TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyGoogle ชี้ ASEAN เตรียมพร้อมเข้าสู่ "ทศวรรษแห่งดิจิทัล" คาดมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2030

Google ชี้ ASEAN เตรียมพร้อมเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” คาดมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2030

Google เผยรายงานประจำปี ว่าด้วยเรื่อง เศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับที่ 6 หรือ e-Conomy SEA Report 2021 พบ การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายเป็นชนวนเร่งให้ภูมิภาคอาเซียนเปิดรับและก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดกันไว้ก่อนหน้า เชื่ออีก 10 ปีต่อจากนี้อาเซียนจะเป็น “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” ดันให้มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคพุ่งแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

ทั้งนี้ แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า รายงานที่ Google จัดทำร่วมกับ Temasek และ Bain & Company นี้มุ่งศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลเชิงลึกครอบคลุม 6 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนามและไทย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างมากภายใน 10 ปีนับจากนี้ เพราะจำนวนผู้บริโภคและผู้ค้าที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร และบริการด้านการเงินดิจิทัล ส่งผลให้มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในอาเซียนมีสิทธิแตะ 178,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้ และมีแนวโน้มทะยานแตะ 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 สูงกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้ครั้งก่อนหน้าซึ่งคาดกว่าจะอยู่ที่ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การศึกษาที่จัดทำขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อดูภาพรวมความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจดิจิทัลใน 6 ประเทศอาเซียนตลอดทั้งปี 2563 ระบุว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ประชากรอาเซียนเหล่านี้หันมาพึ่งพาดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้น นอกจากจำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการขยายรูปแบบการบริการดิจิทัลที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้มีการใช้ออนไลน์หลายรูปแบบมากขึ้น 

แจ๊กกี้ หวาง ได้ยกตัวอย่าง กรณีซื้อของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซจากเดิมที่จำกัดอยู่แค่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม แต่ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคเริ่มใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายหาซื้อสินค้าประเทศข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน (groceries) เพิ่มมากขึ้น 

จนถึงขณะนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 440 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 350 ล้านคน หรือประมาณ 80% เป็นผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล คือเป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยใช้บริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งรายการ และนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านราย และมีแนวโน้มจะขยายตัวได้อีกในปีนี้ เพราะแค่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ก็มีผู้ใช้งานหน้าใหม่เพิ่มขึ้นแล้ว 20 ล้าน

ขณะที่สถานการณ์ดิจิทัลอื่นโดยรวมที่น่าสนใจ พบว่า ราว 34% ของประชากรอาเซียนเชื่อว่า ดิจิทัลแพลตฟอร์ม คือตัวช่วยสำคัญที่ทำให้รอดพ้นผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ 83% ยกให้เป็นตัวช่วยสำคัญในการเริ่มงานหรือทำงาน 84% ระบุดิจิทัลช่วยให้ชีวิตดีขึ้น และ 87% บอกดิจิทัลแพลตฟอร์มช่วยทำให้ได้รายได้มั่นคงมากยิ่งขึ้น 

ยิ่งไปกว่านั้น แพลตฟอร์มดิจิทัลยังขยับสถานะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาด (Digital Marketing Tools) ให้กับบรรดาธุรกิจ ซึ่งมองว่า ดิจิทัลเป็นเครื่องสำหรับการสื่อสารและการบริหารจัดการธุรกิจให้ดีขึ้น เร็วขึ้น โดยในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้ค้า 82% มองว่ายอดขายจะมาจากช่องออนไลน์มากกว่า 50% ขณะที่ 84% เห็นว่า ออนไลน์จะมีบทบาทในการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จะหันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลในการขยายตัวเติบโต เพราะมองว่าเครื่องมือดิจิทัลจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน และเพิ่มช่องทางการหารายได้ 

นอกจากนี้ ทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจทั่วไปให้การยอมรับและเชื่อมั่นในการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น (Digital Payment) ซึ่งการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคในอาเซียนมีอัตราการยอมรับช่องทางการชำระเงินดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมาสูงถึง 92%

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยโต 51%

สำหรับประเทศที่เป็นตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคก็คืออินโดนีเซีย ขณะที่ไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 โดยคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีนี้ ที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะพุ่งทะยานแตะ 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 17% สูงขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประมาณการการเติบโตของไทยไว้ที่ 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซ จะยังคงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และคาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยในปี 2020 ที่ผ่านมาภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตขึ้นถึง 68%จากปีก่อนหน้า และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และมีแนวโน้มแตะ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 

ขณะที่ ในส่วนของสื่อออนไลน์ ไทยมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 29% ทำให้มูลค่าในขณะนี้อยู่ที่ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง ผลกระทบของโควิด-19 ยังทำให้มีเกมเมอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการซื้อเกมและใช้จ่ายในเกมเป็นตัวขับเคลื่อน

สำหรับธุรกิจดิจิทัลที่ต้องจับตามองไม่แพ้กันของไทยคือ บริการขนส่งและส่งอาหารออนไลน์ ซึ่งพบว่าภาคธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีการเติบโตที่สดใส ส่งผลให้ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยหันมาใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนเป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด คือ 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ของผู้บริโภคและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน

ด้านสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยที่น่าสนใจ Google พบว่า ไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคนนับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2020 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2021 โดยกว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก อัตราการใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากฟิลิปปินส์ โดยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลสูงถึง 90% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

ขณะเดียวกัน แจ๊คกี้ หวาง กล่าวว่า ผู้ใช้งานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้งานต่อไปในอนาคต โดยกว่า 96% ของผู้ใช้งานในช่วงการแพร่ระบาดยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และ 98% คาดว่าจะใช้งานต่อไปในอนาคต ผู้ที่เคยใช้บริการดิจิทัลก่อนการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น 3.9 บริการนับตั้งแต่มีการระบาด ระดับความพึงพอใจที่มีต่อบริการทุกประเภทอยู่ที่ 87%

ด้านผู้ค้าของไทย พบว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้ค้าดิจิทัลไทย เห็นว่า บริการด้านการเงินดิจิทัลกําลังกลายมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักเพราะ 96% ของผู้ค้าดิจิทัลรับการชำระเงินดิจิทัลแล้ว และ 82% ของผู้ค้าดิจิทัลรับบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้ค้าจํานวนมากยังใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเชื่อมต่อกับลูกค้า โดยกว่า 58% มีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า กระนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะแม้ว่าผู้ค้าดิจิทัลใช้บริการถึง 2 แพลตฟอร์มโดยเฉลี่ย แต่กำไรของธุรกิจยังไม่กระเตื้องสักเท่าไรนัก 

ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มการขยายตัวเติบโตด้วยดีของภูมิภาค ทำให้นักลงทุนทั่วโลก ต่างมองอาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงดงามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการด้านการเงินดิจิทัลที่ยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ ซึ่งเฉพาะการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2021 คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับปี 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ไทยมียูนิคอร์น เกิดขึ้นถึง 3 บริษัทไทย ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดการลงทุนในบริการดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)

ในส่วนของภาพรวมในภูมิภาคอาเซียน พบว่า บริการด้านการเงินดิจิทัลทุกประเภท (Digital Financial Services : DFS) มีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยผู้ค้าและผู้บริโภคต่างหันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีวอลเล็ท (e-wallet) และระบบการชำระเงินแบบ A2A (account-to-account) กันมากขึ้น ทั้งนี้ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value: GTV) กว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการที่ 707,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 

อีคอมเมิร์ซและบริการจับจ่ายออนไลน์ เครื่องจักรหลัก

ขณะเดียวกัน ปัจจัยขับเคลื่อนและปัจจัยหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีมูลค่าสินค้ารวมไปถึงระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ก็คือ อีคอมเมิร์ซและบริการจับจ่ายออนไลน์ ขณะที่มูลค่าของธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ อาจเติบโตแบบอีคอมเมิร์ซได้ หากสามารถขยายการเข้าถึง และทำให้ความต้องการของผู้บริโภคนอกเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ผู้บริโภค ผู้ค้า แพลตฟอร์ม และหน่วยงานกำกับดูแล จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโต

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้าน “แรงงานทักษะดิจิทัล” ยังคงเป็นปัญหาท้าทายสำคัญ ซึ่งโชคดีว่า รัฐบาลในอาเซียนต่างตระหนักและเร่งจัดทำโครงการหรือให้การสนับสนุนการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลของแรงงานอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีของ Google ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็มีการเปิดตัวโครงการสะพานดิจิทัลเพื่อเพิ่มทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัลของผู้ค้าออนไลน์ในไทย 

สำหรับทิศทางของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนในช่วง 10 ปีข้างหน้า Google คาดว่า จะมุ่งขับเคลื่อนด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ 1) Sustainability หรือความยั่งยืน เช่น การบริโภคพลังงานให้น้อยลง ลดขยะเหลือทิ้ง ลดการใช้วัตถุดิบ 2) Digital Inclusion เพิ่มอัตราการเข้าถึงของประชากรในภูมิภาคให้ได้ 100% เพื่อไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และ 3) Data Infrastructures and Regulations คือการกำกับดูแลข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและเอื้อต่อการทำธุรกิจ ขณะที่มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับการไหลของข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความถี่มากขึ้น รวมถึงมาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของแรงงาน และผู้บริโภคควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม

แจ็คกี้ หวาง ตัวแทนจาก Google สรุปว่า รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วภูมิภาค โดยไทยยังคงเป็นตลาดที่มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคนี้ ที่มีการเติบโตของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ขณะที่สื่อออนไลน์ และธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ 

“แต่เพื่อให้ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยต้องมีการวางรากฐานอนาคตอย่างครอบคลุมเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่ง Google ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่เท่าเทียมสำหรับคนไทย รวมทั้งให้การฝึกอบรมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ และช่วยผลักดันให้ไทยก้าวเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคในทศวรรษแห่งดิจิทัลนี้” 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ