TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview"แฟร์-ฟีม"...โค้ดดิ้ง เปลี่ยนพื้นฐานความคิดและชีวิต

“แฟร์-ฟีม”…โค้ดดิ้ง เปลี่ยนพื้นฐานความคิดและชีวิต

โค้ดดิ้ง คือ ทักษะแห่งปัจจุบัน ที่หลายประเทศให้ความสำคัญและเริ่มปลูกฝังการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เพราะโค้ดดิ้งไม่เพียงสำคัญแค่การโปรแกรมมิ่งบางสิ่งบางอย่าง แต่โค้ดดิ้งคือพื้นฐานของการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยไปจนถึงปัญหาที่มีความซับซ้อนมาก

บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเขียนโค้ด หนึ่งในนั้นคือ Apple ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดฝึกเขียนโค้ดบน Swift Playgrounds ได้ฟรี และให้ทุนการศึกษา WWDC Scholarships แก่เด็กนักเรียน/นักศึกษาที่ชนะการประกวดไปร่วมงาน WWDC งานรวมนักพัฒนาของ Apple จากทั่วโลกที่จัดขึ้นทุกปี

ที่ผ่านมามีนักศึกษาไทย 2 คนที่ชนะการประกวดการเขียนโค้ดและได้รับทุนร่วมงาน WWDC คนแรก คือ กีรติจุฑา ภูมิจิตร (แฟร์) นักพัฒนาแอพ U Spark แอปฯ ที่ช่วยจัดการข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ระบบลงทะเบียน และตารางสอนของมหาวิทยาลัย เป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้รับทุนร่วมงาน WWDC 2015 ปัจจุบันแฟร์เป็นผู้ก่อตั้งและเป็น Technical Lead ให้แก่บริษัท Genxas Whiz และสอนการเขียนโปรแกรมที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

คนต่อมา คือ พัชรพล จอกสมุทร (ฟีม) ผู้พัฒนา Algo Maze ซึ่งเป็นเกมที่ฝึกพื้นฐานการเขียนโปรแกรม เป็นนักเรียนที่ได้รับทุนร่วมงาน WWDC 2019 ปัจจุบันฟีมเป็นนักพัฒนาแอพ iOS อยู่ที่บริษัท DataWow

แฟร์ กล่าวว่า การได้ไปร่วมงาน WWDC ปี 2015 นับเป็นประสบการณ์ดีสำหรับตนเองที่ขณะนั้นเรียนอยู่ปี 3 หลังจากลับจากงาน WWDC ได้รับโอกาสเยอะมาก จากทั้งมหาวิทยาลัยเสนอทุนปริญญาโทที่เอแบค เสนอให้เป็นอาจารย์ประจำที่เอแบคทั้ง ๆ ที่ยังไม่จบปริญญาโท

“ไปที่นั่น มี session เยอะมาก WWDC คือ งานที่นักพัฒนาซื้อตั๋วเข้างาน ที่ส่วนมากอยากจะไปเจอนักพัฒนาคนอื่น ๆ อยากได้ connection อยากไป hand on ตัวผลิตภัณฑ์ ถ้าติดปัญหาอะไรก็สามารถสอบถาม egineer ได้โดยตรงเลย ซึ่งผมก็ได้ประสบการณ์กลับมามาก”

ก่อนไปร่วมงาน WWDC 2015 แฟร์ทำแอปพลิเคชั่นให้กับมหาวิทยลัยเอแบค ชื่อแอปฯ U Spark เป็นแอปฯ เพื่อพัฒนา student experience ในมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์นักศึกษาในมุมมองขอการลงทะเบียน เพื่อไม่ให้ระบบมันล่ม

“เราไม่ได้ทำระบบใหม่ แต่เราเปลี่ยนกระบวนการลงทะเบียนของนักศึกษา”

ปัจจุบันแฟร์ทำงานที่เอแบค ซึ่งมี time management ที่ยืดหยุ่น เพราะไม่ได้สอนทุกวัน เวลาที่เหลือที่ไม่ได้สอน แฟร์จะไปโฟกัสที่งานบริษัท Genxas Whiz ซึ่งพัฒนา U Spark และจะนำแอปฯ นี้ไปพัฒนาต่อและขายให้มหาวิทยาลัยอื่น มหาวิทยาลัยที่นำระบบไปใช้แล้วและกำลังจะใช้ระบบ อาทิ มหาวิทยาลัยธูรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดลหลักสูตรอินเตอร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้มีงานที่ทาง Apple ให้โอกาสไปสอน เผยแพร่ Swift Development ที่ผ่านมาเคยไปที่โรงเรียนตามจังหวัดต่าง ๆ อาทิ ที่เชียงใหม่ และที่สุพรรณบุรี และมีงานของโรงเรียนประสาทวิทยา ที่อยากเตรียมความพร้อมอาจารย์ของโรงเรียน เพื่อให้สอนตามหลักสูตรของ Swift เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย หลายโรงเรียนเคลื่อนไหวเร็วและเตรียมความพร้อมให้ครูได้มีประสบการณ์ในการสอนเต็มที่

“บริษัทที่ทำ ผมไม่ได้ลงมือเขียนโค้ดเอง แต่จะวางแผนงานและตรวจโค้ดของน้อง ๆ” แฟร์กล่าว

ส่วนฟีมนั้นได้ทุน WWDC ปี 2019 ตอนนเรียนอยู่ปี ฟีม กล่าวว่า moment ที่ได้ไป มันเป็นความรู้สึกที่ว่าทุกคนที่อยู่ที่นั่นคือคนที่มีความตื่นเต้นและมี passion ต่อเทคโนโลยี คนหลากหลายบริษัทที่มาร่วมงาน

“เราไปในฐานะนักเรียนทุน ทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแชร์ประสบการณ์กับนักพัฒนาคนอื่น ๆ และกับนักเรียนทุนด้วยกันเอง ทำให้เราได้เปิดมุมมองและเติมไฟให้ตัวเอง หลังจากได้ทุนมา คิดว่ามีส่วนสำคัญในการให้ได้งาน”​

ตอนนี้ฟีมเป็นนักพัฒนาแอปฯ ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง และจัดค่ายสอนการเขียนโค้ดให้นักเรียนม.ปลาย และการเทรนน้อง ๆ ปี 1 ซึ่งสอนทั้งการเขียนโค้ดและเขียนแอปฯ​ สำหรับ iOS โดยเฉพาะด้วย

“บริษัทกล้าเอาโปรเจคใหญ่และเป็นโปรเจคหลักของบริษัทให้เราดูแล ทั้งที่เราเพิ่งจบมา เป็นงานที่ค่อนข้างยากพอสมควร คิดว่าถ้าเราไม่ได้มีประสบการณ์ก่อนหน้านี้ ไม่ได้รับการ recognize จาก Apple และไม่ได้ไป WWDC คงไม่ได้รับความไว้วางใจแบบนี้ ทั้งหมดมันโชว์ว่าเรามี passion และอยากที่จะโยนตัวเองเข้ามาในโลกของการเขียนแอปฯ​ อย่างเต็มที่ ทำให้เราได้ทำอะไรที่สนุก ๆ ค่อนข้างเยอะ”

โค้ดดิ้ง … เริ่มต้นอย่างไร 

แม้ว่าการสอนโค้ดดิ้งจะมีมา 5-6 ปีที่แล้ว และบางโรงเรียนมีการวางหลักสูตรเกี่ยวกับโปรแกรมมิ่ง สอนนักเรียนเขียนโค้ด มีค่ายสวน. ค่ายโอลิมปิก (สอวน. หรือมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ค่ายนี้เป็นเสมือนประตูสู่การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ) ที่แข่งขันการเขียนโค้ด พอมีหลักสูตรวิทยาการคำนวณที่เพิ่งมา 1-2 ปีที่แล้ว ทำให้ครูที่สอนไม่เพียงพอต่อนักเรียน

แฟร์ กล่าวว่า คนที่ควรจะปรับมากที่สุด คือ คุณครู/อาจารย์ เพื่อกระจายความรู้/สอนให้นักเรียนได้ พวกสื่อ คอนเทนต์ ต่าง ๆ อาทิ หลักสูตร “ใคร ๆ ก็เขียนโค้ดได้” และ “พัฒนาใน Swift” ของ Apple มีการจัดเรียงเนื้อหามาเป็นแบบ active learning classroom คือ มีการตกลงกันก่อนเริ่มเรียนว่าจะศึกษา/เรียนรู้อะไร เพื่อให้นักเรียนเข้าใจบริบทของห้องเรียนวันนั้นก่อนเริ่มเรียนจริง

และจะมี work sheet ที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองได้ และมีความกระตือรือร้นตลอดการเรียน เด็กทุกคนสามารถทำเองได้ คนที่เรียนอ่อนกว่าก็อาจจะไปช้ากว่าคนที่เรียนเก่งกว่า แต่ไปด้วยกันทุกคน พัฒนาเด็กทุกคนได้ทั่วถึงและ มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจารย์/คุณครู จะได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ถูกคาแรคเตอร์ของเด็กคนนั้น

หลักสูตรการสอนเขียนโค้ดในอดีต คือ การสอนเพื่อเช็คบ็อกซ์ หลายคนที่เข้ามาเรียนไม่ได้มาเพราะอยากจะมาเรียนเขียนโค้ด

“ส่วนมากเด็กจะมีเป้าหมายในการเข้ามาเรียนเขียนโค้ด อาทิ เล่นเกมเยอะก็อยากเขียนเกม อยากเขียน Facebook เขามีเป้าหมายหรือสิ่งที่เขาวิ่งตามหาอยู่ แต่เวลาคุณครูสอนเขียนโค้ดในโรงเรียน เขาสอนเพื่อเช็คบ็อกซ์ เขียนโค้ดตามคำสั่ง น้องมองไม่เห็นว่าปลายทางของการเขียนโค้ดนั้นคืออะไร มันจึงไม่สนุกไม่ตื่นเต้น แต่เป็นการเรียนเพื่อให้ได้เกรด”

ค่ายการเขียนโค้ดจะสอนให้น้องตั้งเป้าหมายว่าจบค่ายนี้จะได้แอปฯ ทุกขั้นตอนที่น้องพัฒนาสิ่งมี่อยู่ในหัวออกมาเป็นของจริงที่จับต้องได้ น้องเขารู้สึกตื่นเต้นมาก รู้เขามีพลัง ตรงนี้ คือ หัวใจสำคัญของการสอนโปรแกรมมิ่ง

“ถ้าเราไม่สามารถที่จะสื่อสารให้น้อง ๆ ตื่นเต้นกับปลายทางของการเรียนรู้ได้ เส้นทางตรงกลางน้องเขาไม่อยากจะเดินมา เชื่อว่าเด็กไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติอื่น แต่ด้วยรูปแบบของการสอนและรูปแบบของเนื้อหาการเรียนรู้ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กเหล่านั้นได้โชว์ศักยภาพออกมา ถ้าเราอยากให้โค้ดดิ้งมีบทบาทมากขึ้น จะต้องพึ่งพาคุณครู และรูปแบบการสอนที่ต้องเปลี่ยนให้เป็นทันสมัยขึ้น”

ทำไมถึงสนใจโค้ดดิ้ง

ฟีมได้มีโอกาสไปแข่งโอลิมปิควิชาการ ได้จุดประกายให้เขารู้สึกว่าสนุก พอ ม.ปลายฟีมก็เริ่มหาข้อมูลว่าการเขียนโค้ดเป็นสายงานที่ดีได้ไหม พอเข้ามหาวิทยาลัยแม้ยังไม่แน่ใจในความเรื่องการเขียนแอปฯ กอปรกับที่คณะฯ ไม่มีสอน ฟีมจึงใช้เวลาว่างศึกษาเอง

“ตอนปี 2 ส่งอีเมลขอไปฝึกงานที่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ พอได้ทำงานพัฒนาสินค้าจริง รู้สึกตื่นเต้นและสนุก คิดว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงได้ จึงกลับมาจัดค่ายการเรียนเขียนโค้ดเพื่อแชร์ประสบการณ์นี้ให้น้อง ๆ ซึ่งโชคดีที่บนออนไลน์และที่ Apple เองมีทรัพยากรให้เราได้เรียนรู้ค้นคว้าเองมาก ๆ”

แฟร์ กล่าวว่า ตอนม.ปลายยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถ้าไม่ได้เจอเครื่องแมค ตอนม.6 พ่อซื้อ iMac ให้ตอนนี้เป็นเทรนด์ที่ iPad กำลังมาแรง ที่บ้านซื้อมาเครื่องหนึ่ง เห็นว่าใน App Store มีแอปฯ เยอะมาก (ซึ่งน้อยกว่าปัจจุบันมาก) รู้สึกว่าตัวเองมี passion กับสินค้า Apple อยู่แล้ว ชอบตรง เรียบหรู สะอาด

“ตอนนั้นไม่มีใครสอนเขียนโค้ด ตัวเองชื่นชอบการเขียนแอปฯ iPad รู้สึก spark มาตอนที่แอปฯ เข้าไปรันในเครื่อง iPad ได้จริง ๆ มันดูเจ๋งมาก”

พอมาเรียนที่ ABAC ด้วยทุนการศึกษา ตอนเขียนแอปฯ เขียนด้วย Objetive C แต่วิชาแรกที่เรียนเขียนโค้ด เขียนด้วยจาวา ตัว core logic และ control structure ยังเหมือนเดิม ยิ่งทำให้รู้สึกชื่นชอบการเขียนโค้ด และพัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ

“จนมาถึงจุดนึงที่เจออาจารย์ท่านหนึ่งที่เอแบค ที่เห็นแอปฯ ที่เขียนใน iPad ถามว่า อยากทำอะไรที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเขียนแอปฯ เมนูอาหารใน iPad ไหม ผมก็เรียนรู้มากขึ้น และเก็บเกี่ยวความรู้ ศึกษาด้วยต้นเองมาตลอด กว่าจะได้มาเรียนก iOS Development ที่มหาวิทยาลัย”

ทุน WWDC Scholarships

แฟร์ เล่าว่า โปรแกรมตอนปี 2015 เขียนด้วย Objective C ยังไม่มี Swift Playgroud ตอนนั้นเขาให้ส่งเรซูเม่เป็นแอปฯ ซึ่งยากมาก เพราะต้องทำให้เรซูเม่ให้น่าสนใจ ทำแอปฯ ซ้อนแอปฯ

การได้ไปร่วมงาน WWDC 2015 เป็นการเปิดโลก รู้สึกว่าอยู่เฉย ไม่ได้ ต้องพัฒนาตัวเองตลอด

การได้ไปร่วมงาน WWDC 2015 ทำให้มีโอกาสเข้ามาหลายช่องทางมาก ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ทิม คุก” 2 ครั้งในชีวิต ช่วง Scholarship Oreintation และช่วงที่มาเยือนไทยเมื่อปี 2019

“เป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้บอกขอบคุณว่า Apple เปลี่ยนชีวิตเรายังไง ได้โชว์ผลงานเขาว่า หลังจากรู้จัก Apple มา เราพัฒนาแอปฯ อะไร และเราได้ช่วยเหลือคนอื่นยังไง เราพัฒนาแอปฯ เพื่อทำให้ student experience ก้าวหน้าอย่างไร เป็นโอกาสที่เงินซื้อไม่ได้จริง ๆ” แฟร์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ฟีมบอกว่า ในปีหลัง ๆ โจทย์ที่ Apple เขาสร้างให้คือ ไม่ได้สร้างแอปฯที่สมบูรณ์ แต่ให้สร้างเป็น experience อะไรก็ได้ที่สามารถประสบการณ์ได้ใน 3 นาที ซึ่งเป็นความหมายโดยนัยว่าควรจะเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของ Apple

“ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมเกี่ยวข้องกับงานค่ายสอนเขียนโค้ด รู้สึกว่าการเริ่มต้นของการเขียนโค้ดหรือการฝึกอัลกอริธึมไม่ควรจะยากขนาดนั้น เลยทำเกมเหมือนเกมเขาวงกต มีทั้งศัตรู กับดัก มีของให้เก็บ ต้องโปรแกรมตัวเดินล่วงหน้าว่าจะให้ทำอะไรเพื่อที่จะให้หลบอุปสรรคต่าง ๆ ไปเก็บของ เก็บกุญแจ เพื่อที่จะออกได้ ค่อนข้าง simple”

การได้ไปร่วมงาน WWDC 2019 เป็นการเปิดโลก การได้พูดคุย ได้เห็นนักพัฒนา นักเรียนทุน WWDC เห็นว่าทุกคนมีไฟมาก เห็น passion เห็นไอเดีย เห็นเครื่องมือต่าง ๆ ที่ Apple มีให้ใช้ ซึ่งหลายอย่างไม่รู้จักจนได้ไปคุยกับ engineer ที่นั่น

“พอกลับมาก็รู้ว่ามีอีกหลายอย่างมากที่เรายังไม่รู้ พอเราเห็นว่าคนอื่นเขาทำอะไรได้ มันก็มีแรงผลักดันว่าเราอก็อยากจะทำได้แบบเขาบ้าง อยากจะพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า”

Passion สู่ Mission

แฟร์มีแผนอยากทำในช่วง 2-3 ปีนี้ คือ จัด Swift Camp ที่รวมทุกมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมศึกษาในไทย อยากจัด Swift หรือ iOS Development Champion เพื่อให้เด็กไทยทั่วประเทศเข้ามาโชว์ศัยกภาพ คนได้รางวัลจะได้ไปร่วมงาน ในระดับ Global Level ซึ่งมี WWDC Challenge รองรับ

อยากทำให้เด็กไทยมีโอกาสเข้าถึงตัว Swift Development กับ iOS Development ได้กว้างขวางและมากขึ้น

ส่วนฟีมแม้อยากมีส่วนในเรื่องการศึกษา แต่อยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานจริงก่อนค่อยกลับไปเข้าวงการการสอน เพราะเขามองว่านักพัฒนาที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่แค่ความรู้ในการเขียนโค้ดอย่างเดียว แต่ยังมีทักษะหลายอย่างที่ทำให้สินค้าตัวหนึ่งออกมาได้ อยากเรียนรู้ตรงนี้ให้เข้าใจก่อนที่จะเอาความรู้ตรงนี้ไปสื่อสารกับน้อง ๆ ได้

แฟร์ กล่าวว่า ถ้าในอนาคตต้อง social distancing ตัวเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการใช้ชีวิตของผู้คน เรื่องเทคโนโลยีมันง่ายแต่ความยากคือการให้ผู้คนสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โควิดทำให้คนทั้งประเทศได้เรียนรู้ศึกษาเทคโนโลยี

ฟีม อยากให้ทุกคนมีความใส่ใจในการเรียนรู้เอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

ความสวยงามของโค้ดดิ้ง

แฟร์ กล่าวว่า การที่ได้ก้าวเข้ามาลิ้มรสการเขียนโปรแกรม ไม่ใช่แค่ต้องจำว่าซินแทรคเขียนยังไง แต่ละโจทย์ต้องเขียนรูปแบบไหน หลังจากที่ได้เรียนรู้

การเขียนเรียนโค้ดดิ้ง จะได้ทักษะการคิดแบบมีระบบ การคิดแบบมีตรรกะมากขึ้น

“เขาจะรู้ว่าถ้าเขาเจอปัญหา ไม่ว่าจะปัญหาในชีวิต หรือปัญหาใดใด การที่จะแก้ปัญหา ๆ หนึ่ง เราจะต้องแตกปัญหาออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ หากเขามีแนวคิดแบบนี้ได้ การคิดในชีวิตจริงหรือการคิดในการทำงานไม่ว่าจะสาขาไหนก็ตามเขามีรูปแบบการคิดที่เป็นระบบมากขึ้น เขาจะมีรุปแบบการคิดที่เป็นขั้นตอนมากขึ้น และง่ายต่อการแก้ปัญหาในรูปแบบใหญ่ หรือ complex problem ได้”

ฟีม บอกว่า การเรียนเขียนโค้ดดิ้งช่วยเรื่องกระบวนการคิดได้มาก มีตัวอย่างที่ได้ให้โจทย์น้อง ๆ ในค่ายเขียนโค้ดดิ้งว่า จงทำ something เป็น step ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วพบว่า น้อง 50 คนเขียนมา 50 อย่าง และมีวิธีสื่อสารที่แตกต่างกัน

การคิดอย่างเป็นระบบ นอกจะช่วยให้เขาแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเรื่องการสื่อสารให้ดีขึ้นด้วย

“ในยุคปัจจุบัน การที่เข้ามาเรียนรู้การโปรแกรมมิ่ง ก็เป็นเครื่องมือช่วยให้เขาได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ส่ิงสำคัญของการเรียนโปรแกรมมิ่ง คือ ความผิดพลาด และการเรียนรู้จากความผิดพลาด”

Beauty ของ Swift Playground

ฟีม กล่าวว่า ตัว Swift Playground ทำให้เห็นสิ่งที่เขียนได้ทันที เมื่อก่อนเขียนโค้ดเสร็จต้องรอประมวลผลกลั้นหายใจสัก 30 วินาที ว่าสิ่งที่เขียนไปเป็นนอย่างไร แต่ Swift Playground ช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้นทั้งกับตัวเองและการไปสอนคนอื่น

Swift Playground มีฟีเจอร์ที่ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ทำไปมันเกิดอะไรขึ้น เครื่องมือนี้สำคัญมาก ๆ ในการเรียนเขียนโปรแกรม

ทักษะอีกอันที่มาคู่กัน คือ การ debug ทักษะของการหาปัญหาให้เจอว่าพลาดตรงไหน เป็นอีกทักษะที่สำคัญไม่แพ้กัน

“ตัว Swift Playground ทำให้เราเห็นได้ง่ายขึ้นว่าเราพลาดตรงไหน เป็นเครื่องมือที่ทำให้นักพัฒนาเรียนรู้ได้เร็วขึ้น”​

เช่นเดียวกันกับแฟร์ ที่กล่าวว่า Swift Playground มี live mode ทำให้นักพัฒนาสามารถเห็นผลของการเขียนโค้ดแต่ละบรรทัดได้เลย มันเป็นส่วนที่สำคัญมากในการเรียนรู้ เพราะช่วยทำให้เด็กได้เข้าใจว่าโค้ดที่กำลังเขียนทำงานอย่างไร ก่อนที่จะมาเป็น output ที่เขาอยากได้ตอนจบ

“อีกอย่าง Swift Playground จะมีบทบาทเยอะมาก เพราะว่าตอนนี้ Playground มีแอปฯ บน MacOS แล้ว ก่อนหน้านี้มีแต่บน iPad อย่างเดียว เพราะฉะนั้นโรงเรียที่มีแต่เครื่อง Mac ก็สามารถเข้า Playground ได้เลย”

ทุ่มเท แต่ไม่กลัวผิดพลาด

แฟร์ ฝากถึงน้อง ๆ ที่ต้องการจะได้ทุน WWDC Scholarship ว่า นักพัฒนาจะต้องมีอะไรที่ให้กับสังคม creativity เป็นส่วนหนึ่งที่จะให้ได้ประสบการณ์ใน 3 นาที ไม่ได้ง่ายที่ทุกคนจะได้รับการ submit ควรจะมี contribution ให้สังคม ควรเตรียมความพร้อมให้ดีก่อนไป คนที่โอกาสมากสุดน่าจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ อายุ 13 ปีขึ้นไป หากรัฐบาล โรงเรียนผลักดันอัดฉีดความรู้

ฟีม แนะน้อง ๆ ว่า การจะไป WWDC ต้องมีเป้าหมายว่าอยากจะไปทำอะไรเพื่อทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น หรือชีวิตของคนอยู่รอบ ๆ ข้างดีขึ้น ใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่ทำไปเฉย ๆ เพราะแค่อยากจะไปงาน

ส่วนการจะเข้ามาสู่สายงานนักพัฒนา อย่างแรก คือ อย่ากลัวที่จะพลาด เพราะชีวิตของนักพัฒนาอยู่บนความผิดพลาด แอปฯ อัปเดตทุกวัน มีฟีเจอร์ใหม่ ๆ ทุกวัน bug มีตลอดเวลา

ไม่มีแอปฯ ไหน โค้ดไหนที่ไม่มี bug อย่ากลัวที่จะผิดพลาด จงยอมรับความผิดพลาดนั้นแล้วหาวิธีแก้ไขตัวเอง

“โลกของนักพัฒนาวิ่งไปเร็วมาก ทุก ๆ เดือนจะมีอะไรใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แนวคิด ทั้งเชิงเทคโนโลยี ความสนใจของคนและตลาด เพราะฉะนั้น สายงานของนักพัฒนา หยุดไม่ได้ ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาสอน แต่ต้องพยายามขนขวายให้ได้มากที่สุด พยายามเรียนรู้ติดตามสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้มากที่สุด การใช้เวลาเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองและหาการค้นนคว้าเป็นทักษะที่สำคัญมาก ๆ”​ ฟีมกล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลเกี่ยวกับ Swift Playgrounds

Swift Playgrounds คือแอพที่ช่วยสอนแนวคิดในการเขียนโค้ดเบื้องต้นที่มีอินเทอร์เฟซแบบอินเทอร์แอ็คทีฟ ทำให้ผู้ที่เรียนสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดายและสนุก ซึ่งจะช่วยฝึกทักษะการคิดอย่างเป็นขั้นตอน สามารถเรียนรู้การคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน เหมาะสำหรับนักเรียนหรือมือสมัครเล่น นอกจากนี้ที่แอพ Swift Playgrounds ยังสามารถนำไปใช้งานแบบขั้นสูงได้ โดยนักพัฒนาจำนวนมาก เลือกเขียนโค้ดบน Swift Playgrounds เพื่อนำไปพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นต่างๆ ออกมาให้ได้ใช้งานกัน แอพเปิดตัวเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 และรองรับภาษาไทย

Apple เปิดให้ผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดฝึกเขียนโค้ดบน Swift Playgrounds ได้ฟรี ที่นี่

ปัจจุบันมีหลายๆ โรงเรียนได้นำพื้นฐานการเขียนโค้ดและ Swift Playgrounds ไปผสมผสานในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานให้แก่เด็ก อาทิ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ฯลฯ

สำหรับระดับอุดมศึกษานั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ ก็ได้มีการสอนพัฒนาแอพพลิเคชั่นบน Swift Playgrounds

ที่ผ่านมานั้น Apple พยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนไทยได้รู้จักและทดลองเขียนโค้ด ผ่านการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์, ซอฟท์แวร์ รวมไปถึงบุคลากร ที่จะคอยให้ความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ แก่สถาบันการศึกษาหลายแห่งผ่านการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป กิจกรรม Open House รวมไปถึงการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนอย่าง WWDC Scholarship เพื่อส่งเสริมและสร้างเครือข่ายการเขียนโค้ดในประเทศไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

ข้อมูลนักเรียนทุน WWDC

กีรติจุฑา ภูมิจิตร (แฟร์)
นักพัฒนาแอพ U Spark แอพที่ช่วยจัดการข้อมูลต่างๆ อาทิ ระบบลงทะเบียน และตารางสอนของมหาวิทยาลัย 
นักเรียนไทยคนแรกที่ได้รับทุนร่วมงาน WWDC 2015
มัธยมศึกษา : โรงเรียนเซนต์ดอมินิก
มหาวิทยาลัย : คณะวิทยาศาสตร์ สาขา Computer Science มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและ Technical Lead ให้แก่บริษัท Genxas Whiz และสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

พัชรพล จอกสมุทร (ฟีม)
ผู้พัฒนา Algo Maze ซึ่งเป็นเกมที่ฝึกพื้นฐานการเขียนโปรแกรม
นักเรียนที่ได้รับทุนร่วมงาน WWDC 2019 
มัธยมศึกษา : โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
มหาวิทยาลัย : คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ปัจจุบันเป็นนักพัฒนาแอพ iOS อยู่ที่บริษัท DataWow 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ