TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyENTEC ร่วม วช. ส่งมอบเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ ด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมี แก่ 10 รพ. ใน 4 จังหวัด

ENTEC ร่วม วช. ส่งมอบเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ ด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมี แก่ 10 รพ. ใน 4 จังหวัด

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงข่าวส่งมอบนวัตกรรม “ENcase” เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมีให้แก่โรงพยาบาล 10 แห่ง ใน 4 จังหวัด เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ “ENERclean” ได้เอง สำหรับใช้ทำลายเชื้อโรคในขั้นตอนการบำบัดมูลฝอยติดเชื้อภายในโรงพยาบาลและใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ COVID-19

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ก่อให้เกิดปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอย่างมาก สาเหตุมาจากการควบคุมและป้องกันที่ทำได้ค่อนข้างยาก เชื้อจึงมีโอกาสแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง สถานประกอบการด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนห้องปฏิบัติการแพทย์ ถือเป็นแหล่งของการแพร่กระจายและกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้น การบำบัดมูลฝอยติดเชื้อที่แหล่งกำเนิด จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายหรือผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลต่อสัดส่วนปริมาณมูลฝอยติดเชื้อและมูลฝอยทั่วไปที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่สอดคล้องกับพื้นที่กักเก็บและประสิทธิภาพการทำงานของเตาเผากำจัดขยะที่ทำได้ต่อวัน ก่อให้เกิดการคงเหลือมูลฝอยติดเชื้อต่อวันที่ไม่ได้ถูกกำจัดในระบบ จนอาจเกิดการปะปนรวมไปกับมูลฝอยทั่วไปในชุมชน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค  โครงการวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นพัฒนาเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบ ด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี หรือ “ENcase” เพื่อผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ “ENERclean” ที่มีความพร้อมสำหรับการนำไปใช้งานจริงกับสถานประกอบการด้านสาธารณสุข สำหรับทำลายเชื้อโรคในขั้นตอนการบำบัดมูลฝอยติดเชื้อที่แหล่งกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ SARs-CoV-2”

โครงการวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานวิจัยและพัฒนา โดย ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล และทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ร่วมกับ ดร.ฐนียา รอยตระกูล และทีมวิจัยชีววิทยาโมเลกุลของไวรัสเด็งกี่และฟลาวีไวรัส ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล และภัททิยา ลักษณะเจริญ ทีมวิจัยเทคโนโลยีโปรตีโอมิกส์เชิงหน้าที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช. ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาชุดผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี สำหรับบำบัดขยะมูลฝอยติดเชื้อภายในสถานประกอบการสาธารณสุข” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่อง “ENcase” ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้ว 10 โรงพยาบาล ใน 4 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลเมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนคูณ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยางชุมใหญ่ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านผักขะ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน จ.ชุมพร โรงพยาบาลพะโต๊ะ จ.ชุมพร โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. และทีมวิจัย หวังว่า “ENcase” เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ จะเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ช่วยให้โรงพยาบาลสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อได้เองและนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนของโรงพยาบาลเองด้วย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนงานวิจัย  สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC)  ในการดำเนินโครงการ “การพัฒนาชุดผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี สำหรับบำบัดมูลฝอยติดเชื้อภายในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข” ซึ่งทีมนักวิจัย สวทช. ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ENcase” เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ “ENERclean” มีความพร้อมสำหรับนำไปใช้งานจริงในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข ในการทำลายเชื้อโรคในขั้นตอนการบำบัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

การส่งมอบ Encase เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมี ให้แก่โรงพยาบาล 10 แห่ง ใน 4 จังหวัดครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อได้เองและนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อในโรงพยาบาล รวมถึงช่วยให้ระบบการจัดการมูลฝอย  ติดเชื้อภายในโรงพยาบาลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) กล่าวว่า ENcase เป็นนวัตกรรมเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ ถูกออกแบบให้สามารถผลิตน้ำยาได้ทั้งกรดและด่างจากการทำปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี โดยมีน้ำและเกลือโซเดียมคลอไรด์เป็นวัตถุดิบสำคัญ ภายในเครื่องมีการติดตั้งเซลล์ประจุไฟฟ้าบวกทำให้เกิดน้ำยาที่เป็นกรด และประจุไฟฟ้าลบทำให้เกิดน้ำยาที่เป็นด่าง รวมทั้งยังมีการติดตั้งระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อปรับสภาพน้ำให้บริสุทธิ์ก่อนทำปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้ากับเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ ทำให้เครื่องสามารถผลิตน้ำยาออกมาได้ทั้งที่เป็นกรดและด่างในเวลาเดียวกัน มีกำลังผลิตน้ำยาได้ถึง 30 ลิตรต่อชั่วโมง แบ่งเป็นกรด 15 ลิตร และด่าง 15 ลิตร โดยกรดที่ผลิตออกมาจะเป็นกรดอ่อนในช่วง pH 4-6 ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีคุณสมบัติเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อ ประกอบด้วยกรดไฮโปคลอรัส (Hypochlorous  acid, HOCl) เป็นองค์ประกอบหลัก มีปริมาณคลอรีนมากกว่า 400 ppm  และค่า Oxidation-Reduction Potential (ORP) ในช่วง 900-1200 mV ส่วนน้ำยาที่เป็นด่าง ประกอบด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide, NaOH) หรือโซดาไฟเป็นองค์ประกอบหลัก สามารถนำไปใช้ทำความสะอาดพื้นผิวหรือล้างคราบไขมันได้

ด้าน ณัฐพล เดชสายบัว ผู้อำนวยการโรงพยายาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านผักขะ ต.ลิ้นฟ้า อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ป่วยโควิด-19 เดินทางเข้ามาในพื้นที่ตำบลลิ้นฟ้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การจัดการขยะติดเชื้อและการใช้แอลกกอฮอล์เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงเล็งเห็นว่าหากต้องการลดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล โดยเข้าร่วมโครงการใช้เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์กับทาง สวทช. ซึ่งภายหลังจากที่นักวิจัยและทีมงานมาติดตั้งเครื่องและอบรมการใช้งาน ทำให้สามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อขยะมูลฝอยติดเชื้อ รวมทั้งการนำไปใช้กับคนหรือผู้ป่วยโควิด-19 ในการล้างมือได้ดี ลดการใช้แอลกอฮอล์ โดยใช้วัตถุดิบตั้งต้นเพียงแค่เกลือบริโภคและน้ำเป็นส่วนผสมเท่านั้น ทำให้ต้นทุนจะน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้แอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ