TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"แบงก์ชาติ" หนุนกู้เพิ่ม หนึ่งล้านล้าน อุด/ซ่อม/ฟื้น เศรษฐกิจ หลังย่อยยับกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

“แบงก์ชาติ” หนุนกู้เพิ่ม หนึ่งล้านล้าน อุด/ซ่อม/ฟื้น เศรษฐกิจ หลังย่อยยับกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

โควิด-19 ได้สร้างหลุมขนาดใหญ่ให้ประเทศ ช่วงปี 2563-2564 รายได้ของประชาชนหายไปกว่า 1.8 ล้านล้านบาท หากมองไปข้างหน้าในปี 2565 จะหายไปอีกราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 หลุมรายได้จะมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท

ไม่บ่อยนัก ที่จะเห็นบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการเสนอให้มีการกู้เงินถึงหนึ่งล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ เพราะมักจะเห็นบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ มักจะเล่นบทรักษาเสถียรภาพ และมักจะเน้นให้รักษาวินัยทางการเงินการคลังมากกว่า

ท่ามกลางการปรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสำนักวิจัยของแต่ละค่าย ที่มองว่าจีดีพีของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เติบโตในอัตราติดลบเป็นปีที่สองติดต่อกัน การออกมาให้ข้อมูลที่ถือว่าตรงไปตรงมาพร้อมกับแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินกู้ก้อนมหึมา โดยไม่หวั่นว่าจะกระทบเพดานการก่อหนี้ซึ่งจะเกิน 60% ของจีดีพีในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาครั้งนี้ “ทั้งหนักและใหญ่มาก”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ได้พูดคุยกับสื่อมวลชน ในรายการ Meet the press เมื่อวันจันทร์ (16 ก.ค.) ที่ผ่านมา ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าว โดยขอเริ่มด้วยการพูดถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยว่าได้เห็นอาการอยู่ 4 อาการ กล่าวคือ

อาการแรก โควิดได้สร้าง “หลุมรายได้” ให้กับประเทศ โดยธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ และประชาชนถูกเลิกจ้าง ปัญหาที่ชัดเจน คือ การขาดรายได้ โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่า รายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7 แสนล้านบาท หากมองไปในปีหน้า การจ้างงานคงไม่ฟื้นตัวเร็วและรายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท เท่ากับในปี 2563-2565 “หลุมรายได้” จะมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท

อาการที่สอง ผลสืบเนื่องมา คือ ได้เห็นการจ้างงานถูกกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีสายป่านสั้น
และออกอาการเปราะบาง ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ทำงานไม่เกิน 4 ชั่วโมง/วัน) ในไตรมาสที่สอง อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3.4 ล้านคน ผู้ว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้นสูงกว่าก่อนโควิด 3 เท่าตัว ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานอยู่ที่ 2.9 แสนคน และที่ต้องตระหนก คือ จำนวนภาคแรงงานที่กลับคืนถิ่น ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิดถึง 5 แสนคน

อาการที่สาม คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน มีทั้งขึ้นและลง เหมือนกับรูปทรงของตัว K ที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง โดยภาคการผลิตเพื่อส่งออกสูงขึ้น แต่จ้างงานน้อย ขณะที่ภาคบริการที่มีการจ้างงานสูงถึง 52% เป็นภาคที่เติบโตต่ำสุด

อาการที่สี่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดในเอเชีย ทำให้ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9% ทำให้คาดการณ์กันว่า ไทยจะฟื้นตัวได้เท่ากับก่อนเกิดโควิดได้จะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ขณะที่ประเทศในเอเชียใช้เวลาเฉลี่ย 2 ปี

ด้วยขนาดรายได้ที่หายไปเป็นจำนวนมาก เม็ดเงินที่รัฐมีอยู่คงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง เพื่อช่วยให้เกิดรายได้และพยุงฐานะทางการเงินของประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอีให้กลับฟื้นตัวให้เร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด จึงควรเติมเม็ดเงินหรือยาแรงตามขนาดของหลุม อย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 7% ของจีดีพี

แนวทางที่จะนำเงินกู้ก้อนนี้มาใช้ในการกระตุ้นนั้น ได้วางกรอบไว้กว้าง ๆ ใน 4 แนวทาง ได้แก่ การพยุงการจ้างงาน (ซึ่งอาจจะออกมาในรูปของ co-pay) การกระตุ้นอุปสงค์ (Demand Creator) การเติมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และการปรับทักษะด้านแรงงาน

แน่นอนว่าจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อสาธารณะวิ่งจากระดับ 50 กว่า ๆ ไปอยู่จุดที่สูงถึง 70% แต่เชื่อว่าหลังปี 2567 จะทยอยลดลงหลังจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับมา และการจัดเก็บรายได้ของรัฐฟื้นกลับมา เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังพอรองรับได้ และยังสามารถกู้ในประเทศได้ เพราะดอกเบี้ยเฉลี่ยยังต่ำกว่าประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน การกู้ตอนนี้ดีกว่าทำตอนที่ทุกอย่างชะลอตัว แต่ต้องมีแผนชัดเจน

สอดคล้องกับที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ในสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า การกู้เงินเท่าไรไม่ใช่ปัญหา และเพดานหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องกังวล การตั้งเพดานการก่อหนี้ 60% เป็นภาวะปกติ ซึ่งในภาวะไม่ปกติสามารถทำได้ แต่ต้องมานั่งคุยกันว่าจะวางแผนใช้จ่ายอย่างไรไม่ให้เสียเปล่า และไม่เป็นภาระการคลัง ซี่งต้องทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และแบงก์ชาติ

สำหรับปัญหาหนี้ที่เกิดก่อนโควิดและเข้มข้นขึ้นในช่วงเกิดโควิด แบงก์ชาติ ก็ได้ทำโครงการเกี่ยวกับการแก้หนี้ไปแล้วหลายโครงการ อาทิ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ซึ่งได้ดำเนินการให้กับลูกหนี้รายย่อยไปแล้ว 4.5 ล้านบัญชี มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ช่องทางแก้หนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้ และโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ โดยมีลูกหนี้เข้าโครงการในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลแล้วกว่า 1.9 แสนบัญชี รวมทั้งลูกหนี้ที่ต้องใช้เวลานาน ก็ได้มีมาตรการพักหนี้ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 50 รายมูลค่า 8,991 ล้านบาท

ส่วนโครงการพักหนี้ 2 เดือนจะต่ออีกไหม เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนและท่าทางจะยืดเยื้อ การพักหนี้อาจจะไม่ตรงอาการเท่าไรนัก กำลังมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้ โดย 1. ปรับให้ภาระการจ่ายหนี้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลง เพื่อให้ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ และ 2. ผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีจำนวนมากได้อย่างทันการ ภายใต้แนวคิดนี้ จะต้องมีกลไกที่จูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ ด้วยการยืดหยุ่นเกณฑ์ในการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง และหากสถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการขยายเวลาอย่างเดียว เช่นการเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ และอาจรวมไปถึงการลดต้นลดดอกเบี้ยค้างรับ หรือแม้แต่การลดอัตราดอกเบี้ย

ประการสำคัญ ปัญหาหนี้แต่ละรายมีความแตกต่างกัน เป็นการยากที่จะทำในลักษณะที่ใช้ได้เหมือนกันหมด มาตรการช่วยเหลือจึงไม่ใช่การพักหนี้ในวงกว้าง เพราะจะส่งผลกระทบในระยะยาว เพราะการพักหนี้ยังมีภาระดอกเบี้ยที่ยังต้องชำระอยู่ และไม่อยากให้เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ผิด (moral hazzard) และจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ