TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessนักวิชาการ-สอบ.รวมพลังค้านดีล "ทรู-ดีแทค" ฟันธงควบรวมผูกขาด วอนกสทช.ใช้กฎหมายป้องสิทธิผู้บริโภค

นักวิชาการ-สอบ.รวมพลังค้านดีล “ทรู-ดีแทค” ฟันธงควบรวมผูกขาด วอนกสทช.ใช้กฎหมายป้องสิทธิผู้บริโภค

ทีมนักวิชาการ พร้อมด้วยตัวแทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) แสดงจุดยืนร่วมกันคัดค้านข้อตกลงการควบรวมกิจการของสองค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ “ทรูกับดีแทค” โดยให้เหตุผลชัดเจนว่าในเชิงวิชาการและกฎหมายการควบรวมครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อผู้บริโภค อีกทั้งเมื่อควบรวมแล้วจะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยกลายเป็นสิทธิผูกขาดอยู่ในมือของผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย ก่อนวิงวอนให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ใช้กรอบกำหนดทางกฎหมายหันมาปกป้องสิทธิผู้บริโภคอย่างจริงจัง

ความเห็นของนักวิชาการจากหลายแวดวงมีขึ้นระหว่างเสวนาออนไลน์ (consumer forum) ที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ดีล True – Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค” เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้รวบรวมนักวิชาการอิสระและในวงการกฎหมาย และสายเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนตัวแทนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามาร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจรจาควบรวมกิจการของทรูกับดีแทคที่จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการค่ายมือถือในประเทศไทยจาก 3 ราย ลดเหลือเพียง 2 ราย จะฉุดให้ไทยดินหน้าเข้าสู่ยุคการผูกขาดอีกครั้งหรือไม่ แล้วผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด 

สำหรับผู้ที่ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.), ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นายแพทย์ประวิทย์ สี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช., สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์ และผศ.ดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

ทั้งนี้ ความเห็นของนักวิชาการอิสระจากหลายแวดวงเห็นตรงกันว่า การควบรวมกิจการของทรูกับดีแทค ในมุมมองทางวิชาการผลลัพธ์ที่ออกมาคือการผูกขาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเท่านั้น แต่ในระยะยาวยังส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของไทย เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายและเครือข่ายโครงสร้างสัญญาณ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลตกอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย 

พร้อมกันนี้ วงเสวนายังได้ออกโรงเรียกร้องและคาดหวังให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยชอบทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้ประยุกต์ใช้แนวทางด้านกฎหมายโดยยึดผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก

สอบ.ยืนยันชัดเจน ไม่เห็นด้วยดีลควบรวมทรู-ดีแทค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ในการจัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิผู้บริโภค และตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการผูกขาดในกิจการต่าง ๆ  กล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่า จุดยืนของสอบ.ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือไม่เห็นด้วยกับการควบรวมของทรู-ดีแทคในครั้งนี้ 

เหตุผลชัดเจนเพราะการควบรวมจะทำให้ผู้บริการเครือข่ายสัญญาณมือถือที่มีอยู่เพียง 3 ราย ลดลงเหลือแค่ 2 ราย กลายเป็นว่าน้อยลงกว่าเดิม ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย ดังนั้น “ราคา” จึงกลายเป็นปัจจัยอ่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในตลาดอย่างแน่นอน 

“จากงานวิจัยในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ชัดเจนว่า จากผู้ให้บริการ 4 รายลดลงเหลือ 3 ราย ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายถึง 20% เพราะฉะนั้น ส่วนตัวคิดว่ารูปธรรมตอนนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนที่ผู้ให้บริการที่เรามีเพียง 3 รายครึ่งจะลดลงเหลือ 2 รายครึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” สารี กล่าว ก่อนเล่าถึงการดำเนินการล่าสุดที่สอบ.ออกมาขับเคลื่อนเพื่อให้คณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่ มีบทบาทเข้าไปกำกับดูแลดีลทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบรัดกุม 

ทีดีอาร์ไอเตือน ปล่อยผูกขาดฉุดศก.ดิจิทัลไทยล่ม 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายถึงภาพรวมและผลลัพธ์ของการควบรวมกิจการ โดยระบุว่า ผลกระทบของการควบรวมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ 1) ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพ มีนวัตกรรมที่ดีขึ้นและประหยัดต้นทุน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค กับ 2) เป็นการเพิ่มอำนาจในการผูกขาดตลาดจนส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ดังนั้น ปัจจัยพิจารณาการควบรวมกิจการจึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง การแข่งขันเสรีเป็นธรรมที่เอื้อให้ธุรกิจโต กับสิทธิของผู้บริโภคที่ควรมีทางเลือกและได้รับความคุ้มครอง

ทั้งนี้ หากมองในมุมของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล เป้าหมายหลักในการพิจารณาย่อมคำนึงถึงแต่เฉพาะผลดี-ผลเสียของผู้บริโภคเป็นหลัก เท่ากับว่า ถ้าการควบรวมกิจการทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงก็ต้องสั่งระงับ ขณะที่หากมีผลเสียบางส่วน รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถอนุญาตให้มีการควบรวมได้ ภายใต้ข้อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ แทน 

“ในเชิงวิชาการ การตัดสินว่าดีล ทรู-ดีแทค ว่าเป็นการผูกขาดหรือไม่ ให้พิจารณาจากปฏิกิริยาของผู้ประกอบการอีกรายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดีลข้อตกลงที่เกิดขึ้น ซึ่งหากว่ารายที่ไม่ได้ควบรวมคัดค้านการควบรวม หน่วยงานสามารถอนุมัติได้ แต่ถ้าไม่มีใครคัดค้าน หน่วยงานต้องไม่อนุญาต เพราะแสดงให้เห็นว่าการควบรวมนั้น ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในดีล ได้ประโยชน์จากตลาดที่คู่แข่งจะน้อยลง และกระจุกตัวอยู่แต่ในรายใหญ่ ๆ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ขณะเดียวกัน ดร.สมเกียรติย้ำว่า ในกรณีของดีลควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค มีหลักฐานและสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการแต่เป็นผลเสียต่อผู้บริโภค ดังนั้น ประเด็นนี้จึงชัดเจนว่าในทางวิชาการว่า ไม่เป็นประโยชน์และสมควรสั่งระงับ

เหตุผลเพราะดีล ทรู-ดีแทค จะทำให้เกิดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการอินเทอร์เน็ต โครงสร้างพื้นฐาน สายส่งเสาสัญญาณ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ซึ่งหากปล่อยให้ส่วนนี้ถูกผูกขาดเบ็ดเสร็จแล้ว จะส่งผลขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 

“ยิ่งเมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติกำลังรุกคืบเข้ามา จะยิ่งทำให้ไทยเผชิญกับการผูกขาด 2 ชั้น อีกทั้งในยุคที่โลกกำลังเข้าสู่จักรวาลเมตาเวิร์ส ที่ต้องใช้ดาต้าจำนวนมาก ถ้าราคาสูง จะทำให้การเข้าสู่โลกเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเป็นไปได้ยากขึ้น และไทยจะยิ่งยืนอยู่บนโลกได้ยากขึ้น หากไม่สามารถระงับหรือกำกับดูแลการผู้ขาดได้ จะทำให้ระบบการกำกับดูแลของภาครัฐทั้งหมดล้มเหลวไม่สามารถควบคุมดูแลใด ๆ ได้เลย” ดร.สมเกียรติ กล่าว 

แนะกสทช. วิเคราะห์สภาพตลาด หาผลดี-ผลเสียให้ชัดเจน

นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. กล่าวว่า การเข้าร่วมงานเสวนาในวันนี้ไม่มาในฐานะตัวแทนของกสทช. แต่ขอแสดงความเห็นในฐานะของคนที่ทำงานกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ก่อนย้ำว่า ในฐานะผู้มีอำนาจสิ่งที่ต้องใช้ก็คือข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยกสทช.ควรวิเคราะห์สภาพตลาด ผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป การจัดทำรายงานของที่ปรึกษาของเอกชนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ทั้งนี้ในมุมมองของนายแพทย์ประวิทย์ ประเด็นสำคัญที่ต้องมีข้อมูลยืนยันก็คือ โครงสร้างตลาดในปัจจุบันกับจำนวนผู้เล่นขั้นต่ำที่เหมาะสมว่าควรมีกี่ราย หมายความว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวิเคราะห์ว่าจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมที่เหมาะสมในประเทศไทยควรมีกี่ราย หากยังคงจำนวนผู้เล่นเท่าเดิม “ราคา” จะไม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งโดยปกติหลังควบรวม “ราคา” เฉลี่ยในตลาดจะเพิ่มขึ้นมากกว่า

ขณะเดียวกัน นายแพทย์ประวิทย์ ได้ยกตัวอย่างกรณีในสหภาพยุโรปที่เปิดให้มีการควบรวม แต่ให้คงจำนวนผู้ให้บริการไว้เท่าเดิม โดยอาศัยมาตรการเชิงโครงสร้างด้วยการมีคำสั่งให้กระจายทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น ให้กระจายคลื่นที่ถืออยู่จากการควบรวมแล้วไปให้กับรายใหม่ ให้กระจายโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น เสาสัญญาณ ขั้นต่ำ ไปให้กับรายใหม่ หรือในกรณีที่ไม่สามารถคงจำนวนผู้ให้บริการมือถือไว้เท่าเดิมได้ ก็ต้องเพิ่มจำนวนผู้เล่น MVNO (Mobile Virtual Network Operator) ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ไม่ได้วางโครงข่ายเอง แต่ไปเหมาจากเจ้าของโครงข่ายมาให้บริการต่ออีกทอดหนึ่งขึ้นมา

“อันนี้คือมาตรการที่กำหนดขึ้นมาในภายหลังเพื่อรองรับกับการควบรวมในกรณีที่อนุมัติให้ควบรวม แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการวิเคราะห์สภาพตลาดว่าเรามีเป้าหมายที่จะคง ลด หรือ เพิ่มจำนวนผู้ให้บริการ อย่างไร มีมาตรการเชิงโครงสร้าง แต่สิ่งที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญจริง ๆ อีกอันหนึ่งก็คือ การทำการศึกษาระยะยาว พูดง่าย ๆ ก็คือการศึกษาวิเคราะห์สภาพตลาดระยะยาวหลังจากการควบรวม”

นายแพทย์ประวิทย์ให้เหตุผลที่ต้องศึกษาระยะยาว ก็เพื่อมีข้อมูลหลักฐานที่เป็นรูปธรรมยืนยันชัดเจนในการใช้โต้กับคำกล่าวอ้างของเอกชนทั่วโลกที่ออกมาระบุว่า การควบรวมกิจการจะไม่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ประหยัดทรัพยากรได้มากขึ้น และมีการพัฒนาคุณภาพโครงข่ายสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ แม้แต่ในสหภาพยุโรป หรือประเทศในกลุ่มโออีซีดียังไม่มีรายงานการศึกษาผลกระทบย้อนหลังของการควบรวมว่าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ 

“ดังนั้น โดยสรุป กสทช. ไม่สามารถปฏิเสธอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้”

กสทช.ต้องวิเคราะห์สภาพตลาด ต้องมองไปในอนาคตว่าถ้าจะไม่ให้ควบรวมจะสามารถลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อย่างไร ในกรณีที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะการลงทุนซ้ำซ้อน ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน จะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร นโยบายทำให้เกิดบริษัทโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร นโยบายการ domestic roaming หรือการใช้โครงข่ายร่วมกัน ใช้สัญญาณร่วมกันในกรณีที่อีกค่ายหนึ่งสัญญาณไปไม่ถึงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงนโยบายการส่งเสริมผู้ให้บริการรายใหม่และผู้ให้บริการแบบ MVNO รายใหม่ ดังนั้น เบื้องต้นเป็นเรื่องที่ กสทช.รับที่จะไปดำเนินการ

ช่องโหว่ทางโครงสร้าง-จุดอ่อนของกฎหมาย

ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และผศ.ดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับดีลทรู-ดีแทค ผ่านมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์และด้านกฎหมาย โดยผศ.ดร.กมลวรรณ ได้หยิบยกมาตรา 21 ในพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กสทช. มีสิทธิและอำนาจอันชอบธรรมทางกฎมหายที่จะห้ามไม่ให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นการผูกขาด ตลอดจนการลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในประเด็นของทรู-ดีแทค เข้าข่ายการถือครองธุรกิจบริหารในประเทศเดียวกัน ดังนั้นจึงมีในขอบเขตที่กสทช.จะสามารถคัดค้านการควบรวมครั้งนี้ได้

“แต่ปัญหาก็คือไทยมีการประกาศกสทช.ฉบับ 2561 ที่ไปล้มล้างประกาศฉบับเดิมในปี 2553 ซึ่งมีหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมพ่วงอยู่ ทำให้เกิดความสับสนว่า การควบรวมกิจการที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ มันสอดคล้องเข้ากับนิยามตามประกาศกสทช. ฉบับล่าสุดหรือเปล่า หรือบุคคลนั้น ๆ อยู่ภายใต้กฎหมายนี้หรือเปล่า กล่าวคือพฤติการณ์มันอยู่ภายใต้กสทช.ฉบับนี้หรือเปล่า อันนี้ เป็นสิ่งที่ยังเป็นประเด็นปัญหาอยู่”

ทั้งนี้ ความแตกต่างของประกาศ กสทช. ฉบับปี 2561 กับ ปี 2553 ที่เห็นได้ชัดก็คือ ขณะที่หมวด 1 ในฉบับปี 2561 ใช้คำว่ารายงานการรวมธุรกิจ ฉบับปี 2553 ใช้คำว่าวิธีการและขั้นตอนการขออนุญาตควรรวมกิจการ ซึ่งการตีความในแง่ของกฎหมายจะสื่อได้ว่า ฉบับปี 2561 ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าควบรวมได้ แล้วแค่มารายงาน ให้รับทราบ กับแบบเดิมที่ต้องขออนุญาตก่อนจึงจะควบรวมได้

ผศ.ดร.กมลวรรณ อธิบายเพิ่มเติมว่า ลำพังแค่ความต่างของคำที่ใช้ก็มีผลต่อบทบาทหน้าที่ที่ กสทช.จะเข้าไปจัดการ ถ้าตามประกาศฉบับปี 2561 กสทช.จะสามารถเข้าไปกำหนดเงื่อนไขเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการแล้ว ในขณะที่ถ้าเป็นตามฉบับปี 2553 กสทช.จะมีอำนาจในการป้องกันสกัดกั้นการควบรวมกิจการตั้งแต่ต้น ซึ่งโดยส่วนตัว ไม่ได้ตัดสินหรือบอกได้ว่า กฎหมายฉบับไหนดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม บริบทแวดล้อมและการนำมาประยุกต์ใช้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญก็คือความย้อนแย้งและความสันสนในตัวบทกฎหมาย ที่มีการระบุโยนให้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ควบคู่กับ กสทช. แถมยังไปทับกับประกาศของ กทค. ที่ระบุว่าอยู่ใต้กทค.แล้วต้องอยู่ใต้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าด้วย ซึ่งการโยนกลับไปกลับมา กลายเป็นจุดอ่อนทางกฎหมายที่กฎหมายกลางชี้ให้ไปใช้กฎหมายเฉพาะของกสทช. กฎหมายเฉพาะกสทช.กลับไยนมาให้อยู่ภายใต้กฎหมายกลางด้วย 

“ถ้าตีความให้รวมกันในขณะนี้ก็แปลได้ว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตอยู่ภายใต้ทั้งสองกฎหมาย ก็แปลว่า คุณต้องทำให้ถูกทั้งสองกฎหมาย ซึ่งต้องมาคุยกันในทางกฎหมายว่า การโยนกลับไปกลับมาแบบนี้มีวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ ต้องการอะไรกันแน่ แต่ในเบื้องต้น ถ้าโยนกับไปที่ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า มันก็จะเป็นปัญหาอีกว่า พ.ร.บ.นี้จะมีอำนาจในการจัดการมากน้อยแค่ไหน เป็นอีกระดับหนึ่งที่ต้องไปตีความ” 

เรียกได้ว่า บทบัญญัติทางกฎหมายที่ทับซ้อน กลายเป็นจุดอ่อนทางกฎหมายในการพิจารณาดีลควบรวมกิจการในครั้งนี้ 

ขณะที่ สฤณี นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนในฐานะที่เป็นนักการเงิน โดยระบุว่า ต่อให้ใช้คำพูดสวยหรูอย่างไร แต่สมการสั้น ๆ ที่เป็นผลลัพธ์ออกมาขั้นสุดท้ายจากการควบรวมกิจการของทรูกับดีแทคก็คือ 3 เหลือ 2 หมายความว่าผู้ให้บริการสัญญาณเครือข่ายจาก 3 รายจะเหลืออยู่ 2 รายทันที 

“เป็นเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการควบรวมกิจการแบบลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือเป็นการรวมทุกส่วนเข้าด้วยกัน เกิดเป็นบริษัทใหม่ ขณะที่บริษัทเดิมหายไป เท่ากับเหลือผู้เล่น 2 ราย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการผูกขาด และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่วนตัวคิดว่า กสทช. ควร take action (ลงมือทำ) ในหลาย ๆ ด้านได้แล้ว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องรอ เพราะอย่าลืมว่า หน้า กสทช. นั้นเขียนไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายว่าต้องป้องกันเพื่อมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน” สฤณี กล่าว

สฤณี อธิบายว่า คำสำคัญก็คือ คำว่า “ผูกขาด” และ “ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน” โดยตั้งแต่วันแรกที่สองบริษัทประกาศควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการด้วยการยื่นหนังสือต่อตลาดหลักทรัพย์ ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าทรูกับดีแทคกำลังเจรจาเพื่อควบรวมธุรกิจเข้าด้วยกัน ซึ่งในเชิงธุรกิจการควบรวมมีได้หลายแบบ แต่ว่าในกรณีของทรูกับดีแทคเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นการควบบริษัท (Amalgamation) ที่เป็นการรวมกิจการของบริษัทตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปให้เหลือเพียงบริษัทเดียว มีการเขียนอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นไว้อย่างเสร็จสรรพ ดังนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาถกเถียงแล้วว่า ดีลของสองค่ายนี้เป็นการผูกขาดหรือไม่อีกต่อไป

“เราไม่ควรมองแค่ว่า การควบรวมจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ประเด็นที่อยากจะตั้งก็คือว่า มันมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ต่อประโยชน์สาธารณะตั้งแต่วันแรกที่เขาประกาศ วันแรกที่เขายื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แล้ว ประกาศเจตนาว่าจะควบแล้ว ดังนั้น องค์กรกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือ กขค. ควรจะต้องเข้ามากำกับกระบวนการควบรวม กระบวนการเจรจา คือเหมือนกับวางกฎเกณฑ์ กติกาในการเจรจาให้ คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นก็เลยรู้สึกว่าไม่ถูกต้องที่ กสทช.จะนิ่งเฉยแล้วรอ” สฤณี กล่าว ก่อนเสริมว่า ในมุมมองส่วนตัว เห็นควรที่กสทช.จะมีบทบาทเชิงรุกในการป้องกันไม่ให้มีการควบรวมมากกว่าปล่อยให้เกิดแล้วตามไปจัดการหาทางแก้ไขกันในภายหลัง

คาดหวังไม่ควบรวม แต่ถ้าควบต้องมีเงื่อนไขกำกับ

สารี กล่าวว่า ในฐานะเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หวังไม่ให้มีการควบรวม เนื่องจากการควบรวมจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน เพราะมีทางเลือกที่น้อยลง สิทธิต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในกิจการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้ายค่าย การควบคุมด้านราคา หรือสิทธิในการตรวจสอบจะถูกจำกัดหรือทำได้ยากตามไปด้วย ขณะเดียวกัน จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลมีมากขึ้น และเชื่อว่า เมื่อเกิดการค้าที่มีรายใดรายหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า เรื่องในครั้งนี้มีทางออก ถ้ากสทช. จะไม่ลดจำนวนผู้เล่น กสทช.ก็ต้องไม่อนุญาตให้ควบรวม หรือกรรมการแข่งขันทางการค้าก็ต้องเข้ามาขัดตาทัพ เปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่ทุกรูปแบบเพิ่มขึ้นมา ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือการกำหนดหลักประกันที่ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างชัดเจน และหาแนวทางที่ผู้บริโภคเองจะเข้ามามีบทบาทในการปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างไร และโดยส่วนตัวมั่นใจว่า การแข่งขันที่ดีและเป็นธรรม ไม่มีผลกระทบทางลบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด

ด้าน ดร.สมเกียรติ ได้แสดงข้อเสนอ 3 ประการซึ่งพอจะเป็นทางออกของปัญหาที่เป็นไปได้และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ประการแรกสุดก็คือ ไม่ให้มีการควบรวมกิจการ ซึ่งถือเป็นทางออกเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด พร้อมจัดการขายกิจการให้รายอื่น และเดินหน้าลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน 

ประการที่สอง คืออนุญาตให้ควบรวม แต่กำหนดเงื่อนไขให้คืนคลื่นกลับมาเพื่อนำมาจัดสรรให้รายใหม่ และ ประการที่สาม ประการสุดท้ายคือ ให้ควบรวม พร้อมกับการส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการที่ไม่ได้มีการวางโครงข่ายของตัวเอง (MVNO) อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติเห็นว่า ข้อเสนอที่สามไม่ค่อยเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย เพราะกำกับดูแลได้ค่อนข้างยาก 

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ไทยยังขาดก็คือ “คนกล้า” ที่จะมาเป็นผู้นำในการลุกขึ้นมาทัดทานคัดค้านการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างจริงจังเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยต้องมี “คน” ที่จะคอยกระทุ้งให้บรรดาทุนรายใหญ่ยินยอมที่จะปรับพฤติกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค  

ปลดล็อกปัญหาเชิงโครงสร้าง “ควบรวม ทรู+ดีแทค” รัฐต้องเพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่ ลดการผูกขาด

กสทช. จะแจ้ง ทรู-ดีแทค ชี้แจง ความจำเป็นควบรวมกิจการ ผลกระทบและแนวทางเยียวยา

TDRI ค้านควบรวม True-dtac ชี้เสี่ยงผูกขาด ขั้นอันตราย จี้กสทช.ทำหน้าที่

ซีพี – เทเลนอร์ ประกาศควบรวม ทรู-ดีแทค สู่บริษัทเทคโนโลยี ถือหุ้นเท่ากัน มุ่งเป็น “เทคฮับ” ของภูมิภาค

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ