TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ผลักดันพันธกิจ Toward Sustainable Biodiversity

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ผลักดันพันธกิจ Toward Sustainable Biodiversity

สวทช. เปิดบ้านธนาคารทรัพยากรชีวภาพ เนื่องในโอกาสวันสากลเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ โชว์โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี Bio Bank กระบวนการเก็บรักษาระยะยาว พร้อมแพลตฟอร์มสร้างความร่วมมือองค์กรพันธมิตร ร่วมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนมา เพราะการอนุรักษ์ทำคนเดียวไม่ได้ ตอบสนองธีมในปี 2023 “From Agreement to Action: Build Back Biodiversity”  

โดยปีนี้ มีความพิเศษจากการรับรองกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกฉบับใหม่ ในที่ประชุม CBD COP15 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนธันวาคม 2022 หลังจากได้มีการเจรจาต่อรองนานกว่า 4 ปี จนมาเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ “กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก” 

ข้อตกลงให้คำมั่นว่า พื้นที่โลกร้อยละ 30 จะได้รับการคุ้มครองภายในปี 2030 และสนับสนุนเงินถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อตกลงนี้ยังมีเป้าหมายลดการอุดหนุนกิจกรรมการเกษตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและการลดความเสี่ยงจากการใช้ยาฆ่าแมลง

NBT ร่วมลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร. ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ย้ำเตือนถึงวิกฤตการณ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ว่า ในปัจจุบันสิ่งมีชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญพันธุ์ แต่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบที่อยู่ในเขตที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นหัวใจของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคม แต่หากไม่มีกลไกสร้างความสมดุล โดย “การเก็บรักษา” สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ อาจต้องสูญหายไป ไม่สามารถนำมาฟื้นฟูเพื่อศึกษาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ 

ด้วยวิสัยทัศน์ของ สวทช. ที่มุ่งเป้าขับเคลื่อนให้เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของรัฐและเอกชน ชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์สำคัญนำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด จึงเกิดการจัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ National Biobank of Thailand: NBT จัดตั้งขึ้นในปี 2562 เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ในการสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดเก็บสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยง ทั้งพืช จุลินทรีย์ และสัตว์ เป็นคลังสำรองให้แก่ประเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้ข้อมูลชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการดำเนินงานโดยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากร 3 ธนาคาร คือ ธนาคารพืช (Plant bank) ธนาคารจุลินทรีย์ (Microbe bank) และธนาคารข้อมูลชีวภาพ (Data bank) 

“Pain Point ของการอนุรักษ์ในประเทศไทย คือ หลาย ๆ องค์กรในประเทศไทยทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์อยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่ามีศักยภาพอย่างไร ต้องการการหนุนเสริมด้านไหน เสี่ยงต่อการหายไปหรือไม่ ซึ่งการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มศักยภาพ หัวใจสำคัญในการอนุรักษ์พันธุกรรมสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด คือ “ความสามารถในการมีชีวิตรอดหลังการจัดเก็บในธนาคาร” เพื่อให้มั่นใจว่าจะนำสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กลับมาใช้ฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้คงความสมบูรณ์ต่อไปได้ในอนาคต” ดร.ศิษเฎศ กล่าว

NBT จึงตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ ด้วยองค์ความรู้ของนักวิจัยเฉพาะทาง และระบบบริการรับฝากตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว (Long-term conservation service) ซึ่ง ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมสำคัญอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ 

การจัดจำแนกและการระบุชนิดพันธุ์ ด้วยระบบช่วยระบุเอกลักษณ์ตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพ (Identification & Characterization System) เพื่อลดการซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ รู้แน่ชัดว่าจัดเก็บอะไร จึงมีกระบวนการที่มีมาตรฐานในการระบุชี้ชัดชนิดของสิ่งมีชีวิต เพื่อจัดจำแนกและระบุชนิดพันธุ์ของตัวอย่างโดยการใช้ ข้อมูลทางสัณฐานวิทยา สรีรวิทยา ร่วมกับการวิเคราะห์สารชีวโมเลกุลเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิง

การเก็บรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ กิจกรรมการเก็บรักษาตัวอย่างจะดำเนินการ ภายใต้กระบวนการวิจัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อบริหารจัดการและเก็บรักษาตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพ ของประเทศแบบระยะยาวในสภาวะที่เหมาะสม ร่วมกับการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการเก็บรักษาตัวอย่างที่ทันสมัย  

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ พัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ และแพลตฟอร์มดิจิทัล ด้วยโครงสร้างพื้นฐานคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและซอฟต์แวร์ชีวสารสนเทศในการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลทรัพยากรชีวภาพของประเทศ โดยการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือผู้ประกอบบการธุรกิจ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สนับสนุนด้านสุขภาพและการแพทย์ ความหลากหลายทางชีวภาพ การเกษตรและอาหาร และภาคอุตสาหกรรม

เปิดบ้านโชว์โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน

“ธนาคารทรัพยากรมีอยู่ทั่วโลก ประเทศไทยก็มีอยู่หลากหลายที่ จุดเด่นของ NBT น่าจะเป็นธนาคารซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการเก็บระยะยาว ถามว่า ทำไม ที่อื่นไม่ได้เก็บระยะยาวหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่ว่าเขาไม่มีครุภัณฑ์ ไม่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่มีคนที่จะช่วยทำการพัฒนากระบวนการ ที่จะทำให้มันอยู่กับเราไปได้นานๆ เพราะการรับฝากตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพ หรือ Bio-Banking ไม่ใช่เพียงแค่หยิบจากในธรรมชาติ มาเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ต้องมีกระบวนการ หรือ Protocol ในการระบุว่าเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงจำเป็นยิ่งยวดที่จะต้องจัดเก็บ และมั่นใจว่ากระบวนการจัดเก็บนี้จะทำให้อยู่ไปได้นาน ๆ แบบระยะยาว” ดร.ศิษเฎศ อธิบายเพิ่มเติม

NBT มีองค์ความรู้ของนักวิจัยเฉพาะทางและมีความพร้อมด้านเครื่องมือสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพในรูปแบบคงสภาพหรือคงความมีชีวิตที่อุณหภูมิเยือกแข็งถึง 3 ระดับ ระดับ -20 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่บรรจุในหลอดขนาด 25 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 100,000 หลอด ส่วนอุณหภูมิระดับ  -80 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บจุลินทรีย์และตัวอย่างชีววัสดุอื่น ๆ ที่บรรจุในหลอดขนาด 2.5 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 300,000 หลอด นอกจากนี้ยังมีถังไนโตรเจนเหลวขนาด 1,770 ลิตร สำหรับจัดเก็บตัวอย่างเซลล์สิ่งมีชีวิตในสภาวะเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ซึ่งในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ก็มีวิธีการในการเตรียมและการเก็บแตกต่างกันไป โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้

ธนาคารพืช (Plant bank) มีภารกิจด้านการเก็บอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับพืชถิ่นเดียว พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานในการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชนอกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติแบบระยะยาว ดำเนินการจัดเก็บด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐาน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง 

  • ธนาคารเมล็ดพรรณ (Seed bank) มุ่งเน้นการอนุรักษ์พรรณพืชหายาก พืชถิ่นเดียว พืชใกล้สูญพันธุ์ และพืชที่มี คุณค่าในการปรับปรุงพันธุ์ โดยจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีการจัดเก็บตัวอย่างชีวภาพในสภาวะต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ธนาคารพันธุกรรมพืชในสภาพปลอดเชื้อ (Plant tissue bank) พัฒนาวิธีเก็บรักษาเนื้อเยื่อพืชที่ไม่สามารถอนุรักษ์ในรูปแบบเมล็ดพันธุ์ ด้วยกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ร่วมกับเทคโนโลยีชะลอการเจริญเติบโตเพื่อลดต้นทุนการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อ โดยพัฒนาสูตรอาหารที่ทำให้ชะลอการเจริญเติบโตจาก 1 เดือน ยาวนานขึ้นเป็น 6 เดือน โดยที่ความสามารถในการงอกใหม่ยังคงเดิม พัฒนาเทคโนโลยี Cryopreservation เพื่อเก็บรักษาพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แบบระยะยาวในสภาวะเยือกแข็งในถังไนโตรเจนเหลว จัดทำตัวอย่างพรรณไม้แห้ง พร้อมด้วยข้อมูลชนิดพันธุ์ในรูปแบบอนุกรมวิธาน รวมถึงข้อมูลทางพันธุศาสตร์ หรือ DNA barcoding ถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิง ชนิดพืชที่จัดเก็บในธนาคาร เพื่อการจัดจำแนกที่ถูกต้องในอนาคต

ธนาคารจุลินทรีย์ (Microbe bank) ทําหน้าที่เป็น “คลังจุลินทรีย์” ของประเทศ จัดเก็บรักษา จุลินทรีย์ระยะยาว และข้อมูลเมทาดาต้าของจุลินทรีย์ มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อสนับสนุน การพัฒนาประเทศจากฐานทุนทรัพยากรชีวภาพด้วย “จุลินทรีย์” ตอบโจทย์ BCG Model และความยั่งยืน ของเศรษฐกิจไทย ทำการค้นหาจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่มีศักยภาพที่ตอบโจทย์ การนำไปประยุกต์ใช้ทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และการแพทย์ ด้านการเกษตรและด้านอุตสาหกรรม และวัสดุศาสตร์ และเก็บรักษาจุลินทรีย์ระยะยาว ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การแช่เยือกแข็ง การทำแห้งแบบแช่แข็ง หรือ วิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อ จุลินทรีย์ ปัจจุบันมีมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ โดยมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่โดดเด่นในด้านการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น  

  • จุลินทรีย์ Aurantiochytrium limacinum ซึ่งได้จากการเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ป่าชายเลน มีคุณลักษณะพิเศษในการผลิตกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน หรือ DHA กรดไขมันชนิดเดียวกันกับที่ใช้ผสมในนมผงทารก จึงมีการใช้ประโยชน์ เป็นสารเสริมในอาหารเลี้ยงกุ้ง 
  • กลุ่มแบคทีเรียและอาร์เดียทนเค็ม ซึ่งนักวิจัยคัดแยกได้จากน้ำปลา เป็นจุลินทรีย์ชอบเค็ม สามารถเจริญในสภาวะเกลือสูง โดยสามารถสร้างเอนไซม์ออกมาย่อยสลายสารต่างๆ ทำให้เกิดกรดอะมิโนและกรดอินทรีย์ที่มีกลิ่นรสเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์นั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก เช่น การสร้างสารออกฤทธิ์ชีวภาพ สารยับยั้งจุลชีพและสารในกลุ่มพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้

กลุ่มงานวิจัยเห็ด มีภารกิจสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านอนุกรมวิธาน และให้คำปรึกษาทางด้านการจัดจำแนกชนิดพรรณของประเทศไทย นำองค์ความรู้ต่อยอดสู่การค้นหาสายพันธุ์เห็ดรา ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ คลังอาหาร และรายได้เสริมของชุมชนท้องถิ่นในอนาคต  กิจกรรมหลักได้แก่

  • เก็บรวบรวมตัวอย่างต้นแบบของเห็ดราที่พบในประเทศไทยที่ BIOTEC Bangkok Herbarium (BBH) ซึ่งมีมาตรฐานสากล ด้วยระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015
  • เก็บรักษาเชื้อเห็ดราที่มีศักยภาพ สามารถต่อยอดในงานวิจัยทางด้านการปรับปรุงสายพันธุ์ในอนาคตได้
  • ศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดราที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์
  • ประมวลผลข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและการกระจาย ตัวของสายพันธุ์เห็ดรา เพื่อใช้ในการประเมินสิ่งแวดล้อมและ ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของกลุ่มเห็ดราในประเทศไทย
  • จัดทำฐานข้อมูลสารชีวโมเลกุลเพื่อใช้ในการระบุชนิดพรรณเห็ดรา เช่น ฐานข้อมูลลำดับนิวคลีโอไทด์ ห้องสมุดลายพิมพ์มวลเปปไทด์ 
  • มุ่งเน้นพัฒนาระบบการทำงานให้ได้มาตรฐาน ไบโอแบงค์ ISO20387:2018 ขอบข่าย Fungarium Scope

ธนาคารข้อมูลชีวภาพ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้านข้อมูล เพื่อสนับสนุนพันธกิจองค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ข้อมูลทางชีววิทยาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุน การวิเคราะห์ และการจัดการข้อมูล จัดตั้งฐานข้อมูลด้านพันธุกรรมและข้อมูลอื่น ๆ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงและให้บริการข้อมูลในระดับประเทศ  วิจัยและพัฒนาโดยประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและเทคโนโลยีด้านข้อมูล เพื่อการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ การค้นพบองค์ความรู้ และการแก้ปัญหา เชิงลึกทางวิทยาศาสตร์

เทคโนโลยีชีวสารสนเทศ ตอบโจทย์การหนุนเสริมความร่วมมือ

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ NBT ยังมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) และความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงพัฒนาโปรแกรมช่วย “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์” หนุนลดอัตราเสี่ยงการสูญพันธุ์จากปัญหาโรคทางพันธุกรรม โดยเริ่มเดินหน้าสนับสนุนการอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย” แล้ว

“ในอดีตละมั่งเคยมีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว แต่ด้วยการเพาะเลี้ยงและนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ ประกอบกับการเลี้ยงละมั่งในกรงเลี้ยงโดยการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมอุทยาน องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ปัจจุบันในไทยยังคงมีละมั่งทั้งพันธุ์ไทย และลูกผสมพันธุ์ไทยและพันธุ์เมียนมา อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนประชากรละมั่งพันธุ์ไทยที่เหลือน้อยในระดับวิกฤต ผู้ดูแลจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเรื่องการผสมพันธุ์ เพื่อไม่ให้เกิดการผสมในเครือญาติใกล้ชิด หรือเลือดชิด (Inbreeding) เพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อการจับเข้าคู่ของยีนด้อย ซึ่งจะทำให้ละมั่งอ่อนแอลงและมีแนวโน้มสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการฟื้นฟูประชากรละมั่งพันธุ์ไทยให้กลับมามีสถานภาพปกติอีกครั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับบทบาทสำคัญในการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ละมั่งพันธุ์ไทยที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ โดยร่วมมือกับศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center: NOC) สวทช. ในการถอดรหัสพันธุกรรมของละมั่งในประเทศ และร่วมกับทีมวิจัยจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของละมั่งมาวิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์จากความห่างของสายพันธุกรรม

ดร.พงศกร วังคำแหง นักวิจัยธนาคารข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ NBT สวทช. อธิบายถึงกลไกการทำงานของโปรแกรมว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศในการวิเคราะห์จับคู่รหัสพันธุกรรม (Genotype) ของสิ่งมีชีวิตประมาณ 30,000 ตำแหน่ง แบบเมทริกซ์ (Matrix) หรือการจับคู่ผสมพันธุ์แบบพบกันทุกตัว เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของรหัสพันธุกรรม เพื่อใช้คัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันมากที่สุด ซึ่งจะช่วยป้องกันการผสมในเครือญาติใกล้ชิดได้ โดยโปรแกรมนี้จะแสดงผลข้อมูลการจับคู่ให้เห็นเป็นเฉดสีจากสีอ่อนไปเข้ม หรือจากความแตกต่างทางพันธุกรรมมากไปถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อย เพื่อให้ผู้ดำเนินงานด้านการขยายพันธุ์นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ต่อสะดวก ซึ่งปัจจุบัน NBT ได้พัฒนาโปรแกรมจนเสร็จสิ้นและส่งมอบชุดข้อมูลผลวิเคราะห์การจับคู่ละมั่งพันธุ์ไทยในประเทศให้แก่ผู้ดำเนินงานด้านการผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว และมีแผนการที่จะใช้สนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่น ๆ อาทิ พญาแร้ง เก้งหม้อ ในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ NBT ยังมีการพัฒนาระบบ Virtual Storage Collaborative Storage Systems หรือ V-STORE เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ในลักษณะของการสร้างเครือข่ายองค์กรพันธมิตร ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในทุกด้าน  โดยประกอบไปด้วยระบบบริหารจัดการตัวอย่าง ระบบบริหารจัดการครุภัณฑ์ ระบบจัดการการจัดเก็บตัวอย่าง และระบบจัดการการฝากและถอน 

ระบบ  V-STORE จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงเครือข่าย เชื่อมโยงข้อมูล ช่วยให้มองเห็นภาพรวม ลดการซ้ำซ้อน การทำงานของแต่ละหน่วยงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถสนับสนุนกันในสิ่งที่แต่ละหน่วยงานยังขาดไปได้ โดยเริ่มนำร่องร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และจะขยายไปในส่วนของพืชโดยร่วมมือกับสวนรุกขชาติทั่วประเทศ ส่วนของจุลินทรีย์จะมีเครือข่ายสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยค่อนข้างมากอยู่แล้ว

อนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ ทำคนเดียวไม่ได้

ความหลากหลายทางชีวภาพ มีความสำคัญมากมายกว่าที่เราคิด อาหารหรือสิ่งของบางอย่างที่เราใช้บริโภค อุปโภค หรือว่าทำให้เกิดรายได้ หากว่าเราเลือกเอาเฉพาะพันธุ์ที่ชอบแล้วเอาพันธุ์อื่นทิ้งไป ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ปัญหาฐานพันธุกรรมแคบลง ทำให้ไม่มีทางเลือกในการปรับปรุงพันธุ์ หรือแม้กระทั่ง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราไม่เคยได้ใช้มันเลย แต่แท้จริงแล้วอาจมีบทบาทที่เราไม่รู้ และมีคุณค่ากับระบบนิเวศ หากมนุษย์ไม่ดูแลกลับปล่อยให้หายไป ถึงวันหนึ่งอาจจะเพิ่งมารู้ว่าสำคัญ ก็ไม่สามารถนำกลับมาได้อีกแล้ว 

“ในแง่ปัจเจกบุคคล เราสามารถร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรของเรา ป้องกันภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น ทำให้ตัวเองเป็นเน็ตซีโร่ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยได้มากแล้ว เพราะทุกคนปล่อยคาร์บอนอยู่ตลอดเวลา ในระดับหน่วยงาน ทุกหน่วยงานต่างตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และความสำคัญของการอนุรักษ์ ถ้าทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจกันอย่าง seamless นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ บริหารการทำงานแบบไม่ซ้ำซ้อน นำไปสู่การอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย นี่คือสิ่งที่ NBT อยากให้มันเกิดขึ้น และขอเป็นตัวกลางในการที่จะช่วยเชื่อมสิ่งเหล่านี้เข้ามาด้วยกัน เพื่อตอบ pain point ที่มีอยู่ด้วยการเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความสามารถของเรา เข้าไปช่วยทำให้เกิดการขับเคลื่อนการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.ศิษเฎศ กล่าวทิ้งท้าย 

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ เร่งความเร็วการประมวลผลข้อมูลจีโนม

6 ปีกับภารกิจที่ท้าทายของ “ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล” บนเส้นทางการบริหาร สวทช. และการวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. สำหรับเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ