TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistซีพี ซื้อ "เทสโก้" ผูกขาดหรือไม่

ซีพี ซื้อ “เทสโก้” ผูกขาดหรือไม่

ในระหว่างที่การเมืองกำลังชุลมุนฝุ่นตลบหลาย ๆ คนจึงมองข้ามหลาย ๆ เรื่องหนึ่ง คือ กรณี “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ซึ่งกรรมการเสียงข้างมากมีมติอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

คณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า “การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม”

ขณะที่เสียงข้างน้อยออกมาแถลงภายหลังว่า “การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท ทั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

“เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย”

น่าสนใจ คณะกรรมการชุดเดียวกันเห็นต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือแบบเสียงก้ำกึ่ง 4 ต่อ 3 โดยพ่วงเงื่อนไขเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา เช่น

  • ให้ซีพีและเทสโก้เพิ่มสัดส่วนยอดขายของ SME ประกอบด้วย OTOP และวิสาหกิจชุมชนในอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 10% เป็นเวลา 5 ปี
  • ให้เทสโก้คงเงื่อนไขตามสัญญากับซัพพลายเออร์เดิมเป็นเวลา 2 ปี และ
  • ให้ซีพีและเทสโก้กำหนดสินเชื่อการค้าระยะเวลา เครดิตเทอม เป็น 30-45 วัน เฉพาะสินค้าจาก SME เป็นต้น แต่ความเป็นจริงไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่

ย้อนอดีตไปยุคก่อน “วิกฤติต้มยำกุ้ง” กลุ่มซีพีมีธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกอยู่ในมือเกือบครบวงจรตั้งแต่ แมคโคร ที่เป็นธุรกิจค้าส่งขาย เทสโก้ โลตัส เป็นธุรกิจค้าปลีก เรียกกันว่า “ดีสเคาท์สโตร์” และ 7-11 เป็นร้านสะดวกซื้อ

หลังเกิดวิกฤติจำเป็นต้องตัดอวัยวะรักษาชีวิตโดยขายแม็คโครและเทสโกโลตัสทิ้ง ยังคงเหลือไว้แต่ 7-11 กระทั่งในปี 2556 ซีพีก็ซื้อแมคโครกลับ และเมื่อต้นปีก็ซื้อเทสโก้ โลตัส

คุณธนินท์เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า “เทสโก้ โลตัส เป็นลูกของผม ตอนวิกฤติผมขายไป ฝากคนอื่นไปเลี้ยง ทีนี้คนที่เลี้ยงจะขายลูกผมออกมา ผมต้องซื้อ แต่ซื้อแล้วต้องเป็นประโยชน์ …. แม็คโคร คือ ค้าส่ง” ขายให้โชห่วย ขายให้ภัตตาคาร ส่วน “เทสโก้ โลตัส เป็นค้าปลีก” ขณะที่ “เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นร้านสะดวกซื้อ” คือ ใกล้บ้าน และว่า 3 ธุรกิจนี้ทั่วโลกไม่เอามาบวกกัน”

“เซเว่นอีเลฟเว่นขายสะดวก แม็คโครขายส่ง ผมจะผูกขาดได้อย่างไร เพราะว่าบิ๊กซี กับเทสโก้ โลตัส แข่งกันอยู่ ถ้าผมไม่ซื้อเขาก็แข่งกันอยู่อย่างนี้ ผมซื้อเทสโก้ โลตัส มาก็เป็นคู่แข่งกันเหมือนเดิม แทนที่จะอยู่ในมือของอังกฤษ มาอยู่ในมือคนไทย … ข้างนอกคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ผมวิเคราะห์ให้ฟังว่า มันแข่งกันอยู่แล้ว ถ้าผมซื้อมาหมด ไม่มีใครแข่ง นี่อีกเรื่องหนึ่ง … ความจริง เทสโก้ โลตัส เป็นของผมมาก่อน ที่ทำตอนนั้น บิ๊กซียังไม่มีเลย แล้ววันนี้ผมซื้อกลับมา ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยทำธุรกิจตัวนี้”

หลายคนก็คงจะถามว่า ก่อนปี 2540 ทำไมไม่มีการตีความกรณีผูกขาด ก็ต้องบอกว่าตอนนั้นกฏหมายไม่เข้มแข็งคณะกรรมการไม่สนใจเรื่องพวกนี้ แต่ทุกวันนี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีความเป็นอิสระมากขึ้นจึงหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา

อย่างไรก็ตามในระยะสั้นคงจะไม่กระทบผู้บริโภค แต่ที่น่าห่วง คือ “ซัพพลายเออร์” ที่เป็น SME ของคนไทย อำนาจต่อรองยิ่งจะน้อยลงกว่าเดิม และในการรวมกันยิ่งทำให้ช่องทางจำหน่าย ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท และเทสโก้ โลตัส มีสาขามากกว่า 2,000 สาขา เท่ากับว่าค่ายซีพียิ่งมีอำนาจการต่อรองมากขึ้นอย่างมหาศาล นี่คือสิ่งที่ซัพลลายเออร์และหลายคนกังวล

เรื่องนี้สังคมควรต้องถกเถียงกันในวงกว้างว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าจะมองว่าแบบแยกส่วนว่าแต่ละธุรกิจแบ่งกลุ่มลูกค้าชัดเจนเป็นคนละกลุ่มกันก็อาจจะไม่เข้าข่าย แต่ถ้ามองในมิติของรายได้หรือส่วนแบ่งตลาดรวมกันก็อาจจะเข้าข่ายผูกขาดจึงต้องมองหลายมิติและเป็นธรรมทุกฝ่าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ