TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistPersonal Finance ที่ผมรู้จัก "แต่ทำไม่ได้"

Personal Finance ที่ผมรู้จัก “แต่ทำไม่ได้”

ความสำเร็จหรือล้มเหลว ของมนุษย์เรานั้น “เวลา” เป็นปัจจัยสำคัญ

เมื่อน้องสาวผม อยากให้ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Personal Finance ก็กลับมานึก ๆ ว่า ความจริง Personal Finance เริ่มรู้จักมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แล้ว Personal Finance หรือที่คนไทยเรียก การบริหารการเงินส่วนบุคคล คืออะไร

The Certified Financial Planner Board of Standards (CFP Board) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่กำกับดูแลด้านการวางแผนทางการเงินตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความของการวางแผนทางการเงิน ว่า การวางแผนทางการเงิน คือ กระบวนการที่จะช่วยทำให้บุคคลบรรลุเป้าหมายในชีวิตที่ตั้งไว้ โดยการจัดการการเงินอย่างเหมาะสม ซึ่งกระบวนการจัดการดังกล่าวจะเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง กำหนดเป้าหมาย ประเมินฐานะทางการเงินในปัจจุบัน และสรุปเป็นแผนหรือกลยุทธ์เพื่อการบรรลุเป้าหมายนั้นภายใต้เงื่อนไขต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันและแผนการในอนาคต

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น เราจะสามารถระบุได้ว่าการวางแผนทางการเงินเกี่ยวข้องกับ

  • ฐานะการเงินในปัจจุบันของบุคคลนั้น ๆ
  • เป้าหมายการเงินหรือวัตถุประสงค์ของการออมเงิน
  • แผนทางการเงินที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น

ยากไปไหม งั้นเอาใหม่ แบบเข้าใจง่าย ๆ

การบริหารการเงินส่วนบุคคล ก็คือการ การบริหารเงินในกระเป๋าอย่างไร ให้เรามีใช้ไม่ขัดสน ไม่ว่าจะทำงานอยู่หรือไม่ทำ แล้วทำไมเราต้องบริหารการเงินส่วนบุคคล

ก็เราไม่รู้อนาคตได้ชัด ๆ ว่าเราจะตกงาน เจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไร แล้วเราเองส่วนมากก็ไม่อยากทำงานเป็นลูกจ้างไปตลอด เราทุกคนมีความฝัน อาจจะแตกต่างกันไป แต่สุดท้ายมักจะมีคำตอบไม่แตกต่างกันสักเท่าไร

  • ไม่อยากลำบากตอนแก่
  • อยากอยู่สบาย ๆ ใช้ชีวิตแบบอิสระไม่ต้องอยู่ในระบบการทำงาน
  • มีเงินสำรองเวลาตกงานหรือถูกลดเงินเดือน จะได้ไม่ต้องไปหยิบยืมใคร
  • ฯลฯ

การวางแผนกำหนดอนาคตของชีวิตตัวเอง เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งรวมไปถึงการใช้เงินและการสร้างดอกผลจากเงิน เพื่อให้เราสามารถบรรลุถึงเป้าหมาย องค์ประกอบใหญ่ ๆ ของการบริหารการเงินส่วนบุคคลจึงประกอบด้วย

  1. การกำหนดเป้าหมาย
  2. พฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อสร้างเงินออม (หาอย่างไร ใช้อย่างไร)
  3. การลงทุนเพื่อสร้างดอกผล

อันนี้เป็นกรอบใหญ่ ๆ แต่หากให้ละเอียดจะพบว่าการบริหารการเงินส่วนบุคคล จะเกี่ยวกับชีวิตของตัวเรา ซึ่งได้แก่

  • การวางแผนการบริโภคและการออม
  • การสำรองใช้จ่ายยามฉุกเฉิน
  • การวางแผนการก่อหนี้ และการบริหารสินเชื่อ
  • การวางแผนการลงทุน
  • การวางแผนภาษี
  • การวางแผนการทำประกันและการจัดการความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงที่อาจต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ความเสี่ยงที่อาจต้องสูญเสียความสามารถหรือทุพพลภาพ, ความเสี่ยงที่อาจต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติ หรือความเสี่ยงที่อาจต้องสูญเสียรายได้ ฯลฯ
  • การออมเงินเพื่อการศึกษา(ของตัวเองหรือลูกหลาน)
  • การออมเงินเพื่อวัยเกษียณ
  • การวางแผนการเงินสำหรับทายาท

การบริหารการเงินส่วนบุคคล ก็คือการวางแผนการหาเงิน การใช้เงินของตัวเอง เพื่อรองรับอนาคตซึ่งไม่มีใครรู้และกำหนดได้

หากเราไม่ใช่ลูกหลานเจ้าสัวจากไหน ต้องสร้างปัจจุบันและอนาคตด้วยตัวเรา วิธีการบริหารการเงินส่วนบุคคลก็คือ การกำหนดว่ามีรายได้เท่าไร ใช้จ่ายอย่างไร เพื่อให้เกิดเงินออมเพื่อนำเงินออมไปสร้างดอกผล ให้เป็นภูมิคุ้มกันให้กับตัวเราและคนรอบตัว

“เวลา” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ หากมีเวลามากพอ สามารถเริ่มได้ก่อน โอกาสสำเร็จก็มีมาก กลับกัน หากมีเวลาน้อย ความเสี่ยงก็จะสูง โอกาสพลาดหรือล้มเหลวจะไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาได้อีก

ผมเป็นคนที่ไม่มีต้นทุนเวลาแล้ว จึงทำสำเร็จได้ยากมากครับ

คอลัมน์: Personal Finance ที่ผมรู้จัก (แต่ทำไม่ได้) ตอนที่ 1

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ