TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilitySustainability Forum 2023 เร่งองค์กรดึง ESG มาใช้ ดูแลโลกและสังคม

Sustainability Forum 2023 เร่งองค์กรดึง ESG มาใช้ ดูแลโลกและสังคม

ในบรรดา ESG ที่ประกอบด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่ความยั่งยืนนั้น  การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยการลดการปล่อยคาร์บอนถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากเราต้องรีบหยุดยั้งมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า หากในปี 2050 ประชาคมโลกพลาดเป้า Net Zero หรือการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ในเชิงเศรษฐกิจจะเกิดความเสียหายกับ GDP โลก สูงถึง 20% เทียบกับผลกระทบที่จำกัดเพียง 3% ถ้าทำได้ตามที่กำหนด

แน่นอนว่าภาวะโลกร้อนไม่เพียงส่งผลต่อโลกที่เราอยู่อาศัย แต่จะส่งผลถึงเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนด้วย และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ผู้บริหารองค์กรชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและต่างประเทศ มารวมตัวกันในงาน Sustainability Forum 2023 ภายใต้หัวข้อ “Mitigating Risks, Finding Opportunities – ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสธุรกิจ” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)

ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก และกลายเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างคาดหวัง

เจฟ ฮีลลี กรรมการผู้จัดการและพาร์ตเนอร์ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ซิดนีย์ ชี้ให้เห็นว่า ซีอีโอของบริษัทชั้นนำมีความเห็นว่า ESG ช่วยสร้างคุณค่า 5 ประการ ได้แก่ 1. ช่วยให้องค์กรธุรกิจเข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งแหล่งเงินทุน บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ  2. ช่วยลดต้นทุนจากการเข้าร่วมเส้นทางลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์  3. สร้างรายได้จากการเข้าสู่ตลาดกรีน ด้วยโมเดลธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ  4. มีจุดยืนในตลาด ช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนโดยรวมจากการสื่อสารความคิดริเริ่มเกี่ยวกับโครงการด้านความยั่งยืน และ 5. เพิ่มคุณค่าให้องค์กร โดย ESG มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนการลงทุนโดยรวม

ปรับใช้แนวคิด ESG ในการวางแผนกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กร

ในการเสวนาเรื่องการปรับใช้แนวคิด ESG ในการวางแผนกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กร ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่าสำหรับองค์กรภาครัฐ G-Governance หรือธรรมาภิบาล มีความสำคัญที่สุด เริ่มต้นด้วยการจัดการกับคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความล้มเหลวในการดูแลระเบียบกฎเกณฑ์และกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ป้องกันการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมถึงความจำเป็นในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย

ในส่วนของ อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฯ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาขน) เน้นขับเคลื่อน ESG ด้วยพลังของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้แก่เยาวชนในโรงเรียนให้ทิ้งขยะอย่างมีความรับผิดชอบ โดยประสานกับโรงเรียน 437 แห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร (BMA) ทำโครงการแยกขยะขวดพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล รวมถึงการแบ่งปัน Best Practice ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานรัฐในการนำขวด PET มาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นขวดใหม่ ซึ่งมีความปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป การทำเช่นนี้ช่วยลดปริมาณขยะและนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2030 วัตถุดิบ 30% ที่อินโดรามาใช้จะต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืน รวมทั้งจะจัดสรร 40% ของงบกระแสเงินสดไว้เพื่อการนี้

ทางด้าน ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ของกลุ่มบริษัทบางจากในปี ค.ศ. 2050 ผ่านแผน BCP 316 NETโดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลหรือภาคเอกชนในการผลักดันกลไกสำคัญที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ การจัดตั้ง Carbon Markets Clubเพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ยังได้ให้ความเห็นในเรื่องคาร์บอนเครดิตใน 2 ประเด็นหลัก คือ การผลักดันให้เกิดการรับรองมาตรฐานคาร์บอนเครดิตในระดับภูมิภาค และการมีตลาดคาร์บอนภาคบังคับในประเทศไทย ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย การเก็บภาษีคาร์บอน นำไปสู่การจัดสรรเงินทุนที่ได้จากกลไกภาคบังคับนี้ เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน หรือเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ในการลดก๊าซเรือนกระจก

บริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG และคว้าโอกาสการเติบโต

ปิติ ตัณฑเกษม กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็น Net Zero ที่กำลังเป็นกระแสสำคัญในปัจจุบันว่า “ในมุมมองของสถาบันการเงินที่มีหน้าที่ให้เงินทุนแก่ภาคธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัวเรื่องความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าธนาคารจะไม่ใช่เป็นอาชญากรทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ธนาคารคือผู้ที่ให้เงินลงทุนแก่บริษัทที่สร้างคาร์บอนฟุต พรินท์  ในความเป็นจริงการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมีต้นทุนที่สูง การให้บริการเรื่อง Low Cost Fund จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารเพื่อให้ลูกค้าอยู่รอดในการทำธุรกิจ หากเราต้องการที่จะเริ่มต้นด้วย ESG เราควรเริ่มมองจาก Business ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงทำความเข้าใจว่าธุรกิจของเรากระทบกับสิ่งไหนใน E หรือS หรือ G และเลือกทำให้ตรงจุดกระทบสำคัญ ให้น้ำหนักแต่ละด้านอย่างเหมาะสม”

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ธุรกิจพลังงานจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพราะถูก Disrupt อย่างเห็นได้ชัด ดร. กิรณ ลิมปพะยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราเริ่มปรับตัวจากภายในองค์กร มองว่าเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจเข้าสู่พลังงานทางเลือกใหม่ เช่น การลงทุนกับ Shale Gas (ธุรกิจก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน) พร้อมประกาศว่าจะไม่ลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ต้องยอมรับว่ากลุ่มพลังงานทางเลือกเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่เราต้องสร้างโอกาสจากสิ่งนี้ ใช้หลัก ESG มานำทาง ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกำไรให้เกิดขึ้น โดยต้องนำเรื่อง ESG ไปปลูกฝังในทุกภาคส่วนขององค์กร สรุปแล้วเราควรมองว่า ESG คือโอกาสทางธุรกิจที่ควรให้เวลาในระยะยาวกับสิ่งนี้เพื่อผลที่ยั่งยืนในอนาคต”

การสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อขับเคลื่อน ESG

การสื่อสารด้าน ESG เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้และเข้าใจ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มนั้นมีความต้องการและความคาดหวังที่แตกต่างกัน องค์กรจึงมีหน้าที่อธิบายและสื่อสารให้ทุกกลุ่มเกิดความเข้าใจ อีกทั้งองค์กรยังต้องปรับตัวและเรียนรู้แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมไปถึงมาตรฐานใหม่ ๆ อีกหลายมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

หุ้น ESG ให้ผลตอบแทน ชนะตลาดจริงหรือ

GISTDA จับมือหน่วยงานอวกาศ ผลักดันประเด็นการลดการปล่อยคาร์บอน ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ