TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewPomelo ยืนหนึ่งโลกแฟชั่นและเทคโนโลยี มุ่งสู่ผู้นำแพลตฟอร์มแบรนด์ดิจิทัลแฟชั่น

Pomelo ยืนหนึ่งโลกแฟชั่นและเทคโนโลยี มุ่งสู่ผู้นำแพลตฟอร์มแบรนด์ดิจิทัลแฟชั่น

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากมาตรการล็อกดาวน์ เพราะวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินเวลาลากยาวมามากกว่า 1 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการในหลายธุรกิจต่างคิดหาหนทางและวิธีการปรับตัวเพื่อประคับประคองให้อยู่รอด โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญที่หลายบริษัทนำมาปรับใช้ก็คือการพึ่งพาเทคโนโลยีและหันหน้าเข้าหาโลกออนไลน์ ส่งผลให้หลายเดือนที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซ กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันสุดร้อนแรง 

ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Pomelo แบรนด์สินค้าแฟชั่นชั้นนำ อีกทั้งยังเป็นแบรนด์แฟชั่นดิจิทัลแรกในวงการแฟชั่นออนไลน์ เดวิด จู กล่าวว่า การสร้างแบรนด์และขายผลิตภัณฑ์บนโลกออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงแต่การนำสินค้าไปปรากฏบนหน้าเว็บไซต์หรือช่องทางต่าง ๆ โลกออน์ไลน์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการวางแผน การวางกลยุทธ์ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การเลือกเครื่องมือ การให้บริการ การพัฒนาบุคลากร และการบริหารจัดการ ตั้งแต่หน้าบ้านยันหลังบ้าน ซึ่งทั้งหมด Pomelo ใช้เวลาสั่งสมมานับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยมาได้เกือบ 8 ปีแล้ว

ดังนั้น เดวิด จู จึงตระหนักดีว่า การทำแบรนด์และขายสินค้าบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใคร ๆ จะสามารถทำได้ ขณะเดียวกัน แม้ว่า Pomelo จะไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในแง่ของยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น กระนั้นปัญหาของผู้ประกอบการแบรนด์สินค้าและบริการอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าในตลาดแฟชั่น ทำให้ เดวิด จู มองเห็นช่องทางในการนำประสบการณ์และความสามารถของ Pomelo มาขมวดรวมเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่จะช่วยสนับสนุนแบรนด์สินค้าและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สามารถยืนอยู่ในวงการแฟชั่นออนไลน์ได้อย่างดีและมั่นคง 

“ผมคิดว่า สิ่งที่ไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อวงการ คือ ทำให้ทุกคนมองเห็นภาพความสำคัญของ “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และเริ่มคิดถึงการคงอยู่อย่างดีของธุรกิจในอนาคต สิ่งที่ Pomelo ต้องการจะทำคือการนำเครื่องมือ ความสามารถ เทคโนโลยี และบุคลากรที่ Pomelo สร้างขึ้น ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ (อีคอมเมิร์ซ) ซึ่งผมมองว่านี่คือ การปฏิวัติธุรกิจครั้งใหญ่ของ Pomelo”

ทั้งนี้ ในปี 2020 ที่ผ่านมา แบรนด์ธุรกิจ Pomelo นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่ของรายได้ แม้ปริมาณของยอดขายจะชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ท่ามกลางห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวนานหลายเดือน บวกกับที่คนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้ Pomelo สามารถขยายฐานผู้ใช้งานได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เรียกได้ว่า ยอดขายสินค้าแฟชั่นออนไลน์ของ Pomelo สามารถชดเชยทดแทนยอดขายสินค้าออฟไลน์ที่ลดลงไปได้

“ปี 2020 มีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์และแอปของ Pomelo กว่า 40 ล้านคน รวมถึงมีแบรนด์นอกที่เข้าร่วมกับ Pomelo มากกว่า 200 แบรนด์ ซึ่งแน่นอนว่าทางเรามีแผนที่จะเพิ่มจำนวนแบรนด์ให้มากขึ้นกว่าที่มีอยู่”

จำนวนของแบรนด์ที่มากขึ้น ทำให้ Pomelo มองเห็นโอกาสที่จะมุ่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีของตน เปลี่ยนเครื่องมือและทักษะความสามารถที่มีให้เป็นสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ สามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองบนโลกออนไลน์ได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ Pomelo สามารถขยายแพลตฟอร์ม และขยายฐานผู้ใช้งาน ในตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตได้อย่างรวดเร็วอยู่ในเวลานี้ 

“สำหรับปีนี้ เราคาดหวังที่จะเพิ่มแบรนด์สินค้าและบริการ รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ตั้งเป้าที่จะรักษาระดับการเติบโตให้เทียบเท่าปีที่ผ่าน โดยตอนนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะระบุเป้าตัวเลขการเติบโตที่ชัดเจน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ยังค่อนข้างที่จะไม่แน่นอน แต่โดยรวมเราถือได้ว่ามีการเติบโตที่ค่อนข้างดี”

ขณะที่ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดอีกระลอก เดวิด จู ยอมรับว่า ยอดขายที่เติบโตได้ช้าลง คือ สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กระนั้น ก็ยังเชื่อมั่นว่า ภาพรวมของตลาดแฟชั่นออนไลน์ยังสามารถเดินหน้าไปต่อได้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 นี้ ที่น่าจะสามารถคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดให้ผู้คนและสังคมกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ซึ่งซีอีโอของ Pomelo เชื่อว่า สถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์น่าจะคล้ายคลึงกับปี 2020 ที่ผ่านมา ที่ยอดขายสินค้าและบริการสามารถฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

“ในความคิดของผม สินค้าแฟชั่นขึ้นอยู่กับความต้องการเป็นหลัก ดังนั้น หลังจากต้องติดอยู่ในบ้านมากกว่า 2 เดือน เมื่อทุกอย่างเปิดอีกครั้ง คุณก็ย่อมอยากออกไปพบเพื่อนและครอบครัว ก็มารอดูกันว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะสามารถฟื้นรีบาวด์กลับขึ้นมาได้แข็งแกร่ง เหมือนกับที่คุณได้เห็นในสหรัฐฯและประเทศอื่น ๆ ที่มีการปูพรมฉีดวัคซีนแล้ว”

ปรับกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็นแพลตฟอร์ม 

ในแง่การเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการของ Pomelo ให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานในตลาดได้เป็นอย่างดีแล้ว เดวิด จู เปิดเผยว่า ทาง Pomelo ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หลักที่จะเป็นตัวเร่งให้บริษัทกลายเป็นแพลตฟอร์ตที่แข็งแกร่งบนโลกออนไลน์ ที่ผู้ประกอบการแฟชั่นทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กสามารถเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างแบรนด์ของตนเองได้

“เรามีแบรนด์จากบริษัทข้ามชาติ แบรนด์ SMEs แบรนด์จากอินสตาแกรม และแบรนด์ท้องถิ่นอีกมากกว่า 200 แบรนด์ ซึ่งเมื่อโควิดเกิดขึ้น ทุกคนต่างคิดตรงกันว่าจะทำอย่างไรกันต่อดี และทำให้หลายแบรนด์เริ่มคิดค้นหานวัตกรรมที่จะใช้สินค้า การขาย บุคลากร และร้านค้ามาขายบนโลกออนไลน์ กลายเป็นว่าหลายแบรนด์เริ่มมองหาแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าถึงผู้ใช้งาน แพลตฟอร์มที่จะช่วยให้พวกเขาสร้างแบรนด์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์”

ความต้องการดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่ทาง Pomelo กำลังดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น สิ่งที่ Pomelo ต้องทำ คือ การเร่งให้แบรนด์เหล่านี้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่แพลตฟอร์มให้เร็วขึ้น เปิดให้บริการแก่แบรนด์อื่นให้มากขึ้น 

ขณะนี้ Pomelo มีบริการที่เข้าไปช่วยจัดการแบรนด์นอกที่เข้ามาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของ Pomelo ทั้งการจัดการเรื่องของคลังสินค้าและการจัดส่งสินค้า เรียกได้ว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของแบรนด์แฟชั่น โดยในอนาคต Pomelo มีแผนที่จะวางระบบให้แบรนด์นอกของ Pomelo ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ที่สร้างตัวมาจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น อินสตาแกรม สามารถบริหารจัดการสร้างคลังสินค้าและบริการจัดส่งของตนเอง 

เดวิด จู เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบัน Pomelo มีทั้งแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ และแบรนด์ขนาดเล็ก โดยแบรนด์ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมและมีการเติบโตได้ดีที่สุด คือ “อินสตาแกรม แบรนด์” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ผู้ประกอบการผลิตสินค้า ทำการตลาดและช่องทางการขายผ่านอินสตราแกรมของตนเอง พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ เป็นแบรนด์แฟชั่นที่แจ้งเกิดเข้าสู่วงการจนเป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ด้วยการใช้อินสตาแกรมเป็นตัวสร้างเรื่องราว และส่งเสริมการขาย 

ตั้งเป้าเป็น Amazon แห่งโลกแฟชั่นออนไลน์ 

ทั้งนี้ จุดขายสำคัญของ Pomelo คือ ความสำเร็จที่ผ่านมาของแบรนด์เอง ซึ่ง เดวิด จู มองว่า ความสำเร็จดังกล่าวก็คือ ตัวการันตีความเชื่อมั่น เหมือนกับที่ทาง Amazon ได้ทำไว้กับตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยเมื่อพูดถึงกลยุทธ์ของ Amazon ที่สามารถสร้างสินค้าและบริการต่าง ๆ ขึ้นมาตอบสนองตลาดอีคอมเมิร์ซได้อย่างดี ทำให้หลายฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจ ดังนั้น พอ Amazon ประกาศที่จะให้บริการคลังสินค้า หรือให้บริการเว็บ (AWS หรือ Amazon Web Services) ผู้ประกอบการหลายแบรนด์จึงเทใจให้อย่างไม่ลังเล 

“สำหรับเราก็เป็นกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกัน (กับ AMazon) เราเริ่มต้นด้วยการเป็นแบรนด์ และสร้างแบรนด์ขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้นขณะนี้จึงเป็นเรื่องของการแบ่งปันสิ่งที่เราได้เรียนรู้และประสิทธิผลของเราให้กับคนอื่นได้รับรู้”

ด้าน อริยะ พนมยงค์ คณะกรรมการบริษัท Pomelo ในฐานะผู้ที่จะมาเสริมทัพให้สินค้าและบริการของแบรนด์ Pomelo ยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งบนโลกออนไลน์มากขึ้น กล่าวเสริมว่า เมื่อเอ่ยถึงตลาดออนไลน์ ต้องยอมรับว่า ไม่มีธุรกิจไหนที่เกิดขึ้นแล้วจะเป็นแพลตฟอร์มเลย มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ปรับตัวและหาแนวทางที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับบริษัทองค์กร ซึ่งต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ประจวบเหมาะและเหมาะสมสำหรับ Pomelo ในการสร้างแพลตฟอร์มของตนเอง และนำเสนอแพลตฟอร์มนั้นออกไป

“มันเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายาม ใคร ๆ ต่างก็พูดถึงอีคอมเมิร์ซ ถ้ามันง่ายจริง ไม่ว่าใครก็ต้องทำมันได้ดีแล้ว ดังนั้นการที่ Pomelo สามารถสร้างแบรนด์แฟชั่นออนไลน์ขึ้นมาได้และก้าวเข้าสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งจึงเป็นความน่าเชื่อถือที่ดึงดูดให้ทุกคนวางใจที่จะเข้ามา”  

ขณะเดียวกัน เดวิด จู เสริมว่า การทำธุรกิจเพื่อขายสินค้าแฟชั่นออนไลน์โดยพื้นฐานแล้วมีความแตกต่างจากอีคอมเมิร์ซทั่วไปอยู่มาก เพราะขณะที่อีคอมเมิร์ซทั่วไปใช้กลยุทธ์แข่งขันด้านราคา และความหลากหลายของประเภทสินค้าที่นำเสนอบนแพลตฟอร์มเป็นตัวดึงดูดผู้บริโภค หัวใจของแพลตฟอร์มแห่งโลกแฟชั่น คือ “คอนเทนต์” หรือ ข้อมูล ซึ่งผสานรวมกับการเก็บรักษา ความเข้ากันอย่างลงตัว การได้ทดลองใส่ ความสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีแพลตฟอร์มที่เข้าใจวงการแฟชั่นอย่างแท้จริงขึ้นมาโดยเฉพาะ 

จุดบรรจบระหว่าง แฟชั่นกับเทคโนโลยี

แม้ว่า Pomelo จะปรับกลยุทธ์ในปีนี้ ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแพลต์ฟอร์มออนไลน์ แต่ซีอีโอของ Pomelo ก็ย้ำชัดว่า อัตลักษณ์ของแฟชั่น ยังเป็นสิ่งที่ Pomelo ให้ความสำคัญและใส่ใจในฐานะแบรนด์ธุรกิจแฟชั่น 

“ตอนนี้ เรามีหน่วยธุรกิจอยู่ 2 หน่วยหลัก คือ ‘แบรนด์’ และ ‘แพลตฟอร์ม’ Pomeloในฐานะแบรนด์จะยังคงยืนหยัดในสิ่งที่ยึดมั่นตั้งแต่ต้น นั่นคือ การเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่ทันสมัยและเข้าถึงสำหรับคนทุกคน เป็นชุมชนแฟชั่นของ Pomelo ขณะเดียวกันก็ได้มีการขยายฐานของแบรนด์ออกไปในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การเปิดตัวแบรนด์ในฟิลิปปินส์เมื่อต้นปี และมีแผนที่จะเปิดตัวแบรนด์ในเวียดนามหลังจากนี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งเปิดร้านในสิงคโปร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย และกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย”

ทั้งนี้ เมื่อแบรนด์เดินหน้าเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว สิ่งที่ต้องทำต่อ ก็คือ นำองค์ความรู้ที่ได้ทั้งหมดไปวางกลยุทธ์ในการสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นพื้นที่ออนไลน์แห่งโลกแฟชั่นอีกทางหนึ่ง

“แน่นอนว่า ทุกวันนี้ แพลตฟอร์มของ Pomelo ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ดังนั้น ธุรกิจในส่วนนี้จึงยังเล็กกว่าแบรนด์ แต่แพลตฟอร์มก็มีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราคาดหวังว่าหน่วยธุรกิจแบรนด์กับแพลตฟอร์มจะมีสัดส่วนเท่า ๆ กันที่ 50-50 เราให้ความสำคัญกับทั้งสองส่วน เราจะยังคงผลักดันการเติบโตของแบรนด์ ลงทุนในแบรนด์ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ยอดเยี่ยมออกมา ขณะเดียวกัน เราก็จะหาหนทางนำเอาทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยีที่เรามี มาช่วยทำให้แบรนด์แฟชั่นก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีตรงนี้ ในการก้าวสู่บทต่อไปของการเติบโต เราต้องการช่วยเหลือแบรนด์อื่น ๆ ในวงการแฟชั่น”

ด้านอริยะ ชี้ให้เห็นว่าในความเป็นจริงของแพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยังไม่ตอบโจทย์สำหรับแบรนด์แฟชั่นสักเท่าไรนัก ซึ่งสิ่งที่ Pomela สร้างขึ้นมา คือ การมีแพลตฟอร์มที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายสำหรับสายแฟชั่นอย่างชัดเจน โดยสำหรับ Pomelo กลุ่มเป้าหมายหลักก็คือ ผู้หญิงขาช้อป ผู้รักในและสนุกกับแฟชั่น การแต่งตัว

“สิ่งที่ Pomelo ทำไม่ใช่เพียงแค่การสร้างแพลตฟอร์ม แต่เป็นตลาดชุมชนแฟชั่น ที่ต้องการสินค้าแบรนด์คุณภาพราคาเข้าถึงได้ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราพยายามก้าวเข้าไปยังโลกออนไลน์ก่อนที่จะเข้าใจในที่สุดว่า การเข้าไปไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่ว่าทุกแพลตฟอร์ม ทุกตลาดออนไลน์จะเข้ากับแบรนด์แฟชั่นนั้น ๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญของการเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การมีแพลตฟอร์มเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณอยู่ในนั้นแล้วนะเท่านั้น แต่คุณยังต้องการสถานที่สักแห่งที่เหมาะกับแบรนด์ของคุณจริง ๆ ทั้งยังเป็นสถานที่ที่มีทีมงานที่มีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องของแฟชั่นและแบรนด์เป็นอย่างดี” อริยะ กล่าว

สำหรับในปีที่ผ่านมา 90% ของการซื้อขายของ Pomelo เกิดขึ้นบน แอปพลิเคชันของบริษัท ขณะเดียวกันมีการเพิ่มประเภทสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ตอบโจทย์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องอยู่ติดกับบ้านมากขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำหรับออกกำลังกาย อุปกรณ์เสริม รองเท้า และของตกแต่งหรือใช้งานภายในบ้าน 

นอกจากนี้ ด้วยกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความใส่ใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ทำให้ Pomelo ยังเดินหน้าสนับสนุนผลิตภัณฑ์และแบรนด์พันธมิตรที่ใช้วัสดุรีไซเคิล หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสินค้าแบรนด์มือสอง เพื่อส่งเสริมเรื่องการลดปริมาณขยะและการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 

เดวิด จูมองว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามว่าอะไร คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งลำดับต้น ๆ คือ ครอบครัว เพื่อน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน โดย Pomelo เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น เห็นได้จากหลายแบรนด์ที่เข้ามาในช่วงหลัง ๆ มานี้ ล้วนเป็นแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความโดดเด่นของ Pomelo

อย่างไรก็ตาม เมื่อให้สรุปความโดดเด่นที่ทำให้ Pomelo แตกต่างและประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นสู่การเป็นดิจิทัลแฟชั่นแบรนด์อันดับหนึ่งในอาเซียน ซีอีโอของ Pomelo ได้เรียบเรียงออกมาเป็น 4 ประเด็นด้วยกัน ประการแรก คือ การเป็นซูเปอร์แอปด้านแฟชั่น ที่มีช่องทางที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน มีความเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนตัว มีโปรแกรมส่งเสริมการขาย อย่าง loyalty program ช่องค้นหาสินค้า และไลฟ์สตรีมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จนเรียกได้ว่าเป็นทุกสิ่งที่ลูกค้าต้องการในด้านแฟชั่น

ประการที่สอง คือ การเป็นแฟชั่นที่คลุกคลีกับเทคโนโลยี ซึ่งเดวิด จู อธิบายว่า สำหรับแบรนด์แฟชั่นส่วนใหญ่ ตัวตันหรือยีนพันธุกรรมของธุรกิจก็คือแฟชั่น แต่สำหรับ Pomelo แฟชั่นมีความสำคัญเทียบเท่าเทคโนโลยี ทำให้นอกจากจะมีทีมผู้เชี่ยวชขาญด้านแฟชั่น Pomelo ยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาฟีเจอร์สใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมแฟชั่น

ประการที่สาม คือ มุ่งตอบสนองความต้องการที่แท้จริงก็ของอุตสาหกรรมแฟชั่น ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงแพลตฟอร์ม Pomelo สิ่งที่ผู้บริโภคนึกถึงจึงไม่ใช่โปรโมชั่นหรือลดราคา แต่เป็นการเข้าไปค้นหา แฟชั่นเสื้อผ้าล่าสุด หรือตามหาเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับตนเองในโอกาสต่าง ๆ รวมไปถึงการหาชุดที่จะบ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้บริโภค

“ผมคิดว่าเราน่าจะเป็นแพลตฟอร์มแฟชั่นที่แท้จริงในประเทศไทยที่ที่คุณสามารถเข้ามาและสนุกกับโลกแห่งแฟชั่นได้ ดังนั้น ทุกสิ่งที่เราทำล้วนเกี่ยวข้องกับการทำให้ลูกค้าของเราได้รักแฟชั่นและแสดงความเป็นตัวของตนเองผ่านแฟชั่นได้อย่างเต็มที่”

ส่วนประการที่สี่ ซึ่งเป็นประการสุดท้าย แต่ก็เป็นส่วนที่เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ เรื่องของความยั่งยืน ที่ผู้บริโภคหลายรายเริ่มสอบถามตรวจสอบความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของแบรนด์และบริษัท ว่ามีการดำเนินการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน มีการคำนึงวางแผนเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อความยั่งยืนหรือไม่  

“ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ เราพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราใช้ผ้าเดนิมรีไซเคิล เลือกใช้ฝ้ายออร์แกนิก รีไซเคิลเส้นในโพลิเอสเตอร์ ประยุกต์ใช้เทคนิคซักล้างที่แตกต่างกันเพื่อลดปริมาณการใช้นำเหลือใช้ และนำเศษผ้าเหลือทิ้งมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย”

ขณะที่ อริยะ เสริมว่า จุดเด่นที่ทำให้ Pomelo แตกต่าง คือ การสร้างแพลตฟอร์มแฟชั่นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้น้ำหนักความสำคัญกับการสร้างฐานข้อมูลของลูกค้า การติดตาม และระบบบริหารจัดการ ควบคู่ไปกับการเป็นเอกลักษณ์บนโลกแฟชั่น 

“บทบาทของผมและงานของผมที่จะเข้ามาช่วย Pomelo ก็คือ การวางแผนเพื่อขยายขนาดในการเข้าถึงแบรนด์ต่าง ๆ จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วมากกว่า 200 แบรนด์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องขยาย Pomelo ให้ครอบคลุมในระดับภูมิภาค ตลอดจนจัดหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้กับ Pomelo ได้ยืนหยัดอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นออนไลน์ได้อย่างมั่นคง คือเมื่อคุณพูดถึงแฟชั่น พูดถึงแบรนด์ Pomelo สิ่งที่นึกถึงต้องไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มที่คนเข้ามาเพื่อหาซื้อเสื้อผ้าลดราคาหรือราคาพิเศษ แฟชั่นคือสิ่งที่ขับเคลื่อนด้วยคอนเทนต์ และความคิดสร้างสรรค์”

ตั้งเป้ายืนหนึ่ง ผู้นำแพลตฟอร์มแฟชั่น

ในมุมมองของเดวิด จู อุตสาหกรรมแฟชั่นออนไลน์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสและแนวโน้มเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยขนาดตลาดแฟชั่นออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าอยู่ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 6% ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเมื่อเทียบกับจีนที่ตลาดแฟชั่นออนไลน์ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่มาก คือ มีสัดส่วนสูงถึง 30% ดังนั้น เมื่อตลาดอาเซียนในอีก 5-10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มจะเติบโตเป็นสัดส่วนเทียบเท่าจีน มูลค่าตลาดแฟชั่นออนไลน์ก็จะมีการขยายตัวเติบโตถึง 6 เท่า จากปัจจุบัน  

สำหรับ Pomelo ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบ series C รวมมูลค่า 52 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนักลงทุนชั้นนำ เช่น Provident Growth Fund, JD.com, และ Central Group การเดินหน้าเพิ่มการลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทั้งในด้านแบรนด์และแพลตฟอร์มจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากแต่อย่างใด 

ผมคิดว่า สำหรับ Pomelo เราต้องการที่จะสร้าง omni channel แฟชั่นแพลตฟอร์มสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้กรุงเทพมหานครเป็นฐานหลัก ขณะนี้เรามีสุดยอดทีมงานมากกว่า 600 ชีวิต และมีทุนที่ทำให้รันเวย์ไปได้ยาว ขณะนี้เราเป็นแฟชั่นออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง หรือมีสัดส่วนที่ 22 % ในอาเซียน เพียงแต่ว่า ต่อจากนี้ เราอาจจะต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อการเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำที่มี ซูเปอร์แอป ให้บริการทั่วถึงภายในอาเซียน และหากเป็นไปได้ Pomelo ก็อยากที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นยูนิคอร์นต่อไป”

ในส่วนของแบรนด์ เดวิด จู กล่าวว่า การขยายจำนวนแบรนด์นอกก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเมื่อคิดถึงในฐานะลูกค้าสาวนักช้อป การมีทั้งแบรนด์ต่างชาติและแบรนด์ในประเทศให้เลือก ย่อมสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินและโดนใจมากกว่า โดยแบรนด์ส่วนใหญ่ที่ Pomelo มีอยู่ในปัจจุบันจะเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เรื่องราวเป็นของตนเอง อย่างอินสตาแกรมแบรนด์ 

“ถ้าหากว่าคุณอยากที่จะเป็นซูเปอร์แอปตัวจริง คุณก็ต้องทำให้ครอบคลุมทุกองค์ประกอบในโลกแฟชั่น” 

ขณะเดียวกัน การที่ตลาดในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มเกิดขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะจากอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในตลาดไม่ได้สร้างความกดดันให้กับ Pomelo แต่อย่างใด โดยเดวิด จู มองว่า การมีแพลตฟอร์มมากจะช่วยเสริมสร้างให้ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์และหลากหลาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดและผู้บริโภค เหมือนในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐฯ อินเดีย ที่มีอีคอมเมิร์ซใหญ่ๆ และมีแบรนด์แฟชั่นออนไลน์ให้เลือก แถมการที่ Pomelo ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจาก Central Group และ JD.com ก็ช่วยให้ Pomelo ปรับปรุงด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีกับการทำการตลาดออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น 

ส่วนในเรื่องของ Omni Channel ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการธุรกิจที่ผสานเทคโนโลยีเข้ากับกลยุทธ์ทางการตลาด เชื่อมโยงเป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ตรง เร็ว และมัดใจได้ในทันที จนทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด Pomelo เล็งขยายร้าน Tap Try Buy ให้กว้างมากขึ้น โดย Tap Try Buy เป็นการริเริ่มของ Pomelo เพื่อแก้ปัญหาจุดอ่อนของแบรนด์แฟชั่นออนไลน์ที่ไม่สามารถวัดขนาดและลองสวมใส่ได้ ทำให้เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ลูกค้าสามารถไปลองสินค้าที่หน้าร้าน (ออฟไลน์) ไม่พอใจก็ไม่ซื้อ พอใจก็จ่ายเงินซื้อออกจากร้านได้เลย ปัจจุบัน Pomelo มี Tap Try Buy อยู่ราว 116 แห่งทั่วประเทศไทย 

“Tap Try Buy เป็นหนึ่งในช่องทางช็อปปิ้งแฟชั่นออนไลน์ที่ทำให้ Pomelo ได้รับความนิยมและครองใจผู้บริโภค ซึ่งต้องยอมรับว่า ร้านเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น Tap Try Buy จะสามารถกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง”

ทั้งนี้ในมุมมองของอริยะ กลยุทธ์ Omni Channel เป็นกลยุทธ์ที่บรรดาผู้ค้าปลีกพูดถึงมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีรายได้คิดค้น ลงมือทำและประสบความสำเร็จได้เท่ากับที่ Pomelo ทำ เป็นโซลูชั่นแรกและโซลูชั่นเดียวเพื่อแก้ปัญหาแฟชั่นออนไลน์อย่างแท้จริง ดังนั้น ก้าวต่อไปของ Pomelo ในการหลอมรวมประสบการณ์และความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพื่อไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มและซูเปอร์แอปแห่งโลกแฟชั่นออนไลน์ จึงไม่เพียงแต่เป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นจังหวะเวลาที่ถูกต้อง และเป็นไปได้อย่างมากสำหรับ Pomelo ที่สามารถสร้างฐานผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจนและแข็งแกร่ง

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ