TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกTechnology'ไอออนิกซิลเวอร์' นวัตกรรมนาโนเทค สู่สารฆ่าเชื้อทนร้อน ทนแสง

‘ไอออนิกซิลเวอร์’ นวัตกรรมนาโนเทค สู่สารฆ่าเชื้อทนร้อน ทนแสง

นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนา “ไอออนิกซิลเวอร์” ทนความร้อนและแสง ลดข้อจำกัดเดิมที่มี เพิ่มโอกาสประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายขึ้น สามารถต่อยอดสู่สารฆ่าเชื้อทั่วไป หรือสารฆ่าเชื้อเฉพาะทาง อาทิ ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์สารเคลือบต่างๆบนพื้นผิว สารนำไฟฟ้า ลดการนำเข้า เพิ่มขีดความสามารถเพื่อแข่งขันในตลาดโลก ด้วยนวัตกรรมไทย ตอบโมเดลเศรษฐกิจ BCG

โลหะต่าง ๆ เช่น เงิน (silver) ทองแดง (copper) และสังกะสี (zinc) มีคุณสมบัติในการต้านจุลชีพที่ดี (Anti-Microbial) โดยเฉพาะซิลเวอร์ไอออน (Silver ion; Ag+) ที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ โดยซิลเวอร์ไอออนจะทำให้เอนไซม์ต่าง ๆ เสียสภาพด้วยการเข้าจับและทำให้ตกตะกอน นอกจากนี้ ยังสามารถฆ่าแบคทีเรียด้วยกลไกการยับยั้งโปรตีนบนเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้เซลล์ตาย ในขณะเดียวกัน เมื่อซิลเวอร์ไอออนเข้าไปในดีเอ็นเอ (DNA) ของแบคทีเรียจะส่งผลให้ดีเอ็นเอเสียสภาพจากภายใน ทำให้เซลล์ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ โดยโลหะเงินจึงถือได้ว่าเป็นโลหะที่มีความปลอดภัย เนื่องจากเงินในสถานะโลหะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์เพียงเล็กน้อย โลหะเงินถูกนำไปใช้เป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและฟันเทียมอย่างแพร่หลาย

ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

ดร. วรายุทธ สะโจมแสง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า ทีมได้พัฒนาองค์ประกอบสำหรับการเตรียมสารประกอบซิลเวอร์ไอออน ในรูปสารละลายใสที่สามารถคงตัวได้ในสภาวะที่มีแสงและความร้อน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาของเกลือซิลเวอร์และอนุภาคนาโนซิลเวอร์ในปัจจุบัน ที่สารตั้งต้นของซิลเวอร์มักมาจากเกลือที่ละลายน้ำของซิลเวอร์ไนเตรต (silver nitrate) เมื่อละลายน้ำแล้วซิลเวอร์จะอยู่ในรูปของไอออนบวก มีลักษณะใส ไม่มีสี แต่ซิลเวอร์ที่อยู่ในรูปแบบไอออนบวกที่เหมาะกับการใช้เป็นสารฆ่าเชื้อนั้นมีอายุการเก็บรักษาต่ำและไม่เสถียร จึงต้องมีการเติมสารเพื่อรักษาเสถียรสภาพของซิลเวอร์ไอออนบวกนี้ไว้ โดยมุ่งหวังให้ได้สารประกอบที่ยังคงมีลักษณะใสอยู่

อย่างไรก็ตามสารประกอบของซิลเวอร์สามารถทำปฏิกิริยากับอากาศ แสงและความร้อน ทำให้ซิลเวอร์ไม่ละลายน้ำและเกิดเป็นตะกอนสีดำของซิลเวอร์ออกไซด์ (silver oxide) ดังนั้น เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์ซิลเวอร์ไอออนบวกหรืออนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่วางขายในปัจจุบันจะต้องถูกบรรจุขายในภาชนะสีเข้มและทึบแสง นอกจากนี้ ซิลเวอร์ไอออนบวกยังมีความว่องไวต่อการเกิดปฏิกิริยากับหมู่ฟังก์ชันที่เป็นตัวให้อิเล็กตรอนซึ่งอาจลดฤทธิ์ต้านจุลชีพได้

“กระบวนการที่นักวิจัยนาโนเทคพัฒนาขึ้นนั้น นอกจากจะทำให้สามารถเตรียมสารประกอบซิลเวอร์ไอออนในรูปสารละลายใสที่สามารถคงตัวได้ในสภาวะที่มีแสงและความร้อน ยังมีเสถียรภาพที่ดี สามารถเก็บรักษาในภาชนะโปร่งแสงได้ โดยมีการคงสภาพเป็นสารละลายสีใสเป็นระยะเวลานานมากว่า 2 ปี และไม่พบการรวมตัวและตกตะกอน สามารถนำสารละลายมาทำให้แห้งและเก็บในรูปแบบผง และนำกลับมาละลายน้ำได้ โดยไม่เกิดปัญหาการรวมตัวกันของอนุภาค ด้วยเทคโนโลยีคีเลชัน โดยใช้สารคีเลติ้งเอเจนต์ (chelating agent) หรือสารอินทรีย์ธรรมชาติที่มีความจำเพาะต่อซิลเวอร์ไอออนด้วยพันธะทางเคมีในรูปของสารประกอบเชิงซ้อนหรือสารคีเลต” ดร. วรายุทธ อธิบาย

เทคโนโลยีคีเลชันของซิลเวอร์ ซึ่งเป็นการใช้สารคีเลติ้งเอเจนต์ธรรมชาติ (natural chelating agent) ด้วยพันธะทางเคมีในรูปของสารประกอบเชิงซ้อนหรือสารคีเลตที่มีซิลเวอร์ไอออนถูกจับอยู่ในโมเลกุล ไม่เปิดโอกาสให้ประจุลบหรือสารอินทรีย์จากที่อื่นเข้าทำปฏิกิริยาจึงทำให้ไม่เกิดการตกตะกอน ซึ่งมีผลดีขึ้นจากเกลือซิลเวอร์เดิม คือ ทนทานต่อแสงโดยไม่เกิดการเปลี่ยนสีของสารละลาย ไม่เกิดการตกตะกอนหรือเกิดเป็นตะกอนสีดำ ทำให้บรรจุภัณฑ์ของสารละลายซิลเวอร์เป็นภาชนะโปร่งแสงได้, ทนทานต่ออากาศโดยไม่เกิดการเปลี่ยนสีของสารละลาย ไม่เกิดการตกตะกอนหรือเกิดเป็นตะกอนสีดำ ทำให้การใช้งานของสารละลายซิลเวอร์ในการเคลือบพื้นผิวได้กว้างขวางขึ้น สามารถสัมผัสกับอากาศได้ เช่น เมื่อพ่นสารละลายซิลเวอร์ลงบนพื้นผิวต่างๆจะไม่เกิดตะกอนดำของซิลเวอร์ออกไซด์, ทนทานต่อความร้อน โดยไม่เกิดการเปลี่ยนสีของสารละลาย ไม่เกิดการตกตะกอนหรือเกิดเป็นตะกอนสีดำ ทำให้การใช้งานของสารละลายซิลเวอร์ได้กว้างขวางขึ้นในการขึ้นรูปร่วมกับพลาสติก พอลิเมอร์ หรือส่วนที่เป็นบรรจุภัณฑ์ หรือในส่วนของเส้นใยต่างๆที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง

นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้อยู่ในรูปของผงแห้งได้โดยทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (freeze dry) หรือการทำแห้งแบบพ่นฝอย (spray dry) ที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง และสามารถนำกลับมาละลายน้ำเป็นสารประกอบซิลเวอร์ไอออนในรูปสารละลายใส โดยไม่ต้องเติมสารป้องกันการรวมตัวกันของอนุภาคซิลเวอร์ทำให้การใช้งานของซิลเวอร์ในรูปผงแห้งได้กว้างขวางขึ้น รวมถึงเป็นสารที่อยู่ในรูปสารละลายใสไม่มีสี สามารถประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องการสีจากซิลเวอร์นาโน

“นวัตกรรมสารประกอบคีเลตเทตซิลเวอร์ (chelated silver compound) ตามงานวิจัยนี้ ถูกออกแบบให้ไม่เป็นอันตราย (Design less hazardous chemical synthesis) ตามหลักการของ Green chemistry ซึ่งขั้นตอนการสังเคราะห์ง่ายไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ที่อุณหภูมิห้อง เกิดปฏิกิริยาเร็ว ซึ่งประกอบไปด้วยเกลือซิลเวอร์ สารคีเลติ้งเอเจนต์ธรรมชาติ และตัวทำละลายเป็นน้ำ สามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเตรียมความเข้มข้นของสารละลายซิลเวอร์ได้สูงมากว่า 10,000 ppm มีรูปทรงเป็นทรงกลม และสามารถต่อยอดนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆหรือเป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ได้ เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อบนพื้นผิวของวัสดุต่างๆ ดังเช่น เครื่องมือแพทย์ ผ้าปิดแผลหรือวัสดุฝังในร่างกาย ฐานฟันเทียม เส้นใยต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ หมึกนำไฟฟ้า เป็นต้น เป็นทางเลือกใหม่ ที่สามารถเทียบเคียง ทดแทนสารฆ่าเชื้อกลุ่มซิลเวอร์ไอออนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาที่แข่งขันได้ สร้างโอกาสให้กับธุรกิจไทย ตอบโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงเสริมความเข้มแข็งทางด้าน วทน. ของไทยอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นักวิจัยนาโนเทคกล่าว

“ไอออนิกซิลเวอร์ที่ทนความร้อนและแสงในรูปสารละลายใสไม่มีสีและผงแห้ง” ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เรื่อง องค์ประกอบสำหรับการเตรียมสารประกอบซิลเวอร์ไอออนในรูปสารละลายใสที่สามารถคงตัวได้ในสภาวะที่มีแสงและความร้อน และกรรมวิธีการเตรียมสารประกอบซิลเวอร์ไอออนในรูปสารละลายใสดังกล่าวแล้ว และพร้อมสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งบริษัทเอกชน และบริษัทสตาร์ตอัพที่ผลิตสารฆ่าเชื้อทั่วไปหรือทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์สารเคลือบต่าง ๆ บนพื้นผิว สารนำไฟฟ้า เป็นต้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

FCN และ ELN Plus ผลิตภัณฑ์ทางเลือกแสวงหาผลตอบแทนช่วงตลาดไร้ปัจจัยหนุน

เอ็มเทค ให้บริการฐานข้อมูลค่ากลางคาร์บอน หนุนอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ปลดล็อก CBAM

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ