TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyTDRI ค้านควบรวม True-dtac ชี้เสี่ยงผูกขาด ขั้นอันตราย จี้กสทช.ทำหน้าที่

TDRI ค้านควบรวม True-dtac ชี้เสี่ยงผูกขาด ขั้นอันตราย จี้กสทช.ทำหน้าที่

ทีดีอาร์ไอ ออกโรงแสดงความเห็นต่อกรณีการประกาศเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเท่าเทียม (equal partnership) ระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (dtac) กับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (True) โดยระบุชัดว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ “การควบรวมกิจการ” ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย

จากเดิมที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยที่มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดเพราะจำนวนผู้ให้บริการสัญญาณที่มีน้อยรายอยู่แล้ว (3 ราย) กลายเป็นการผูกขาดแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะค่อนข้างเป็นอันตรายและสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยในระยะยาว 

ฟันธงผูกขาดทั้งในเชิงโครงสร้างและพฤติกรรม

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การควบรวมของทรูกับดีแทคจะทำให้เกิดการผูกขาดในระดับอันตราย โดยเมื่อพูดถึงการผูกขาดแล้ว จะมีทั้งการผูกขาดแบบเชิงโครงสร้างและการผูกขาดเชิงพฤติกรรม ซึ่งในกรณีนี้ถือได้ว่าเป็นการผูกขาดเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน 

ทั้งนี้ เมื่อทรูกับดีแทครวมกันจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น 52% ขึ้นแท่นกลายเป็นเจ้าตลาดทันที แต่หากใช้มุมของวิชาการมาอธิบาย ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาจะมีเครื่องมือวัดความผูกขาดเชิงโครงสร้างที่เรียกว่า ดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index ( HHI) ซึ่งค่าสูงสุดที่ 10,000 จะหมายความว่าอุตสาหกรรมหรือตลาดนั้น ๆ มีการผูกขาดรายเดียว 

สำหรับการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคที่เกิดขึ้นนี้ ดร.สมเกียรติ ชี้ว่า ทำให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมนาคมไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย กระทั่งเป็นปัญหาใหญ่ไม่ออกมาท้วงติงไม่ได้

Google ชี้ ASEAN เตรียมพร้อมเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” คาดมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2030

2 ซีอีโอ ย้ำความร่วมมือ True – dtac เพิ่มมูลค่าบริการเทคโนโลยีรับโลกยุคดิจิทัล

ยิ่งไปกว่านั้น การที่มีผู้เล่นน้อยราย มีการผูกขาดทำให้อำนาจต่อรองของรัฐในฐานะเจ้าของคลื่นสัญญาณลดลง โดยดร.สมเกียรติได้ยกตัวอย่างบทเรียนในอดีตกรณีประมูลคลื่น 3G ที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ค่าย จนสามารถประมูลได้ในราคาที่ถูก และเมื่อทางหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอร้องให้ผู้ประมูลคลื่นทั้ง 3 รายลดราคาให้บริการ กลับไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร  

ใครได้ประโยชน์ – ใครเสียประโยชน์ 

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงผลได้ผลเสีย ดร.สมเกียรติ ชี้ชัดว่า คนที่ได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ คือบรรดาผู้ถือหุ้นของทรู ดีแทค และเอไอเอส เนื่องจากการควบรวมที่ทำให้จำนวนผู้ให้บริการลดลง ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมาแข่งขันกันเอง ส่งผลให้สามารถกำหนดราคา และหาช่องทางเพิ่มรายได้อย่างเต็มที่ 

ขณะที่ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ดูจะมีมากกว่าและครอบคลุมสังคมในวงกว้าง ไล่เรียงตั้งแต่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคทั่วไป และธุรกิจต่าง ๆ ที่มีทางเลือกลดลง บรรดาคู่ค้าของบริษัทโทรคมนาคม ร้านค้าและเหล่าสตาร์ทอัพทั้งหลาย รัฐบาลและผู้เสียภาษี ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจของไทยโดยรวม 

ทั้งนี้ ดร.สมเกียรติ อธิบายว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมโลกที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้โทรคมนาคม เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างมากของเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะมีบทบาทต่อการพัฒนาและการเข้าถึง โดยที่การดำเนินชีวิต การทำกิจกรรม และการทำธุรกิจล้วนพึ่งพาระบบออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ การปล่อยให้มีการผูกขาดโดยกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจึงกระทบต่อคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง 

กรณีประชาชนทั่วไป คือไร้ทางเลือก กรณีของร้านค้า คือการจำกัดหนทางของการกระจายรายได้ กรณีของสตาร์ตอัพคือ การลดความเป็นไปได้ของการพัฒนานวัตกรรม กรณีของภาครัฐ คือโอกาสในเก็บภาษีนำรายได้เข้าประเทศที่ลดลง เช่น รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ (6G) ลดลง จนต้องไปขูดเอากับผู้เสียภาษีเพื่อชะลอหนี้สาธารณะ 

และสุดท้ายกรณีของเศรษฐกิจไทยก็คือโครงสร้างการแข่งขันอย่างเสรีของตลาดโดยรวม เนื่องจากผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด ทำให้ไทยตกขบวนในการก้าวกระโดนไปสู่ประเทศแนวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล 

ในส่วนของเหตุผลที่ทรูกับดีแทคระบุว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ไทยไปแข่งขันในเวทีโลก ดร.สมเกียรติ เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัท ไม่ได้มีการคิดค้นพัฒนาในส่วนที่เป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอย่างจริงจัง เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ระดับโลกอื่น ๆ เช่น หัวเว่ยของจีน  

“ดังนั้น ส่วนที่ผู้ประกอบการประกาศว่าการรวมกันจะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ขอมองย้อนไปดูว่า ผู้ประกอบการทั้งสองรายยังไม่ได้ทำให้เกิดเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้เกิดการผูกขาดมากกว่า”

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ในท้ายที่สุดหากการควบรวมกิจการเกิดขึ้นจริง จะทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือหวนกลับไปเหมือนในอดีตเมื่อ 15 ปีที่แล้ว หรือในช่วงปี พ.ศ.2547 ที่มีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย ทำให้ราคาค่าบริการอาจปรับตัวสูงขึ้น หรือเกิดแพคเกจที่ไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค เช่น การล็อก IMEI เครื่องโทรศัพท์ทำให้เกิดการบังคับขายพ่วง และยิ่งจะกระทบกับการทำธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องพึ่งพาโทรศัพท์มือถือและบริการไร้สายอย่างมาก ดังนั้น ถ้าบริการโทรคมนาคมเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่แค่ 2 ราย ย่อมมีผลกระทบอย่างมากกับผู้บริโภค 

ดร.สมเกียรติ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า การควบรวมกิจการของสองยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโทรคมนาคมครั้งนี้เข้าข่ายอันตราย และแตกต่างจากการควบรวมกิจการธุรกิจโรงภาพยนตร์หรือเคเบิลทีวีที่ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะไม่ใช้บริการได้ เพราะมีทางเลือกอย่างบริการสตรีมมิงเข้ามาแทน ก่อนอธิบายว่าการควบรวมครั้งนี้จะเข้าข่ายใกล้เคียงกับการควบรวมธุรกิจของเครือโรงพยาบาลเอกชน ที่ประชาชนซึ่งไม่อาจหวังพึ่งบริการโรงพยาบาลรัฐ จนเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้บริการเอกชนที่เหลือเพียงไม่กี่ราย 

ทั้งนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ ย้ำชัดว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะพัฒนาได้ภายใต้โครงสร้างตลาดที่เปิดเสรีและมีการแข่งขัน พร้อมยกตัวอย่างกรณีของสิงคโปร์ เพื่อนบ้านของไทย ซึ่งมีขนาดและจำนวนประชากรน้อยกว่าไทย แต่กลับมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลายสิบราย ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ทั้งการแข่งขันก็ช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้ 

กสทช.- กขค. มีสิทธิแทรกแซงโดยชอบธรรม

ถามว่ามีหนทางใดบ้างที่จะสามารถจัดการแก้ไขหรือขัดขวางการควบรวมในครั้งนี้ได้หรือไม่ ดร.สมเกียรติ ย้ำชัดว่ามี ทางดำเนินการด้วยการผ่านองค์กรอิสระในสังกัดของรัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีหน้าที่ต้องเพิ่มการแข่งขันในตลาด และลดการผูกขาด และสำนักการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งมีหน้าที่ในการกลั่นกรองการควบรวมอย่างเข้มงวด 

ดังนั้น เหตุผลที่อ้างว่า กสทช.ไม่มีสิทธิหรือมีอำนาจในการแทรกแซงก้าวก่ายการควบรวมกิจการระห่างทรูกับดีแทคที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้จึงไม่สมเหตุสมผล

“กสทช. มีหน้าที่ในการดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด จึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเรียกว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเรียกว่าอะไร ผลที่ได้เหมือนกัน คือทำให้เหลือผู้ประกอบการน้อยรายลง การที่กสทช.จะมาบอกว่าไม่มีอำนาจในการควบคุมไม่ให้เกิดการควบรวมกิจการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เป็นแค่ข้ออ้าง ทั้งนี้ ถ้ากสทช.จะเน้นไปที่บทบาทการกำกับดูแลการให้บริการเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอาจจะทำได้ยาก หากไม่มีข้อมูลเช่นเดียวกับผู้ให้บริการ ซึ่งในกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมมีกฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายแข่งขันทางการค้า กสทช. มีอำนาจในการกำหนดมาตรการป้องกันการการควบรวมกิจการได้”

อย่างไรก็ดี ถ้ากสทช. ยังยืนกรานว่าไม่มีอำนาจ ประเทศไทยก็ยังมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดการแข่งขันทางการค้า โดยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สามารถเข้ามามีอำนาจในการกลั่นกรองและดูแลแทนได้

ขณะเดียวกัน ดร.สมเกียรติ กล่าวย้ำว่า แม้คณะกรรมการกสทช.ชุดปัจจุบันจะเป็นชุดรักษาการ แต่ก็ยังสามารถและยังคงต้องทำงานเพื่อปูทางเตรียมไว้รอให้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้ทันการณ์ โดยหากถึงเวลาผู้ประกอบการมายื่นเอกสารขอควบรวมกิจการโดยที่ กสทช. ไม่มีมาตรการรองรับก็จะเป็นกรณีที่ไม่มีความพยายามบังคับใช้กฎหมายที่ตัวเองมีอำนาจอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่ค่อนข้างเร่งรัด สิ่งที่กสทช.ควรเร่งทำเวลานี้ คือ การออกกฎหมายลูกให้รัดกุมเพียงพอ เพื่อตรวจสอบการควบรวมกิจการให้ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐเองก็สามารถเข้ามามีบทบาทช่วยส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของกสทช.ได้ ผ่านการออกนโยบายกำกับต่าง ๆ 

“ที่ผ่านมา การปรับแก้กฎหมายทำให้การกำหนดนโยบายไปอยู่ที่กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนการกำกับดูแลมาอยู่ที่ กสทช. เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลเห็นว่าตลาดมีแข่งขันไม่พอ รัฐบาลสามารถดำเนินการได้หลายอย่าง อย่างแรกคือการแก้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บอกว่าห้ามต่างชาติถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ปลดล็อกตัวนี้ มีนโยบายกำหนดออกมาให้กสทช. มีการประมูลคลื่นที่จัดนโยบายให้เกิดรายใหม่ เป็นต้น” ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ