TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewThe Zero โฟกัสคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม สมดุลความหลากหลาย

The Zero โฟกัสคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม สมดุลความหลากหลาย

เอ็ม-ขจร เจียรนัยพานิชย์ บรรณาธิการบริหาร บริษัท The Zero Publishing กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เป้าหมายของ The Zero คือ เปิดเว็บเฉพาะทางหลาย ๆ เว็บไซต์ และให้มีจำนวนหนึ่งที่ติด Top 3 ของประเทศ ปัจจุบันเปิดมา 4 ปี มีเว็บในเครือ 5 เว็บ และติด Top5 อยู่หลายเว็บ ทั้ง Parentsone, MangoZero, Thumbsup, Rainmaker

บริษัทเติบโต 2 เท่าทุกปี ปีแรกมีรายได้ 5.6 ล้านบาท ปีที่สองมีรายได้ 10 ล้านบาท และปีล่าสุด (2019) มีรายได้ 18 ล้านบาท การเติบโตมากจากการที่วางโมเดลแบบสตาร์ตอัพ คือ ทำหลาย ๆ เว็บ เพราะธุรกิจออนไลน์ยังโตได้อีกมาก ยังมีอะไรสนุก ๆ ให้ทำอีกมาก ทุกวันนี้ยังลองปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่าง

“ธุรกิจตอนนี้ค่อนข้างโอเคระดับหนึ่ง รายได้ปีนี้ ตอนแรกคาดการณ์ไว้ที่ 20 ล้านบาท เพราะอยากเติบโตแบบยั่งยืนจะไม่โตก้าวกระโดด แต่ปีนี้เจอวิกฤติโควิด-19 ทำให้อาจจะต้องปรับเป้ารายได้ลงเหลือประมาณ 13-14 ล้านบาท ขอให้บริษัทไม่ขาดทุนและยังพอมีผลกำไรบ้าง ผ่านมาเกือบครึ่งทางรายได้ค่อนข้างดี และคาดว่าจะจบปีด้วยเป้าที่วางไว้”

4 ปีที่ผ่านมา The Zero มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากโฆษณา 80-90% ก่อนที่ในปี 2019 เริ่มทำอีเวนต์ ทำจัดอบรม และงานของเอเจนซี่บ้าง ในปี 2020 วางเป้าไว้ว่ารายได้จากโฆษณาไม่ควรจะเกิน 60% ของทั้งบริษัท

เอ็ม มองว่า “การฝากชีวิตไว้กับรายได้ทางเดียวมีความเสี่ยง” ประกอบกับเจอวิกฤติโควิด-19 รายได้จากโฆษณาเหลือแค่ครึ่งเดียว รายได้อื่นมาจากการทำอีเวนต์ จัดอบรม ทำคอนเทนต์ให้แบรนด์ ขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ให้แพลตฟอร์มอื่น ๆ รวมถึงการการสร้างแบรนด์ร่วมทำคอนเทนต์

“ข้อดี คือ เรามีตัวเลือกเพิ่มในช่วงที่งบโฆษณาน้อย เราสามารถไปเน้นธุรกิจตัวอื่นได้ แต่เมื่องบโฆษณากลับมาเราก็มีความยืดหยุ่นในการบริหาร”

ในวิกฤติรอบนี้ที่ทำให้งบโฆษณาลดลงจึงมีการปรับทีมงานบางส่วนจากเดิมที่บางคนทำคอนเทนต์ 100% ก็ปรับลดลงมาและให้ไปทำงานโปรเจกต์อื่น ๆ มากขึ้น ความยากคือทำอย่างไรให้คนมีความสุขกับการทำงานรูปแบบนี้ อีกส่วนคือจะบริหารอย่างไรให้คอนเทนต์ในเว็บไซต์ไม่เสีย และได้งานลูกค้า ซึ่งเป็นความท้าทาย

ให้คอนเทนต์เป็นตัวหาเงิน

เอ็ม กล่าวต่อว่า แต่ธุรกิจอื่น ๆ ก็อาจจะต้องมีแผนกเซล หรือต้องมีคนเข้ามาทำเรื่อง Branding เพิ่มเข้ามา ตอนที่ทำอีเวนต์ทำให้เข้าใจว่า “ถ้าอีเวนต์ดีโฆษณาจะเข้า แต่กลับไม่ใช่” เพราะธุรกิจอีเวนต์เป็นธุรกิจที่ต้องการการเข้าไปพูดคุย เข้าไปแนะนำตัว ซึ่ง iCreator Conference 2019 มีสปอนเซอร์น้อยมาก จึงใช้วิธีติดต่อไปหาสปอนเซอร์ทุกคน ทำให้งาน iCreator Conference 2020 มีสปอนเซอร์เข้าเต็ม 100%

ทีมงาน The Zero มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 24-25 ปี ซึ่งถือว่าเด็กมาก ข้อดี คือ คนกลุ่มนี้มีพลังมากและมีความพร้อมในการปรับตัวสูง หลายคนจะบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ชอบเปลี่ยนงานบ่อย แต่สิ่งที่พบคือถ้าบริษัทมีความท้าทายใหม่ ๆ ให้เด็กรุ่นนี้อยู่เสมอ มีเป้าหมายใหม่ให้ลองทำ เด็กรุ่นนี้พร้อมที่จะสนุกไปกับมัน และพร้อมสู้

“หลายคนบอกว่าบริษัทที่มีเด็กมากเวลารับงานลูกค้าจะค่อนข้างมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่เราเปิดบริษัทมา 4 ปีตำแหน่งที่เราไม่เคยมีเลยคือตำแหน่งเซล เราเป็นบริษัทสื่อที่ไม่มีเซล เพราะเราเชื่อว่าถ้าคอนเทนต์เราดีโฆษณาจะเข้า 4 ปีที่ผ่านมาก็เป็นข้อพิสูจน์ว่ามีโฆษณาเข้ามาเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่ต้องวิ่งไปขาย”

สมดุลความหลากหลายให้คงคุณภาพ

ความท้าทายของการทำโมเดลนี้ คือ เมื่อบริษัทมีความหลากหลาย ทำอย่างไรจะสามารถดูแลคุณภาพของทุกเว็บในเครือได้ อีกส่วนคือ ความเข้าใจและความพร้อมในการปรับตัว

“หลายคนสงสัยว่า ทำไม The Zero ไม่ทำเว็บเดียว แต่ต้องเปิดเว็บใหม่ทุกปี บ้างปีเปิด 2 เว็บ เพราะผมโตมาในยุคที่สื่อเว็บเป็นเว็บพอร์ทัลขนาดใหญ่มาก อาทิ sanook.com, kapook.com, hunasa.com พอเข้าไปเว็บใหญ่ ๆ จะเจอหมวดย่อย อาทิ ผู้หญิง ผู้ชาย และรถยนต์ เป็นต้น ยุคสมัยนี้โลกเปลี่ยน เป็นยุคของโซเชียลมีเดีย อัลกอรึทึมของโซเชียลมีเดียจะให้เรามองเห็นอะไรบ้าง ผมคิดว่า ยุคนี้ถ้าคนอยากทำสื่อให้ใหญ่อาจจะไม่ใช่เว็บเดียวใหญ่ ๆ แล้ว กลายเป็นเว็บที่เฉพาะกลุ่มมาก ๆ แต่มีหลายเว็บแทน เราเลยใช้วิธีเปิดเว็บใหม่ทุกปี ปีละเว็บสองเว็บ และตั้งเป้าว่าภายใน 6 ปีจะมีเว็บในเครือประมาณ 10 เว็บ”

5 เว็บไซต์ของ The Zero มีทีมงาน 24 คน เป็น Account Executive 3 คน คนตัดต่อวีดีโออย่างเดียว 4 คน ที่เหลือจะเป็นคนที่ทำคอนเทนต์อย่างเดียวเฉลี่ย 3-4 คนต่อเว็บไซต์

“เราเป็นเว็บไซต์ระดับกลาง ไม่ได้โพสต์ข่าวทุกชั่วโมง แต่เน้นว่าทุกวันจะต้องมีเสน่ห์ของตัวเอง คนเห็นแล้วจะต้องจำได้ ผมกลับพบว่าการที่เราไม่โพสต์มาก แต่ไปเน้นที่คุณภาพ กลับทำให้ลูกค้า คนอ่าน และสปอนเซอร์ชอบมากกว่า”

เว็บไซต์แรก Mango Zero เอ็มต้องอาศัยการลองผิดลองถูก แต่เมื่อเปิดเว็บที่ 2 ก็สามารถใช้องค์ความรู้เดิมที่มี โดยปรับแค่ส่วนหัว คือ กลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไป สุดท้ายพบว่าองค์ความรู้สามารถตอบโจทย์การทำธุรกิจออนไลน์ได้ ถ้ามีแกนที่แข็งแรงจะสามารถเปิดเว็บไซต์ใหม่ ๆ ได้ไม่ยาก สามารถสร้างเพจใหม่ ๆ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ สามารถทดลองอะไรใหม่ ๆ ได้

การเข้าใจคนอ่านเป็นอีกศาสตร์ที่เข้าใจยาก ถ้าบริษัทไม่ได้คลุกคลีกับคนในกลุ่มนั้นจริง ๆ เอ็ม ยกตัวอย่างเว็บไซต์ Parentsone ที่ทีมงานทั้งหมดไม่ได้มีลูกจึงไม่อินและไม่เข้าใจคอนเทนต์ แต่เมื่อได้ไปสัมผัสกับเด็ก ๆ มีบรรณาธิการที่มีลูกจริง ๆ เข้ามาช่วยนำทาง ทีมงานก็เข้าใจมากขึ้น จากที่เคยตั้งโพสต์ เริ่มต้น 10:00-20:00 น. แต่สถิติพบว่าคนที่เข้าเว็บบางที่สุดกลับเป็นช่วง 21:30 น. แล้วยังพบอีกว่าช่วงเวลาทองของพ่อแม่คือช่วงเวลาที่ลูกหลับไปแล้ว จึงเปลี่ยนเวลาโพสต์ไปจบที่ 23:00 น. ทำให้ยอดคนดูเพิ่มขึ้นมาอีก 30 เปอร์เซ็นต์

ทำธุรกิจสื่อเพราะความรัก

“เอ็ม” ถูกถามบ่อย ๆ ว่า จบวิศวะคอมพิวเตอร์ รายได้ก็ดี ทำไมมาทำธุรกิจสื่อ “เอ็ม” ตอบกลับว่า ส่วนตัวอยากเรียนนิเทศศาสตร์อยู่แล้ว แต่หัวไปทางวิศวะ ซึ่งพบว่า 10 ปีที่ทำงานวิศวะก็มีความสุขแต่ในใจลึก ๆ ก็รู้สึกว่ายังมีอีกอย่างหนึ่งที่อยากทำอยู่ และถ้าไม่ทำก็อาจจะจบชีวิตไปโดยที่เสียดายที่ไม่ได้ทำ

ประสบการณ์ 10 ปี กับงานวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะผันตัวมาทำอาชีพบล็อกเกอร์ 3 ปี เพื่อเลี้ยงชีพ “เอ็ม-ขจร เจียรนัยพานิชย์” เห็นความน่าสนใจของธุรกิจสื่อออนไลน์ ประกอบกับการเป็นฟรีแลนซ์มีข้อจำกัดหลายอย่าง อาทิ การยอมรับในสังคม ไม่สามารถกู้เงินซื้อบ้านซื้อรถได้ และธุรกิจฟรีแลนซ์ (บล็อกส่วนตัว) ไม่สามารถส่งต่อให้ใครได้ จึงตัดสินใจทำธุรกิจสื่อในปี 2016

ความโชคดีอย่างหนึ่ง คือ สื่อออนไลน์มันมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นไอทีสูงมาก เช่น เมื่อ Facebook ประกาศว่าสามารถทำถ่ายทอดสดแบบ 360 องศาได้ “เอ็ม” ใช้เวลาแค่ครึ่งวันก็สามารถเรียนรู้และทำได้ ในวันที่มี TikTok เข้ามาก็ใช้เวลาเรียนรู้อัลกอริทึม ภายใน 1 เดือน การมีพื้นฐานด้านไอทีทำให้ได้เปรียบคนทำสื่อออนไลน์หลาย ๆ คน แต่ข้อเสีย ก็คื ออาจจะไม่ได้เข้าใจเรื่องการสื่อสารเท่ากับคนที่เรียนนิเทศศาสตร์

“ผมเชื่อว่าถ้าเราทำด้วยความรักและความชอบ เมื่อตื่นเช้ามารู้สึกอยากทำงาน ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าเรารู้สึกแบบนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีความสุขและประสบความสำเร็จได้”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-STAGE Cafe ชูจุดขาย “เวทีของคนรักกาแฟ”
-AIS เตือน/เตรียม ความพร้อม “วิถีชีวิตหลังวิกฤติ” ให้คนไทย
-“ตลาดดอทคอม” อีคอมเมิร์ซ ของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย
-บล็อกเชน หนุนสินทรัพย์ดิจิทัล สกุลเงินคริปโต โตก้าวกระโดด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ