TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness'ล็อกซเล่ย์' 8 ทศวรรษ เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจต่อเนื่อง แตกบริษัทลูก จับมือพันธมิตร รุกตลาดเอกชน

‘ล็อกซเล่ย์’ 8 ทศวรรษ เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจต่อเนื่อง แตกบริษัทลูก จับมือพันธมิตร รุกตลาดเอกชน

การแตกหน่อหน่วยธุรกิจในกลุ่มบริษัทล็อกซ์เล่ย์ออกมาเป็นบริษัทลูกที่ดูแล้วมีอนาคตและสามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง เป็นกลยุทธ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งความคล่องตัว ง่ายต่อการบริหารจัดการ และธุรกิจเติบโตเร็วขึ้น ยิ่งเมื่อมาจับมือกับคู่ค้าธุรกิจซึ่งมีทั้งความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในแต่ละตลาด จะทำให้ล็อกซ์เล่ย์สามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจ และเดินหน้าออกจากยุทธศาสตร์เดิมที่เน้นตลาดราชการ ขยายสู่การสำรวจพื้นที่ธุรกิจใหม่ ๆ ได้คล่องตัวขึ้น

เฉลิมโชค ล่ำซำ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า แนวคิดในการทำล็อกซเลย์เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี มีมานานแล้ว การเข้าประมูลงานราชการบางครั้งรอประชุมบอร์ดไม่ทัน จึงมีความคิดในการ spin off บริษัทออกมาเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเป็นการพิสูจน์ว่าธุรกิจนั้น ๆ มีอนาคตและสามารถเติบโตได้ด้วยโตเองไม่ต้องพึ่งพาบริษัทแม่ ปัจจุบันภายใต้ล็อกซเลย์มี 5 กลุ่มธุรกิจได้แก่ เน็ตเวิร์ก​โซลูชัน ไอที เทรดดิ้ง พลังงาน และบริการ ที่ผ่านมามีการ spin off ไปแล้ว 10 กว่าบริษัทที่เป็นบริษัทเรือธง

ปัจจุบันล็อกซเลย์ยังไม่ได้เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี 100% เพราะธุรกิจหลักบางธุรกิจยังต้องใช้ reference จากล็อกซเล่ย์อยู่ กลยุทธ์ในการ spin off เพื่อเข้างานประมูลจะตั้งบริษัทลูกมาร่วมทุนกับล็อกซเล่ย์เพื่อเข้าประมูลงานโดยใช้ reference ของล็อกซเล่ย์

“ด้วยความที่ล็อกซเล่ย์มีธุรกิจที่มีความหลากหลายมาการจะเป็นโฮลดิ้งคอมพานี 100% นั้นค่อนข้างยากและใช้เวลาอีกนาน กลยุทธ์จากนี้คือจะสร้างธุรกิจใหม่ภายใต้บริษัทแม่ รวมถึง spin off หน่วยธุรกิจใหม่ออกไปเป็นบริษัทลูก ซึ่งธุรกิจหลัก ๆ ที่จะ spin off ภายใน 3 ปีนี้เห็นได้ชัด”

ภายใน 3 ปีนี้บทบาทของล็อกซเล่ย์จะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานีที่ยังขยายไปธุรกิจใหม่ ๆ อยู่ คือเป็นทั้งโฮลดิ้ง และมีหน่วยพัฒนาธุรกิจใหม่ด้วย เป็นบริษัทที่เน้นด้านเทคโนโลยี รายได้หลัก ๆ ราว 80% จะมีจากบริษัทลูก จากปัจจุบันประมาณ 50% สาเหตุหลักที่ใช้กลยุทธ์ในการแตกบริษัทลูกก็เพื่อความคล่องตัว และเพื่อให้บริษัทลูกเติบโตและส่งรายได้และปันผลมาให้บริษัทล็อกซเล่ย์ ซึ่งจะง่ายในการบริหารจัดการ

ตลอด 8 ทศวรรษที่ผ่านมารายได้หลักและลูกค้าหลักยังคงเป็นหน่วยงานราชการ (ยกเว้นกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้งที่บทบาทเป็นดิสทริบิวเตอร์มีรายได้ 4,000 ล้านบาท เป็นคอนซูเมอร์โปรดัสก์ราว 2,800-2,900 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเคมีภัณฑ์) โมเดลนี้จะทำให้อัตราการเติบโตรวดเร็วกว่า ยกเว้นการประมูลโครงการระดับพันล้านจำเป็นต้องใช้การอ้างอิงจากบริษัทแม่ ราชการยังคงเป็นตลาดหลักของล็อกซเล่ย์อยู่ แต่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดเอชนมากขึ้น

“เราทรานส์ฟอร์มมา 3-4 ครั้งแล้ว ยังไงก็ยังต้องทรานส์ฟอร์มไปเรื่อย ๆ อีก 3-4 ปี ธุรกิจปลี่ยนเราก็ยังทรานส์ฟอร์มใหม่อยู่ดี นี่ไม่ใช่การทรานส์ฟอร์มครั้งสุดท้าย ธุรกิจเปลี่ยนเราก็ต้องทรานส์ฟอร์มใหม่อีก ถ้าเราปรับตัวได้ ก็ทำให้เราอยู่ได้อย่างมั่นคงและเติบโตได้ต่อไป”

ด้วกลยุทธ์การแตกตัวบริษัทลูกออกไปสร้างรายได้ในน่านน้ำใหม่จะทำให้บริษัทล็อกซเล่ย์เติบโตอย่างน้อย 15-25% ต่อปี บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด หรือ LET เป็นบริษัทลูกขนาดกลางที่มีรายได้ราว 300-400 ล้านบาท

บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด หนึ่งในบริษัทลูกที่เติบโตมาจากส่วนงานเน็ตเวิร์คโซลูชัน และมีแผนเดินหน้าสู่ธุรกิจด้านระบบรักษาความปลอดภัยให้กับสังคมเมือง 

“ปัจจุบัน ตลาดหลักของล็อกซ์เล่ย์ยังคงเป็นงานภาครัฐมากกว่า 60-70% แต่เราก็พยายามปรับสัดส่วนรายได้ตลาดภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นแต่ส่วนใหญ่จะเป็นบีทูบี บีทูซีถือว่าน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นการขายวัสดุก่อสร้าง ตลาดด้านระบบความปลอดภัยจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เรามองว่าสามารถโตได้ทั้งในภาครัฐ เอกชน และบีทูซี ส่วนโมเดลการแตกตัวออกเป็นบริษัทย่อย น่าจะทำให้ตลาดในส่วนภาคเอกชนสามารถโตได้อย่างน้อย 15-20%”

ความปลอดภัยจากธุรกิจสู่ครัวเรือน

ยุทธพร จิตตเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ LET กล่าวว่า ไอเดียนี้เกิดขึ้นจากการจับกระแสสังคมสูงวัย” และ ปัญหาความปลอดภัยของผู้สูงอายุ ครอบคลุมความเสี่ยงตั้งแต่มีผู้บุกรุกเข้าบ้าน การเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน  ซึ่งธุรกิจของ LET เองเติบโตมากับการพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยให้กับภาครัฐ  เช่น ความปลอดภัยไซเบอร์ ระบบเมืองอัจฉริยะ ระบบความปลอดภัยของเมือง ซึ่งน่าจะต่อยอดไปสู่การใช้งานในภาคธุรกิจบีทูบีและบีทูซีโดยมองว่า เป็นเทรนด์ธุรกิจที่มาแน่หลังสถานการณ์โควิด ด้วยเทคโนโลยีความเป็นเลิศในการจัดระบบความปลอดภัยของเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ ซึ่งถูกย่อส่วนให้เหมาะกับวิถีชีวิตในแบบสมาร์ทไลฟ์ สมาร์ทโฮม

“แม้คู่แข่งในตลาดด้านความปลอดภัยจะมีความแข็งแกร่ง แต่ยังเข้าได้ไม่ครบทุกส่วนแบ่งของตลาด เราจึงพยายามพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ทั้งการสอดส่องและแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุ (Alert Alarm Monitoring) ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ การป้องกันข้อมูลและความปลอดภัยไซเบอร์ ความปลอดภัยในที่พักอาศัย การดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุ และบริการแบบไร้มนุษย์ควบคุม ซึ่งก็คือ หุ่นยนต์ นั่นเอง” 

คุมกำเนิดโจรกรรมข้อมูล

เมื่อข้อมูลส่วนบุคคคล คือ เป้าหมายใหม่ในการประกอบอาชญากรรมของแฮคเกอร์ ขณะที่ภัยคุกคามก็เติบโตไปตามเทคโนโลยีที่ใช้ ความปลอดภัยไซเบอร์และการประกันภัยไซเบอร์จึงเป็นของที่องค์กรต้องมี อย่างไรก็ตาม กฤษณยศ บูรณสัมฤทธิ ประธานกรรมการบริหาร คลาวด์เซคเอเซีย บอกว่า การตระหนักรู้ของผู้คนเกี่ยวกับความมั่นคงไซเบอร์สำคัญที่สุด เพราะ 3 องค์ประกอบหลักทางไซเบอร์ประกอบด้วย คน (People) กระบวนการ (Process) และเทคโนโลยี (Technology) คน คือ เป้าหมายอันดับหนึ่งของการถูกโจมตีไม่ว่าจะผ่านอีเมล ข้อความ หรือฟิชชิ่งต่าง ๆ และทำให้ประเด็นเรื่อง Zero Trust ความไว้ใจเป็นศูนย์ถูกวางเป็นหลักการสำคัญในการสร้างระบบความปลอดภัยไซเบอร์

การจับมือระหว่างคลาวด์เซค เอเชีย กับล็อกซ์เล่ย์ จึงเป็นการปิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่ครบถ้วนทั้งทางกายภาพ เช่น กล้องวงจรปิด เสริมด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่พัฒนาให้พร้อมใช้สำหรับธุรกิจบีทูบีและเอสเอ็มอีแบบ 24×7 ซึ่งจะทำการแจ้งเตือน จัดการป้องกัน แก้ไข ตอบสนองต่อภัยคุกคาม และสามารถเคลมประกันกรณีข้อมูลถูกโจรกรรมจากเมืองไทยประกันภัย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการวางระบบ จัดจ้างบุคลากร รวมถึงรองรับเรื่องพีดีพีเอ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการออกแบบโปรแกรมป้องกันข้อมูลที่ครบถ้วนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ และเรียกเงินประกันได้เมื่อเกิดการความเสียหาย

หุ่นยนต์เพื่อนผู้สูงอายุ 

เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหาร ซีทีเอเชียโรโบติกส์ ผู้คิดค้นพัฒนา หุ่นยนต์ดินสอ  ในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งได้ร่วมมือกับ LET เพื่อยกระดับหุ่นยนต์ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เพิ่มคุณสมบัติเรื่องโมไบล์แอปพลิเคชัน แดชบอร์ดในการสอดส่องปัญหา การเชื่อมต่อการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือสถานีตำรวจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุซึ่งอยู่ตามลำพัง ตกอยู่ในอันตราย หรือไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ อาทิ ล้ม หายใจไม่ออก ลำลักยา อัลไซเมอร์ บกพร่องทางการได้ยิน รวมถึงการอยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุเพื่อไม่ให้เกิดความเหงา หรือมีปัญหาสุขภาพจิต โดยการใส่ข้อมูลในการบริหารสมองหรือไลฟ์สไตล์ที่สร้างความบันเทิงลงไปในหุ่นยนต์เพื่อสื่อสารกับมนุษย์ รวมถึงการบันทึกข้อมูลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลใกล้เคียง โรคประจำตัวต่าง ๆ เพื่อการจัดการปัญหาภายใต้ข้อมูลที่ครบถ้วนอย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ ยังมี น้องปกป้อง หุ่นยนต์ยามที่พัฒนาให้มีความฉลาดด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า และรายชื่อคนที่มีประวัติอาชญากรรมเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถตรวจติดตามและจัดการ เช่น เฝ้าสังเกตพฤติกรรม ประสานเรียกคนช่วย หรือเข้าประชิดตัว รวมถึงจะมีการพัฒนาหุ่นยนต์ในการตรวจจับสิ่งของต้องสงสัยแทนมนุษย์ เป็นต้น

อยู่สมาร์ทด้วยไอโอที

การเพิ่มความฉลาดให้กับระบบความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีไอโอที เป็นสิ่งที่ วรกิตต์ วาณิชยรรยง ซีอีโอ บริษัท ฮาโก้ อิเลคทริค (ประเทศไทย) บอกว่า คือเทรนด์ของตลาดในปีนี้ เพื่อตอบรับกับเจนใหม่ที่ต้องการใช้งานอุปกรณ์มือถือร่วมกับไอโอทีด้านความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับฮาโก้เองซึ่งอยู่ในตลาดการจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานมาตลอด 20 ปีได้จับมือกับ LET ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่เสริมจุดแข็งของฮาโก้ในเรื่องระบบ Monitoring เพื่อเพิ่มการสอดส่องหรือควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านหรืออาคารที่พักอาศัยตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การบริการครบวงจรมากขึ้น และผู้ใช้มั่นใจได้ว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าจะได้รับการดูแลตลอดเวลา และสามารถสร้างความปลอดภัยในการใช้งานได้จริง  

บริการไร้มนุษย์ควบคุม

การพัฒนาระบบการให้บริการแบบไร้มนุษย์ควบคุม (Unmanned Service) ซึ่งเติบโตมากขึ้นในยุคโควิด การรักษาระยะห่างทำให้บุคลากรด้านการบริการ เช่น คนเสิร์ฟอาหาร พนักงานบริการในโรงแรมลดลง เปลี่ยนเป็นการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมบริการแทน ซึ่ง พงศ์พันธ์ ด่านพิษณุพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งไอดีโอเทค กล่าวถึงการนำหุ่นยนต์ยุคเริ่มต้นซึ่งเดิมเป็นระบบปิดที่ปรับเปลี่ยนได้ไม่มาก เช่น ภาษา หมุนตัวได้เล็กน้อยมาทดลองใช้กับธุรกิจร้านอาหารที่แรกคือเอ็มเคสุกี้ ซึ่งวัดประสิทธิผลในการทดแทนแรงงานคนเฉลี่ยได้ถึง 2-3 คนต่อหุ่นยนต์ 1 ตัว นอกจากนี้ ยังนำไปใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องขนส่งชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ไปยังไลน์การผลิต ซึ่งมีพื้นที่คับแคบแทนการใช้รถหรือคนได้ตลอดทั้งวัน การจับมือกับ LET ทำให้เกิดแนวคิดร่วมกันในการหาหุ่นยนต์ระบบเปิด เพื่อให้สามารถเขียนแอปพลิเคชันล้ำ ๆ ไว้ต่อยอดการใช้งานในหุ่นยนต์รุ่นที่สอง คือ หุ่นยนต์ส่งของที่สามารถเรียกลิฟต์ หรือขึ้นลิฟต์ไปชั้นต่าง ๆ ซึ่ง LET จะมาเสริมเรื่องการพัฒนาแอปฯ ร่วมกับประสบการณ์ด้านไอโอที เพื่อให้หุ่นยนต์ฉลาดขึ้น รวมถึงขยายตลาดการใช้งานออกไปได้มากขึ้น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ