TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeเมื่อการรู้เท่าทันดิจิทัล คือ ภูมิคุ้มกันไซเบอร์ ที่ดีที่สุด ... AIS จับมือ จอยลดา ส่งนิยายแชท ถึงมือเด็กและ เยาวชนไทย

เมื่อการรู้เท่าทันดิจิทัล คือ ภูมิคุ้มกันไซเบอร์ ที่ดีที่สุด … AIS จับมือ จอยลดา ส่งนิยายแชท ถึงมือเด็กและ เยาวชนไทย

เนื้อหา วิธีการเล่า และแพลตฟอร์มการนำเนื้อหาส่งถึงกลุ่มเป้าหมาย คือ องค์ประกอบสำคัญของการสื่อสารที่ได้ประสิทธิผล เอไอเอสจึงนำเนื้อหาการรู้เท่าทันดิจิทัลที่กลั่นจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ (Cyber Wellness) มานำเสนอผ่าน Storytelling แบบนิยายแชท บนแพลตฟอร์มจอยลดา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นเด็กและเยาวชนไทย ผ่านแคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวล ความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัล ที่ร่วมกันผลักดันเนื้อหา “การรู้เท่าทันดิจิทัล” ​ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันไซเบอร์ที่ดีที่สุดให้กับเด็กและเยาวชนไทย ผ่านนิยายแชท 7 เรื่อง 7 ครีเอเตอร์ และ 7 ทักษะดิจิทัล 

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ทักษะดิจิทัล คือ ภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เอไอเอสตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของทักษะดิจิทัล จึงต่อยอดโครงการ “AIS อุ่นใจไซเบอร์” จากฝั่งเทคโนโลยีสู่ฝั่งภูมิปัญญาทางดิทิจัล ด้วยการสร้างหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ (Cyber Wellness) เพื่อสร้างทักษะดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับเด็กและเยาวชนไทย 

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ มุ่งส่งองค์ความรู้ทักษะดิจิทัลไปถึงคนไทยทุกคน โดยเริ่มต้นที่เด็กและเยาวชนไทยกว่า 4.7 ล้านคนในโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมถึงครูและนักการศึกษาจำนวน 436,000 คน 

“ในอดีตเราใช้ความพยายามมากในการทำให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัล และเมื่อโควิดได้สะบัดให้คนไทยขึ้นไปบนไซเบอร์ นั่นคือความท้าทายของเอไอเอสในการที่จะดีลกับสถานการณ์นี้ ทำอย่างไรให้คนไทยมี Cyber Wellness ที่ดี ที่ผ่านมาเสียงเราดังไม่มากพอ เสียงดังไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน จึงเกิดการร่วมมือกับจอยลดาซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีกลุ่มผู้อ่านเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับเราคือเด็กและเยาวชน”​ สายชล กล่าว

เมื่อเด็กและเยาวชนคือกลุ่มเป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ การส่ง “เนื้อหา” นี้ไปยัง “กลุ่มเป้าหมาย” ด้วย “วิธีการ” ที่กลุ่มเป้าหมายเปิดรับจึงสำคัญ เอไอเอสจึงร่วมมือกับ “จอยลดา” แพลตฟอร์มนิยายแชทที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 3.1 ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชนเจน Z และ Y เลือกเนื้อหาจากทั้ง 32 โมดูลมาเป็นนิยายแชท 7 เรื่อง คือ 

  1. Cyber Balance ทักษะการจัดสรรหน้าจอ
  2. Cyber Security การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล
  3. Cyber Ability ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
  4. Cyber Safety การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
  5. Cyber Identification อัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์ / Cyber Empathy มารยาททางไซเบอร์
  6. Cyber Rights การจัดการความเป็นส่วนตัว
  7. Cyber Communication ร่องรอยบนโลกออนไลน์

นิยายแชททั้ง 7 เรื่องนั้นแต่ละเรื่องจะมี 6 ตอน และแต่ละตอนจะมี 200 Joys หรือ 200 ข้อความแชท

“นับเป็นครั้งแรกที่มีการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เรื่องที่ดูเหมือนไกลตัวให้เป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่ดูเหมือนจะน่าเบื่อและวิชาการเป็นนิยายสายแชท ที่ให้ทั้งความรู้และความสนุก ทำให้เนื้อหาน่าเสพและย่อยง่าย” สายชล กล่าว

นิยายแชททั้ง 7 เรื่องนี้สร้างจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ (Cyber Wellness) ที่เอไอเอสพัฒนาและออกแบบร่วมกับกรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรนี้ครอบคลุมเนื้อหา 4 แกน คือ practice, personality, protection และ participation ที่ครอบคลุมทักษะต่าง ๆ เกี่ยวกับดิจิทัล

ศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา

ศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา กล่าวว่า จอยลดามีจำนวนคนอ่านนิยายแชทมากกว่า 3.1 ล้านคนที่เกือบทั้งหมดเป็นเด็กและเยาวชน Gen Z (อายุ 18-24 ปี) และ Gen Y (อายุ  25-34 ปี) ซึ่งแต่ละคนใช้เวลาบนแพลตฟอร์ม Joylada วันละ 90 นาที อ่านนิยายแชทที่อยู่แพลตฟอร์มที่มีนิยายอยู่ทั้งหมดมากกว่า 1 ล้านเรื่อง โดยมีนิยายใหม่ประมาณ 100,000 เรื่องต่อเดือน 

“เนื่องจากกลุ่มคนอ่านเราเป็นเด็กและเยาวชน เราพยายามสร้างแพลตฟอร์มจอยลดาเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการถ่ายน้ำเสียออก แต่การร่วมมือกับเอไอเอสในครั้งนี้ เป็นวิธีการเติมน้ำดีเข้ามา ซึ่งนิยายทั้ง 7 เรื่องนี้จะอยู่บนแพลตฟอร์มไปตลอดแม้ว่าจะจบแคมเปญตอนสิ้นดือนสิงหาคมแล้ว”​ ศาสตรา กล่าว

การอ่านนิยายแชททั้ง 7 เรื่องนี้ ไม่ได้เพียงแค่ได้ประโยชน์โดยตรงจากเนื้อหาที่ทันสมัยในรูปแบบที่น่าสนุกเท่านั้น แต่ทุกการอ่านเป็นการร่วมสมทบทุนให้มูลนิธิสายเด็ก 1378 (Childline 1378) คือ ทุก ๆ 5 ล้านจอย จะเท่ากับการบริจาค 10,000 บาท (1 จอย คือ 1 ข้อความแชท) นิยายทั้ง 7 เรื่องมีเรื่องละ 6 ตอน และตอนละ 200 จอย จนถึงปัจจุบันมีการอ่านแล้วมากกว่า 300,000 จอย เป้าหมายสำหรับการอ่านนิยายทั้ง 7 เรื่อง ในช่วงแคมเปญ ​2 เดือนนี้เป็นหลักหลายล้านจอย อย่างไรก็ดี หลังจบแคมเปญนี้แล้วนิยายทั้ง 7 เรื่องจะอยู่บนแพลตฟอร์มต่อไป

เนื้อหานิยายแชท 7 เรื่อง ที่สะท้อนปัญหา 7 ด้านและ 7 ทักษะที่ควรรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ ภายใต้แคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวลความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัลถูกสร้างสรรค์ให้สนุก เข้าใจง่าย ตามสไตล์ของจอยลดา ซึ่งจะทำการเผยแพร่บนแอปพลิเคชัน “Joylada” และทาง Microsite (joylada.com/aisxjoylada)  

let’s level up! เพื่อเธอเพื่อฝันเพื่อฉันคนใหม่

ทักษะ Cyber Safety การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

อคินถ่ายคลิปตลกตามคำชวนของเพื่อนจนโด่งดังในข้ามคืน ทำให้แอคเคานท์ของอคินเริ่มมีคนเข้ามาติดตามมากมาย จนกระทั่งมีคนชวนไปแคสติ้งซีรีย์วาย อคินผ่านการแคสติ้ง ได้รับการโปรโมท จึงยิ่งมีคนติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ มีงานรีวิว มีรายได้มากขึ้น อคินคิดว่าตัวเองน่าจะเดินทางในสายนี้ได้อย่างราบรื่น ใช้ประโยชน์จากวงการนี้เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว แต่แล้วกลับมีชาวเน็ตประสงค์ร้าย ปล่อยข่าวลือว่าอคินเข้าวงการมาแบบไม่โปร่งใส เป็นเด็กเลี้ยงของไฮโซสาวใหญ่ มีการแชร์ภาพตัดต่อเพื่อจงใจกลั่นแกล้ง หลังจากนั้นข่าวลือแย่ๆก็มีมาเรื่อยๆ บางคนก็ออกมาแฉว่าอคินเคยดูถูกเกย์ตอนมัธยม แต่พอเข้ามหาลัยกลับมาแสดงซีรีย์วาย อคินโดนโจมตีจนต้องเก็บตัว ไม่อยากพูดคุยกับใคร เพราะเรื่องนี้ทำให้อคินต้องดรอปเรียน  ขอถอดตัวจากซีรีย์ และถูกวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคแพนิค โชคดีที่มีครอบครัวและเพื่อนคอยช่วยเหลือและช่วยแก้ข่าว ทำให้อคินเข้มแข็งขึ้น

Lets Level Up! หนึ่งคลิกพลิกอนาคต

ทักษะ Cyber Communication ร่องรอยบนโลกออนไลน์

ในปี 2050 “ไอออน” นักศึกษาจบใหม่ที่ถูกปฏิเสธการรับสมัครงานจากบริษัทแนวหน้าเนื่องจากมี “คะแนนนิยม” ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งที่เป็นเด็กหัวกะทิความประพฤติดีมาตลอด จึงต้องอาศัยความสามารถของ “แอนดี้” แฮ็คเกอร์ชาวต่างชาติที่สามารถสืบหาต้นตอปัญหาด้านคะแนนนิยมของเขา จนต้องเข้าไปพัวพันกับอุปกรณ์ย้อนเวลาเพื่อกลับไปแก้ไขสถานการณ์ ไอออนต้องทำทุกวิถีทางแก้ไข “คะแนนนิยม” ให้อยู่ในจุดที่มันควรจะเป็น

Lets Level Up! ขอเป็นนายแค่ 5 นาที

ทักษะ Cyber Identification อัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์ / Cyber Empathy มารยาททางไซเบอร์

เนื้อเรื่อง แฝดน้อง (อิ่มเอม) ต้องการมีตัวตนบนโลกเพราะมองว่าตัวเขาเองนั้นช่างจางหายเหมือนละอองฝนเหลือเกิน แต่รู้ตัวดีว่าโลกความเป็นจริง เขาแทบไม่มีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับ (ตัวละครคิดเองจากการโดนคนรอบตัวทรีต)  เขาถูกเปรียบเทียบมาโดยตลอด และ การโดนเปรียบเทียบนั้น เขาก็รู้ตัวว่าเขาเทียบคนนั้นไม่ติดได้เลย ก็คือ แฝดพี่ (อิ่มอุ่น) ทำไมกัน ทำไมต้องเป็นอิ่มอุ่นที่ได้รับความรักมากมายจากทุกคน ทำไมไม่เป็นเขาบ้าง จึงทำให้ อิ่มเอม เกิดความคิดชั่ววูบในช่วงตอน มัธยมปลาย 5 ก็คือกูขอเป็นมึงซัก 5 นาทีนะแค่ 5 นาทีก็ยังดี สู่การขโมยแอคเคานต์ SMS ของอิ่มอุ่นมาเล่น เพราะอิ่มอุ่นเป็นคนไม่เล่นโซเชียล มีไว้ให้พ่อแม่พี่น้องแท็กอะไรต่าง ๆ เท่านั้น มันจึงไม่ยากเกินความสามารถของอิ่มเอมที่จะเดารหัสของอิ่มอุ่นได้ และเริ่มต้นการขโมยตัวตนอิ่มอุ่น มันทำให้อิ่มเอมรู้สึกว่าตัวเองมีค่า แล้วมันก็ถลำจนเขามีแฟนโดยตัวเองกำลังปลอมตัวเป็นแฝดพี่ของตัวเอง

Lets Level Up! ความฝันของอันดา

Cyber Rights การจัดการความเป็นส่วนตัว

อันดาอยากเป็นยูทูปเบอร์ อยากเป็นนักร้องแต่ที่บ้านไม่สนับสนุนเพราะเป็นลูกสาวคนเดียวและเป็นลูกคนเล็ก ถึงจะตามใจแต่ไม่เคยยอมในเรื่องนี้และยังคาดหวังเรื่องเรียนมาก อันดาไม่ชอบการเรียนแต่ก็พยายามมาตลอด อันดาจะบ่นเรื่องราวความไม่สบายใจเหล่านี้ลงทวิตเตอร์ตลอด คนที่รู้เรื่องมีแค่เพื่อนสนิทสองคน จนวันหนึ่งอันดาได้รู้จักกับวุ้นที่ทักส่วนตัวมาและเริ่มพูดคุยกัน วุ้นจะคอยปลอบใจและแสดงความเป็นห่วงเป็นใยเสมอ หลังรู้จักกันประมาณสองเดือน อันดาก็เริ่มรู้สึกว่ามีคนตามตัวเองเวลาไปไหนมาไหน มีของส่งมาที่บ้านให้อันดาและอีกหลายอย่าง อันดาบอกวุ้นกับเพื่อนสนิททั้งสอง วุ้นบอกว่าจะพาไปแจ้งความให้ออกไปเจอได้ตลอด อันดาลังเลแต่เชื่อใจ บังเอิญอคินมาเจอแชทระหว่างอันดากับวุ้นพอดีเลยเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาพ่อ ที่บ้านจึงเข้ามาพูดคุยกับอันดาและช่วยกันจัดการปัญหา

Let’s Level Up! คุณพ่อผู้พิทักษ์

Cyber Security การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล

เรื่องเริ่มต้นจากการที่คุณเจตน์ต้องการข้อมูลของคนในหมู่บ้านไปรวบรวมทำการตลาดเกี่ยวกับงานของตนเองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทุกคน (PDPA) โดยไม่ทราบว่าสิ่งนี้ผิดกฎหมาย คุณเอกรัตน์จึงต้องคอยหาวิธีเตือนและให้ความรู้โดยที่ไม่ให้ผิดใจกับเพื่อนสนิท

Let’s Level Up! รู้ไว้ใช่ว่าฉบับป้ามหาภัย

Cyber Ability ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

คุณแม่ไม่มีวิจารณญาณในการเสพสื่อ มิหนำซ้ำยังเป็นคนขี้ตื่นตูม เชื่อทุกอย่างบนโลกโซเชียล(ที่ไม่ควรเชื่อ) ทำให้เกิดปัญหามากมาย จากเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเกิดจากมีคนมาซื้อบ้านที่อยู่ถัดไปสี่หลัง ก๊วนเพื่อนบ้านของเธอบอกว่าเป็นดาราหนุ่มที่เพิ่งมีข่าวฉาวเรื่องยาเสพติด แถมยังเคยมีข่าวลือเรื่องลวนลามเยาวชนอีกต่างหาก! พอรู้แบบนั้นเลยยิ่งระแวงเพื่อนบ้านใหม่ เรื่องอะไรเธอจะปล่อยให้ลูก ๆ ของเธออยู่ร่วมหมู่บ้านกับคนน่ากลัวแบบนี้ อรจึงร่วมมือกับก๊วนเพื่อนบ้านคอยจับตาดูเพื่อนบ้านใหม่ทุกฝีก้าว เพราะเธอสัมผัสได้ว่านายคนนั้นมีอะไรไม่ชอบมาพากล เธอค่อย ๆ ถลำลึกลงไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะหาหลักฐานมาเปิดโปงชายคนนี้ โดยที่เธอไม่คิดเลยว่าเธอว่าสิ่งที่เธอทำจะทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง

Let’s Level Up! อย่าลาสแกรนมา

Cyber Balance ทักษะการจัดสรรหน้าจอ

วงการเกมกำลังให้ความสนใจกับเจ้าของช่อง “อย่าลาสแกรนมา” ซึ่งเป็นคุณย่าวัยเกษียณที่ผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์อย่างเต็มตัว ด้วยอายุที่เยอะแต่มีฝีมือการเล่นตัวดาเมจอย่างจัดจ้าน แอบคนในบ้านสตรีมเกมเพราะกลัวว่าจะถูกว่า จากแอบได้วันละ 1-2 ชั่วโมงก็เริ่มเพิ่มเวลามากขึ้นตามที่ช่องแชทเสนอ ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้ทำให้เกิดช่องว่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว กว่าจะช่วยกันหาทางแก้ไขคุณย่าก็ประสบปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ