจับตามอง ก็คือ Ricult แพลตฟอร์ม Agri-Tech ที่ใช้เทคโนโลยี Machine Learning วิเคราะห์ข้อมูลการเกษตร ช่วยเกษตรกรบริหารจัดการฟาร์ม เพิ่มผลผลิต ขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพิ่มรายได้

ปีนี้ Ricult สามารถระดมทุนได้ 2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐนำโดย Bualuang Ventures และ Krungsri Finnovate

นอกจากการช่วยเหลือเกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยีแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังช่วยให้ธนาคารสามารถสนับสนุนเกษตรกรได้โดยการทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ข้อมูลจากแพลตฟอร์มจะช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินความเสี่ยงประกอบการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อได้

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ใช้งาน Ricult กว่า 300,000 ราย โดยมีเป้าหมายเข้าถึงเกษตรกร 4 ล้านรายภายใน 3 ปี

เราเชื่อว่าทุกวิฤตสามารถพลิกเป็นโอกาสได้ ดังเช่นที่ Airbnb และ Uber ถูกก่อตั้งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและก้าวข้ามวิกฤตมาได้ ในอนาคตเราหวังว่าจะได้เห็นสตาร์ทอัพไทยอีกหลายรายที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เอาชนะอุปสรรคและวิกฤตได้เช่นเดียวกันกับสตาร์ทอัพเหล่านี้ ผนึกกำลังร่วมกันสร้างความภาคภูมิใจให้คนไทย!

ติดตามข่าวสาร 500 TukTuks ได้ทาง https://thailand.500.co/ และ https://www.facebook.com/500tuktuks

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ