TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessNVest Venture เปิดกอง 2 มูลค่า 500 ลบ. เน้นลงทุนสตาร์ตอัพระดับเริ่มต้น

NVest Venture เปิดกอง 2 มูลค่า 500 ลบ. เน้นลงทุนสตาร์ตอัพระดับเริ่มต้น

NVest Venture เปิดกองทุนลงทุนกองที่ 2 มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท เน้นลงทุนในสตาร์ตอัพระดับเริ่มต้น เปิดมาไม่นานมา 3 เดือน ถึง 1 ปี ขนาดการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านบาท

ศรัณย์ สุตันติวรคุณ หุ้นส่วนบริหาร บริษัท เอ็น-เวสต์ เวนเจอร์ จำกัด กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ปรัชญาการลงทุนของกองทุน NVest (ธนาคารออมสิน-SET)​ คือ ลงทุนในสตาร์ตอัพระดับเริ่มต้น (Early Stage) เพื่อเป็นฐานรากปูทางสู่การสร้างยูนิคอร์น ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่ยังขาดเม็ดเงินลงทุน

“หากจะสร้างยูนิคอร์น จะต้องเริ่มจากการมีจำนวนสตาร์ตอัพที่มากพอ จนกว่าจะได้ยูนิคอร์น”

สตาร์ตอัพระดับเริ่มต้นเป็นช่องว่างที่ใหญ่มาก และยังไม่มีใครมาอุดช่องว่างนี้ เป็นที่มาที่ NVest จัดตั้งกองทุนกองที่ 2 มูลค่า 500 ล้านนี้ขึ้นมา

“นอกจากลงทุนแล้ว เราเข้าไปให้คำแนะนำว่าต้องระดมทุนในรอบถัดอย่างไร อยากให้เขาเติบโตและยั่งยืน กองที่ 2 นี้ช่วงแรกจะโฟกัสลงทุนใน Early Stage ถ้าดูแลให้เติบโตได้ เราจะตามลงต่อในระดับ Seed Stage และตามไปถึง Series A บ้าง”

-บทบาท “นักลงทุน” ของ ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
-“Finema” Identity Tech ไทย รับเงินลงทุนรอบ Seed 1.3 ล้านเหรียญฯ

โดยจะลงทุนในสตาร์ตอัพที่ทำเกี่ยวกับห่วงโซ่อีคอมเมิร์ซ​ (e-Commerce Value Chain) การศึกษา (สำหรับคนที่อยากจะ Upskill, Reskill) บริการที่ทำให้คนเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินอย่างเท่าเทียม (Financial Ubiquiti) ไม่เฉพาะคนที่มีความมั่งคั่ง ทุกคนตั้งแต่ระดับรากฐานจนถึงคนรวม ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงสินค้าทางการเงินได้เท่าเทียมกัน และ E-Entertainment รวมถึง Cloud Gaming ที่จะเริ่มบูมในประเทศไทย ด้วยแรงขับจากเครือข่าย 5G

NVest Venture เป็น Private VC กองทุน Venture Capital ที่ลงทุนในไทยเป็นหลัก เป็นกองทุนของธนาคารออมสิน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีบริษัท เอ็น-เวสต์ เวนเจอร์ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุน โดยลงทุนทั้งสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีในประเทศไทย ใช้หลักการในการลงทุนแบบ Active Management เป็น Return-oriented

5 ปี 500 ลบ. ลงทุน 11 บริษัท

5 ปีที่ผ่านมากองแรกลงทุนไปทั้งหมด 11 บริษัท เป็นเอสเอ็มอีเกือบครึ่งของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีอีกครึ่งหนึ่ง อายุของบริษัทที่ NVest ไปลงทุนมีตั้งแต่ 1-2 ปี ไปจนถึง 10 ปี บทบาทที่เข้าไปลงทุนในแต่ละบริษัทจะต่างกัน บทบาทของการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เปิดมา 10 ปี จะเป็นบทบาทของธรรมาภิบาล การวางระบบ หากเป็นบริษัทที่เพิ่งตั้งจะเข้าไปช่วยสร้างทีมที่จำเป็นในการขยายธุรกิจ ไปจนถึงช่วยเขาหารายได้ก้อนแรก

กองแรกมูลค่า 500 ล้านบาทจะลง Seed ถึง Series A และ Series A+ (บางคนอาจเรียก Series B) การลงทุนแต่ละครั้งเฉลี่ยประมาณเกือบ 30 ล้านบาท คือลงทุนตั้งแต่ระดับ 10 ล้านบาท ไปจนถึงระดับ 50 ล้านบาท

เกือบ ๆ ครึ่งหนึ่งของ Portfolio ที่ลงทุนไปแล้ว จะอยู่ในห่วงโซ่อีคอมเมิร์ซ อาทิ ระบบ CRM, Digital Marketing, Fulfillment เป็นต้น สัดส่วนอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเทียบกับคอมเมิร์ซโดยรวมอยู่ราว ๆ 3-4%

ในขณะที่อเมริกา สัดส่วนของอีคอมเมิร์ซเทียบกับค้าปลีกโดยรวมเติบโตขึ้นมากหลังโควิด-19 อยู่ราว ๆ 1 ใน 3 หมายความว่าโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีอีกมาก แต่ก็ต้องดูว่าโอกาสนี้จะทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าไปในทิศทางไหน

ฝั่งหน้าร้าน จบแล้ว เพราะตลาดถูกครอบครองโดยผู้เล่นรายใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว ไว่าจะเป็น Lazada หรือ Shopee แต่ยังเหลือโอกาสทางการตลาดในส่วนของโซเชียลคอมเมิร์ซ และร้านค้าออนไลน์ ซึ่งต้องพิจารณาดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ยังขาดอยู่สำหรับการทำโซเชียลคอมเมิร์ซ และร้านค้าออนไลน์ ซึ่งต้องแบ่งออกมาเป็นห่วงโซ่ (Value Chain) แล้วดูว่าในแต่ละห่วงโซ่ ตรงไหนที่การแข่งขันยังไม่รุนแรงและยังมีโอกาสในการเติบโต

“เราไม่แตะเรื่องโลจิสติกเลย เพราะการแข่งขันหนักและด้วยเม็ดเงินที่เราลงเราไม่สามารถสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นได้ เราก็จะไปลง แต่เรามองว่าส่วน Fulfillment การแข่งขันยังไม่สูง และด้วยขนาดของเงินลงทุนสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

กองทุนมีอายุ 8 ปี มีช่วงของการลงทุน (Investment Period) ประมาณ 4-5 ปี และการลงทุนซ้ำ (Re-Investment Period) อีก 4 ปี ดังนั้น การลงทุนจะไม่อยู่กับใครเกิน 8-10 ปี ซึ่งก็หวังว่าภายใน 8-10 ปี บริษัทที่ลงทุนไปจะต้องมีความแข็งแรง ไปต่อได้เอง แต่โดยเฉลี่ยแล้วต่อการลงทุน 1 ครั้ง NVest จะอยู่กับเขาประมาณ​ 4-5 ปี

หลังบ้านสตาร์ตอัพ สำคัญไม่แพ้หน้าบ้าน

นอกจากเรื่องเงินแล้ว NVest ให้คำปรึกษา (Strategy) และการดำเนินการ (Hand-on) การให้ทิศทางของบริษัท บทบาทนี้ VC จะทำได้ค่อนข้างดี เพราะจะเห็นอุตสาหกรรมมากว้างกว่าแต่อาจจะไม่ลึกเท่าสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอี สำหรับบทบาทด้านการดำเนินการ VC จะไม่ค่อยเข้ามาแตะในเรื่องของระบบงานหลังบ้านของธุรกิจ บัญชีและการเงิน ทรัพยากรบุคคล (สามารถช่วยหาคนที่ธูรกิจมีความจำเป็นได้ไหม เป็นต้น) ฝ่ายขาย และฝ่ายสนับสนุน เป็นต้น

“เราช่วยหลังบ้านได้เยอะกว่าหน้าบ้าน เพราะหน้าบ้าน เรื่องการทำรายได้ เขาต้องเก่งกว่าเรา ซึ่งระบบหลังบ้านเป็นปัจจัยความสำเร็จของสตาร์ตอัพไม่ระบบงานหน้าบ้าน แต่หลายคนไม่เห็น ก็เข้าใจได้ เพราะสตาร์ตอัพเกิดก็ต้องเดินหน้าหารายได้ก่อน เมื่อเวลาผ่านไป สตาร์ตอัพเติบโตขึ้น ระบบงานหลังบ้านจะมีความสำคัญมากขึ้น”

ระบบหลังบ้านมีความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) เพื่อตรวจสอบและรู้จักบริษัทตัวเอง เดิมทีระบบหลังบ้านถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าหน้าบ้านที่มองไปข้างหน้า​(ที่ดูโอกาสทางการตลาดและการเติบโตของธุรกิจ) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

“ระบบหลังบ้านเหมือนการสร้างตึกสูงที่ไม่ได้สร้างฐานรากเตรียมรองรับการขยายธุรกิจไปจนถึงยูนิคอร์น ระบบหลังบ้านเปรียบเหมือนเสาเข็มหลักของธุรกิจ ต้องยอมลงทุนกับระบบหลังบ้าน โดยเฉพาะรายที่กำลังจะข้ามจาก Seed Stage ไป Series A”

ข้อจำกัดของขนาดตลาด เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สตาร์ตอัพยังมองตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีหลายเซ็กเมนต์ ซึ่งเซ็กเมนต์ที่สตาร์ตอัพจับนั้นไม่ใหญ่ ขนาดตลาดอาจจะประมาณ 100 ล้านบาท หรือ 1,000 ล้านบาท หากได้ส่วนแบ่งตลาด 10-20% ก็แค่รายได้หลักร้อยล้านบาท แต่ VC อยากได้บริษัทที่โอกาสทางธุรกิจสูง ๆ ขนาดตลาดระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทำไม่ได้

“ที่เห็นบ่อย ๆ สตาร์ตอัพจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนในกรุงเทพฯ หากจะทำธุรกิจในเมืองไทยและให้มีขนาดใหญ่ได้จะต้องจับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่จับตลาดแค่คนในกรุงเทพฯ ขนาดตลาดถึงจะใหญ่พอ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาในไทยเขาจะจับทุกกลุ่ม ทำให้ตลาดขนาดใหญ่มากพอ”

ธนาคารออมสินและ SET มีทิศทางที่จะใช้บริการจากสตาร์ตอัพใน Portfolio ที่ NVest ลงทุนไป อาทิ MyCloudFulfillment จะเก่งด้านบริหารจัดการคลาวด์และการบริหาร Fulfillment ซึ่งธนาคารออมสินยกคลังให้เขาบริหารไปเลย และลงทุนในระบบ CRM ชื่อ Choco Card ธนาคารออมสินก็ดึงบริการของ Choco Card มาใช้กับลูกค้าของธนาคาร เป็นต้น

“ทิศทางของผู้ลงทุนในกองทุน คือ จะใช้สินค้าและบริการที่สตาร์ตอัพที่เข้าไปลงทุนมี แต่ไม่ได้หมายความสตาร์ตอัพไหนไม่มีสินค้าและบริการที่ LP เอาไปใช้ต่อได้ เราจะไม่ลงทุน เราลงทุนถ้าธุรกิจนั้นทำเงินได้ แต่ถ้ามีบริการที่สอดรับยุทธศาสตร์ของธุรกิจของ LP ก็จะยิ่งดี”

New Wave of Startup

ที่ผ่านมามีคนสนใจมาทำเทคฯ สตาร์ตอัพไม่มากพอ อาจเป็นเพราะยังไม่มี Success Case ถ้ามี Success Case จะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าสามารถสร้างธุรกิจได้จริงจัง มีคนพร้อมสนับสนุน จะทำให้มีคนเริ่มกล้าออกมาทำสตาร์ตอัพ และจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมที่กว้างใหญ่ขึ้น

หลังโควิด-19 มาทำให้เห็นว่าสตาร์ตอัพที่ไปต่อได้จะได้ไปต่อ คนที่ไปต่อได้ยากก็จะไปต่อได้ยากขึ้น ตรงนี้ คือ จุดตัด ที่จะส่งผ่าน ในการสร้างเวฟใหม่ของสตาร์ตอัพในไทย (New Wave of Startup) คนที่ไปต่อได้ อนาคตอาจจะไปเป็นยูนิคอร์นได้ ในอีก 5-6 ปี ข้างหน้า

“ผมมองว่ายูนิคอร์นเป็นสิ่งจำเป็นในมิติของคนทำงาน การที่บริษัทจะไปถึงยูนิคอร์นได้ คนในบริษัทต้องเก่งมาก พอถึงจุดหนึ่งที่บริษัท Exit คนเหล่านี้จำนวนหนึ่งก็จะออกมาทำบริษัทต่อ คนเก่งทำให้บริษัทที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง ๆ สามารถเติบโตต่อได้”

หลังวิกฤติโควิด-19 จะเกิด Capital Flooding เป็นตัวจุดประกายว่าสตาร์ตอัพที่จะไปต่อได้หรือที่กำลังจะเกิดใหม่ จะมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากไหลเข้ามา

วงการสตาร์ตอัพไทยคงถึงจุดที่เรียกว่า Fresh Start จาก 5-6 ปีที่ผ่านมาสตาร์ตอัพเริ่มรู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ VC ต้องการ และอะไรคือสิ่งที่สตาร์ตอัพควรทำ องค์ความรู้ของทั้งระบบนิเวศเริ่มมีมากพอให้คนใหม่ ๆ เข้ามาศึกษาและลองเริ่มทำสตาร์ตอัพ ส่วนสตาร์ตอัพที่อยู่มาสักพักก็จะเริ่มรู้แบล้วว่าจะเดินต่อในเส้นทางไหน เส้นทางสตาร์ตอัพเหมือนเดิมหรือเส้นทางเอสเอ็มดีที่ยั่งยืน ไม่มีถูกมีผิด

“ผมไม่เคยแยกเอสเอ็มอีกับสตาร์ตอัพ บทบาทของนักลงทุน คือ การทำกำไร อะไรที่ทำกำไรผมลงได้หมด แต่ธุรกิจเทคโนโลยีมีโอกาสที่จะทำกำไรได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความเอสเอ็มอีทำกำไรไม่ได้ ทำกำไรได้ผมก็ลงทุน สิ่งที่เราตามหาในทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ คือ ความสามารถในการแข่งขัน”

การคืนทุนด้านการเงินเป็นสิ่งที่ NVest ต้องการ แต่เป้าหมายอีกอย่าง คือ อยากสร้างให้ระบบนิเวศสตาร์ตอัพในไทยมีความยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ