TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessบทบาท “นักลงทุน” ของ ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

บทบาท “นักลงทุน” ของ ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นอกจากจะเป็นซีอีโอ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม (Tarad.com) แล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่โดดเด่นมากในวงการธุรกิจไอทีคือ การเป็นนักลงทุน

ภาวุธ เริ่มลงทุนเว็บไซต์แรกกับ Thaiware.com เป็น Market Place สินค้าดิจิทัล โดยนำองค์ความรู้ที่มีเข้าไปปรับโครงสร้างทั้งวิธีการทำงานและการหารายได้ ทำให้จากเดิม Thaiware มีรายได้ปีละ 1-2 ล้านบาท โตขึ้นมาเป็นปีละ 80-90 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3-4 ปี

หลังจากลงทุนกับ Thaiware และไปได้ดี ภาวุธ เริ่มรู้สึกว่าวิธีนี้ได้ผล ประกอบกับส่วนตัวชอบลงทุนและคอยมอนิเตอร์ธุรกิจ หลังจากลงทุนมาระยะหนึ่งก็เริ่มปรับรูปแบบธุรกิจเป็นการควบรวมเข้าด้วยกัน ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นผู้ถือหุ้น และให้ทีมงานของแต่ละบริษัทบริหารงานกันเอง

นักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ใช้องค์ความรู้มากกว่าเงิน

ภาวุธ กล่าวว่า นักลงทุนมี 2 รูปแบบ แบบแรก คือ ลงเงินอย่างเดียวและไม่ยุ่งกับธุรกิจ แบบที่ 2 คือเป็นนักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ คือ เป็นผู้ให้คำแนะนำ ปรับวิธีคิด จนธุรกิจเดินไปต่อได้

“ผมชอบลงทุนกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น เป็นเหมือน Angel Investor หรือ Seed Investor ที่ใช้เงินหลักแสนหรือล้านต้น ๆ เพราะฉะนั้น การลงทุนในช่วงแรกมีข้อดี คือ ไม่แพง แต่จุดอ่อน คือ ธุรกิจใหม่มากมีโอกาสที่จะล้มเหลวสูง แต่เมื่อธุรกิจโตไปได้โอกาสได้ผลตอบแทนก็จะสูงเช่นกัน”

และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ ภาวุธ จะเข้าไปร่วมลงทุน คือ ธุรกิจนั้นจะต้องเป็นเจ้าแรกที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีความได้เปรียบสูง หรือถ้าเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ผู้นำตลาดจะต้องไม่แข็งแรงและพร้อมที่จะเข้าไปเป็นเบอร์ 1 ทันที

หลักการลงทุนของ ภาวุธ คือ จะไม่ถือหุ้นใหญ่ เพราะไม่ได้อยากเป็นเจ้าของธุรกิจแต่อยากเป็นผู้สนับสนุน ส่วนมากจะถือหุ้นตั้งแต่ 1-30% เพราะการถือหุ้นใหญ่จะเป็นภาระ และคนที่ถือหุ้นด้วยจะไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งส่วนตัวต้องการสร้างนักธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาจึงทำหน้าที่นำองค์ความรู้ไปช่วยมากกว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

“ส่วนตัวเป็นคนชอบคิดและเมื่อคิดก็อยากจะทำ สิ่งที่ชอบมาก คือ ได้เห็นสิ่งที่เราอยากทำมันเกิดขึ้นมาจริง ๆ ส่วนเรื่องเงินเป็นเรื่องรอง”

อีกส่วนหนึ่ง คือ การลงทุนเพื่อสร้างความร่วมมือกับธุรกิจอื่น ๆ ในกลุ่มเช่นกัน เช่น SHIPPOP เป็นโมเดลหนึ่งที่อยากทำมากแต่ไม่ได้ทำ จึงใช้วิธีการเป็น Venture Builder สร้างธุรกิจขึ้นมาจากที่ไม่มีอะไรเลย เพื่อเข้ามาต่อกับตลาดดอทคอม รวมถึงบริษัทอื่น ๆ เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจให้มาทำงานร่วมกันได้หมด

“เรามีกลุ่มแชทที่มี CEO 20 กว่าบริษัทที่ไปลงทุนทั้งหมด ทำให้เกิดความร่วมมือกัน บางทีเขาคุยกันเองแล้วก็เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา ซึ่งเราเป็นแค่จุดเชื่อมโยงทำให้ธุรกิจเขาทำงานกันได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดมูลค่ากับธุรกิจมากขึ้น”

ภาวุธ กล่าวต่อว่า ธุรกิจบางตัวไม่ได้คิดจะลงทุนในตอนแรก เช่น ธุรกิจบริหารข้อมูลสินค้า แต่เมื่อเข้าไปดูก็พบว่าเขาเป็นลูกค้าเบอร์ 1 ของ SHIPPOP ถ้าบริษัทนี้มีปัญหาก็จะแย่ จึงเข้าไปลงทุนเอง เพราะฉะนั้นการลงทุนจะพยายามมองในภาพรวมว่าจะเข้ามาเชื่อมโยงกันได้หรือไม่

การลงทุนช่วงหลังของ ภาวุธ ไม่ได้ใช้เงินมาก แต่นำตัวเองเข้าไปเป็นสินทรัพย์ผสมกับดีลเพื่อให้มีมูลค่ามากขึ้น และบริษัทที่ไปลงทุนส่วนใหญ่อายุจะอยู่ที่ 20-30 กว่า เพราะฉะนั้น ด้วยความที่อายุมากกว่าจะทำให้โค้ชได้ง่ายขึ้น

“ถ้าจะให้ผมไปลงทุนอย่ามองที่เงินแต่มองมูลค่าที่ตัวผม ที่จะเข้าไปช่วยธุรกิจให้โต ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนไทยไม่ค่อยมี”

ไทยยังขาดนักลงทุนที่เข้าใจธุรกิจสตาร์ตอัพ

ภาวุธ มองว่า การลงทุนสตาร์ตอัพในประเทศไทยยังมีช่องว่าง ขณะที่เด็กรุ่นใหม่มีไอเดียมากมาย แต่สตาร์ตอัพเหล่านี้ไม่สามารถกระโดดเข้ามาอยู่ใน Growth Stage ได้ เพราะไม่มีเงินทุน ในสมัยก่อนคนมีไอเดียแต่ไม่มีเงิน ไปจ้างทำเว็บไซต์ทำแอปพลิเคชันเพื่อนำเงินมาเลี้ยงบริษัท ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ปรากฏว่าเงินไม่พอ สุดท้ายบริษัทตัวเองกลายเป็น Software House เพราะไม่มีเวลากลับไปโฟกัสงานที่ตัวเองอยากทำ แต่ถ้าบริษัทเหล่านี้ได้ทุนไปจะสามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องโฟกัสเรื่องการหารายได้ เมื่อทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้ดีก็จะสามารถเข้าสู่ Growth Stage ได้ไม่ยาก

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีคนที่เป็น Angel Investor หรือไม่มีคนเข้าใจธุรกิจเหล่านี้ก็จะทำให้สตาร์ตอัพกลุ่มนี้ไปต่อไม่ได้ สาเหตุหลัก คือ มันมีช่องว่างของนักลงทุน มีคนที่มีเงินมากในประเทศไทยแต่เป็นคนที่ไม่มีความเข้าใจในการลงทุนบริษัทเทคโนโลยี

ภาพรวมสตาร์ตอัพของประเทศไทย คือ เด็กรุ่นใหม่เข้ามาไม่ได้ ส่วนคนที่เข้ามาแล้วก็เติบโตลำบาก แต่ก็ยังมีโอกาสเพราะระบบดิจิทัลในประเทศไทยโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวุธ พยายามรวมกลุ่ม Angel Investor เข้ามาใหม่ ปัจจุบันดึงมาได้ประมาณ 15-16 คน แต่เจ้าตัวมองว่ายังน้อยเกินไปสำหรับทั้งระบบนิเวศของสตาร์ตอัพ ประกอบกับเจอวิกฤติโควิด-19 นักลงทุนต่างกำเงินเอาไว้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับสตาร์ตอัพน้อยลง

การลงทุนกับสตาร์ตอัพใช้เงินไม่มาก แค่หลักแสนถึงหลักล้านต้น ๆ ซึ่งถ้านักลงทุนมีกลยุทธ์การลงทุนที่ดี ก็จะสามารถลงทุนเป็นรอบ ๆ ได้

ส่วนสตาร์ตอัพ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ท้าทาย ใครที่มีแต่ไอเดีย จะต้องรีบพิสูจน์ ซึ่งยังพอมีหน่วยงานภาครัฐหลาย ๆ แห่งที่ยังให้เงินอยู่

สตาร์ตอัพต้องมั่นใจว่าสิ่งที่คิดมันแตกต่าง มันดี และไม่เหมือนใคร สามารถเข้าไปปิดช่องว่างของธุรกิจขนาดใหญ่ เข้าไปเปลี่ยนบริษัทเหล่านั้นให้เป็นดิจิทัล ซึ่งการหาปัญหามันง่ายมากคือหันไปมองรอบ ๆ ตัว ดูว่าธุรกิจไหนที่มีเงินแต่ยังใช้กระดาษอยู่ ก็ให้เข้าไปอุดช่องว่างนั้นและเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นดิจิทัล ก็จะมีรายได้และโตได้ไม่ยาก

“ส่วนตัวเรื่องสนใจสตาร์ตอัพสาย MedTech เรื่องการเกษตร ทั้ง AgriTech และหาพื้นที่ทำฟาร์ม เพราะตั้งเป้าว่าเมื่ออายุ 50 จะกลับไปทำฟาร์ม”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-The Zero โฟกัสคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม สมดุลความหลากหลาย
-STAGE Cafe ชูจุดขาย “เวทีของคนรักกาแฟ”
-AIS เตือน/เตรียม ความพร้อม “วิถีชีวิตหลังวิกฤติ” ให้คนไทย
-“ตลาดดอทคอม” อีคอมเมิร์ซ ของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ