TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessบ้านปู เพาเวอร์ เดินหน้าเสริมแกร่งกระแสเงินสด ต่อยอดเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคต

บ้านปู เพาเวอร์ เดินหน้าเสริมแกร่งกระแสเงินสด ต่อยอดเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคต

ด้วยวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจในสินทรัพย์ที่มุ่งสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง มองไกลถึงธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และใส่ใจเรื่อง ESG เป็นปัจจัยขับเคลื่อนความสำเร็จของบ้านปู เพาเวอร์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ด้วยกำไรสุทธิที่สูงราว 3,600 ล้านบาท และกระแสเงินสดที่มากกว่า 5,000 ล้านบาท ขณะยังคงเดินหน้าอย่างไม่ลดละสู่เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568

กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลการดำเนินงานและความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกในช่วงครึ่งปีแรกว่า สามารถสร้างกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 3,600 ล้านบาท เป็นกำไรที่ได้จากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในระดับมากกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดจากการบริหารโรงไฟฟ้าบ้านปูใน 8 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย

ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (Thermal Power) และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (Renewable Power) ที่ดำเนินการผ่าน บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด โครงการด้านพลังงานใหม่ ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ชิราคาวะที่ญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์น็อนไห่ในเวียดนาม โรงไฟฟ้าหงสาในลาว ตลอดจนริเริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีกหลายโครงการ โดยตั้งเป้าหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่ง ณ ปัจจุบันผลิตได้ราว 3,200 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 5,300 เมกะวัตต์ให้ได้ในปี 2568

“นอกจากเป้าหมายการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้ 5,300 เมกะวัตต์ในปี 2568 แล้ว ปี 2568 ยังเป็นปีที่เราปักหมุดเรื่องของการเพิ่มศักยภาพกำลังผลิตในธุรกิจผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงานจาก 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง เป็น 3 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง การพัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้เพิ่มจาก 21 โครงการในปัจจุบันไปเป็น 30 โครงการ รวมถึงการเพิ่มสัญญาในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและปริมาณในการเทรดไฟฟ้าจาก 390 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง เป็น 2,000 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ผ่านการขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม เพื่อหนุนเสริมศักยภาพการให้บริการพลังงานบนความยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการทำกำไร และบรรลุเป้าหมายการเพิ่มความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดในการต่อยอดธุรกิจและส่งคืนผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ถือหุ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต”

เพิ่มสมดุลกระแสเงินสด ยกชั้นพลังงานยั่งยืน

กิรณ  กล่าวว่าต้องการสร้างพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มบริษัทบ้านปู ผ่านบ้านปู เพาเวอร์ และบ้านปู เน็กซ์ ให้เป็นกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานที่มีกระแสงเงินสดที่แข็งแกร่งในทุกวัฏจักรเศรษฐกิจมีผลประกอบการที่ดีและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก คือ 

  1. การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอีโคซิสเท็มผ่านการร่วมลงทุนกับบริษัทพลังงานในประเทศต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยง
  2. การลงทุนสินทรัพย์ที่สร้างความแข่งแกร่งให้กับกระแสเงินสดและกำไรสุทธิ
  3. การบริหารสมดุลของสินทรัพย์ที่หลากหลายให้ได้มาซึ่งกระแสเงินสดที่มากพอในการนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ พร้อมต่อยอดการลงทุน รวมถึงคืนผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นในรูปแบบเงินปันผล
  4. การมุ่งมั่นในพันธสัญญาเรื่อง ESG ผ่านการชูวิสัยทัศน์ Greener Smarter พลังงานสีเขียวเพื่อโลก” 

ยกตัวอย่าง กลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3 แห่งในจีน (CHP) ที่เริ่มผันตัวสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟ (Solar Roof) เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน (Base Load Demand) มากขึ้น การร่วมลงทุนกับบริษัทเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ และดูรา เพาเวอร์ สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของไทยในการก้าวสู่ผู้นำด้านธุรกิจการผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในอนาคต การเข้าถือหุ้น 50% ในบริษัท โซล่าร์ เอสโก (Solar Asco) ซึ่งเป็นบริษัทรับติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

การลงทุนในโรงไฟฟ้าเทมเปิลวัน (Temple I) ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่แล้ว เพื่อประกอบธุรกิจการค้าไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เสรี ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขายไฟฟ้าที่ต่างกันได้ในแต่ละวัน เดือน หรือปี เกิดการจัดการเชิงรุกต่อการรักษาความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าให้สูง หรือเลือกเวลาซื้อ-ขายไฟในตลาดที่รัฐจัดให้โดยปราศจากการแทรกแซง และล่าสุด คือ ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟ และระบบโซลาร์ไฮบริด (Solar Hybrid Plant) โดยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่ไปกับพลังงานทดแทนอื่น ๆ

กลุ่มพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน ที่บ้านปูยังคงเน้น 5 ธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟและโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Solar Roof & Solar Floating) ธุรกิจผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ (Energy Storage) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (E-Mobility) ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานและเมืองอัจฉริยะ (Smart City & Energy Management) และธุรกิจการค้าไฟฟ้าเสรี (Energy Trading)

ซึ่งทั้ง 5 เสาหลักจะมีความเกี่ยวเนื่องกันในลักษณะห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจการไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคต ไฮไลท์สำคัญ คือ การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในประเทศไทยร่วมกับบริษัท เชิดชัยมอเตอร์เซลล์ และกลุ่มบริษัท ดูราเพาเวอร์ ซึ่งเป็นการผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถโดยสารไฟฟ้าของกลุ่มเชิดชัยฯ และเป็นการเตรียมการไว้รองรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย

รวมถึงการยึดมั่นพันธสัญญาเรื่อง ESG ในการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในระดับประเทศและนานาชาติจากการติดอันดับความยั่งยืนในรายงาน The Sustainability Yearbook การได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนต่าง ๆ อาทิ รางวัล Thailand Sustainability Investment Awards (THSI) ติดต่อกัน 4 ปี รางวัล SET Awards 2011 Rising Star เกี่ยวกับความยั่งยืนจากการออกหุ้นกู้ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หรือ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ในระดับ A+ เป็นต้น

สยายปีกค้าพลังงานในจีน

ประกาย หยกน้ำเงิน ผู้อำนวยการสายบริหารธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีน ขยายความเพิ่มเติมถึงโรงไฟฟ้า 3 โรงในจีนว่า มีการขยายประเภทธุรกิจใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ การทำธุรกิจโซลาร์รูฟให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ไอน้ำ รวมถึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลท้องถิ่นในจีนในการติดตั้งหลังคาโซลาร์รูฟให้กับอาคารหน่วยงานราชการและโรงเรียนในเขตชุมชนเมืองซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการ 

นอกจากนี้ การได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาลจีนในเรื่องการบริหารตัวพลังงานให้กับประเทศทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำคือการอนุมัติให้เหมืองในจีนผลิตเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น กลางน้ำคือการจัดสรรเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกส่งตรงมาให้ที่โรงไฟฟ้าซึ่งช่วยเรื่องลดต้นทุนเชื้อเพลิง และปลายน้ำคือการอนุญาตให้ปรับราคาค่าไฟขึ้นได้ถึง 20% ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน เช่น ซานซีลู่กวง (SLG) สามารถซื้อถ่านหินในราคาที่ถูกลง 8% ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ประกอบกับกลยุทธ์การบริหารการซื้อเชื้อเพลิงแบบรวมศูนย์ และซื้อตรงจากแหล่งผลิตซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมราคาต้นทุนเชื้อเพลิง

จนทำให้ในไตรมาสที่สอง โรงงานสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังไอน้ำได้ราว 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว สามารถปรับราคาขายไฟฟ้าซึ่งส่งผลให้รายได้รวมเติบโตอยู่ที่ 283 ล้านหยวน มากกว่ารายได้ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 50% และตัวเลข EBITDA อยู่ที่ 11 ล้านหยวน ทำให้สถานการณ์กระแสเงินสดและกำไรสุทธิของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรง ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้วเช่นกัน

“เรายังมีแผนขยายโครงการสำหรับพลังงานใหม่ในจีนซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาอยู่ประมาณ 2-3 โครงการ โดยเน้นการลงทุนไปที่พื้นที่ภาคตะวันออกและทางใต้ของจีน ส่วนโครงการทั้งมองโกเลียในและนอกยังอยู่ในระหว่างการศึกษา เนื่องจากมองโกเลียในมีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่แต่เป็นทะเลทรายและทุ่งหญ้า ซึ่งทำให้การจ่ายไฟออกมายากเนื่องจากสายส่งกระแสไฟฟ้ามีจำกัด และมีการตัดไฟค่อนข้างบ่อย ส่วนมองโกเลียนอกมีจำนวนประชาการค่อนข้างน้อยทำให้ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าอาจยังไม่คุ้มการลงทุน”

ต่อยอดอีโคซิสเท็ม รุกตลาดค้าไฟเสรี

เมื่อมองกลยุทธ์สำคัญอันดับหนึ่งอีกประการบ้านปู คือ เน้นการพัฒนาอีโคซิสเท็มด้านพลังงานร่วมกันของกลุ่มธุรกิจบ้านปูใน 8 ประเทศ ทำให้มีการดำเนินการเรื่อง Due Diligences เพื่อตรวจวิเคราะห์กิจการก่อนลงทุน เพื่อมุ่งเจาะกลุ่มประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมตลาดค้าไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เสรี (Energy Trading) มากขึ้น เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะการมีส่วนร่วมในประเทศที่มีนโยบายซื้อขายไฟฟ้าเสรีสามารถสร้างผลกำไรได้ดีกว่าไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นแบบใด ส่วนประเทศที่เป็นเป้าหมายด้านการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน จะเน้นเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การลงทุนในประเทศที่มีค่าไฟฟ้าจูงใจนักลงทุน เช่น เวียดนามที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐผ่านนโยบายส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff-FIT) และการลงทุนประเทศที่กำลังมุ่งสู่ตลาดค้าไฟฟ้าเสรีเต็มตัวเหมือนสหรัฐอเมริกา เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย 

วสุ นุรักษ์  ผู้อำนวยการสายอาวุโสธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน กล่าวเสริมว่า การลงทุนร่วมระหว่างบริษัท เชิดชัยมอเตอร์เซลล์ และ ดูรา เพาเวอร์ในการสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในประเทศไทย แม้ในช่วงเริ่มต้นจะเน้นการผลิตเพื่อตอบโจทย์ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่มองถึงตลาดแบตเตอรี่สำรองไฟ (Stationary Battery) ในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพราะธรรมชาติของการทำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนหากให้ครบวงจรต้องมีอุปกรณ์กักเก็บพลังงานควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มความเสถียรในการใช้พลังงาน เนื่องจากแสงอาทิตย์และลมไม่ได้มีตลอดเวลา 

ส่วนการซื้อขายไฟในตลาดค้าเสรีเอง ก็ต้องมีอุปกรณ์กักเก็บไฟฟ้าในช่วงที่ผลิตไฟได้ถูก เพื่อนำไปขายในราคาที่แพงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงการบริหารจัดการความเสี่ยง และความสามารถในการทำกำไรเพิ่มเติม และด้วยกำลังผลิตของตัวโรงงานบ้านปูหากต้องการเข้าสู่ตลาดอุปกรณ์กักเก็บพลังงานก็สามารถนำเข้าเซลล์เก็บไฟฟ้าแล้วมาประกอบในโรงงานที่นครราชสีมาได้ในทันที 

ปัจจัยหนุนการเติบโต

หากมองปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบ้านปู เพาเวอร์ คือ ค่าความพร้อมจ่าย ขีดความสามารถในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่เป็นเรือธง รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น ความผันผวนของค่าเงิน ราคาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงาน เช่น ถ่านหิน แก็สธรรมชาติ เป็นต้น 

ส่วนปัจจัยหลักที่มองกันยาว ๆ ไปในหลายปีข้างหน้า คือ ความสามารถในการบริหารจัดการเมื่อเข้าสู่ตลาดค้าไฟฟ้าเสรีซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแน่นอน เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ฤดูกาลร้อนหรือหนาวมีผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า การใช้ไฟและไอน้ำของจีนที่ลดลงในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งส่งผลต่อเนื่องเป็นมาถึงความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจผลิตไฟฟ้า เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ต้องบริหารจัดการให้ได้

สำหรับการขยายธุรกิจไปประเทศใหม่ ๆ บ้านปูมองว่า ใน 8 ประเทศที่ทำธุรกิจอยู่ยังมีพื้นที่ความร่วมมือธุรกิจและโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียเพิ่งเริ่มธุรกิจโซลาร์รูฟ และโรงไฟฟ้าแบบโซลาร์ไฮบริดที่การผลิตยังอยู่ในระดับ 1 เมกะวัตต์ แต่เป็นประเทศที่มีประชากรถึง 270 ล้านคน หรือ ความต้องการใช้ไฟในรัฐเท็กซัสรัฐเดียวอาจจะมากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศ

“อย่างไรก็ตาม ไม่ปิดโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงานของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ก็มีการเจรจาพูดคุยกันอยู่เรื่อย ๆ”

สุดท้าย คือ นโยบายด้านพลังงานในแต่ละประเทศ ซึ่งการมีธุรกิจอยู่ใน 8 ประเทศ ทำให้เห็นพัฒนาการของนโยบายแต่ละประเทศที่แม้ยังคงหลักการสร้างสมดุลของพลังงานใน 3 เรื่อง คือ ระบบเศรษฐกิจและราคา ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการให้บริการพลังงาน แต่มีวิถีปฏิบัตที่แตกต่างกัน เช่น การเข้าถึงประเภทของเชื้อเพลิงที่ไม่เหมือนกัน บางประเทศมีแหล่งสำรองพลังงานเยอะ บางประเทศมีภูมิอากาศเหมาะกับการสร้างธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ทำให้เห็นเห็นเทรนด์ของตลาดพลังงานทั่วโลกกำลังดำเนินไปเพื่อวางกลยุทธ์ในการรับมือได้อย่างประสิทธิภาพ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

OR จับมือ SLEEK EV พัฒนาความร่วมมือการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ธ.ก.ส.- กลุ่มร่วมทำงาน TechXPlattnera ผนึกกำลัง ยกระดับกระบวนการด้านสินเชื่อของ ธ.ก.ส.

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ