TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewFreshket จาก มาร์เก็ตเพลส สู่ แพลตฟอร์มห่วงโซ่อาหาร

Freshket จาก มาร์เก็ตเพลส สู่ แพลตฟอร์มห่วงโซ่อาหาร

จากประสบการณ์การทำโรงคัดบรรจุผักที่ตลาดไท ทำให้มองเห็นปัญหาและข้อผิดพลาดในกระบวนการทำงานแบบดั้งเดิมของห่วงโซ่ธุรกิจนี้จากเกษตรกร ผู้ค้า ไปจนถึงร้านอาหาร ทำให้ “เบล” ลุกขึ้นมาทำ Freshket ในวันแรกด้วยความคิดที่อยากจะเอาระบบเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบเดิม (Manual Work) ระหว่างซัพพลายเออร์กับร้านอาหาร ประกอบกับมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ว่างอยู่ เพราะตลาดกลุ่มร้านอาหารและโรงแรมในประเทศไทยที่มี มากกว่า 200,000 ร้านอาหารและโรงแรม มีมูลค่าการซื้อวัตถุดิบกว่า 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ หรือ เบล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ เฟรชเก็ต (Freshket) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า Freshket เริ่มต้นในปี 2017 ด้วยรูปแบบธุรกิจ มาร์เก็ตเพลส (Markeplace) คือ เป็นแพลตฟอร์มตลาดเชื่อมโยงซัพพลายเออร์กับร้านอาหาร เชื่อมระบบการทำงานระหว่างสองฝ่ายเข้าหากัน ทำให้เกิดการซื้อขายระหว่างร้านอาหารกับซัพพลายเออร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส และตรวจสอบได้

ทำมาประมาณหนึ่งปีก็พบปัญหาว่าจำนวนร้านอาหารที่อยู่บนแพลตฟอร์มเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เพราะราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ส่งของไม่ตรงเวลา ทำให้ร้านอาหารทยอยออกจากแพลตฟอร์ม

“ตอนนั้นตลาดของซัพพลายเออร์อาจจะยังไม่พร้อมมากในมุมของการส่งของให้ตรงเวลา เพราะมีทั้งรายเล็กรายกลางมีทรัพยากรเรื่องรถจำกัด ซึ่ง Fresket เตรียมทรัพยากรไปช่วยเรื่องการขนส่ง ซึ่งด้วยรูปแบบธุรกิจแบบนี้น่าจะขยายธุรกิจยาก”

สิ่งที่ร้านอาหารต้องการคือ ราคา คุณภาพสินค้า และคุณภาพบริการการขนส่งที่ต้องตรงเวลา ดังนั้น Fresket ต้องมีคลังสินค้า (Warehouse) และระบบขนส่ง (Logistic) เข้ามาเพื่อทำให้เพื่อรวบรวมสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่หลากหลาย และต้องจัดส่งถึงร้านอาหารตรงเวลา

“Fresket ส่งของสด คือ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ของเหล่านี้ร้านอาหารรอไม่ได้ ต้องส่งตรงเวลา เราปรับกระบวนการทุกสองสัปดาห์เพื่อหารูปแบบที่ใช่ เหมือนการทำสตาร์ตอัพใหม่อีกครั้งว่าทำอย่างไรถึงจะเจอท่าที่ใช่ที่เร็วที่สุด ตอนนี้เจอแล้ว”

Freshket จึงปรับรูปแบบธุรกิจมาเป็น Food Supply Chain Platform โมเดลใหม่ร้านอาหารสามารถสั่งสินค้าจาก Freshket ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน แพลตฟอร์มมีโปรแกรมระบบบริหารจัดการออเดอร์ (Order Management System) ให้ร้านอาหารสั่งวัตถุกิบได้ 3 ช่องทาง คือ ผ่าน Mobile App เว็บไซต์ และอีเมล เพื่อรองรับกลุ่มเชนร้านอาหารที่มีระบบ PO อัตโนมัติออกจากระบบ

โปรแกรมภายในของ Freshket จะตัดออเดอร์ 22:00 น.​ ทุกวัน หลังจากนั้นโปรแกรมจะรวบรวมออเดอร์และส่งไปยังซัพพลายเออร์ทันที พร้อมส่งข้อมูลไปที่คลังสินค้าและขนส่งที่อยู่บนแพลตฟอร์ม

ซัพพลายเออร์พอได้รับออเดอร์จะส่งสินค้าเข้ามาที่คลังสินค้าตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีสี่ หลังจากนั้น Logistic Partner จะมารับสินค้าตอนตีห้าครึ่ง แล้วเอาไปส่งที่ร้านอาหารตามศูนย์ (Hub) ซึ่งมีศูนย์กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ จากศูนย์จะมีขนส่งที่เป็น Last Mile และ Truck กระจายเข้าสู่ร้านอาหารใกล้เคียง ร้านอาหารเองสามารถเลือกช่วงเวลาได้ตั้งแต่ 8:00 น.ถึง 16:00 น.จะมีการจัดทุก ๆ 1 ชั่วโมง

บทบาทของการเป็น Food Supply Chain Platform แตกต่างจากการเป็นมาร์เก็ตเพลสมาก เปลี่ยนคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า ​(Value Proposition) ทำให้รูปแบบธุรกิจเปลี่ยน จากรูปแบบธุรกิจมาร์เก็ตเพลส รายได้มาจากค่าธรรมเนียม (Commision Fee) เป็นส่วนต่างของกำไร (Margin-based) เพราะเป็นซื้อมาขายไป และด้วยวิธีการจัดการที่ต่อคลังสินค้าและขนส่งเข้ามา

“หลังจากทำมา 2 ปี ตลาดโตอย่างรวดเร็ว และเราควบคุมคุณค่าที่จำเป็นที่ลูกค้าต้องการได้จริง คือ ราคา คุณภาพสินค้า คุณภาพการบริการที่ตรงเวลา คิดว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืนและพร้อมขยายต่อ”

แผนต่อไป คือ จะขยายเข้ากลุ่มที่เป็นเชนร้านอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งร้านอาหารขนาดกลางและเล็กที่ใช้ Freshket มีการเปิดร้านอาหารสาขามากขึ้น มีการเจริญเติบโต ซึ่ง เบล กล่าวว่า Freshket โตตามเขา เขาโตตาม Freshket

บริษัทยังคงโฟกัสตลาดกรุงเพทฯ ปัจจุบันมีร้านอาหารที่ใช้บริการ Fresket อยู่เกือบ 4,000 ราย ในกรุงเทพฯ แต่ร้านอาหารในกรุงเทพฯ ทั้งหมดมีประมาณ 75,000 ราย โอกาสทางธุรกิจในกรุงเทพฯ มีอีกมาก สิ่งที่ต้องทำ คือโฟกัสและขยายเพื่อจะครอบคลุมตลาดกรุงเทพฯ ให้แข็งแรงก่อน และจะกระจายไปในจังหวัดหัวเมืองต่าง ๆ

“ในมุมของเซ็กเมนต์สินค้า ตอนนี้โฟกัส ผักและผลไม้ และกำลังขยายฐานเข้าตลาดเนื้อสัตว์มากขึ้น ถ้าพูดถึงวัตถุดิบอาหาร ใหญ่กว่านั้นมาก มีตั้งแต่ของแห้ง ซอส น้ำปลา น้ำตาล ของนำเข้า บริษัทโฟกัสทีละเซ็กเมนต์ พยายามโฟกัสผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ให้ได้มากที่สุดก่อน”

รูปแบบการสั่งซื้อวัตถุดิบของร้านอาหารที่ละประเภท แต่ละขนาดมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน เบล กล่าวว่า ต้องพัฒนารูปแบบการสั่งสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายนี้เพื่อให้เขาได้วัตถุดิบที่ดีและราคาดี ตามพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป โปร่งใส ประหยัดต้นทุน สิ่งนี้ คือ สิ่งที่กำลังทำและน่าจะเป็นจุดแตกต่างจากการที่ร้านอาหารไปซื้อเอง

รับเงินลงทุนรอบ Series A 3 ดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุด Freshket ได้รับเงินลงทุน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการระดมทุนรอบ Series-A ซึ่งนำโดย Openspace Ventures ในการระดมทุนครั้งนี้ยังประกอบไปด้วย ECG-Research ผู้บุกเบิกและผู้นำด้านการลงทุน Private Equity รายใหญ่ในประเทศไทย บริษัท Innospace ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและกลุ่มพันธมิตรเอกชน เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพไทย รวมไปถึงการลงทุนเพิ่มของกลุ่มผู้ลงทุนเดิม คือ Denis Asia Pacific กลุ่มบริษัทอาหารจากประเทศฝรั่งเศสและสิงคโปร์ และกลุ่มนักลงทุน Seedersclub

เบล กว่าวว่า การระดมทุนเป็นเรื่องที่ต้องวางแผน Freshket เพิ่งระดมทุนรอบ Series A จบไป อยากได้ Financial VC เพราะว่าธุรกิจแบบ Freshket เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินเยอะ เป็น Capital Intensive ดังนั้น ต้องการนักลงทุนกลุ่มนี้ และนักลงทุนจะต้องพา Freshket ไป Series ถัดไปได้ด้วย เพื่อการระดมทุนที่มากขึ้น

“ธุรกิจแบบเราต้องใช้เงินมาก เพื่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องมีเงินเข้ามาอัดฉีดเพื่อที่จะโตไปในเป้าหมายที่วางไว้ในไทม์ไลน์ที่เราต้องการ ปลายทางของ Fresket คือ อยากทำ end-to-end การที่ได้ช่วยให้ร้านอาหารได้สินค้าคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม”

ที่สำคัญ Freshket อยากสนับสนุนเกษตรกร ซึ่งประชากรในไทย 1ใน 3 คือ เกษตรกร

เบล กว่าวว่า เกษตรกรไทยปลูกเก่ง แต่ไม่รู้จะไปขายที่ไหน เขาเข้าไม่ถึงข้อมูลฝั่งดีมานด์ได้อย่างชัดเจน เลยอยากทำ end-to-end ที่ทำให้ข้อมูลตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทางได้ จากปลายทางมาต้นทางได้อย่างโปร่งใส

“ผลกระทบนี้ที่เราอยากสร้าง มันต้องการการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจึงจะสามารถสร้างผลกระทบตรงนี้ได้ Freshket อยากเป็น Food Supply Chain Platform ที่ไปเชื่อมทุก Sub-ecosystem ให้เข้าหากันได้ ทุกจุดสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวก และทุกจุดได้กำไรที่ต้องการเหมือนกัน”

บทเรียนจากวิกฤติโควิด

เบล กว่าวว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ได้เรียนรู้หลายอย่างมาก ตอนเปิดแพลตฟอร์มให้บุคคลทั่วไป มีออเดอร์เล็ก ๆ น้อย ๆ จากคนทั่วไปเข้ามาจำนวนมาก ทำให้รู้ว่าวันที่จะขยายธุรกิจในจำนวนออเดอร์ที่มากขนาดนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันเหมือนภาพจำลองสถานการณ์มากกว่าว่าอะไรที่ยังขาดอะไรที่ต้องทำให้แข็งแรงมากขึ้นได้เห็นข้อจำกัดของทีมว่าอะไรที่ขาดและต้องทำให้ดีขึ้น ทำให้เตรียมความพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจต่อไป

“บทเรียนความเป็นสตาร์ตอัพ สตาร์ตอัพเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ตั้งแต่วันแรกที่ทำจนถึงวันนี้ ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเป็นสิ่งที่แน่นอน เหมือนเรากำลังเดินไปในทางที่เราไม่รู้ว่าทางเป็นยังไง ไม่มีเส้นทางไว้ให้ เพราะฉะนั้น จะเจออะไรที่ไม่เวิร์คเยอะกว่าอะไรที่เวิร์คเสมอ สำหรับเราคิดว่าไม่มีอะไรที่ล้มเหลว แค่มีแต่อะไรที่ไม่เวิร์ค แล้วตัดสิ่งที่ไม่เวิร์คออก เพื่อให้เหลือว่าทางที่เวิร์คคืออะไร การที่จะเดินไปในเส้นทางเหล่านั้น ต้องอดทน และมุ่งมั่นมาก ๆ เพื่อที่จะเดินให้ถึงเป้าหมายที่เราวางไว้”

หากมีวิกฤติโควิดรอบ 2 ตลาดที่จะกระทบ คือ ตลาดร้านอาหาร แต่ด้วยความที่เคยเปิดแพลตฟอร์มรองรับบุคคลทั่วไปมาแล้ว มีการเรียนรู้พัฒนาจากสิ่งนั้นมา เพราะฉะนั้น มีความพร้อมที่จะเปิดแพลตฟอร์มให้บุคคลทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เราโฟกัส B2B เป็นตลาดที่เราถนัด ช่วงโควิดเป็นท่าบังคับที่เราต้องทำ B2C ตอนนั้นร้านอาหารหายไปเกือบ 80% เราต้องหาทางรอดช่วงโควิด เปิดแพลตฟอร์มให้บุคคลทั่วไปเข้ามาใช้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคมมาจนถึงปัจจุบัน หลังโควิดกลับมาโฟกัสที่ B2B สัดส่วนธุรกิจอยู่ที่ 80% กลุ่มร้านอาหาร อีกประมาณ​15-20% สำหรับบุคคลทั่วไป”

เป้าหมายไม่ได้คิดว่าจะอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ตอนนี้โฟกัสแค่ตลาดกรุงเทพฯ​ และหัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ สิ่งที่ทำ คือ การสร้างผลกระทบ ให้กับประเทศไทยก่อน ทำให้ผลกระทบนี้ใหญ่และมีความหมายจริง ๆ ก่อนถึงจะไปโฟกัสตลาดต่างประเทศ .. เบล กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ