TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“ตลาดดอทคอม” อีคอมเมิร์ซ ของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย

“ตลาดดอทคอม” อีคอมเมิร์ซ ของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย

ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ ไม่มีใครไม่รู้จัก “ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ซีอีโอ บริษัท ตลาดดอทคอม กรุ๊ป ที่มีพันธมิตรของ TCC Group และเป็นนักลงทุนในสตาร์ตอัพ 26 บริษัท

จากเด็กจบใหม่ “ภาวุธ” เริ่มต้นธุรกิจตลาดดอทคอม (tarad.com) ปี 1999 เริ่มต้นจากเว็บ thaisecondhand.com ในปี 1998 เว็บขายของมือสอง เป็นโฆษณาย่อย (Classified) และขยายจาก thaisecondhand.com เป็นตลาดดอทคอม และได้รับการลงทุนจากกลุ่มโมโน เทคโนโลยี เริ่มขยายธุรกิจและทีมงาน อยู่กับโมโนฯ เกือบ 10 ปี

หลังจากนั้นขอซื้อหุ้นคืน และนำมาขายให้กับกลุ่ม Rakuten อีคอมเมิร์ซเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่น อยู่กับญี่ปุ่นมา 6-7 ปี ได้พยายามปรับการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลาย ๆ อย่าง ตอนนั้นภาวุธเป็นหุ้นส่วนน้อย และถึงกับขายหุ้นทั้งหมดที่มีในมือทิ้ง แต่ปรากฏว่า Lazada เริ่มเข้ามาในตลาดไทย ทำให้ Rakuten ถอยทัพ ตัดสินใจจะปิดตลาดดอทคอม ภาวุธเลยขอซื้อหุ้นคืนกลับมาทั้งหมด

ภาวุธนำตลาดดอทคอมมาปัดฝุ่นปรับรูปแบบธุรกิจใหม่อยู่ 2 ปี จนกระทั่งปี 2018 จึงนำตลาดดอทคอมมาขายให้กับกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ กลุ่มทีซีซี (TCC Group) ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้ามาลงทุน 51% ภาวุธถือหุ้น 49% ซึ่งภายใต้บริษัทตลาดดอทคอม มีบริษัทเพย์เมนท์ ที่ชื่อว่า Pay Solution ซึ่งภาวุธไปซื้อมาตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งเมื่อก่อนชื่อว่า Thai ePay ซึ่งเป็นบริษัท payment gateway แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งภาวุธซื้อมาแล้วปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อเป็น Pay Solution พอกลุ่มทีซีซีมาซื้อตลาดดอทคอม ภาวุธจึงนำ 2 บริษัทนี้รวมเข้าด้วยกันเป็นตลาดดอทคอมกรุ๊ป ทำงานร่วมกับกลุ่มทีซีซี

“ตลาดดอทคอม” บริษัทดอทคอมยุคแรก ผู้อยู่รอด

ตลาดดอทคอมผ่านมา 21 ปี ตามหลังรุ่นพี่อย่าง พันทิปดอทคอม มาไม่เท่าไร ตลาดดอทคอมเริ่มต้นจาก thaisecondhand.com ธุรกิจโฆษณาย่อย (Classified) ให้คนเข้ามาประกาศซื้อประกาศชาย เหมือน Kaidee ปัจจุบัน ถือว่าเติบโตมากในช่วงนั้น ซึ่งอีคอมเมิร์ซใปนระเทศไทยตอนนั้นยังไม่โตเท่าใด

ระหว่างทำธุรกิจโฆษณาย่อย ซึ่งเป็นโมเดลแบบ C2C มีลูกค้าอยากมีแคตตาล็อกเป็นเว็บของธุรกิจเขาเอง จึงเปิดเป็นตลาดดอทคอม ต้องการสร้างให้เป็นมาร์เก็ตเพลสขึ้นมาในประเทศไทย

ธุรกิจตลาดดอทคอมเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการขยายจากธุรกิจโฆษณารายย่อยบนออนไลน์เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบอีแคตตาล็อก ช่วงแรกเป็นแคตตาล็อกธรรมดา จ่ายเงินไม่ได้ ทำให้ต้องเปิดบริการใหม่ชื่อว่า ตลาดเปย์ (Tarad Pay) ซึ่งได้ขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตบนออนไลน์ ตลาดดอทคอมจึงเริ่มมีบริการรับชำระเงินบนออนไลน์เพิ่มขึ้นมา

จากนั้นตลาดดอทคอม ก็เริ่มเข้าสู่ยุคที่ 3 จากโฆษณาย่อย แคตตาล็อกเข้าสู่ e-tailor เต็มรูปแบบ มีระบบชำระเงิน มีอีแคตตาล็อก สามารถขายของได้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ตลาดดอทคอมเริ่มขยายธุรกิจไปส่วนอื่น ๆ อาทิ การศึกษา ทำหนังสือพ็อกเกตบุ๊ค ทำบริการโฮสติ้ง เป็นต้น คือให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ช่วงนี้ Rakuten เริ่มเข้ามา และปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ จากแพลตฟอร์มกลางให้คนเข้ามาซื้อขายกันเองได้โดยตรง เปลี่ยนเป็นมาร์เก็ตเพลสอย่างเต็มตัว เป็นตัวกลางในการรับชำระเงินเข้ามาแล้วโอนให้ร้านค้า มีเม็ดเงินในการโปรโมทโฆษณา มีคูปองลดราคา ทำการตลาดเพื่อให้คนเข้ามาซื้อออนไลน์ ช่วงนี้ คือ ยุคที่เมืองไทยเข้าสู่อีคอมเมิร์ซจริงจัง

“ตอนที่อยู่กับ Rakuten ขาดทุนประมาณ​ 400-500 ล้านบาท ตอนนั้นใช้เงินไปเป็นพันล้านในการกระตุ้นตลาด ซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์มาแจกฟรี ทำการตลาดแบบแจกคูปอง เราเป็นเจ้าแรก ๆ ที่แจกคูปองในสมัยนั้น ถือว่าเติบโตมาได้ดี แต่มันขาดทุน เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องใช้เงินไปกระตุ้นตลาด เม็ดเงินพันล้านในช่วงนั้น หากเทียบกับ Lazada เขามีหลายพันล้าน Raketun มองเห็นว่าตลาดมันโตช้า เขาตัดสินใจปิด ผมเลยไปซื้อคืนกลับมา”

ตอนนั้นการแข่งขันอีคอมเมิร์ซสูงมาก พอซื้อตลาดดอทคอมคืนกลับมาจาก Raluten ก็ปรับเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถทำอีคอมเมิร์ซครบวงจร เชื่อมต่อระบบการชำระะเงิน ระบบขนส่ง การตลาดออนไลน์ เชื่อมทุกอย่าง และเชื่อมกับคู่แข่ง อาทิ lazada shopee และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แพลตฟอร์มตลาดดอทคอมกลายเป็นช่องทางการขายได้ทุกช่องทาง อำนวยความสะดวกทุกอย่าง เข้าสู่ยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนตลาดดอทคอมจากมาร์เก็ตเพลสเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ครบวงจรมากขึ้น

“โดยส่วนตัวก็ไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาขึ้น อาทิ ขนส่ง การตลาดออนไลน์ และ big data เป็นต้น จึงเป็นการปรับตัวเองที่จากเดิมเป็นผู้บริหารบริษัทตลาดดอทคอม ก็มาเป็นนักลงทุนมากขึ้น เราอยากทำเยอะแต่เราทำไม่ไหว เลยหันไปลงทุน เอาองค์ความรู้ที่เรามีไปช่วยบริษัทต่าง ๆ ให้เติบโตดีกว่า ผลที่ทำมาทั้งหมดได้ผลทีเดียว”

ตลาดดอทคอม มีทั้งช่วงขึ้นและช่วงลง แต่ก็ไม่หายไป ตลาดดอทคอมเป็นเหมือนสินค้าตัวหนึ่งของภาวุธ ผ่านการซื้อมาขายไป 3 รอบ รอบแรกกลุ่มโมโนเข้ามา ภาวุธซื้อคืน มาขายให้ Rakuten จากนั้นก็ซื้อคืนจาก Rakuten เขาถอย ภาวุธ​ก็ไปซื้อตลาดดอทคอมคืนกลับมา และปรับตัวเองใหม่แล้วขายให้กับกลุ่มของ ​TCC

ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีการซื้อคืน มีการปรับตัวทุก ๆ ครั้ง

ในยุคโมโน ยุค Raketen และยุค TCC Group อีคอมเมิร์วเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทุกครั้งที่ซื้อกลับมา ตลาดดอทคอมมีการปรับธุรกิจโดยสิ้นเชิงทุกครั้ง เดิมเป็นแค่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มาสู่การเป็นมาร์เก็ตเพลส และเป็นแพลตฟอร์มที่มีทุกอย่างครบสมบูรณ์แบบมากขึ้น เรียกได้ว่า มีการปรับตัวครั้งใหญ่และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

“ในยุคหลังเราเริ่มรู้ว่าอีคอมเมิร์ซไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์ม แต่ต้องมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลาย ๆ อย่าง ผมจึงไปลงทุนแล้วเอาธุรกิจนั้นกลับมาผสมผสานเข้ากับตลาดดอทคอมอีกที ทำให้ตลาดดอทคอมมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น”

ชีวิตของตลาดดอทคอมก็คือชีวิตของภาวุธ ภาวุธเรียนจบก็เริ่มทำตลาดดอทคอมและทำอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ตลาดดอทคอมเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดจุดอื่น ๆ ตามมา ทุกวันนี้มีหลายธูรกิจที่เติบโตมากกว่าตลาดดอทคอม เช่น บริษัทออนไลน์เอเจนซี่ บิ๊กดาต้า บริษัท Creden Shippo และ Builk เติบโตหมด

“ผมได้สะสมประสบการณ์การทำธุรกิจมา 20 ปี หลากหลายรูปแบบ ขายกิจการ ซื้อกิจการ ลงทุน ร่วมทุนกับคนอื่น ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมากับตลาดดอทคอมมา ทำให้ผมก้าวมาถึงวันนี้ ที่ตลาดดอทคอมยังไม่หายไปไหน เป็นเพราะตัวผมสนนุกกับมัน มันเติบโตเรื่อย ๆ จากเริ่มมีคน 3 คน โตมาเป็น 50 คน แล้วก็เกือบ 100 คน จากนั้นเริ่มแยกตัวออกไปเป็นอย่างอื่น มันมีเส้นทางของมัน ผมเห็นและผมก็พร้อมปรับมันไปตลอดเวลา ทำให้มันสามารถอยู่รอดได้จนถึงปัจจุบัน”

และข้อดี คือ ด้วยรูปแบบธุรกิจของตลาดดอทคอม คือ อีคอมเมิร์ซ เพื่อนร่วมธุรกิจในยุคดอทคอม หลายรายไม่รอดจากวิกฤติดอทคอมล่ม อาทิ หรรษาดอทคอม ที่เป็นเว็บคอนเทนต์ ตอนนั้นอุตสาหกรรมยังไม่ตอบรับ ในปัจจุบันเว็บเก่า ๆ ได้หายไปหดมแล้ว เว็บเก่า ๆ ที่อยู่รอดได้มาจนถึงปัจจุบันก็เริ่มอยู่ลำบากมากขึ้น เพราะมีโซเชียลมีเดียเข้ามา ตลาดดอทคอมมก็เหนื่อยเหมือนกัน เพราะตอนนี้เป็นเกมการแข่งขันธุรกิจระดับโลกแล้ว ไม่ใช่เกมของผู้เล่นในประเทศเท่านั้น ฉะนั้น ตลาดดอทคอมเองมีความท้าทายหลายอย่างรออยู่ ซึ่งภาวุธเริ่มสร้างรูปแบบธุรกิจอื่น ๆ ขึ้นมา เพื่อมาสอดรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงตรงนี้

“ฉะนั้น แม้ตลาดเปลี่ยน เกมเปลี่ยน ตลาดดอทคอมเจอความท้าทาย แต่สิ่งที่ผมไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ เติบโตได้ดีทีเดียว ตลาดดอทคอมในอดีตกับตลาดดอทคอมในปัจจุบันเป็นตลาดดอทคอมที่มี DNA เดียวกัน เรายังคงเป็น DNA ที่ทำแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการขายของออนไลน์ เข้าสู่ช่องทางออนไลน์ได้”​

แต่ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาล ในยุคก่อนมีแค่แพลตฟอร์ม แต่ยุคนี้มีระบบการชำระเงิน การขนส่ง การตลาด และความพร้อมของลูกค้า สมัยก่อนที่เริ่มทำอีคอมเมมิร์ซ ตอนนั้นคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตไม่ถึงล้านคน ตอนนี้คนใช้อินเทอร์เน็ตเกิน 40 -50 ล้านคน

การแข่งขันเช่นเดียวกัน ตอนนี้มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเยอะมาก การแข่งขันเยอะมากจริง ๆ ตลาดดอทคอมเจอความท้าทายในแต่ละยุคแต่ละสมัย ยุคแรกความท้าทายคือ ตลาดไม่พร้อมเลย ยุคนี้ตลาดพร้อมแต่ผู้เล่นในตลาดเยอะมากเช่นเดียวกัน

“จุดที่น่าภูมิใจ คือ สามารถนำพาบริษัทแรกที่ก่อตั้งขึ้นมา อยู่กับมันมา 20 กว่าปี ที่ผ่านมา คือ ตลาดดอทคอมพัฒนาผู้ประกอบการไทยมาเยอะมาก ผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันหลายคนจุดเริ่มต้นด้วยตลาดดอทคอม อาทิ ร้านมั่นคงแก็ดเจ็ท ขายหูฟัง ตอนนี้มีสาขาเต็มทั่วบ้านทั่วเมือง เริ่มต้นจากใช้แพลตฟอร์มตลาดดอทคอม หรือ ProPlugin โปรปลั๊กอิน ก็เช่นกัน ธุรกิจเหล่านี้เริ่มต้นใช้ตลาดดอทคอมก่อนจนทุนวันนี้ธุรกิจขยายเติบโต ความภูมิใจ คือ เราได้พัฒนาผู้ประกอบการไทย จากที่เขาไม่เคยคิกว่านั่นคือ อีคอมเมิร์ซ จนทุกวันนี้เขาเหล่านี้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ คือ เราเป็นต้นแบบ (Role Model) ให้กับน้อง ๆ ในวงการด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เราโตขึ้นมา น้อง ๆ ก็ดูเราเป็นต้นแบบ

ภาวุธไม่ได้ทุ่มเทเวลาในการสร้างเฉพาะตลาดดอทคอม แต่ทุ่มเทเวลาทำงานสังคมด้วย อาทิ สมาคมเว็บมาสเตอร์ สร้างสมาคมอีคอมเมิร์ซ สมาคมอีเปย์เมนท์ ธุรกิจตลาดดอทคอมเติบโต อุตสาหกรรมก็มีองค์ประกอบอื่น ๆ เติบโตด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ภาวุธยังทำงานกับภาครัฐ ต่อสู้เรื่องกฎหมายที่ส่งผลทระกบต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นอาจารย์ ภาวุธทำงานทุกภาคส่วน ทั้งตลาดดอทคอมและภาวุธได้พยายามผลักดันอุตสาหกรรมด้านอีคอมเมิร์ซมาตลอดเกือบ ๆ 20 กว่าปีที่ผ่านมา

แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายมาตลอดหลายปี คือ รูปแบบธุรกิจของตลาดดอทคอม คือ รูปแบบธุรกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และการแข่งขันสูง บางยุคมีขึ้นมีลง การซื้อมาขายไปของธุรกิจ ทำให้รู้สึกว่าตัดสินใจผิด อาทิ ทำไมขายให้ญี่ปุ่น ซึ่งมีบางช่วงที่ทำงานลำบากมาก เพราะความไม่เข้าใจกันกับพันธมิตรธุรกิจ แต่ตอนจบก็ดีกันทั้งหมด

ความเสียใจไม่ค่อยมี มันเป็นแค่ทางผ่านอันหนึ่ง ที่ตลาดดอทคอมลงไปเยอะ แต่ก็กลับมาอยู่จุดเดิมได้ไม่ยาก แต่จุดหนึ่งที่ผมคิดว่าเราน่าจะไปได้เร็วกว่านี้ เพราะวันนี้จะเห็นว่าการแข่งขันสูงมาก ถ้าตอนนั้นเราสามารถวิ่งทะลุผ่านได้ ตอนนี้ตลาดอทคอมอาจจะกลายเป็นเบอร์ที่ 3 ในตลาด รองจาก Lazada และ Shopee แต่เราดันลงมาก่อน หากเรามีเม็ดเงินมาลงทุน เราจะกลายเป็นผู้ประกอบการคนไทยเบอร์ต้น ๆ ยืนเคียงข้างต่างชาติ ซึ่งตรงนี้ผมยังทำได้ไม่ดีเท่าไร”

ตลาดอีคอมเมิร์ซยังเป็นโอกาสของคนไทย ยุคแรกเป็นตลาดภายในประเทศ ตลาดแยกชัดเจน แต่ตอนนี้ตลาดเป็นการบูรณาการกันระหว่างโซเซียลมีเดีย เว็บไซต์ มาร์เก็ตเพลส ช่องทางมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ก้าวต่อไปของอีคอมเมิร์ซ คือ การขายออกตลาดต่างประเทศ หรือ cross border

ยุคต่อไปน่าสนใจ ประเทศไทยมีสินค้าจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการไทยยังไม่มีความพร้อมในการนำสินค้าออกไปขายต่างประเทศมากนัก ซึ่งหากมีผู้เล่นเข้ามาช่วยผู้ประกอบการไทยออกไปขายต่างประเทศได้มากขึ้น มากกว่าให้เขานำสินค้าจีนมาขายในไทย

ตรงนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในไทยไปได้ไกลมากขึ้น และช่วยเศรษฐกิจของชาติได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

ซึ่งความพร้อมของผู้ประกอบการไทยยังมีไม่มาก เพราะด้วยข้อจำกัดเรื่องภาษา และแพลตฟอร์ม ตอนนี้มีผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่ไป cross border แต่ไปบนแพลตฟอร์มของต่างชาติ อาทิ อาลีบาบา, อีเบย์​, อะเมซอน เป็นต้น และยังเป็นขนาดเล็ก ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งภาษา ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ทีมงาน และเงิน ฉะนั้น หากมีแพลตฟอร์ม หรือคนเข้ามาช่วยตรงนี้ได้มากขึ้น ผู้ประกอบการจะไปได้เร็วมากขึ้น เหมือนหลายประเทศที่เขาพยายามส่งออกไปต่างประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ ไต้หวัน และมาเลเซีย เริ่มมาให้ความสำคัญกับตรงส่วนนี้มากขึ้น

ความอยู่รอดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือ GMV และกำไร ขึ้นกับว่าอยู่ระยะไหนของธุรกิจ ขึ้นกับว่ามีเงินทุนมากน้อยขนาดไหน หากมีเงินทุนมากเพียงพอ อาจจะไม่ต้องสนใจเรื่องกำไรในระยะแรกหรือระยะกลาง เพราะจะอยู่รอดจนไปกำไรในระยะเก็บเกี่ยวในระยะไกล แต่หากมีเงินทุนไม่มากพอ จะต้องรีบออกตัวและทำกำไรให้ได้ในระยะแรก ฉะนั้น ต้องประหยัดและมองรายได้ทุกอย่าง

ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องประเมินตัวเองว่าอยู่ในระดับไหนของอีคอมเมิร์ซ แต่สุดท้ายจะต้องสามารถอยู่รอดและทำกำไรได้ ซึ่งจะเลือกใช้กลยุทธ์ไหน ต้องประเมินคู่แข่ง ความพร้อมของตัวเอง ความพร้อมของลูกค้า และความพร้อมของตลาดประกอบกัน ธุรกิจต้องหาช่องว่างที่มีอยู่กระโดดเข้าไป

“เป้าหมายของตลาดดอทคอม คือ เป็นผู้ประกอบการที่ทำให้ผู้ประกอบการคนไทยแข็งแรงมากขึ้น DNA ของเราคือ empowerment เราต้อง empower ให้ผู้ประกอบการไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น ยิ่งผู้ประกอบการไทยแข็งแรงมากขึ้นเท่าไร ด้วยเทคโนโลยีที่เรามี ยิ่งผู้ประกอบการไทยโต คนที่มาใช้เทคโนโลยีเราโต เราจะโตไปพร้อมกับเขาด้วยเหมือนกัน”

TCC Group เข้ามาช่วยทำให้พื้นฐานธุรกิจของตลาดดอทคอมมีความแข็งแรงมากขึ้น ทำให้การก้าวเดินแต่ละก้าวของตลาดดอทคอมมีความมั่นคงมากขึ้น

“เรามีการคุยกันเรื่อง business synergy กัน ว่าจะเอาเทคโลโลยีที่ตลาดดอทคอมมีเข้าไปประสานในกลุ่มธุรกิจของ TCC Group อยู่ในช่วงของการเตรียมการที่จะเปิดตัว”

ช่วง 2 ปีที่มาอยู่กับกลุ่มทีซีซี เป็นช่วงเวลาของการปรับตัวทำงานร่วมกัน วางโครงสร้างพื้นฐานการทำงานให้มีความแข็งแรง และตอนนี้เริ่มมีโปรเจกต์ภายในร่วมกันเพื่อที่จะเริ่มก้าววิ่งไปข้างหน้าด้วยกัน

“ตลาดดอทคอมมีข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการซื้อการขาย มีแพลตฟอร์ม มีเทคโนโลยี และมีคน สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยบริษัทลูกของกลุ่มทีซีซีสามารถเข้าใจพฤติกรรมมคนได้มากขึ้น เข้าใจการซื้อการขายมากขึ้น เพราะตอนนี้ข้อมูล คือ หัวใจของธุรกิจ”

ตลาดดอทคอมไม่ได้ถูกขายให้กลุ่มทีซีซีทั้งหมด ภาวุธยังถือหุ้น 49% และยังเป็นผู้บริหารของกลุ่มบริษัทตลาดดอทคอมเต็มตัว คุมทิศทางของกลุ่มตลาดดอทคอม

“ผมยังไม่ exit ตลาดดอทคอม แต่เรามีพี่ใหญ่มาช่วยหนุนหลังเรา ที่ยังไม่ exit หรือขายทั้งหมด เพราะตลาดดอทคอมเป็นเหมือนชีวิตของผม มีอะไรที่เรายังสนุกอยู่กับมัน แต่ก็เตรียมวางแผน เพราะตอนนี้มีธุรกิจในมือที่ต้องบริหารค่อนข้างเยอะ และบางธุรกิจที่ไม่ได้บริหารเองก็มีผลประกอบการที่ดี”

ปัจจุบันกลุ่มตลาดดอทคอมเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร (Total e-commerce solution) ธุรกิจภายใต้กลุ่มบริษัทตลาดดอทคอม คือ U Commerce เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โฆษณาออนไลน์ การศึกษา และ e-payment โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ธุรกิจภายในกลุ่มทีซีซี กลุ่มภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องการก้าวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ

ยุทธศาสตร์ของกลุ่มตลาดดอทคอม คือ ตลาดในประเทศไทย โดยตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด

“แต่ไม่ใช่เบอร์หนึ่งในมาร์เก็ตเพลส เพราะมาร์เก็ตเพลสใช้เงินเป็นหมื่น ๆ ล้านทุ่มตลาด ซึ่งจะชนะเมื่อใดไม่รู้ แต่เราต้องการเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ช่วยผู้ประกอบการไทยให้แข็งแรงมากขึ้น เหมือนเรากลับไปตลาดดอทคอมยุคแรกที่เน้นช่วยกลุ่มธุรกิจ แต่ยุคที่ที่ Rakuten เข้ามา เราพยายามลงไปถึงผู้บริโภค ซึ่งการลงไปถึงผู้บริโภคโดยตรงใช้เงินมหาศาล เรากลับมาจุดที่เรามีความพร้อมและความได้เปรียบ คือ เป็นแพลตฟอร์ม B2B2C ที่ทำให้ธุรกิจมีความแข็งแรงมากขึ้นและลงไปถึงผู้บริโภค”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-บล็อกเชน หนุนสินทรัพย์ดิจิทัล สกุลเงินคริปโต โตก้าวกระโดด
-TESF ชี้ กม.อีสปอร์ต ไม่จำเป็นต้องร่าง แนะสอนเด็กเล่นเกมถูกวิธีเสริมความรู้
-ขยายฐานแฟน-สร้างช่องทางรายได้ใหม่ ทางรอดธุรกิจ “ไอดอล”
-“ออนไลน์ มีเดีย” เกิดง่าย ตายง่าย ตัวจริงเท่านั้นที่รอด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ