TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” กับภารกิจขับเคลื่อน "คลาวด์กลางภาครัฐ" ยกระดับบริการรัฐสู่โลกดิจิทัล

“อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” กับภารกิจขับเคลื่อน “คลาวด์กลางภาครัฐ” ยกระดับบริการรัฐสู่โลกดิจิทัล

ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในหลายแง่มุมและเกือบจะพูดได้ว่าเทคโลยีมีผลกับชีวิตของทุกคนมากขึ้น ทำให้ภาครัฐซึ่งมีเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่มีบริการจำนวนมากที่ต้องให้บริการประชาชนและธุรกิจ จำเป็นจะต้องขยับปรับแผนยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการทำงานระหว่างภาครัฐเองและ ให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

แม้ว่าต่างกระทรวงต่างหน่วยงานต่างลงมือทำในต่างวาระกัน แต่ทว่ารัฐบาลได้ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นแม่งานในการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับให้บริการหน่วยงานราชการที่อาจยังไม่พร้อมที่จะลงทุนระบบเอง รวมถึงเพื่อเป็นต้นแบบและมาตรฐานกลางสำหรับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเอื้อให้การทำงานข้ามระหว่างหน่วยงานมีมาตรฐานเดียวกัน

โครงการคลาวด์กลางภาครัฐ​ คือ หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนงานและการให้บริการภาคประชาชน ที่ได้รับการบรรจุไว้ในงบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า คลาวด์เป็นเทคโนโลยีที่มากกว่าการเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูล แต่ตอบโจทย์เรื่องความยืดหยุ่นในการให้บริการ มีความปลอดภัยในระดับสูง เหมาะสมกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลกที่มุ่งสู่การเป็น Sharing Economy เช่นเดียวกับหน่วยงานภาครัฐทั้งหลายที่ต้องมีการแชร์ข้อมูลและทรัพยากรที่มีอยู่ระหว่างกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data, Data Center and Cloud) ตั้งแต่ปี 2561 มีเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์เพื่อบริการประชาชน เพื่อวางนโยบายหรือตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที

“คลาวด์ คือ เทคโนโลยีที่ช่วยบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ มีเรื่องของการแชร์ ใช้ และบูรณาการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จึงออกมาเป็นนโยบายที่ภาครัฐพึงจะต้องใช้คลาวด์ เพราะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้ข้อมูล หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในระบบไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวลำพัง แต่สามารถที่จะเข้ามาทำงานจากที่ไหนก็ไหน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมออนไลน์ หรือการทำงานจากทางไกลทั้งหลาย”

แผนการประยุกต์ใช้คลาวด์ ผ่านครม.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 โดยมีหลักการ คือ ภาครัฐจะต้องใช้บริการคลาวด์ที่ได้มาตรฐาน มีการออกเป็นคู่มือมาตรฐานของคลาวด์ (Tier 3+) 

“คลาวด์ที่ไม่ได้มาตรฐานจะขาดความน่าเชื่อถือ มีความเสี่ยงเกินไป และจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ จะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนบูรณาการกันได้” 

รัฐบาลเห็นชอบให้มี “คลาวด์กลางภาครัฐ”  (Government Cloud) โดยให้กระทรวงดีอีรับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหมายรวมถึงการจัดให้มีคลาวด์กลางภาครัฐที่เรียกว่า GDCC หรือ Government Data Center and Cloud Service

รวมถึงการกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องทำ Data Governance Framework เพื่อเป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูล คุณภาพและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ โดยมีตั้งศูนย์โครงสร้างพื้นฐานกลางและมีหน่วยงานกลางที่จะมาให้บริการ ทำหน้าที่เป็นผู้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ให้ภาครัฐฯ ที่ชื่อว่า GBDI หรือ Government Big Data Institute ขึ้น 

ระบบคลาวด์ สามารถจัดแบ่งออกมาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดการดาต้าและระบบความปลอดภัยทั้งหมด และแอปพลิเคชัน ทั้งหมดนี้เป็น 3 ข้อหลัก ๆ ในมติครม. คือ กำหนดให้ภาครัฐต้องใช้คลาวด์ จัดหาคลาวด์กลางภาครัฐโดยกระทรวงดิจิทัล ให้ภาครัฐต้องจัดทำ Data Governance Framework และจัดตั้งสถาบันวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่

ฉะนั้น จึงพยายามผลักดันแผนการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้มีบริการคลาวด์กลาง ทั้ง GDCC หรือ GBDI ของภาครัฐ เพื่อให้ทุกคนมาเป็นผู้ใช้”

GDCC  และ GBDI เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 หรือในปีงบประมาณ 2563

โควิด-19 ทำให้คลาวด์เป็นที่ต้องการใช้งานเกือบทุกหน่วยงานภาครัฐ จะเห็นว่าในปี 2564 มีแอปพลิเคชันของภาครัฐเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหมอพร้อม หรือ ไทยชนะ 

“จากปี 2562-2564 เรามีความต้องการใช้คลาวด์เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า ด้วยเพราะว่าการใช้คลาวด์เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น  และด้วยเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกคนเรียนรู้ว่าจะขึ้นระบบแพลตฟอร์มอะไร ต้องจัดการที่ไหนอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นในกรณีที่ทำแอปพลิเคชันขึ้นมา 1 แอปฯ แล้วเปิดตัวออกไป ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดี มีความต้องการเข้ามาเยอะ ตามระเบียบภาครัฐก็ต้องไปตั้งงบมาซื้ออีกตัวหนึ่งเพิ่มเข้ามา กว่าคุณจะจัดซื้อได้ กว่าคุณจะนำมาใช้งานได้ ก็ไม่ทันการณ์แล้ว”

แผนงานคลาวด์กลางภาครัฐของกระทรวงดีอี เป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติตามมติครม.ที่ออกมา ซึ่งในส่วนที่กระทรวงดีอีทำได้ก็คือการจัดการภายในกระทรวงดีอีก่อน ด้วยการกำหนดให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดีอีต้องไปใช้ระบบคลาวด์กลางก่อน ขณะที่ในส่วนของการขยายกรอบการทำงานและแนวทางปฏิบัติไปยังกระทรวงและหน่วยงานอื่น ๆ สามารถทำได้ผ่านสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร. ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้คอยผลักดัน

แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี 

ภาครัฐมีแนวทางการพัฒนาคลาวด์ มีนโยบาย มีการกำหนดเป็นบทบัญญัติทางกฎหมาย และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว 

ปัจจุบัน ทุกหน่วยงานรวมถึงกระทรวงดีอีกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์แผนระดับปฏิบัติการ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 ซึ่งจะส่งผลให้แผนการใช้งานคลาวด์จะดำเนินการไปไกลมากขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐและประชาชนจะได้รับประโยชน์จากระบบคลาวด์แน่นอน

อัจฉรินทร์ กล่าวว่า ทิศทางการเติบโตของการใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐ มีโอกาสเติบโตพุ่งพรวดแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วได้ทุกเมื่อ เช่น ในกรณีของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นแล้ว การใช้คลาวด์จะทำให้หน่วยงานมีขีดความสามารถที่จะขยายขนาดเพื่อรองรับความต้องการใช้บริการอย่างมหาศาลได้ ทั้งยังช่วยในเรื่องของการประหยัดต้นทุน โดยยังไม่นับรวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของระบบคลาวด์ที่เชื่อถือไว้ใจได้

“ความสะดวกในการทำงาน ความเชื่อมโยงระหว่างคอมพิวเตอร์ ความสามารถในการดำเนินการ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในโลกยุคใหม่ ซึ่งมันไม่มีหน่วยงานไหนที่ทำงานแบบโชว์เดี่ยว สแตนด์อโลน โดยสิ่งที่ต้องการมากที่สุดก็คือความสามารถในการเชื่อมโยงและมีการบูรณาการให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งคลาวด์จะตอบโจทย์และให้ความยืดหยุ่นในส่วนนี้”

ประโยชน์จากการใช้คลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ คือ การให้บริการออนไลน์เรียลไทม์ แบบทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องปรับตัว ไม่มีคำว่า บริการใน “เวลาราชการ” อีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น การสมัครหมอพร้อม การตรวจสอบคิวจองวัคซีน ที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็เข้ามาใช้บริการตามเวลาสะดวกของตน ที่มักจะไม่ใช่ในเวลาราชการ

ในส่วนของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อัจฉรินทร์กล่าวว่า 

นอกจากนี้ คลาวด์ยังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐดีขึ้น ต้นทุนที่ประหยัดกว่า และมีการแชร์และนำข้อมูลมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ

คลาวด์เป็นเรื่องของเทคโนโลยีและมาตรฐาน ประเด็นหลักที่คนให้ความสำคัญสำหรับการรับนำเอาคลาวด์มาใช้ คือ ความมั่นคงและความปลอดภัยของระบบคลาวด์ ซึ่งในฐานะของรัฐย่อมครอบคลุมถึงประเด็นด้านความมั่นคงของชาติ 

ในตลาดมีผู้ให้บริการระบบคลาวด์หลายราย และหนึ่งในนั้นคือ AWS ที่เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หน่วยงานใหญ่ ๆ ชั้นนำของโลกใช้บริการ ในประเทศไทยมีธนาคารต่าง ๆ ใช้งาน สำหรับ GDCC เองก็มีความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีและบริการบางตัวของ AWS เช่นกัน

นอกจากเรื่องที่เป็นรายใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว AWS มีนโยบายที่สนับสนุนการให้บริการคลาวด์เพื่อรองรับการใช้งานเพื่อสาธารณประโยชน์ 

“เรามีเหตุการณ์โควิด-19 ที่เห็นได้ชัดเจนมาก คลาวด์คอมพิวติ้งเป็นอะไรที่ต้องการจริงๆ เพราะสามารถเปิดใช้งานได้ทันที ทาง AWS ก็มีนโยบายในการให้การสนับสนุนบริการคลาวด์เพื่อสาธารณะประโยชน์”

หากประเทศไทยมีการใช้งานระบบคลาวด์ที่ได้มาตรฐานระดับโลก รัฐบาลไทยมีการประยุกต์ใช้ระบบคลาวด์ที่มีมาตรฐานสูง จะช่วยในเรื่องภาพลักษณ์โดยรวมของรัฐว่ามีมาตรฐานที่สูง เป็นภาพลักษณ์ทางบวกบนเวทีระดับโลก 

“ทุกวันนี้ ภาครัฐไทยให้บริการผ่านระบบคลาวด์อยู่แล้ว และจะมีการแผ่ขยายในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแค่ขณะนี้ยังไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่ให้บริการได้แบบเรียลไทม์ ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ยังคงมีงานอีกเยอะที่ต้องทำ แต่ตอนนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่สมบูรณ์แล้ว ขอย้ำว่า ทุกหน่วยงานของรัฐต้องมีคลาวด์ไว้ใช้งาน แต่ไม่จำเป็นต้องมาใช้งานกับระบบคลาวด์กลาง โดยคลาวด์กลางที่มีก็เพื่อให้บริการสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ไม่สามารถจัดหาคลาวด์มาใช้ได้อย่างรวดเร็ว”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดวิสัยทัศน์ “สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ” แห่ง ฮัทชิสัน พอร์ท ทรานส์ฟอร์ม “แหลมฉบัง” ดันไทยสู่ฮับด้านโลจิสติกส์

ความสำเร็จของลูกค้าและคู่ค้า คือ ความยั่งยืนของ “ไอบีเอ็ม”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ