TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอนาคตธุรกิจค้าปลีก ต้องเป็นทั้ง ออนไลน์ และ ออฟไลน์

อนาคตธุรกิจค้าปลีก ต้องเป็นทั้ง ออนไลน์ และ ออฟไลน์

เมื่อสิงคโปร์เผยคาดการณ์นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีกหลังยุคโควิด-19 แนะผู้ประกอบการต้องหันไปรุกตลาดออนไลน์ แต่ก็ต้องไม่ลืมรักษา “หน้าร้าน” ไว้ เพื่อตลาดออฟไลน์

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้สร้างบาดแผลทางธุรกิจอย่างหนักหน่วงให้แก่เศรษฐกิจสิงคโปร์ไว้มากมาย โดยอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดและเลวร้ายที่สุด ยืนยันได้จากยอดขายของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกที่ปรับตัวลดลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 52.1% ในช่วงเดือนพฤษภาคม หลังรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์มาแล้ว 2 เดือน

ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนมิถุนายน ที่เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อเปิดทางให้ภาคธุรกิจทั้งหลายกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติ ยอดขายสินค้าของธุรกิจค้าปลีกในเดือนมิถุนายน กลับยังคงอ่อนแอ โดยลดลงไปเกือบ 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติย่อมมีโอกาส ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค่อนข้างสิ้นหวังกับยอดค้าปลีก ตัวเลขยอดขายสินค้าทางออนไลน์กลับพุ่งทะยานสวนทางกับยอดค้าปลีกแบบออฟไลน์ โดย Barnabas Gan นักเศรษฐศาสตร์จาก UOB พบว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ในเดือนมิถุนายน พุ่งทะยานถึง 151.2%

เว็บไซต์ Channel News Asia (CNA) ของสิงคโปร์ ประมวลความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ถึงอนาคตของธุรกิจค้าปลีกในประเทศพบว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในสิงคโปร์ ให้หันไปเลือกซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น แถมเป็นการซื้อสินค้าทุกอย่างในทุกประเภท
ไล่เรียงตั้งแต่ อาหารสด ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงอุปกรณ์ฟิตเนสของเล่นเด็ก และอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อตอบโจทย์นโยบาย Work from Home ของหลายบริษัท

James Chang ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Lazada สิงคโปร์ กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคแต่เดิมจะเลือกหาสินค้าที่ตนสนใจเท่านั้นบนโลกออนไลน์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าลูกค้าเลือกที่จะมีเลือกดูเลือกหาและเลือกซื้อสินค้าจากเว็บไซต์มากขึ้น

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ผู้บริโภคมองเว็บไซต์เหมือนเป็นห้างสรรพสินค้าที่เดินทางไปเยือนครั้งหนึ่งก็จะเดินเลือกชมสินค้าแทนที่จะพุ่งไปที่ชั้นวางหรือร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งเพื่อซื้อสิ่งที่ตนต้องการแล้วเดินทางจากไปนั่นเอง

ทั้งนี้ ในช่วงล็อกดาวน์ Redmart แพลตฟอร์มซูเปอร์มาร์เก็ตของ Lazada มีผู้ซื้อเพิ่มมากขึ้นกว่า 50% ขณะที่จำนวนของแบรนด์สินค้า ผู้ขายและซัพพลายเออร์บนแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ของ Lazada เอง ก็มีมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ข้องแวะกับธุรกิจผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น ส่วนหนึ่งนอกจากโควิด-19 แล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากช่องทางการตลาดอย่าง live streaming ที่ช่วยเพิ่ม engagement ระหว่างลูกค้ากับเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์

โดย Lazada พบว่า live streaming มีส่วนช่วยเพิ่มยอดขายของเว็บในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 40%

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า อนาคตของธุรกิจค้าปลีก ก็คือ การรุกเข้าหาโลกออนไลน์ ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่สอดคล้องและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของลูกค้าบนโลกออนไลน์ โดยอาศัยช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ เช่น Facebook Live, Live streaming ตลอดจน Digital Messaging ต่าง ๆ

Audio House ผู้ประกอบการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าในสิงคโปร์ ระบุว่า หลายเดือนที่ผ่านมา ทางร้านได้ลงทุนจ้างพนักงานเพื่อทำ Facebook Live โดยเฉพาะ ซึ่งผลปรากฎว่าคุ้มค่า โดย Joanne Ho ผู้อำนวยการการตลาดกล่าวว่า ต่อให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง แต่หากลูกค้าได้รับข้อมูลที่ต้องการอย่างเพียงพอ ลูกค้าเหล่านั้นก็พร้อมที่จะควักเงินจ่ายสินค้าผ่านโลกออนไลน์

กระนั้น นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า แม้โลกออนไลน์จะเป็นหนึ่งในหนทางสำคัญเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจค้าปลีกในสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผู้บริโภคอาจเริ่มต้นด้วยการเลือกดูสินค้าบนโลกออนไลน์ ก่อนจบลงตัดสินใจซื้อด้วยการเดินทางไปดูสินค้าที่ร้าน

เรียกได้ว่า นอกจากต้องรุกออนไลน์แล้ว การตลาดแบบออฟไลน์ก็ต้องไม่ทิ้งด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าพฤติกรรมการซื้อจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ความคาดหวังของผู้บริโภคยังคงเหมือนเดิม

ซึ่ง Olivier Gergele หัวหน้าฝ่ายค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคประจำภูมิภาคอาเซียนของ EY กล่าวว่า ผู้บริโภคยังคงต้องการความสะดวกสบายในการหาสินค้าเจออย่างรวดเร็ว ได้ซื้อในสิ่งที่ตนเองต้องการในที่ที่เหมาะสม และในราคาที่เหมาะสม (the right place at the right time) อยู่ดี

เพื่อให้ยืนหยัดอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่ง ทาง EY มองว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ กลยุทธ์หลากสื่อหลายช่องทาง เพื่อรักษาการมีส่วนร่วมของลูกค้าบนโลกออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ สรรหาสินค้าให้มีความหลากหลาย ให้ความสนใจกับการทำการตลาดออนไลน์ แต่ก็ไม่ลืมที่จะลงทุนในเรื่องของออฟไลน์ โดยเฉพาะ การยกระดับบริการและกระบวนการหลังการขาย

ด้าน Zalora แพลตฟอร์มค้าปลีกสินค้าแฟชั่นออนไลน์ กล่าวว่า อีกตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ก็คือ การลงทุนในระบบประมวลวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อดูทิศทางและคาดการณ์แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาด ซึ่ง Zalora มองว่า การวิเคราะห์ข้อมูลจะทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งการมีระบบ ประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ยังส่งผลต่อระบบห่วงโซ่ซัพพลาย และเครือข่ายผู้ผลิต ทำให้สามารถหาสินค้าที่ลูกค้ากำลังสนใจและจัดส่งได้อย่างรวดเร็ว

เฉพาะช่วงไตรมาสที่สองที่ผ่านมา ระบบประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ Gunjan Soni ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Zalora พบว่า มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของบริษัทเกือบ 2 ล้านครั้ง และสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้น คือสินค้าในกลุ่มกีฬา สุขภาพ การดูแลอนามัยส่วนบุคคล ความงามและสินค้าสำหรับเด็ก ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 70%

แม้ทิศทางจะชัดเจนมาโลกออนไลน์ แต่ทั้ง Lazada และ Zalora ยอมรับตรงกันว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งหลายก็ยังไม่อาจพึ่งพาค้าปลีกออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ได้ 100% โดยการเป็นที่รู้จัก จดจำและยอมรับแบรนด์สินค้าบนโลกออนไลน์ยังมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เหตุผลเพราะผู้บริโภคในตลาด ยังคงต้องการประสบการณ์ที่จะได้สัมผัสสินค้า หรือมีปฎิสัมพันธ์กับตัวสินค้าจากร้านค้า

ดังนั้น ผู้ค้าปลีกจึงจำเป็นต้องสร้างหน้าร้านเพื่อให้แน่ใจว่า จะสามารถเติมเต็มความต้องการหรือความคาดหวังของลูกค้าได้อยู่เสมอ อีกทั้ง ที่ผ่านมา ยังมีการค้นพบว่า แบรนด์ที่มีร้านค้าตั้งอยู่ชัดเจน มักได้รับการยอมรับและจดจำจากผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ได้ดีกว่าและรวดเร็วกว่าแบรนด์ที่ไม่มีหน้าร้านของตนเอง

ที่มา Channel News Asia

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ