TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessดีป้า สร้างเครือข่าย Angel Investor พร้อมหาพันธมิตรภาครัฐสร้างตลาด ดันสตาร์ตอัพไทยไปยูนิคอร์น

ดีป้า สร้างเครือข่าย Angel Investor พร้อมหาพันธมิตรภาครัฐสร้างตลาด ดันสตาร์ตอัพไทยไปยูนิคอร์น

สตาร์ตอัพจะกลายเป็นภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรม เพราะทุกธุรกิจต้องการหาทางออกใหม่ ๆ โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาช่วยแบกรับความเสี่ยงของสตาร์ตอัพไทยที่พัฒนาด้านนวัตกรรมในภาคการศึกษา (EdTech) การเงิน (FinTech) การเกษตร (AgriTech) และการท่องเที่ยว (TravelTech)

-ดีป้า เผยมูลค่าอุตฯ ดิจิทัลคอนเทนต์ เกม-บิ๊กดาต้า เติบโตต่อเนื่อง
-NVest Venture เปิดกอง 2 มูลค่า 500 ลบ. เน้นลงทุนสตาร์ตอัพระดับเริ่มต้น

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวกับ The Story Thailand ว่า วิธีการที่ดีป้าจะช่วยพัฒนาสตาร์ตอัพจะแตกต่างจากคนอื่น เพราะดีป้ามองที่ปลายน้ำ ช่วยให้สตาร์ตอัพสามารถไปต่อในเชิงธุรกิจได้ ด้วยการสร้าง Accelerate ขึ้นมาในวงจรสุดท้ายที่สตาร์ตอัพพร้อมจะจัดตั้งธุรกิจแล้ว โดยนำเจ้าของธุรกิจตัวจริงมานั่งฟังไอเดียที่ผ่านการวิจัย และการเติบโตมาในระดับหนึ่ง ว่าสามารถนำไปใช้ในธุรกิจได้จริงหรือไม่ โดยมีดีป้าเป็น Angel Fund ทำหน้าที่เข้ามารับความเสี่ยง

จากนั้นจะเริ่มคุยกับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาทำธุรกิจในไทย ให้จับมือเป็นพาร์ทเนอร์กันได้ทางธุรกิจกับสตาร์ตอัพไทย เพื่อช่วยให้สเกลต่อได้ และมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

“ในปี 2020 เราวางแผนพัฒนาไว้ประมาณ 50 สตาร์ตอัพ โดยเลือกจากหลายร้อยสตาร์ตอัพ”

ทั้งนี้ดีป้ายังมองภาพไปถึงการสร้าง “ยูนิคอร์น” โดยมีองค์ประกอบดังนี้

1.ต้องมีตลาดภาครัฐช่วยรองรับผลักดัน สร้างความเชื่อมั่น
2.โอกาสทางการตลาดภาคเอกชน สร้างแบรนด์และสเกลในความน่าเชื่อถือ โดยมีดีป้าเป็นผู้อำนวยความสะดวก
3.ปรับองค์ประกอบในด้านกฎหมาย
4.ปรับองค์ประกอบทางด้านภาษี ที่มีความเหมาะสม

“เราจะต้องสร้างระบบนิเวศให้สตาร์ตอัพ ซึ่งดีป้าไม่สามารถทำผู้เดียวได้ ความเป็นยูนิคอร์นส่วนตัวมองว่ามีหลายองค์ประกอบ แต่การจะไปได้ต้องมีตลาดภาครัฐรองรับ เราต้องย้อนถามกลับไปว่าในอดีตเราสร้างบริษัทที่มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ใช้เวลาสร้างกี่วัน เช่นเดียวกันการจะสร้างยูนิคอร์นจะต้องได้รับความร่วมมือในการสร้างระบบนิเวศถึงจะทำให้เกิดได้”

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้าตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมียูนิคอร์นอย่างน้อย 1-2 บริษัท ซึ่งในปีนี้ก็พอจะมีสตาร์ตอัพที่ออกไปขยายธุรกิจ และระดมทุน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมด้านบล็อกเชน และฟินเทค

พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล

ดีป้ามีเป้าหมายการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ “อุตสาหกรรมดิจิทัล” ที่รับผิดชอบอยู่ตามพ.ร.บ. 5 ส่วนคือ

1.โทรคมนาคม
2.Digital Service หรือก็คือสตาร์ตอัพ
3.Digital Content ในด้าน หนัง เกม และ การวิเคราะห์ข้อมูล
4.อุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ (Smart Device)
5.ซอฟต์แวร์มูลค่าสูง ที่ใช้ในอุตสาหกรรม

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ทั้ง 5 องค์ประกอบนี้รวมกันเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งสตาร์ตอัพคือหนึ่งในนั้น แต่สตาร์ตอัพเป็นภาคที่ประเทศไทยจะต้องผลักดันต่อไปในอนาคต ซึ่งดีป้าจะคัดเฉพาะดิจิทัลสตาร์ตอัพ เพราะจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ เป็นภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เป็นคลื่นลูกใหม่ในอุตสาหกรรม

เมื่อสตาร์ตอัพเข้มแข็ง ก็จะเป็นผู้พัฒนาวิธีแก้ปัญหา (Provide Solution) ให้กับคนที่ต้องการนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร ธุรกิจบริการ โรงงานอุตสาหกรรม เพราะถ้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังต้องใช้โซลูชันจากข้างนอกประเทศไทยก็จะขาดดุลการค้าทางด้านเทคโนโลยี แต่ถ้าธุรกิจเหล่านี้ใช้ของคนไทย ใช้สตาร์ตอัพในประเทศที่สามารถสเกลได้ ก็จะเกิดการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่สามารถเป็นทุนทางทรัพยากรสินค้าแบบใหม่ การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง

ใน 2 ปีนี้เป็นช่วงที่ดีป้าเลือกสตาร์ตอัพ เข้ามาทำงานได้ประมาณ 100 กว่าสตาร์ตอัพ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท โดยดีป้ามีหน้าที่แก้ปัญหาและทำให้ระบบนิเวศดีพอที่จะทำให้อุตสาหกรรมเกิดใหม่สามารถโตต่อได้ และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในประเทศ

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนนึกว่าดีป้าเป็นรัฐแจกตังค์ แต่จริง ๆ เราเป็นรัฐที่รับความเสี่ยง จะมีการล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่การทำงานระบบรัฐต้องมีระบบตรวจสอบ เพราะเป็นเงินจากภาษีประชาชนนำมารับความเสี่ยงกับการพัฒนาของสตาร์ตอัพ”

เป้าหมายในแต่ละปีของดีป้า คือสามารถแก้ปัญหาทีละเรื่อง เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนประเทศ ทำให้เกิดธุรกิจคลื่นลูกใหม่และสามารถเป็นยูนิคอร์นได้ในประเทศไทย

“สิ่งที่เราจะต้องเข้าไปแก้ไขอาจจะเป็นแค่เรื่องปลายจมูก เพียงแต่ว่าจะต้องใช้พลังงานสูง ซึ่งดีป้าไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ แต่มันคือการประสานงานให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งจะต้องใช้เวลา”

ทั้งนี้ในปีหน้า ดีป้ามีแผนจะเปลี่ยนจากการเป็น Angel Investor หน่วยงานเดียว เป็นการหากลุ่มทุนที่มีความคิดคล้ายคลึงกันและพร้อมจะเข้ามาช่วย ทั้งการเข้ามาช่วยสกรีนหาสตาร์ตอัพ หรือเข้ามาร่วมลงทุน

“การสร้างเครือข่าย Angel ระดับประเทศก็จะเริ่มเข้มแข็งขึ้น ประกอบกับคนที่เป็นกลุ่มทุน (Venture Capital) ตัวจริงจะมีความมั่นใจในการลงทุนเพราะสตาร์ตอัพสามารถสเกลได้ นอกจากนี้เรายังพยายามดึงกลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้สตาร์ตอัพมีโอกาส Pitching กับกลุ่มทุนต่างประเทศ ก็จะทำให้ระบบนิเวศกลมกล่อมขึ้น”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ