TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistควบรวม "ทรู-ดีแทค" ... จุดยืน "กสทช."

ควบรวม “ทรู-ดีแทค” … จุดยืน “กสทช.”

ดีลประวัติศาสตร์แวดวงในธุรกิจคมนาคมที่หลายคนเฝ้ารอ คงไม่พ้น ดีลควบรวมธุรกิจมูลค่าแสนล้านระหว่าง “ทรู” กับ “ดีแทค” ยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 และเบอร์ 3ในธุรกิจคมนาคมของไทย ซึ่งจากเดิมที่เป็นคู่แข่ง แต่ด้วยธุรกิจโทรคมนาคมมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล หากยังแข่งขันกันต่อไปอาจจะเจ๊งทั้งคู่ จึงต้องพลิกบทบาทหันมาร่วมมือกัน

เมื่อราว ๆ เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทั้ง 2 บริษัทได้ประกาศการควบรวมอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเปิดเผยรายละเอียดว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ถือหุ้น กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่มีบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ ในนาม “บริษัท ซิทริน โกลบอล จํากัด” (Citrine Global Company Limited) แล้วจะให้บริษัทที่ตั้งร่วมกันนี้ซื้อหุ้นทั้งหมดของทั้งทรูและดีแทค

ต้องยอมรับว่าการควบรวมกิจการของทั้งคู่ย่อมไม่ธรรมดา จึงเป็นที่สนใจของสังคมอย่างกว้างขวาง พร้อมกับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการครั้งนี้ เพราะหากดีลนี้สำเร็จจะทำให้ผู้ให้บริการเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น จากเดิมที่มีรายใหญ่ 3 ราย ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริโภคที่ใช้บริการเท่ากับเป็นการ “ผูกขาด” ทางธุรกิจแน่ ๆ ย่อมส่งผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างมิอาจปฏิเสธได้ 

แม้ในฝั่งผู้ประกอบการ ฝั่งทรูและดีแทคจะออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า ในการควบกิจการครั้งนี้จะไม่กระทบผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน แถมยังบอกว่ากลับจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น การให้บริการจะมีคุณภาพ ความเสถียร และความเร็วโครงข่ายที่ดีกว่าเดิม 

ทั้งยังอ้างอีกว่าการควบรวมครั้งนี้จะเป็นการรวมโครงสร้างพื้นฐานของทรูและดีแทคเข้าด้วยกัน แปลว่าจะทำให้ลดต้นทุนการดำเนินกิจการของบริษัทลง จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการได้รับค่าบริการที่ถูกลงตามด้วย 

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การควบรวมทั้งสองบริษัทจะทำให้ต้นทุนลด แต่ไม่ได้หมายความว่า ค่าบริการจะถูกลงตามไปด้วย สุดท้ายก็จะมีข้ออ้างสารพัดที่จะไม่ลดค่าบริการ ในทางกลับกัน การที่บริษัทควบรวมกันจะทำให้เหลือผู้บริการในตลาดน้อยราย กลับยิ่งทำให้ผู้บริการมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น จากการที่มีตัวเลือกน้อยลง ผู้บริโภคย่อมเสียประโยชน์อยู่ดี

หากยังจำกันได้หลังที่รัฐบาลไทยเปิดให้มีการประมูลคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ราว 30 กว่าปีก่อน สมัยนั้นมีผู้ประกอบการ แค่ 2 ราย คนไทยที่ใช้โทรศัพท์มือถือ นอกจากจ่าย “ค่าแอร์ไทม์” แล้ว ยังต้องซื้อตัวเครื่องในราคาแพง เพราะตอนนั้นมีการผูกขาดแค่ 2 บริษัทนี้เท่านั้น จากบทเรียนในอดีต ตราบใดที่มีการผูกขาดคงเป็นไปไม่ได้ที่ค่าบริการจะถูกลงตามที่กล่าวอ้าง

เหนือสิ่งใด ยังมีผลการศึกษาที่ระบุว่า หากมีการควบรวมค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งผลการศึกษาของที่ปรึกษาทางการเงินทรูและดีแทค พบว่า ช่วงแรกที่มีการควบรวมกิจการ จะมีภาระค่าใช้จ่ายในการเอาดีแทคออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และนำไปรวมธุรกิจในชื่อใหม่ ตอนนี้ยังคงให้ชื่อเป็นบริษัท New Co. แล้วนำกลับเข้ามาในตลาดฯ อีกครั้ง การทำแบรนด์ดิ้ง แผนการตลาด ทำโปรโมชั่นจูงใจให้ลูกค้าอยู่ต่อในระยะแรก จำเป็นต้องลดราคาลง แต่ในระยะยาวค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10% 

ส่วนแผนการศึกษาของนักเรียนทุนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และฝ่ายวิชาการเอง ระบุชัดว่า หากผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมเหลือเพียงรายใหญ่เพียง 2 ราย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัทใหม่ที่เกิดหลังจากควบรวมแล้ว จะทำให้ค่าใช้บริการแพงขึ้นทันที 20-30% 

อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องของประชาชนจะมีผลต่อการตัดสินใจของกสทช. หรือไม่ จุดยืนจะเป็นอย่างไร วันที่ 20 ตุลาคมนี้ จะได้รู้กัน แต่หากจะให้คาดเดาก็อาจจะมี 3 แนวทางดังนี้

แนวทางแรก หาก กสทช.เห็นว่าการรวมธุรกิจไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดในการให้บริการ อาจมีคำสั่ง “อนุญาต” โดยไม่มีการกำหนดมาตรการเฉพาะ หรือเงื่อนไขในการรวมธุรกิจ 

แนวทางที่ 2 กสทช.เห็นว่าการรวมธุรกิจก่อให้เกิดการผูกขาดในการให้บริการ และไม่มีมาตรการใด ๆ แก้ไขปัญหาการผูกขาดที่จะเกิดขึ้นได้ อาจมีคำสั่ง “ห้ามการรวมธุรกิจ” 

แนวทางสุดท้าย กสทช.เห็นว่า การรวมธุรกิจก่อให้เกิดการผูกขาด แต่สามารถกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเพื่อแก้ไขการจะก่อให้เกิดการผูกขาดได้ อาจจะอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจ และกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาด เช่น ต้องเรียกคืนคลื่น เสาประมูลใหม่ ขีดเส้นค่าบริการต้องไม่สูงเกินกำหนด เป็นต้น

แต่ที่น่าสนใจ ล่าสุด “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ.ออกมาเขียนเฟสบุ๊ค ดักคอ กสทช. ก่อนที่จะมีการประชุมในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ โดยเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันจับตาดูว่าอาจจะมีการเล่นกล ใน 3 ประเด็น คือ 1) การเล่นกลทางกฎหมายว่า กสทช.ไม่มีอำนาจควบรวม 2) การเล่นกลกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้ควบรวมได้ และสุดท้าย เล่นกลในตอนลงมติต่าง ๆ โดยให้จับตาดูที่บทบาทของประธานกสทช.และบอร์ด กสทช.ที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ให้ดี 

งานนี้เป็นงานใหญ่แห่งปีสำหรับกสทช. ที่ต้องมารับเผือกร้อน แต่ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่าองค์กรอิสระอย่างกสทช. มีความเป็นอิสระจริงหรือไม่ และมีจุดยืนอย่างไรจะอยู่เคียงข้างประชาชนหรือนายทุนอย่ากระพริบตา

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ