TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessปลดล็อกปัญหาเชิงโครงสร้าง "ควบรวม ทรู+ดีแทค" รัฐต้องเพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่ ลดการผูกขาด

ปลดล็อกปัญหาเชิงโครงสร้าง “ควบรวม ทรู+ดีแทค” รัฐต้องเพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่ ลดการผูกขาด

การแถลงข่าวควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 พ.ย.) ในการสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร (Transformation) สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company ภายใต้ยุทธศาสตร์สวยหรูที่จะยกระดับมูลค่าการบริการและเทคโนโลยี ตลอดจนการช่วยกันพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศไทยในทุกมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัลในช่วง 20 ปีข้างหน้า เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

ผู้กำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็เปิดทางต่อดีลนี้โดยระบุว่าไม่มีอำนาจเข้าไปขัดขวางการควบรวมของทั้ง 2 ค่าย ได้ 

ราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารปรับตัวขึ้นยกกระดานไม่เว้นคู่แข่งอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ ADVANC สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการควบรวมว่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม

TDRI ค้านควบรวม True-dtac ชี้เสี่ยงผูกขาด ขั้นอันตราย จี้กสทช.ทำหน้าที่

True ผนึก dtac … ข่าวดีหรือข่าวร้ายของผู้บริโภค?

นักวิเคราะห์ผู้คร่ำวอดในธุรกิจโทรคมนาคมต่างมองว่าการควบรวมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งอุตสาหกรรมเพราะทำให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น เมื่อคู่แข่งน้อยรายความจำเป็นต้องแข่งประมูลกันดุเดือดก็ลดลง ส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการลดลง ซึ่งต้นทุนที่ลดลงนี้เองเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เพราะการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงที่สุดในโลกของประเทศไทยตั้งแต่ยุค 4G กลายเป็นปัญหาที่สะสมมาตลอดจนมาระเบิดในจังหวะที่ผู้ประกอบการรู้สึกว่าการลงทุนเริ่มไม่คุ้มค่าแล้ว 

ตัวเลขทางการเงินชี้ชัดว่าเป็นปัญหาของโครงสร้างนี้อยู่ที่ต้นทุน ไม่ใช่การสร้างรายได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้ง 2 เจ้ามีขนาดของกำไรต่างจากแอดวาซ์กันถึง 6 เท่าทั้งที่รายได้เท่ากัน นั่นแปลว่าต้นทุนของดีแทคและทรูสูงกว่าแอดวานซ์ถึง 6 เท่า!! ขณะเดียวกันทรูและดีแทคมีหนี้รวมกัน 4 แสนล้านบาท เทียบกับแอดวานซ์มีหนี้เพียงแค่ 1 แสนล้านบาท ต่างกัน 4 เท่า  

ในเชิงของการแข่งขัน ทุกค่ายต่างก็ต้องแข่งกันลงทุนตั้งแต่ 3G มาถึง 5G เพื่อรักษาคุณภาพของสัญญาณ จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง เพราะเมื่อใดที่คุณภาพสัญญาณลดลงลูกค้าพร้อมย้ายค่ายทันที และสุดท้ายก็ต้องหันมาแข่งขันด้วยราคา โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีความสามารถทางการแข่งขันน้อยกว่าอย่างดีแทคที่มีคลื่นน้อยกว่าคู่แข่ง

หากย้อนหลังไปเมื่อปี 2557 ก่อนการประมูล 4G หุ้น ADVANC เคยอยู่ที่ 250 บาท หุ้น DTAC อยู่ที่ 90 บาท หุ้น TRUE อยู่ที่ 10 บาท Advance เองเคยมีต่างชาติถือหุ้นอยู่ 30% แต่หลังการประมูลคลื่นแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติต่างถอนออกจากหุ้นสื่อสารของไทย ราคาหุ้น ADVANC ลงไปอยู่ที่ 130 บาท หุ้น DTAC เหลืออยู่ที่ 20บาท หุ้น TRUE เหลือ 3 บาท แต่การข่าวการควบรวมทำให้ภาพรวมกลุ่มสื่อสารจะเปลี่ยน ราคาหุ้นจากขาลงกลับมาเป็นขาขึ้นทันที ต่างชาติเริ่มเข้ามา และสภาพตลาดกลับไปคล้ายช่วงก่อนประมูล  4G

“ภาพรวมอุตสาหกรรมนี้ดูเหนื่อยที่จะไปต่อได้ ทั้งที่ความต้องการใช้เครือข่ายสัญญาณหรือการบริโภคข้อมูลของคนไทยที่มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่กลับสวนทางกับผลประกอบการของอุตสาหกรรมที่เติบโตได้น้อยกว่าที่ควร จากเม็ดเงินลงทุนและต้นทุนในการประมูลคลื่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลายเป็นภาระต้นทุนไปกดดันความสามารถในการทำกำไร แม้กระทั่ง ADVANC เองที่แม้จะมีผลประกอบการที่ดีแต่ภาพรวมรายได้เติบโตได้น้อยว่าที่ควร ส่วนทรูแม้จะมีส่วนแบ่งตลาดสูง แต่ในแง่ของกระแสเงินสดยังได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินลงทุนที่สูงกว่ามาก โดยเอไอเอสใช้งบลงทุนต่อปี 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทรูและดีแทคใช้เงินลงทุนรายละ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี” สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนายการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้มุมมองในมุมผู้บริโภคเองมีความกังวลในเรื่องของการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมของชาติที่อยู่ในมือของผู้ประกอบการเพียง 2 เจ้า

นักวิชาการอย่างดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ออกมาชี้ชัดว่านี่คือการควบรวมที่จะสร้างการผูกขาดขั้นอันตรายและกระทบต่อการเข้าสู่ Digital Economy ของประเทศไทย ซึ่งการแข่งขันที่ลดลงจากผู้เล่นที่เหลือเพียง 2 ราย ทำให้ตลาดโทรคมนาคมของไทยกำลังถอยหลังสู่ยุคก่อนปี 2547 ที่มีผู้เล่นเพียง 2 ราย มีการให้บริการที่ไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากนัก 

ขณะเดียวกันจะกระทบต่อรายได้จากการประมูลคลื่น 6G ที่อาจจะลดลงไปด้วย ประเด็นเหล่านี้ สวนทางกับถ้อยแถลงอันสวยหรูของผู้ประกอบการทั้ง 2 รายชนิดหน้ามือหลังมือ 

ดร.สมเกียรติ ยังกระตุกบทบาทของผู้กำกับดูแลลุกขึ้นมาทำหน้าที่ตามตัวบทกฏหมายที่มีอยู่ ในการเพิ่มการแข่งขัน และลดการผูกขาด และการกลั่นกรองการควบรวมอย่างเข้มงวด แม้กสทช.ชุดปัจจุบันจะเป็นชุดรักษาการก็ต้องทำงานเตรียมไว้รอชุดใหม่มา มิเช่นนั้นอาจจะเป็นกรณีที่ไม่มีความพยายามบังคับใช้กฏหมายที่ตัวเองมีอำนาจอยู่  

ประเด็นหลังจากนี้ คือ ต้องจับตาว่าปัญหาการผูกขาดนี้จะนำไปสู่ประเด็นทางสังคมและการเมืองได้หรือไม่ และจะรุนแรงถึงขั้นทำให้ “ดีลล่ม” ได้หรือไม่ แต่เมื่อย้อนดูจากการควบรวมธุรกิจค้าปลีกก่อนหน้านี้ตลาดยังมองว่าไม่น่าจะเกิดเหตุเช่นนั้นได้

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่าโอกาสที่ดีลจะล่มมีเพียง 20% เท่านั้น จากกระแสสังคมและจากการทำการตรวจสอบฐานะกิจการ (Due Diligence) ที่อาจมีประเด็นปัญหาซ่อนอยู่จนทำให้กลุ่มซีพีและเทเลนอร์ต้องยุติการควบรวมไป

เขามองว่าการควบรวมครั้งนี้ถือเป็น win-win situation กับทุกฝ่าย เพราะทำให้ผู้ประกอบการแข็งแรงขึ้นมา แม้จะเหลือเพียง 2 เจ้าที่แข็งแรงก็ดีกับประเทศไทยมากกว่าตลาดที่มีการแข่งขันจากผู้ประกอบการที่แข็งแรง 1 เจ้าที่แข็งแรงและ อีก 1 เจ้าที่อ่อนแอ ส่วนเทเลนอร์นั้นหากไม่ได้ควบรวม โอกาสที่จะถอนออกจากตลาดไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้ามีแน่นอน 

สำหรับขั้นตอนของการควบรวมนั้น หากมองในมุมบวก คือ ไม่มีการคัดค้านจากผู้กำกับดูแลก็คาดว่าการทำดิวดิลิเจนซ์จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 ถึงตอนนั้นจะเห็นภาพชัดว่าดีลนี้จะไปต่อได้หรือไม่ ซึ่งหากไปต่อก็ต้องใช้เวลาอีก 6-9 เดือน หลังจากนั้นจึงจะกำหนดวันทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) ก่อน จึงจะทำการแลกหุ้นหรือสวอปหุ้นไปเป็นหุ้นบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมา 

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมมีโอกาสขายหุ้นออกไป  ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 โดยสัดส่วนการถือหุ้นหลังควบรวมเทเลนอร์และซีพีกรุ๊ปจะเท่ากันที่ 33.1%

หลังจากนั้นจึงจะเกิดขั้นตอนของการควบรวมทางธุรกิจ ซึ่งแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ มองว่า การควบรวมต้องใช้เวลานานเป็นปี เหมือนกรณีการควบรวมธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) กับธนาคารธนชาต จำกัด ที่ก็ต้องใช้เวลาหลายปี และในแง่ของวัฒนธรรมองค์กรของดีแทคและทรูที่แตกต่างกันมากก็จะเป็นหนึ่งอุปสรรคของการควบรวมครั้งนี้ ด้วยสไตล์การทำงานตะวันออและตะวันตกที่ดูแล้วเข้ากันได้ยาก 

สำหรับสถาบันการเงินกับดีลดังกล่าว มองว่าก็มีโอกาสที่จะเห็นการใช้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม โดยเฉพาะหากหลังควบรวมแล้วมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนใน 6G เพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางของกลุ่มซีพีก็มีการใช้เงินกู้และการออกหุ้นกู้ต่อเนื่อง จึงจะเห็นว่าทรูก็มีสัดส่วนหนี้ในระดับสูง โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้สินเชื่อรายใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม การควบรวมจะช่วยให้เม็ดเงินลงทุนที่จะลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การประมูลคลื่นก็จะไม่ดุเดือดมากแล้วจากคู่แข่งที่ลดลงไป 

“ถามว่ารวมกับรวมกันแล้วได้อะไร ก็เหมือนการประปาที่น้ำไหลเท่าเดิม เพราะเครือข่ายมันก็เหมือนเดิม ซ้อนกันอยู่  ดังนั้น ในแง่ของลูกค้า ไม่ได้ประโยชน์อะไรแน่นอน ที่แน่ ๆ การแข่งขันนั้นหาย โปรโมชั่นก็มีน้อยลง ไม่ดีต่อลูกค้าโดยรวมแน่ ๆ คนที่ได้ประโยชน์ คือ AIS ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุด คือ ลูกค้า DTAC ที่จะเห็นการย้ายค่ายสูงที่สุด”

จริงอยู่ว่าภาพรวมการแข่งขันที่ลดลงอาจจะทำให้รายได้จากการประมูลคลื่น 6G ในอนาคตลดลง แต่หากดูคลื่นที่ผู้ประกอบการมีอยู่ในมือเวลานี้ก็ยังเหลืออยู่ไม่มาก ทำให้โอกาสที่จะเห็นการแข่งประมูลคลื่น แพง ๆ คงเป็นไปได้ยากแล้วเช่นกัน 

ปัจจุบันอัตราการใช้ 5G ของประเทศไทยมีเพียง 5% ของประชากร และมีการคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 12-13%

ผู้ประกอบการคงต้องรอให้อัตราการใช้ 5 จี ขึ้นไปถึงระดับ  40-50% ก่อนจึงจำเป็นต้องประมูลเพิ่ม และที่สำคัญบทเรียนจากการประมูลคลื่นแพงน่าจะทำให้ผู้ประกอบการเข็ดหลาบ ถึงเวลาที่ต้องกลับมามองโครงสร้างของปัญหาที่เริ่มต้นจากปัญหาเชิงนโยบายที่ผู้กำกับก็ไม่ได้พิจารณาผลกระทบให้รอบด้านเพียงพอและไม่เท่าทันภาคเอกชน

เมื่อมองในมุมธุรกิจปัญหาเชิงโครงสร้างธุรกิจที่สะสมมานาน จนไม่สามารถไปต่อหรือสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมได้การควบรวมจึงเป็นทางงออกที่เลี่ยงไม่ได้  

แต่ในมุมของการผูกขาดทางธุรกิจก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับธุรกิจที่เป็นยุทธศาสตร์ประเทศ ภาครัฐจึงต้องเข้ามารับบทบาทอย่างจริงจังและเข้มข้น ซึ่งทางออกของปัญหาการผูกขาดนั้น ดร.สมเกียรติ เสนอว่า รัฐบาลสามารถเพิ่มผู้แข่งขันในตลาดได้ เช่น แก้ปรับสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติ  หรือเปิดให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามา เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่มองว่าหากกระแสสังคมแรงขึ้นมาจริง รัฐบาลอาจจะเปิดให้ใบอนุญาตรายใหม่ในรูปแบบของ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) หรืออาจจะไปเชิญกลุ่มทุนใหม่ เช่น เจ้าสัวเจริญเข้ามาเป็นเบอร์ 3 ที่แข็งแรงของตลาดก็ได้  

ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศในยุค Digital Transformation ภาครัฐต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มองผลกระทบให้รอบด้าน เท่าทันภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบโทรคมนาคมที่แข็งแรงให้กับประเทศ ขณะที่ภาคสังคมต้องติดตามการทำหน้าที่ของฝ่ายกำกับดูแลควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคธุรกิจให้เกิดการแข่งขันโดยสมบูรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ 

ผู้เขียน: ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ