TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview6 ปีกับภารกิจที่ท้าทายของ “ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล" บนเส้นทางการบริหาร สวทช. และการวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. สำหรับเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศไทย

6 ปีกับภารกิจที่ท้าทายของ “ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล” บนเส้นทางการบริหาร สวทช. และการวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. สำหรับเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศไทย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ตาม พ.ร.บ.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”) ถือเป็นหน่วยงานรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีในประเทศไทย ไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานและมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ดังนั้น สวทช. จึงจัดตั้งขึ้นโดยมีภารกิจและเป้าหมายที่สำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

โดยมีพันธกิจหลัก 4 เรื่อง 

  1. การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา การให้ทุนอุดหนุนในมหาวิทยาลัย (ในยุคนั้นที่ยังทำวิจัยได้อย่างจำกัด)
  2. การนำองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัย ทั้งส่วนที่สวทช.วิจัยเอง ส่วนที่มาจากต่างประเทศ ส่วนที่มาจากมหาวิทยาลัย ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 
  3. การพัฒนากำลังคน ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ว่ามีนักวิจัยต่อประชากรเท่าใด ต้องเพิ่มจำนวนนักวิจัย เพราะหากเพิ่มจำนวนนักวิจัยไม่ได้ ไม่ว่าจะมีงบประมาณเท่าใดจะไม่มีคนขับเคลื่อนงบประมาณนั้นไปสู่การวิจัยและใช้ประโยชน์ 
  4. โครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่การปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดการตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ (นิคมวิจัย นำคนที่ทำวิจัยมาอยู่รวมกันเพื่อให้เกิดระบบนิเวศ) เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งมา 20 ปี และทำให้เกิดอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคกระจายอยู่ทั่วประเทศ 4-5 แห่ง รวมถึงอุทยานเครือข่ายอีก 20 กว่าแห่งกระจายทั่วประเทศ

เป็นเวลากว่า 25 ปีของ สวทช. ก่อนที่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล จะก้าวสู่ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สวทช. สองสมัย (ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2559-วันที่ 26 สิงหาคม 2565) 

ดร.ณรงค์ เริ่มงานกับสวทช.ในฐานะนักวิจัย ตั้งแต่ปี 2536 หลัง สวทช. ตั้งแล้วปีครึ่ง หลังจากนั้นมีโอกาสดูแลเรื่องทุนอุดหนุนการวิจัยในศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ทำให้เห็นบริบทของการวิจัยในมหาวิทยาลัยและความพร้อมของอาจารย์ และได้มีโอกาสทำงานระบบคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ สมัยนั้นมีเรื่อง ISO9000 เข้ามาเกี่ยวข้อง และมาตรฐาน TS16949 ปัจจุบันเรียกว่า QS9000 เป็นมาตรฐานที่ประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น 

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นฮับของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ ดร.ณรงค์ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องนี้ ได้เรียนรู้เรื่องนี้จากสหรัฐอเมริกา (ประยุกต์ใช้ทั้งไครสเลอร์ จีเอ็ม และ ฟอร์ด) และประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น ตอนนั้นได้ทำงานกับอุตสาหกรรมค่อนข้างมากในการพัฒนา QS9000 เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้รับการรับรองมาตรฐานชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อส่งไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ดร.ณรงค์ คลุกอยู่กับคุณภาพและระบบคุณภาพมาโดยตลอด

“ผมมีตำแหน่งงานหลากมิติ ทั้งอุดหนุนงานวิจัย การพัฒนากำลังคน การวิจัยพลังงงานทดแทนโดยเฉพาะแสงอาทิตย์” ดร.ณรงค์ กล่าว 

จนปี 2547 ได้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เป็นจุดสำคัญ เนื่องจากทำงานกับภาคเอกชนเยอะมาก ตั้งแต่ให้คำปรึกษารายโครงการให้แก่อุตสาหกรรม ที่เรียกว่าโครงการ ITAP มีการรับรองสิทธิประโยชน์ด้านภาษี 300% การหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานกับภาคเอกชน พาภาคเอกชนไปรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การลงทุนในบริษัทต่างๆ มีการบริหารในฐานะกรรมการบริษัท ประธานบริษัทต่างๆ ทำให้ดร.ณรงค์เห็นภาพพัฒนาการต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งในแง่การวิจัย การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีความหลากหลายในหลายมิติ ทำให้มองเห็นโอกาสว่าหากประเทศไทยจะเดินต่อ ปัญหาหลักสิ่งแรก คือ มีการพัฒนานวัตกรรม แต่นวัตกรรมเหล่านั้นส่วนใหญ่จะไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากไม่มีการรับรองนวัตกรรมเหล่านั้น (นวัตกรรม หมายถึงการนำองค์ความรู้ไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ๆ สินค้าเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้การรับรอง เนื่องจากไม่มีมาตรฐาน ไม่มีหน่วยงาน certified)

เริ่มต้นที่ “มาตรฐาน”

ดังนั้น สวทช. จึงลงทุนดำเนินการในระบบคุณภาพมาตรฐาน คือ ให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพสำหรับประเทศ (National Quality Infrastructure) อาทิ สวทช. ลงทุนร่วมกับ มจธ. ตั้งศูนย์สอบเทียบ และ สวทช. ดูแลศูนย์ทดสอบด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดร.ณรงค์ได้เข้ามาดูแลศูนย์ทดสอบด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เห็นความสำคัญของการทดสอบด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ว่าจะเป็นโอกาสในอนาคต เพราะอุปกรณ์ทุกตัวจะต้องมีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ยานยนต์ IoT เซนเซอร์ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ โดรน อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable) ต่าง ๆ 

สวทช.มีการลงทุนใน PTEC ปัจจุบันเป็นศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทดสอบได้ตั้งแต่ยานพาหนะ แบตเตอรี่ เครื่องมือแพทย์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ นอกจากนี้ ยังได้มีการทดสอบเซรามิกบนโต๊ะอาหาร (tableware) การส่งออกมีมาตรฐานสูงมาก ปัจจุบันประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียยอมรับ certificate ที่ออกโดย สวทช. ในการส่งออกเซรามิกบนโต๊ะอาหาร (tableware) จากไทย สิ่งที่ สวทช. ทำทั้งหมดอยู่บนมาตรฐานโลก (international standard) เสมอ ดังนั้น ใบ certified ที่ สวทช. ออกจะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ 

ขยายไปสู่บริการทดสอบความเป็นพิษ ซึ่งในอนาคตจะสำคัญมาก เพราะทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ หรือสิ่งที่จะต้องสัมผัสกับร่างกาย ต้องผ่านการทดสอบความเป็นพิษด้วย 

“สวทช. ลงทุนเรื่องการทดสอบ เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศได้รับการรับรอง” ดร.ณรงค์ กล่าว

ต่อมาเพื่อให้ผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ สวทช. จึงผลักดันเรื่องบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นการขายในตลาดภาครัฐซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด และทำงานร่วมกับ สมอ. ทำ มอก.นวัตกรรม กำหนดมาตรฐานสำหรับนวัตกรรมโดยเฉลี่ย 1 มาตรฐานนวัตกรรมใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมาก 

เป็นจุดเริ่มต้นให้นวัตกรรมได้รับการรับรอง แต่เท่านั้นยังไม่พอ …..

ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการลงทุน

ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จะมี incubation center ซึ่งจะมี incubatee เข้ามารับการบ่มเพาะธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสมัยนี้ คือ startup สวทช. ขยับมาทำ deep tech startup ผ่านการจัดงาน และช่วยกรมสรรพากรและ BOI คัดเลือก startup เพื่อรับการสนับสนุน 

ที่สำคัญ สวทช. ทำอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใน สวทช. เดิมนักวิจัยซึ่งเป็นนักเรียนทุนกลับมาทำงานชดใช้ทุน มีการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า NSTDA Startup ให้บุคลากร สวทช. ไปถือหุ้นในบริษัทและให้บริษัทจ้าง สวทช. เข้าไปบริหารจัดการเรื่องเทคโนโลยี  ด้วยกลไกนี้ทำให้พนักงานสามารถไปทำงานในบริษัทที่ตัวเองถือหุ้นได้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นพนักงานของ สวทช.เป็นรูปแบบที่ตอบสนองแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการท้าทายว่างานวิจัยที่ทำสามารถทำเชิงพาณิชย์ได้ สร้างประโยชน์ได้ 

เรื่องสอง คือ ปรับรูปแบบการลงทุนให้เป็นแพลตฟอร์ม จากเดิมรูปแบบการลงทุน คือ หยิบนวัตกรรมทีละชิ้นแล้วลงทุนตั้งบริษัท ทำให้ไปได้ไม่ไกล เพราะบริษัทนี้จะมีผลิตภัณฑ์เดียว และพอเป็นบริษัทที่เพิ่งตั้งทำให้ไม่สามารถทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาได้ สิ่งที่ปรับ คือ มองให้เป็นแพลตฟอร์ม การลงทุนเป็นการลงทุนในแพลตฟอร์ม เช่น สวทช.ไปลงทุนร่วมกับบริษัทผลิตรถบัส aluminum สวทช.ในฐานะผู้ถือหุ้นสามารถส่งงานวิจัย อาทิ เซนเซอร์ และ IoT หรือ AI ไปทดสอบในรถที่ผลิตในบริษัทนี้ได้ หรือการลงทุนในบริษัททำสารสกัด

สวทช.สามารถนำงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดต่าง ๆ มาลงในบริษัทที่ถือหุ้นได้ หรือการลงทุนในบริษัทผลิตพรีไบโอติกในอาหารสัตว์ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับอาหารสัตว์จะมีโอกาสดำเนินการผ่านบริษัทนี้ได้ 

“นี่เป็นรูปแบบของการปรับพอร์ทการลงทุนใหม่ ให้งานของ สวทช. สามารถกระจายออกได้โดยไม่ติดขัด มิติหนึ่งเป็นการลงทุนในบริษัท อีกมิติหนึ่งก็เปลี่ยนบริษัทนั้นเป็น sandbox สำหรับงานวิจัยของ สวทช.” ดร.ณรงค์ กล่าว

สวทช. ตั้ง NSTDA Holding เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ สวทช. ถือหุ้น 100% กลไกการลงทุนแยกออกจาก สวทช. เป็นบริษัทจำกัดที่ใช้ในการลงทุน จากเดิมให้มีการรับรองนวัตกรรม ให้มีตลาดภาครัฐ มี มอก. เอางานวิจัยของเด็กรุ่นใหม่ไปตั้งเป็นบริษัท สร้างแพลตฟอร์มในการลงทุนเพื่อที่จะเอางานวิจัยวิ่งผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ รวมทั้งมีโฮลดิ้งที่มีเงินจำนวนหนึ่งไปถือหุ้นในสตาร์ตอัพ ทั้งที่จัดตั้งเองและสตาร์ตอัพทั่วไป เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนเชิงพาณิชย์ของธุรกิจที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

NSTDA Holding มีงบประมาณในการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท สวทช. จะไปค้นหาโครงการที่น่าลงทุนและลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม จะไม่ใช้เงินจำนวนมาก แต่จะใช้ seed money ดึงให้หน่วยงานอื่นมาลงทุนร่วม อาทิ Innospace  

ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ดร.ณรงค์เข้ามาบริหาร สวทช. แต่ทั้งนี้ก็มีแนวคิดเป็นโครงการอยู่แล้ว โดยดร.ณรงค์จับมาร้อยเรียง ให้ความสำคัญ และใส่ทรัพยากรเข้าไปอย่างเหมาะสม 

ขับเคลื่อน Long Term ด้วยการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research)

สิ่งที่ทำมาทั้งหมดเป็นการขับเคลื่อนและวางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระยะสั้นและระยะกลาง เป็นการใช้องค์ความรู้เดิมที่มีอยู่มาร้อยเชื่อมและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากไม่มีการลงทุนลึกลงไปจะไม่มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมา ดังนั้น จะต้องสร้าง Frontier Research คือ งานวิจัยใดใดก็ตามที่ สวทช. อาจจะมีโอกาสเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ในอดีตการประกอบธุรกิจทำยากมากเพราะมีกำแพงการแข่งขันสูง แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ด้วยการมาของเทคโนโลยีทำให้กำแพงการแข่งขันในธุรกิจใด ๆ ลดลง 

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างให้เกิดรูปแบบใหม่ของการทำธุรกิจและการแข่งขัน เปิดโอกาสให้ทุกประเทศที่มองเห็นโอกาสและหยิบคว้าก่อนจะสามารถเปลี่ยนความสามารถของประเทศไทย 

เกมการแข่งขันในทุกธุรกิจในอนาคตจะเปลี่ยน เพราะความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กฎการแข่งขันเปลี่ยน ประเทศไหนเห็นก่อนลงมือทำก่อน มีโอกาสชนะ และไทยมีศักยภาพมากพอที่จะแข่งในเกมนี้ และ สวทช. จะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในเรื่องนี้ สวทช. เห็นถึงตรงนี้และเตรียมการทำ 2 เรื่อง คือ การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) และการสื่อสารเรื่องเทคโนโลยีในอนาคตกับอุตสาหกรรมผ่าน “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง” 

การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) นั้น สวทช. ทำ อาทิ 1.วิศวกรรมควอนตัม (Quantum Engineering) คือ การนำองค์ความรู้ด้านควอนตัมมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านวิศวกรรม 2.การสังเคราะห์แสงประดิษฐ์ (Artificial Photosynthesis) คือ กระบวนการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่จำลองมาจากการสังเคราะห์แสงของพืช 3.การทำ 

เอ็กโซสเกเลตัน (exoskeleton) ช่วยในผู้สูงอายุได้ 4.การวิจัยเรื่อง Terahertz Technology (คลื่นกลุ่มเหนืออินฟราเรด) เป็นเทคโนโลยีคลื่นที่มีความปลอดภัยสูงกว่ารังสี X-Ray และไม่ไวต่อความชื้น สามารถปรับมาใช้กับสินค้าเกษตรได้ดี รวมถึง 5.การจัดเก็บข้อมูลในดีเอ็นเอ (DNA Data Storage) เก็บข้อมูลเข้าในรูปของดีเอ็นเอ ข้อมูลในอนาคตจะเก็บอยู่ในรูปของ DNA 

“อุตสาหกรรม storage เดิม อยู่ในมือของผู้เล่นหลักรายเดิมไม่กี่ราย แต่หากไทยเราสามารถทำ DNA Data Storage ได้ คือ การเปลี่ยนเทคโนโลยีเลย และมีโอกาสเป็นเจ้าเทคโนโลยีได้ เกิดอุตสาหกรรมใหม่ได้ เป็นต้น การวิจัยใช้เวลานาน เราต้องวางแผนวิจัยไปข้างหน้า 10-15 ปี ไม่เช่นนั้นจะไม่ทัน ซึ่งใน 5 อย่างนี้ อาจจะไม่สำเร็จทุกตัว ซึ่งเป็นรื่องปกติ” ดร.ณรงค์ กล่าว

“10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง” คือ การดึงเทคโนโลยีที่มีผลต่อชีวิตและธุรกิจใน 5-10 ปีข้างหน้า มาสื่อสารในที่สาธารณะในภาษาง่าย ๆ เพื่อกระตุ้นให้คนสนใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนา

โครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. สำหรับเศรษฐกิจใหม่ 

National Science and Technology Infrastructure 

National Biobank of Thailand หรือ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพ ประเทศไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ธนาคารนี้มีความสำคัญในการเก็บพันธ์ุต่าง ๆ (จุลินทรีย์ เซลล์พืช เซลล์สัตว์ ข้อมูลจีโนมของคนไทย 50,000 คน) หากมีจำนวนสายพันธุ์จำนวนมาก และเก็บอย่างดี จะทำให้ความสามารถในการปรับปรุงมีสูง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ อาทิ การใช้จุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลหายติดอันดับ 16 ของโลก เก็บสายพันธุ์จุลินทรีย์เป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งสามารถนำมาเพิ่มความสามารถในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ พรีไบโอติก อาหารสัตว์ ยา และวัคซีน 

National Omics Center (NOC) คือ เอาของที่เก็บไว้ในธนาคารมาศึกษาว่าใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ทำหน้าที่อะไร อาทิ จุลินทรีย์บางประเภทนำมาใช้ทดแทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชได้ กล่าวคือ หากเข้าใจกลไกการทำงานของสิ่งที่เก็บอยู่ในธนาคารชีวภาพจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้ 

NSTDA Supercomputer Center คือ การลงทุนในเรื่อง high performance computing เพราะเชื่อว่า biotechnology จะเป็นตัวเปลี่ยนโลก ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ก้าวหน้ามากทำให้ความรู้ด้าน biotechnology ไปได้เร็วมากด้วย เนื่องจากกระบวนการคำนวณเร็วขึ้นทำให้สามารถศึกษากระบวนการทางชีวภาพได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น ในความเร็วที่เร็วขึ้นหลายพันหลายหมื่นเท่า ทำให้ความสามารถด้าน biotechnology จะพัฒนาไปอีกมาก 

สิ่งที่ สวทช. ทำ คือ การลงทุนด้าน high performance computing ที่ติดอันดับ 1 ใน 150  ของโลก เพื่อคำนวณ ทำ simulation เป็นต้น 

Technology and Informatics Institute for Sustainability (TIIS) เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลคาร์บอนฟุต พรินท์เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับประเทศไทยในยุคหน้านี้ สวทช. เป็นหน่วยงานหลักที่เก็บข้อมูลนี้ ส่งไปให้องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกในการจัดทำข้อมูล SDGs ของประเทศไทย ซึ่งไทยอยู่อันดับ 3 ของเอเชียรองจากจีนและญี่ปุ่น (แต่ยังห่าง 4 เท่าจากอันดับ 2 และ 8 เท่าจากอันดับ 1)  

Thai Microelectronics Center (TMEC) เดิมเป็นการลงทุนที่จะทำ Wafer Fabrication เปลี่ยนมาทำเซนเซอร์ เพราะปัจจุบันเซนเซอร์และ IoT สำคัญมาก เพื่อให้บริการกับสตาร์ทอัพ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากต่างประเทศ  

“เวลามองจะมองทั้งระบบนิเวศ ที่ต้องลงทุน Biobank เพราะหากไม่ทำจะไม่มีฐานข้อมูลสำหรับประเทศ เมื่อมีฐานข้อมูลแล้วก็ต้องรู้ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร ก็ตั้ง Omics Center เมื่อมีข้อมูลจำนวนมาก เราก็ต้องมี high performance computing ในประเทศไทย เมื่อลง 3 สิ่งนี้ ต่างชาติเริ่มอยากเข้ามาทำวิจัยร่วมด้วย” ดร.ณรงค์ กล่าว

ทั้งหมดเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับประเทศไทยในการแข่งขันในอนาคต สวทช. เชื่อว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy) คือ เศรษฐกิจใหม่ในอนาคตที่ใช้จุดแข็งของประเทศไทยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมสร้าง Value Creation สวทช. ผลักดันเรื่อง BCG จนรัฐบาลรับเป็นนโยบายของรัฐบาลและประกาศเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

การพัฒนากำลังคน (HRD)

ประเทศไทยมีจำนวนนักวิจัยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไม่พอ ซึ่งจะมีปัญหากับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สิ่งที่ สวทช. ทำคือไปทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาปริญญาโทและปริญญาเอกอย่างต่อเนื่องกับ 8-9 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยละ 5-10 คนต่อปี ต่อเนื่อง 3 ปี บางแห่งประมาณ 10-15 คน รวมกันปริญญาโทและเอกในแต่ละแห่ง) 

สวทช. ทำงานร่วมกับ Tokyo Tech ที่ญี่ปุ่น ให้มาช่วยสอนร่วมกับอาจารย์ในอีก 5-6 มหาวิทยาลัย และให้ใบรับรองในหลักสูตรต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย นักศึกษาปริญญาโทและเอกเหล่านี้ที่ได้รับทุนก็กลับมาทำงานวิจัยกับ สวทช. เป็นการดึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานวิจัยร่วมกับ สวทช. ผ่านเด็กนักศึกษา และยังดึงนักศึกษาจากต่างประเทศ (CLMV: Cambodia, Laos, Myanmar and Vietnam) เข้ามาร่วมด้วย และให้ทุน Post Doctoral (หลังจบปริญญาเอก) ในกลุ่ม CLMV ให้มาทำงานร่วมกันกับ สวทช. ด้วย 

“คนเหล่านี้หากมาเรียนในประเทศไทย คนเหล่านี้มีฐานะบางอย่างในประเทศเขา เมื่อเขากลับไปประเทศเขา คนเหล่านี้จะเจริญเติบโตในระบบการทำงานในประเทศเขา และจะกลายเป็นเครือข่ายของเราในการทำงานวิจัยในโอกาสถัดไป” ดร.ณรงค์ กล่าว

Biorefinery อุตสาหกรรมอนาคต ที่จะเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจประเทศ

ดร.ณรงค์ บอกว่า ต้องทำทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวในเวลาเดียวกัน ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อทำให้เกิดจีดีพีหลายรอบ เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อลดมลพิษ ทำไมต้องเศรษฐกิจชีวภาพ เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ที่ผ่านมา ประเทศมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปมากและจะดำเนินการต่อไป เพื่อสร้างจีดีพีกลุ่มใหม่ ๆ  

อุตสาหกรรมใหม่ที่น่าสนใจภายใต้เศรษฐกิจ BCG คือ ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) หรือ โรงกลั่นชีวภาพ คือ ระบบที่ประกอบด้วย หน่วยการแปรรูปหลายหน่วยประกอบกันเพื่อแปลงชีวมวล ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะชีวเคมีภัณฑ์ 

ไบโอรีไฟเนอรี่ เป็นกระบวนการที่ลัดขั้นตอน ที่นำ biomass จากพืช ผ่านกระบวนการทางชีวภาพโดยการใช้จุลินทรีย์ย่อย และผ่านกระบวนการทางเคมี สามารถนำ biomass เหล่านี้เปลี่ยนมาทำเป็นเม็ดพลาสติก พลังงาน สารพรีไบโอติก สารสกัด เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนิน ไฟเบอร์ แบบเดียวกับที่กระบวนการปิโตรเคมีทำ แต่กระบวนนี้เป็นกระบวนการชีวเคมี 

สวทช.กับ บริษัท ไบโอเบส ยุโรป ไพล็อท แพลนท์ (BBEPP) ประเทศเบลเยี่ยม ร่วมทุนเปิดบริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ (BBAPP) ในสัดส่วน 50:50 ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แบบอเนกประสงค์ (multipurpose biorefinery pilot plant) เป็นก้าวสำคัญที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดและเร่งความเร็วในการดำเนินงานเรื่องนี้ในระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว ทั้งแง่ความรู้ กำลังคน และอุปกรณ์ต่าง ๆ 

“อุตสาหกรรมใหม่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศไทย โรงงานจึงต้องตั้งในประเทศไทย และจะต้องสร้างและดัดแปลงเทคโนโลยีใช้ในประเทศ (technology localization) ทำให้ซัพพลายเชนในประเทศไทยยาวตั้งแต่ภาคการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสู่อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ ทำให้เกิดจีดีพีหลายรอบในประเทศไทย” ดร.ณรงค์ กล่าว

“เศรษฐกิจใหม่นี้หากขึ้นรูปสำเร็จภายใน 3 ปี จะสร้างจีดีพีใหม่ที่ใหญ่มากให้แก่ประเทศ ทั้งการมีงานทำ การใช้วัตถุดิบ และการขยายผลที่เชื่อมโยงและต่อเนื่อง” 

อุตสาหกรรมนี้น่าสนใจและเหมาะกับประเทศไทย ภายใต้ BCG เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มองไปข้างหน้า และมีการลงทุนไปแล้วในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi

กว่า 6 ปี บนเส้นทางของ ดร.ณรงค์ ที่นำพา สวทช. จากองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ภารกิจในการริเริ่มและผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยใช้จุดเด่นและความเข้มแข็งของทรัพยากรภายในประเทศ ผสานกับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภารกิจต่างๆ ที่กล่าวมากำลังจะเริ่มผลิดอกออกผลให้กับประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดแผนพันธกิจ “ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” กับบทบาทผู้อำนวยการเนคเทค วาระที่ 2

“อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” กับภารกิจขับเคลื่อน “คลาวด์กลางภาครัฐ” ยกระดับบริการรัฐสู่โลกดิจิทัล

พันธกิจ “โออาร์” ภายใต้แนวคิด Inclusive Growth

การสื่อสารความถี่ต่ำ … งานวิจัยเพื่อภัยพิบัติ พันธกิจของนักวิจัยไทย “รศ.ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ