TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyObodroid บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ ตั้งเป้าสู่ระดับโลก

Obodroid บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ ตั้งเป้าสู่ระดับโลก

บริษัทโอโบดรอยด์ (Obodroid) เปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการและแนะนำหุ่นยนต์ภายใต้การพัฒนาของ Obodroid ซึ่งจะมีการนำไปใช้จริงภายในพื้นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิต รวมถึงโครงการของ MQDC (บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) โดยมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับคุณภาพการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน

-ทรู 5G จับมือ โอโบดรอยด์ เผยโฉมหุ่นยนต์โฆษณา
-เอไอเอส นำหุ่นยนต์ 5G ดูแลสุขอนามัยคนไทยใน BITEC

ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) กล่าวว่า สตาร์ตอัพด้านหุ่นยนต์ยังมีค่อนข้างน้อยรายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทาง Obodroid มองว่าเป็นธุรกิจใหม่เพราะยังไม่มีใครชิงส่วนแบ่งตลาดไปได้อย่างขัดเจน ด้านการร่วมมือกับ MQDC เป็นลักษณะการร่วมลงทุน (Joint Venture) เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ให้เข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC

“ทั้งนี้เราสนใจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯ หมู่บ้าน หรือโรงพยาบาล รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง” ดร.มหิศร กล่าว

Obodroid ก่อตั้งบริษัทประมาณกลางปี 2016 ใช้เวลาค้นคว้าและพัฒนา (R&D) ประมาณ 3 ปี ก่อนจะพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์

“อย่างเช่นอุปกรณ์ของเราอย่าง ไข่ต้ม (KAITOMM) ที่เป็นหุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว เราพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องการคุ้มครองส่วนบุคคล รวมถึงระบบป้องกันความปลอดภัยทาไซเบอร์ด้วย ด้านซอฟท์แวร์จะสามารถอัปเดทผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เมื่อมีซอฟท์แวร์ใหม่ ๆ” ดร.มหิศร กล่าว

Obodroid บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ ตั้งเป้าสู่ระดับโลก

ดร.มหิศร กล่าวต่อว่า ไข่ต้ม (KAITOMM) จะเข้ามาทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ทำให้การเชื่อมต่อกับทุกสิ่งบนโลกใบนี้เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยสามารถรับคำสั่งและพูดคุยกับผู้ใช้งานในภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบบ้านอัจฉริยะ (Home Automation) เพื่อสั่งการเปิด/ปิดไฟ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในที่พักอาศัยได้ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพต่าง ๆ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของเจ้าของผู้ใช้งาน และหุ่นยนต์มีกล้องภายในตัว สามารถใช้เป็นกล้องวงจรปิด หรือโทรวีดีโอคอลได้ และมีฟังก์ชั่นอื่น ๆ ของหุ่นยนต์สามารถตั้งเตือน ตั้งปลุก เล่นเพลง สวดมนต์ เช็คสภาพอากาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย เหมาะสำหรับใช้ในที่พักอาศัยเพื่อเป็นผู้ช่วยผู้ดูแลให้กับผู้ใช้งานได้ในทุกเพศทุกวัย

“การที่เราทำหุ่นยนต์ให้รองรับภาษาไทยจะเป็นการขยายตลาดมากขึ้นไป เพราะภาษาหลักอย่างภาษาอังกฤษนั้นเราสามารถพัฒนาได้อยู่แล้ว ซึ่งเราจะพัฒนาหุ่นยนต์อีกหลายชนิด ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า” ดร.มหิศร กล่าวเสริม

ด้าน เอสอาร์วัน (SR1) หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย มีระบบเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อัตโนมัติ (Auto-Navigation System) ประกอบด้วยกล้องรอบตัว 360 องศา เพื่อเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในหุ่นยนต์ตัวนี้คือ เทคโนโลยีการตรวจจับวัตถุในซอร์ฟแวร์ของตัวหุ่นยนต์ ทำให้สามารถตั้งค่าโปรแกรมในการตรวจจับวัตถุต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เช่น ใบหน้า สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรืออาวุธ พร้อมทั้งส่งข้อมูลแจ้งเตือนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยรับทราบได้ทันที นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นการโทรฉุกเฉินที่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้คนรอบ ๆ สามารถกดปุ่มเพื่อโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากตัวหุ่นยนต์ได้ในทันที เหมาะสำหรับการใช้งานในโครงการที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ต้องดูแลรักษาด้านความปลอดภัย

ส่วน ปิ่นโต (PINTO) ที่ร่วมทำงานกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MI Workspace) ในการผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบ หุ่นยนต์รถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย (Quarantine Delivery Robot) ที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลได้ และ หุ่นยนต์ ‘กระจก (MIRROR)’ เป็นแท็บเลตใช้สำหรับสื่อสารทางไกล สามารถใช้พูดคุยระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องกดรับสาย และคนไข้สามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่วยลดทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง รวมทั้งดูแลทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ไม่สะสมให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่อไปได้อีก ซึ่งสามารถตอบโจทย์คณะแพทย์และพยาบาลในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตนี้ได้เป็นอย่างดี โดยหุ่นยนต์ปิ่นโตและแท็บเล็ตกระจกนี้ เป็นการใช้งานแบบอิสระและเบ็ดเสร็จ ไม่จำเป็นต้องทำการติดตั้งเครื่องมือหรือโครงสร้างอื่นใดเพิ่มเติม จึงทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งในปัจจุบันหุ่นยนต์และอุปกรณ์แท็บเล็ตชุดนี้ได้ถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

“ทั้งนี้ เป้าหมายของ Obodroid ในปีหน้า จะต้องเห็นไข่ต้ม และ SR1 ออกสู่ตลาดได้มากกว่านี้ ส่วนเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ในระดับโลก มีทีมงานที่จะสามารถตอบสนองลูกค้าได้ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเรามีโอกาสที่จะไปถึงจุดนั้น ด้านการเป็นยูนิคอร์น ส่วนตัวคิดว่า ยูนิคอร์นเป็นแค่การประเมิณมูลค่า แต่การเป็นบริษัทที่สำคัญจริง ๆ คือจะต้องสร้างมูลค่าได้ ขายของได้จริง และทำกำไรได้จริง ซึ่งจะดีกว่าการได้เป็นยูนิคอร์น”

Obodroid บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ ตั้งเป้าสู่ระดับโลก

ขณะที่ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า FutureTales Lab by MQDC จับสัญญาณสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของหุ่นยนต์ พบว่า การเติบโตของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่ง International Federation of Robotics (IFR) พบว่า ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 31% หรือ 48 ล้านตัว ภายในปี 2564 โดยกลุ่มหุ่นยนต์ที่โตที่สุด คือ กลุ่มหุ่นยนต์ใช้สำหรับงานบริการตามที่อยู่อาศัย (Service Robot) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นส่วนของกระบวนการดิสรัป (Disruption) ของหลากหลายวงการหากก้าวตามไม่ทัน

ทั้งนี้ไทยจะเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์ในอาเซียน เพื่อต้อนรับ Robotic Economy ข้อมูลจากทาง IFR สะท้อนว่า ภูมิภาคเอเชียถือเป็นตลาดสำคัญอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของโลก โดยมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของตลาดโลก คาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% ซึ่งจะมีการขยายตัวเร็วที่สุดสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ในระดับโลก รองจากบราซิล 33% อินเดีย 26% และจีน 22%

“ขณะที่โครงการของ MQDC เราจะนึกถึงความอยูสุขสบายของคน ไม่ว่าจะเป็นมิติของโครงสร้าง อากาศ การใช้ชีวิต เราจะมองการเป็นอยู่ที่ดีเป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้นการมีระบบอัตโนมัติในบ้าน จะทำให้คนอยู่ได้ง่ายขึ้น ในอนาคตเรามองว่าคนจะอยู่กันเป็นครอบครัวเล็กมากขึ้น เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของ Obodroid จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะอสังหาฯ ไม่ใช่เพียงตึกที่นำอิฐมาสร้าง แต่เราต้องมองไปไกลว่า คนที่เข้ามาอยู่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร” ดร.การดี กล่าวสรุป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ